“คุณหญิงไขศรี” เร่งประเมินความพร้อมของเวชยันตราชรถสำหรับเคลื่อนพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ภายในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพ เตรียมเสนอข้อมูลให้รัฐบาลนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายในหลวง ด้านความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมการจัดสร้างพระเมรุนั้น ได้มีการประชุมคณะกรรมการกรมศิลปากร โดยมีมติแต่งตั้งคณะทำงานของกรมศิลปากรในการจัดสร้างพระเมรุ
วันนี้ (4 ม.ค.) เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา เวลาประมาณ 15.30 น.ผู้สื่อข่าวรายงานจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ว่าคุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ รมว.วัฒนธรรม กล่าวภายหลังเดินทางตรวจเยี่ยมการสำรวจและเตรียมความพร้อมในการนำเวชยันตราชรถที่จะใช้สำหรับเคลื่อนพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ภายในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพ ว่า วันนี้ตนและอธิบดีกรมศิลปากร และผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบและประเมินความพร้อมในการจัดเก็บดูแลรักษาพระมหาพิชัยราชรถ เวชยันตราชรถ ราชรถน้อย และยานมาศ 3 คานหาม ซึ่งเป็นพาหนะสำหรับใช้เคลื่อนพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ หรือพระศพพระบรมวงศานุวงศ์ไปยังพระเมรุมาศ หรือพระเมรุบริเวณท้องสนามหลวง ซึ่งเป็นพระราชประเพณีที่ถือปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 จนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ ตนได้หารือกับผู้เชี่ยวชาญของกรมศิลปากร ว่า จะต้องซ่อมแซมอะไรบ้าง รวมถึงการทำความสะอาด โดยตนจะนำสรุปข้อมูลต่างๆ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการอำนวยการงานพระราชพิธีพระศพของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ในส่วนของรัฐบาลที่มี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งจะมีการประชุมในสัปดาห์หน้า ดังนั้น กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จะต้องประเมินความพร้อมในส่วนงานที่รับผิดชอบเพื่อให้รัฐบาลนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อมีพระบรมราชวินิจฉัยต่อไป
“ขณะนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังไม่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ วธ.ต้องเตรียมความพร้อมทำการบ้านล่วงหน้าเกี่ยวกับเรื่องการสรุปข้อมูลต่างๆ นำเสนอรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดสร้างพระเมรุ และความพร้อมของเวชยัตราชรถที่จะใช้ในการเคลื่อนพระศพไปยังพระเมรุต่อไป เนื่องจากมีเวลาน้อยต้องศึกษาและรวบรวมข้อมูลให้รอบด้าน ทั้งนี้ ดิฉันจะรายงานความคืบหน้าในที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการฯ ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อรัฐบาลหารือจนได้ข้อสรุปแล้วเชื่อว่าจะทำหนังสือทูลเกล้าฯ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งต้องรอว่าพระองค์จะโปรดเกล้าฯให้ดำเนินการอย่างไร วธ.ก็พร้อมรับสนองงาน” รมว.วัฒนธรรม กล่าว
ด้าน นายเกรียงไกร สัมปัชชลิต อธิบดีกรมศิลปากร ในฐานะกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ กล่าวว่า ขณะนี้กรมศิลปากรได้ดำเนินการตรวจสอบราชรถ ที่ใช้ในการประกอบพระราชพิธีพระศพ ประกอบด้วย พระมหาพิชัยราชรถ พระเวชยันตราชรถ และราชรถน้อย โดยจะประสานทางทหารให้มาช่วยตรวจสภาพของ ล้อ เพลา กลไกของราชรถ ว่า มีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน ส่วนในเรื่องของศิลาภรณ์นั้น ทางกรมศิลปากรจะมอบหมายให้ สำนักช่างสิบหมู่ เป็นผู้ประเมินตรวจดูสภาพทั้งหมด ส่วนจะมีการใช้ราชรถองค์ไหนนั้น ก็สุดแล้วแต่จะโปรดเกล้าฯ
นายเกรียงไกร กล่าวต่อไปว่า สำหรับความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมการจัดสร้างพระเมรุนั้น ได้มีการประชุมคณะกรรมการกรมศิลปากร โดยมีมติแต่งตั้งคณะทำงานของกรมศิลปากรในการจัดสร้างพระเมรุ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ แล้ว ประกอบด้วย นาวาอากาศเอกอาวุธ เงินชูกลิ่น เป็นประธานคณะทำงาน และมีอดีตอธิบดีกรมศิลปากร รวมถึงผู้เชี่ยวชาญทางด้านการจัดสร้างพระเมรุร่วมเป็นคณะทำงาน ได้แก่ นายสุวิชญ์ รัศมิภูติ นายเดโช สวนานนท์ นายทวีศักดิ์ เสนาณรงค์ นายสิริชัยชาญ ฟักจำรูญ นายอารักษ์ สังหิตกุล และทีมงานจากสำนักช่างสิบหมู่ สำนักสถาปัตยกรรม ซึ่งคณะทำงานชุดดังกล่าวจะเป็นผู้ดูแลการออกแบบ รูปแบบสถาปัตยกรรมของพระเมรุ เมื่อมีการโปรดเกล้าฯให้ดำเนินการจัดสร้าง
“อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กรมศิลปากรได้เตรียมความพร้อมของข้อมูลแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพระเมรุ ราชรถ การจัดทำบันทึกจดหมาย ที่ถูกต้องตามโบราณราชประเพณี เพื่อเตรียมนำเสนอข้อมูลต่อ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ต่อไป” อธิบดีกรมศิลปากร กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานถึงประวัติและความหมายของ “พระมหาพิชัยราชรถและเวชยันตราชรถ” ว่า ราชรถ เป็นคำภาษาบาลี มาจากคำว่า ราช + รถ หมายถึง ทางรถหรือทางเดินของพระราชาหรือพระเจ้าแผ่นดิน โดยทั่วไปคนส่วนใหญ่เข้าใจว่าราชรถ คือ รถศึกของพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งตรงกับความหมายของคำว่า ราชรถในวรรคดี แต่ราชรถ ในที่นี้จัดเป็นเครื่องประดับราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ประเภทหนึ่งที่มีความสำคัญ เป็นเครื่องราชูปโภคที่แสดงออกถึงฐานะและบทบาทอันเป็นสมมติเทพ หรือเทวราชาของพระเจ้าแผ่นดิน ตามคติศาสนาพราหมณ์ที่เชื่อกันว่าพระมหากษัตริย์จะได้รับการยกย่องให้มีฐานะเปรียบเสมือนเทพเจ้า ที่สถิตอยู่บนสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงอยู่บนยอดเขาพระสุเมรุ เป็นที่สถิตของเหล่าเทพยดา ดังนั้น ราชรถจึงมีลักษณะสูงใหญ่ เปรียบเป็นเข้าพระสุเมรุ มีพระวิมาณ คือ บุษบก ตั้งอยู่ตรงกลางเป็นส่วนสำคัญที่สุดทำให้เกิดความสง่างาม ปัจจุบันมีราชรถ 7 หลังเก็บรักษาและจัดแสดงไว้ในโรงราชรถ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สำหรับ พระมหาพิชัยราชรถ มีความสูง 1,120 ซม. ยาว 1,530 ซม.สร้างในรัชกาลที่ 1 ประมาณ พ.ศ.2338 ใช้สำหรับทรงพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น เคยใช้ทรงพระโกศพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก เพื่อเชิญออกถวายพระเพลิง ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง พ.ศ.2339 เคยใช้ทรงพระบรมศพรัชกาลที่ 1 รัชกาลที่ 3 รัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ร่วมกับกรมสรรพาวุธทหารบก ดำเนินการซ่อมบูรณะพระมหาพิชัยราชรถ เพื่อใช้ในการถวายพระเพลิง พระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2539 ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง
ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า ส่วนเวชยันตราชรถ มีความสูง 1,170 ซม.ยาว 1,750 ซม.สร้างในรัชกาลที่ 1 ราว พ.ศ.2342 สำหรับทรงพระศพพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งทรงศักดิ์สูง ในรัชกาลที่ 1 ได้ใช้ทรงพระโกศสมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์คู่พระโกศสมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี ซึ่งทรงพระมหาพิชัยราชรถ ออกพระเมรุท้องสนามหลวงคราวเดียวกัน เมื่อ พ.ศ.2342 กรมศิลปากรได้ซ่อมแซมให้งดงามและใช้ในการอัญเชิญพระบรมศพของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 เมื่อ พ.ศ.2528 เมื่อซ่อมเสร็จแล้วประมาณว่า มีน้ำหนัก 40 ตัน ต้องใช้กำลังคนในการลากจูงและดึงถึง 206 คน แบ่งเป็นข้างหน้า 160 คน และข้างหลัง 46 คน และในครั้งนั้นได้ออกหมายเรียกว่า พระมหาพิชัยราชรถตามโบราณราชประเพณี นอกจากนี้ ในส่วนของราชรถน้อย มีทั้งหมด 3 หลัง สร้างในรัชกาลที่ 1 ใช้เป็นรถสมเด็จพระสังฆราชชักโยงพระศพ และเป็นรถพระที่นั่งของพระบรมวงศานุวงศ์ประทับโปรยข้าวตอกดอกไม้ จะเป็นรูปแบบเดียวกับพระมหาพิชัยราชรถ และเวชยันตราชรถ แต่ต่างกันที่ขนาดเล็กลงมา และเศียรนาคจะเป็นเศียรเดียวเท่านั้น