xs
xsm
sm
md
lg

สามกลุ่มฝีมือเมืองน่านทอตุงโบราณประดับงานพิธีพระราชทานเพลิงพระศพพระเจ้าพี่นางฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสมพงษ์ อนุยุทธพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่านพร้อมกลุ่มทอตุงโบราณน่านเตรียมทอตุงโบราณเพื่อประดับในงานพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ
น่าน- สามกลุ่มทอตุงโบราณเมืองน่านที่จะนำใช้ประกอบพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพ “พระเจ้าพี่นางเธอฯ” ได้ฤกษ์ทำบุญกี่ทอและบูชาบรรพาจารย์ตามแบบโบราณ


วันนี้ (8 ก.ค.) ตั้งแต่ช่วงเช้าจนถึงช่วงบ่าย นายสมพงษ์ อนุยุทธพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน พร้อมด้วยคณะส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และคณะสื่อมวลชนได้ร่วมการประกอบพิธีบูชาขอขมาพระแม่ธรณี พิธีสงฆ์ และพิธีบูชาบรรพาจารย์ตามแบบโบราณที่ได้สั่งสอนการทอตุงลวดลายโบราณ ซึ่งกลุ่มทอผ้า 3 แห่ง คือ กลุ่มบ้านทุ่งสุน ตำบลงอบ อำเภอทุ่งช้าง รวมกับ กลุ่มบ้านหล่ายทุ่ง ตำบลปอน อำเภอทุ่งช้าง และกลุ่มทอผ้าบ้านเก็ต ตำบลวรนคร อำเภอปัว จะเริ่มดำเนินการทอตุงโบราณ เพื่อนำไปใช้ประดับในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพพระเจ้าพี่นางเธอฯ จำนวน 20 ผืน คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคมนี้

นายสมพงษ์ อนุยุทธพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน กล่าวถึงความเป็นมาของความภาคภูมิใจของชาวน่านที่ได้มีโอกาสแสดงความจงรักภักดีด้วยการนำตุงโบราณ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวล้านนา ได้เข้าร่วมประดับในงานพระราชพิธีที่สำคัญของคนไทยทั้งประเทศ นับแต่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้สิ้นพระชนม์เสด็จสู่สวรรคาลัย ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2551 เป็นต้นมา สร้างความโศกเศร้าให้แก่พสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่าเป็นอย่างยิ่ง

ต่อมาคณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพ ซึ่งจัดตั้งโดยรัฐบาลได้กำหนดจัดงานขึ้นจำนวน 6 วัน คือ ระหว่างวันที่ 14 ถึง 19 พฤศจิกายน 2551 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร และจะมีการจัดพระราชพิธี 6 พิธีๆ ละวัน ตามลำดับคือ งานพระราชกุศลออกพระเมรุมาศ การเชิญพระโกศออกพระเมรุมาศ การพระราชทานเพลิงพระศพ การเก็บพระอัฐิ การพระราชกุศลพระอัฐิ สุดท้ายคือ การบรรจุพระสรีรางคาร

ต่อมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้ นาวาอากาศเอกอาวุธ เงินชูกลิ่น ประธานคณะทำงานฝ่ายจัดสร้างพระเมรุ นำตุง(ธง) ไปประดับบริเวณที่จะใช้ประกอบพระราชพิธี ณ ท้องสนามหลวงด้วย ดังนั้น กรมศิลปากรในฐานะผู้รับผิดชอบดำเนินการจัดสร้างพระเมรุ จึงมีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดน่านเพื่อขอความอนุเคราะห์จัดหาตุง ศิลปะของจังหวัดน่าน ขนาดความกว้าง 50 เซนติเมตร ความยาว 5 เมตร ไม่รวมชายจำนวน 20 ผืน ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย

ทั้งนี้ ที่เป็นตุงจากจังหวัดน่านนั้น เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงมีพระตำหนักริมน้ำอยู่ที่จังหวัดน่าน และเพื่อให้พสกนิกรจังหวัดน่านมีส่วนร่วมในการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ด้วย

จากนั้น นายสมพงษ์ อนุยุทธพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิ และ ผู้ที่เกี่ยวข้องมาประชุมพิจารณารูปแบบตุง เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ปรากฏว่ามีผู้เสนอให้ใช้ตุงในลักษณะต่างๆ ในที่สุดที่ประชุมมีความเห็นว่า ให้นำรูปแบบตุงจำนวน 3 แบบ ถวายแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อให้พระองค์ทรงมีพระราชวินิจฉัย ประกอบด้วย แบบแรกเป็นตุงพื้นเมือง มีลวดลายด้านบนเป็นรูปหม้อปุรณฆฏ (บูรณะคตะ) ส่วนด้านล่างเป็นรูปปราสาทโบราณ สลับกันไปมารวมแปดชั้น แบบที่สองเป็นตุงศิลปะไทยลื้อ ด้านบนปล่อยว่างเป็นพื้นขาว ส่วนด้านล่างเป็นรูปปราสาทโบราณห้าชั้น แบบที่สามให้ออกแบบเป็นภาพกราฟฟิคผสมผสานระหว่าง ตุงพื้นเมืองกับตุงไทยลื้อ หากพระองค์พระราชทานพระราชวินิจฉัยอย่างไร ทางจังหวัดจะให้ช่างเมืองน่านดำเนินการถักทอประดับลวดลาย และนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายให้ทันภายในเดือนกันยายน 2551 เพื่อจะได้นำไปประดับในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพได้ทันเวลา และหลังจากที่นำรูปแบบตุงขึ้นทูลเกล้าฯ แล้ว ทางจังหวัดก็ได้รับพระราชทานพระราชวินิจฉัยว่า ให้เป็นตุงแบบปกติของจังหวัดน่านแบบใดก็ได้ เพียงแต่ให้เป็นตุงมงคล ลวดลายไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน และ สีไม่ฉูดฉาด ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ได้เชิญผู้เกี่ยวข้องและผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าประชุมหารืออีกครั้ง ในที่สุด เห็นชอบให้ใช้เป็นตุงไชย ลวดลายรูปปราสาท 5 ชั้นเป็นหลัก โดยมีลวดลายเรื่องราวเกี่ยวกับ พุทธบูชาประกอบ ทอด้วยผ้าฝ้ายพื้นขาวทั้งผืน ส่วนลายให้เป็นผ้าย้อมสีจากวัสดุธรรมชาติ อาทิ ย้อมคราม ย้อมสาบเสือ ย้อมใบหูกวาง ย้อมประดู่ ย้อมใบเพกา หรืออื่นๆ โดยกำหนดให้ช่างทอผ้าพื้นเมืองน่าน คือ กลุ่มบ้านทุ่งสุน ตำบลงอบ อำเภอทุ่งช้าง กลุ่มบ้านหล่ายทุ่ง ตำบลปอน อำเภอทุ่งช้าง และ กลุ่มทอผ้าบ้านเก็ต ตำบลวรนคร อำเภอปัว ดำเนินการ

ทั้งนี้ ก่อนการลงมือทำ แต่ละกลุ่มได้ทำการประกอบพิธีบูชาขอขมา พระแม่ธรณี พิธีสงฆ์ และพิธีบูชาบรรพาจารย์ตามแบบโบราณ ที่ได้สั่งสอนมา และเริ่มดำเนินการถักทอ จนแล้วเสร็จ เพื่อนำประกอบพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ

สำหรับการทอตุงที่มีลวดลายโบราณนั้น ต้องใช้ช่างที่มีความชำนาญทอด้วยกี่พื้นเมือง เส้นฝ้ายและการย้อมสีจากวัสดุธรรมชาติ ต้องมีคุณภาพ เวลาในการทอแต่ละผืนที่มีขนาดความกว้าง 50 เซนติเมตรและยาว 5 เมตรไม่รวมชาย ตลอดจนการทำไม้แขวนหัวตุงซึ่งทำด้วยไม้สักรวมกับการลงมือแบบประณีตด้วยแล้วจะใช้เวลานานถึงผืนละเดือนครึ่ง ทั้งนี้ทางจังหวัดจึงทอขึ้นจำนวนทั้งสิ้น 30 ผืน โดย 20 ผืนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายใช้ประกอบพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพ เหลืออีก 10 ผืน จะนำไปเก็บรวบรวมไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังหรือผู้สนใจได้ชม จากการที่ตุงเมืองน่านได้มีโอกาสนำไปประดับประกอบงานพระราชพิธีสำคัญ คือ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในครั้งนี้นับว่าเป็นบุญบารมี และถือว่าเป็นเกียรติยศของพสกนิการชาวจังหวัดน่านอย่างหาที่สุดมิได้
กลุ่มทอตุงโบราณจ.น่านร่วมพิธีกรรมจัดทำตุงโบราณ
กลุ่มทอตุงโบราณจ.น่านร่วมพิธีกรรมจัดทำตุงโบราณ
กำลังโหลดความคิดเห็น