xs
xsm
sm
md
lg

อสีติมหาสาวก : ตอนที่ ๕๓ กลุ่มพระชาวแคว้นสักกะ (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

งานสำคัญ (ต่อ)
พระอนุรุทธะ(ต่อ)
พระเถระยังได้กล่าวธรรมกถาอีกในโอกาสต่างๆ ที่สำคัญ คือ ในวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จ ดับขันธปรินิพพาน มีเรื่องเล่าไว้ว่า
ก่อนที่จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระพุทธเจ้าทรงเข้าอนุปุพพวิหารสมาบัติ คือ ทรงเข้าฌานไปตามลำดับ เริ่มตั้งแต่ปฐมฌานไปจน ถึงนิโรธสมาบัติ พระอานนท์เห็นพระพุทธองค์ทรงบรรทมสงบนิ่งไม่ทรงหายใจเข้าออก จึงถาม พระอนุรุทธะว่า พระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้วหรือ พระอนุรุทธะเข้าฌานตามพระพุทธองค์อยู่ตลอดเวลา และทราบว่าพระพุทธองค์กำลัง เข้านิโรธสมาบัติ จึงตอบว่า ยัง จนกระทั่งเมื่อพระพุทธองค์ ทรงออกจากนิโรธสมาบัติแล้วลงสู่ภวังค์ พระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานในขณะลงสู่ภวังค์นั้น พระอนุรุทธเถระ ทราบ จึงออกจากสมาบัติแล้วแจ้งให้พระอานนท์ทราบ
ทันที่พระอานนท์ทราบ ได้แจ้งให้พระรูปอื่นๆที่ประชุมเฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่นั้นได้ทราบด้วย พระสาวกอริยะก็ปลงธรรมสังเวชว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง”
ส่วนพระสาวกที่ยังเป็นปุถุชน ต่างเสียใจร้องไห้คร่ำครวญ ด้วยความอาลัยรักในพระพุธเจ้า พระอนุรุทธะเห็นเหตุการณ์ นั้นจึงเข้ามาปลอบ โดยกล่าวข้อความทำนองเตือนใจว่า
ท่านทั้งหลาย อย่าได้เสียใจไปเลย
อย่าคร่ำครวญไปเลย
พระศาสดาเคยตรัสไว้แล้วมิใช่หรือว่า
ความพลัดพรากจากของรักของชอบทั้งหมดนั้น
ย่อมมีเป็นธรรมดา
สิ่งที่เกิดแล้ว เป็นแล้ว มีปัจจัยปรุงแต่ง
มีความแตกสลายไปเป็นธรรมดา
ไม่มีใครจะบังคับได้หรอกว่า จงอย่าแตกสลาย

ขณะนั้นถือได้ว่าท่านเป็นพระผู้ใหญ่รูปหนึ่งอยู่ในที่นั้น พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานในตอนกลางคืนตลอดคืนวันนั้นท่านกับพระอานนท์จึงได้ทำหน้าที่กล่าวธรรมกถาปลอบโยนพระสาวกที่ยังเป็นปุถุชนอยู่ตลอดคืนจนกระทั่งรุ่งเช้า ท่านจึงมอบหมายให้พระอานนท์ไปแจ้งข่าวให้เหล่ามัลลกษัตริย์ได้ทราบ
ท่านเป็นคนแจ้งเหล่ามัลลกษัตริย์ให้อัญเชิญพระบรมศพของพระพุทธองค์เข้าเมืองทางประตูเมืองทิศอุดร (เหนือ) ผ่านกลางเมืองแล้วไปออกทางประตูเมืองด้านทิศบูรพา (ตะวันออก) ก่อนนำไปถวายพระเพลิง ณ มกุฎพันธนเจดีย์ ทั้งนี้เป็นไปตามประสงค์ของเทวดาที่ต้องการจะบูชาพระ-บรมศพของพระพุทธเจ้า
พระอานนท์ เป็นที่แน่นอนว่าท่านได้มีบทบาทอย่างมากในการช่วยพระพุทธเจ้าเผยแผ่พระพุทธศาสนาและรักษาพระพุทธศาสนาให้คงอยู่ ผลงานของท่านสามารถประมวลกล่าวได้ดังนี้
๑. ทรงจำธรรมไว้ได้มาก พระอานนท์ได้รับยกย่องว่าเป็นพหูสูต ทั้งนี้มิใช่เพียงเพราะได้ศึกษาธรรมมากเท่านั้น แต่ยังหมายถึงว่าท่านทรงจำธรรมไว้ได้มากด้วย ครั้งหนึ่งโคปกโมคคัลลานพราหมณ์ได้เคยเข้าไปหาท่าน ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาหลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน แล้ว และได้ถามว่า
“ข้าแต่พระคุณเจ้า ข่าวว่าท่านเป็นพหูสูตทรงจำคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้ได้หมด ท่านบอกได้ไหมว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแก่ท่านจำนวนเท่าไร”
ท่านตอบว่า “พราหมณ์ อาตมาศึกษาธรรมจากพระพุทธเจ้าโดยตรง ๘๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ที่เหลืออีก ๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ศึกษาจากพระสาวกผู้ใหญ่ อาทิ พระสารีบุตร”
ท่านยังได้กล่าวต่อไปทำนองว่า ท่านทรงจำธรรมเหล่านั้นไว้ได้ทุกพระธรรมขันธ์ อย่างที่เรียกว่าคล่องปากพลิกพริ้วอยู่ที่ปลายลิ้นนี่เอง
มูลเหตุที่ทำให้ท่านได้ชื่อว่าเป็นพหูสูต ก็เพราะ พร๑ ใน ๘ ข้อที่ท่านได้ทูลขอต่อพระพุทธเจ้า ก่อนเข้ารับตำแหน่งพุทธอุปัฏฐาก ความว่า
“ถ้าพระองค์ทรงแสดงธรรมเรื่องใดในที่ลับหลังข้าพระองค์ ขอพระองค์ได้โปรดแสดงธรรมเรื่องนั้นแก่ข้าพระองค์อีกครั้งหนึ่ง”
พระพุทธเจ้าทรงรับพรของท่าน ดังนั้นเมื่อทรงแสดงธรรมในที่ใดที่หนึ่งซึ่งไม่มีพระอานนท์ฟังอยู่ด้วย พระองค์ก็จะทรงแสดงให้ท่านฟังภายหลัง เรื่องการขอพรแต่ละข้อนั้นพระอานนท์ได้ทูลบอกเหตุผลไว้ด้วยหมด แม้พรข้อที่ยกมานี้ก็เช่นกัน ท่านให้เหตุผลไว้ต่อพระพุทธเจ้าว่า
“ที่ต้องทูลขอพรข้อนี้ไว้ด้วย ก็เพื่อป้องกันการครหา เพราะแน่นอนว่าต่อไปจะต้องมีผู้มาถามว่าคาถานี้ สูตรนี้ ชาดกนี้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ที่ไหน และทรงปรารภเหตุ อะไร ถ้าหากข้าพระองค์ตอบไม่ได้ ก็จะมีเสียงครหาเกิดขึ้น ว่า สู้อุตส่าห์เสียเวลาติดตามพระพุทธเจ้าอยู่เหมือนเงาตามตัว แต่กับเรื่องแค่นี้ก็ไม่รู้ แล้วอย่างนี้จะติดตามไปทำไม”
การทรงจำธรรมไว้ได้มากของท่านนี้นับว่าเป็นประโยชน์ อย่างมากต่อการดำรงอยู่ของพระพุทธศาสนา ซึ่งได้กล่าวต่อไป
๒. การขวนขวายเพื่อสิทธิสตรี แต่ก่อนนั้น คือ ในช่วงพรรษาแรกๆ นับแต่ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ยังไม่มีสตรีมาบวช เป็นภิกษุณี จนต่อมาหลังตรัสรู้ได้ ๕ พรรษา พระนางมหา- ปชาบดีโคตมี พระน้านางได้พาเจ้าหญิงศากยะจำนวน ๕๐๐ นางมาทูลขอบวช ขณะนั้นพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่กูฎาคารศาลาป่ามหาวัน เขตเมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ซึ่งมีพระอานนท์เป็นพุทธอุปัฏฐาก ครั้งนั้นพระอานนท์ได้มีบทบาทอย่างสำคัญในการช่วยเหลือให้พระน้านางและเจ้าหญิงศากยะบวชได้สำเร็จ พระไตรปิฎกได้บันทึกคำตอบโต้ระหว่างพระพุทธเจ้ากับพระอานนท์ไว้ดังนี้
พระพุทธเจ้า : อย่าเลยอานนท์ เธออย่าพอใจกับการขวนขวายให้สตรีได้บวชในธรรมวินัยนี้เลย
พระอานนท์ : ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า สตรีออกบวชแล้วสามารถบรรลุโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล และอรหัตผล ได้หรือไม่
พระพุทธเจ้า : สามารถ อานนท์
พระอานนท์ : ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ถ้าสตรีออก บวชแล้วสามารถบรรลุโสดาปัตติผล สกทามิผล อนาคามิผล และอรหัตผลได้ ไฉนพระองค์จึงไม่ทรงอนุญาตให้พระนางมหาปชาบดีโคตมีได้บวชเล่า พระนางทรงเลี้ยงดูพระองค์มา ทั้งยังได้ถวายน้ำนมให้ได้เสวย
พระพุทธเจ้า : อานนท์ ถ้าพระน้านางจะทรงสามารถ รับครุธรรม ๘ ประการไปปฏิบัติได้ ก็เป็นอันว่าบวชได้
ข้อเสนอของพระพุทธเจ้าดังที่ว่ามานี้ เมื่อพระอานนท์นำไปบอกพระนางมหาปชาบดี พระนางรีบรับรองว่าปฏิบัติได้ทันที จึงเป็นอันว่าจาการขวนขวายของพระอานนท์นี้เอง ทำให้สตรีมีโอกาสได้บวชในพระพุทธศาสนา
พระอานนท์ได้ชื่อว่าเป็นผู้พิทักษ์สิทธิของสตรีผู้หนึ่ง นอกจากการได้ขวยขวายให้พระนางมหาปชาบดีและเจ้า-หญิง ศากยะทั้งหลายได้บวชในพระพุทธศาสนาแล้ว คราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ท่านมีหน้าที่จัด พุทธบริษัทให้เข้าถวายความเคารพพระบรมศพ และได้จัดให้สตรีเข้าถวายความเคารพก่อน โดยท่านให้เหตุผลว่า สตรีเหล่านี้ ถ้าหากให้เข้าถวายความเคารพพระบรมศพภายหลัง พวกเธอจะลำบากเกี่ยวกับการเดินทางกลับบ้านเนื่องจากมืดค่ำเสียก่อน
๓. การช่วยระงับความแตกร้าวในพุทธจักร คราวที่พระชาวเมืองโกสัมพีเกิดวิวาทกันจนถึงขั้นแตกร้าวนั้น ทำ ให้พวกอุบาสกอุบาสิกาของพระเหล่านั้นเกิดแตกแยกเป็นฝักเป็นฝ่ายไปด้วย พระพุทธเจ้าทรงเคยตักเตือน แต่ไม่สามารถจะเกลี้ยกล่อมพระเหล่านั้นให้คลายทิฐิมานะลงได้ จึงได้เสด็จหลีกไปประทับอยู่กับลิงและช้าง ณ ป่าปาริเลยยกะ ต่อมาพระเหล่านั้นเกิดสำนึกถึงความดื้อรั้นของตนขึ้นมาได้แล้วรู้สึกละอาย จึงเข้าไปหาพระอานนท์พร้อมทั้งขอร้องให้ท่านพาพวกตนไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อทูลขอขมา พระอานนท์ทำตามที่พระเหล่านั้นขอร้อง จนสามารถระงับความแตกร้าวให้กลับคืนสู่สภาวะปกติได้ นับเป็นการช่วยลบรอยมลทินของพระพุทธศาสนาโดยแท้

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 101 เม.ย. 52 โดย ผศ.ท.ดร. บรรจบ บรรณรุจิ)
กำลังโหลดความคิดเห็น