xs
xsm
sm
md
lg

เติมใจให้กัน:

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ครั้งที่ 95
สิ่งที่เป็นไปเพื่อความเสื่อม
และความอันตรธานแห่งพระสัทธรรม 5 ประการ

คราวหนึ่ง พระศาสดาประทับ ณ สาวัตถี ตรัสยกย่องพระมหากัสสปะว่ามีวิหารธรรมเสมอด้วยพระองค์ คือ พระองค์เองจำนงอยู่สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมเข้าสู่ฌาน 4 และฌาน 8 ได้อย่างไร มหากัสสปะก็ทำได้อย่างนั้น พระองค์ทรงสามารถเรื่องการแสดงฤทธิ์ต่างๆ ทรงระลึกชาติได้ มีทิพโสต ทิพยจักษุอย่างไร ทรงสิ้นอาสวะอย่างไร พระมหากัสสปะก็สามารถอย่างนั้น ฉะนั้นในบางครั้งจึงทรงเอาสังฆาฏิของพระมหากัสสปะมาทรงใช้เอง และประทานสังฆาฏิของพระองค์แก่พระมหากัสสปะ

อีกครั้งหนึ่งเมื่อพักอยู่ ณ เชตวนารามเมืองสาวัตถี วันหนึ่งพระอานนท์อาราธนาพระมหากัสสปะให้โอวาทภิกษุณี ณ สำนักภิกษุณี ท่านปฏิเสธถึง 2 ครั้งเพราะท่านชอบความสงัด ไม่ต้องการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ท่านบอกพระอานนท์ว่า 'ไปเถิดอานนท์ เธอเป็นคนมีกิจมาก มีธุระมาก' เมื่อพระอานนท์อ้อนวอนเป็นครั้งที่ 3 ท่านจึงยอมไป

เมื่อให้โอวาทภิกษุณีเสร็จแล้วจากไปแล้ว ภิกษุณีรูปหนึ่งชื่อถูลติสสา ไม่พอใจในโอวาทของพระมหากัสสปะได้กล่าวออกมาว่า อะไรกัน ท่านกัสสปะกล้ากล่าวธรรมต่อหน้า เวเทหมุนี เช่นพระอานนท์ เหมือนพ่อค้าขายเข็มเสนอเข็มขายแก่นายช่างทำเข็มผู้ฉลาด ช่างน่าหัวเราะ

พระมหากัสสปะทราบความนั้นแล้ว จึงกล่าวกับพระอานนท์ว่า 'อานนท์! ระหว่างเราและเธอนั้นใครเป็นช่างทำเข็ม ใครเป็นพ่อค้าขายเข็มกันแน่' แล้วท่านก็กล่าวถึงข้อที่พระศาสดาทรงยกย่องท่านเพียงใด

พระอานนท์ขอโทษพระมหากัสสปะแทนภิกษุณีผู้โง่เขลานั้นว่า 'ขอท่านได้โปรดยกโทษเถิด ผู้หญิงมักเป็นคนเบาความเสมอ'

พระมหากัสสปะนั้นมีความสนิทสนมกับพระอานนท์เป็นพิเศษ ท่านมีเมตตากรุณาต่อพระอานนท์ประหนึ่งบุตรของท่าน แม้ พระอานนท์จะมีอายุล่วงมัชฌิมวัย มีเกศาหงอกแล้ว ท่านก็ยังเรียกพระอานนท์โดยกุมารวาทะ คือเรียกว่าเด็กน้อยอยู่เสมอ

บังเอิญภิกษุณีรูปหนึ่งชื่อ ถูลนันทาได้ยินคำนั้นเข้าจึงติเตียนท่านว่า เรียกพระอานนท์โดยวาทะอันไม่สมควร เพราะพระอานนท์เป็นเวเทหมุนี เธอติเตียนพระมหากัสสปะ ว่าเหมือนเคยเป็นเดียรถีย์มาก่อน

พระมหากัสสปะทราบความนั้น จึงเล่าเรื่องแต่เบื้องหลังของท่านให้พระอานนท์ฟังว่าท่านคิดอย่างไรจึงบวช ได้พบพระศาสดาอย่างไร โดยนัยดังนี้

'อานนท์! ภิกษุณีชื่อถูลนันทาได้กล่าวคำออกไปโดยมิได้พิจารณาแล้ว อานนท์! จำเดิมแต่ข้าพเจ้าปลงผมและหนวด ครองผ้ากาสายะ ออกบวชประพฤติตนเป็นอนาคาริกมุนี มิได้อุทิศศาสดาองค์อื่นเลย นอกจากพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อก่อนข้าพเจ้าอยู่ครองเรือนมีความคิดเกิดขึ้นมาว่า ฆราวาสเป็นทางแคบเป็นทางมาแห่งธุลีคือกิเลส แต่บรรพชาเป็นทางว่าง ผู้อยู่ครองเรือน จะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์สิ้นเชิงเหมือนสังข์ที่ขัดแล้วนั้นทำได้ยาก ไฉนหนอเราพึงออกจากเรือนประพฤติตนเป็นผู้ไม่มีเรือน

ต่อมาข้าพเจ้าได้เอาผ้าเก่าๆ เป็นผ้าห่ม ออกบวชอุทิศพระอรหันต์ในโลก ได้พบพระศากยมุนีศาสดาที่พหุปุตตเจดีย์ระหว่างเมืองราชคฤห์กับนาลันทา ข้าพเจ้าเลื่อมใสได้เข้าไปหมอบลงแทบพระบาทของพระองค์ขอเป็นสาวก

พระพุทธองค์ได้ประทานโอวาทแก่ข้าพเจ้า 3 ข้อ คือ

1. ให้เป็นผู้มีหิริโอตตัปปะอย่างแรงกล้าในภิกษุทั้งที่เป็นผู้ใหญ่ ปานกลาง และภิกษุใหม่

2. เมื่อฟังธรรมที่เป็นกุศลอย่างใดอย่างหนึ่ง จงตั้งใจฟังด้วยดี ถือเอาสาระสำคัญให้ได้

3. ต้องเป็นผู้ไม่ละกายคตาสติ คือ พิจารณากาย โดยความเป็นของไม่งาม น่าเกลียด โสโครก

อานนท์! ข้าพเจ้านั้นเป็นผู้มีหนี้ คือยังละกิเลสไม่ได้ บริโภคอาหารของชาวเมืองอยู่เพียง 7 วันเท่านั้น พอวันที่ 8 ก็ได้บรรลุอรหัตตผล

อานนท์! คราวหนึ่งภายใต้ต้นไม้ต้นหนึ่ง ข้าพเจ้าได้ปูสังฆาฏิของข้าพเจ้าทำเป็น 4 ชั้น แล้วทูลอาราธนาให้พระศาสดาประทับนั่งบนสังฆาฏินั้นเพื่ออนุเคราะห์ข้าพเจ้า พระองค์ก็ประทับนั่ง แล้วตรัสว่า สังฆาฏิของข้าพเจ้านุ่มดี ข้าพเจ้าจึงเอ่ยวาจาถวายพระองค์ พระองค์ทรงรับและทรงมอบสังฆาฏิผ้าป่านที่พระองค์ทรงใช้แล้วแก่ข้าพเจ้า พระศาสดาและข้าพเจ้าได้เปลี่ยนสังฆาฏิกันใช้ด้วยประการอย่างนี้

'อานนท์! หากพึงกล่าวโดยชอบก็พึงจะกล่าวว่า ข้าพเจ้านั้นเป็นบุตรของพระผู้มีพระภาค เกิดจากพระโอษฐ์ คือ ธรรมเกิดแล้วจากธรรม อันธรรมสร้างขึ้นมาแล้ว เป็นธรรมทายาทแห่งพระองค์'

สมัยหนึ่ง ณ เชตวันวิหาร พระมหากัสสปะทูลถามพระศาสดาว่า 'อะไรหนอเป็นปัจจัย เมื่อสิกขาบทยังน้อย ภิกษุทั้งหลายดำรงอยู่ ในอรหัตตคุณมาก แต่เมื่อสิกขาบทบัญญัติมากขึ้น ผู้ดำรงอยู่ในอรหัตตคุณกลับน้อยลง'

พระศาสดาตรัสว่า 'ดูก่อนกัสสปะ! เมื่อสัตว์กำลังเสื่อม สัทธรรมกำลังอันตรธาน สิกขาบทแม้มาก ผู้ดำรงอยู่ในอรหัตตคุณก็น้อย ดูก่อนกัสสปะ ตราบใดที่สัทธรรมปฏิรูปคือธรรมปลอมยังไม่เกิดขึ้นในโลก สัทธรรมแท้ก็ยังไม่อันตรธานตราบนั้น เปรียบเหมือนเมื่อเงินปลอมยังไม่เกิดขึ้น เงินแท้ก็ยังไม่อันตรธาน

'ดูก่อนกัสสปะ! อะไรอื่นเป็นต้นว่า ปฐวีธาตุหาทำให้พระสัทธรรมเสื่อมได้ไม่ แต่สิ่งที่ทำให้พระสัทธรรมเสื่อม คือโมฆบุรุษที่เกิดขึ้นในศาสนานี้เอง

'กัสสปะ! สิ่งที่เป็นไปเพื่อความเสื่อม เพื่อความอันตรธานแห่งพระสัทธรรมมีอยู่ 5 ประการ คือ บริษัท 4 ไม่เคารพไม่ยำเกรงในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในการศึกษาและในสมาธิ ส่วนธรรมอีก 5 ประการซึ่งมีนัยตรงกันข้ามนั้นย่อมเป็นไปเพื่อความมั่นคงแห่งพระสัทธรรมโดยแท้'
กำลังโหลดความคิดเห็น