น่าน - จังหวัดน่านเตรียมจัดทอตุงมงคล (ธงแบบล้านนา) ถวายเพื่อใช้ประกอบในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
นายสมพงษ์ อนุยุทธพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เรียกประชุมภาคส่วนราชการและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อประชุมหาข้อสรุปในเรื่องการจัดทำตุงแบบโบราณล้านนา เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายสำหรับใช้ประกอบในพระราชพิธีถวายเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งตามที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีกระแสรับสั่งให้นาวาอากาศเอกอาวุธ เงินชูกลิ่น ประธานคณะทำงานฝ่ายจัดสร้างพระเมรุ นำตุง (ธง) ไปประดับพระราชพิธี พระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุ ที่จะใช้ประกอบพระราชพิธี บริเวณท้องสนามหลวง ซึ่งกำหนดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2551 ด้วย
กรมศิลปากร ในฐานะผู้รับผิดชอบดำเนินการจัดสร้างพระเมรุ จึงมีหนังสือราชการประสานถึงผู้ว่าราชการจังหวัดน่านเพื่อขอความอนุเคราะห์จัดหาตุง ศิลปะของจังหวัดน่าน ขนาดความกว้าง 50 เซนติเมตร ความยาว 5 เมตร ไม่รวมชาย 20 ผืน ทั้งนี้ ทางจังหวัดได้นำแบบตุง 3 แบบ ถวายแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อให้พระองค์ทรงมีพระราชวินิจฉัย ต่อมาได้รับพระราชทานวินิจฉัยว่าให้เป็นตุงแบบปกติของจังหวัดน่านแบบใดก็ได้ เพียงแต่ให้เป็นตุงมงคล ลวดลายไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน และสีไม่ฉูดฉาด
ที่ประชุมเห็นชอบให้ใช้เป็นตุงไชย ลวดลายเป็นรูปปราสาท 5 ชั้นเป็นหลัก โดยมีลายเกี่ยวกับพุทธชาดกประกอบ ทอด้วยผ้าฝ้ายพื้นขาว ส่วนลายให้เป็นผ้าทอย้อมสีจากวัสดุธรรมชาติ อาทิ ย้อมคราม ย้อมสาบเสือ ย้อมใบหูกวาง หรืออื่นๆ เบื้องต้นจะให้ช่างทอผ้าพื้นเมืองน่าน คือ กลุ่มทอผ้าบ้านเก็ด ตำบลวรนคร อำเภอปัว กลุ่มบ้านทุ่งสุน ตำบลงอบ อำเภอทุ่งช้าง และกลุ่มบ้านหล่ายทุ่ง ตำบลปอน อำเภอทุ่งช้าง ดำเนินการจัดทอ
แต่ละกลุ่มจะทำการประกอบพิธีบูชาบูรพาจารย์ที่ได้ถ่ายทอดวิชา ซึ่งจะมีการทำบุญกี่ทอผ้าและวัสดุฝ้าย ก่อนที่จะนำมาทอขึ้นเป็นชิ้นงาน โดยจะประกอบพิธีทางสงฆ์เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลและเป็นสิริมงคล วันที่ 8 กรกฎาคม 2551 ณ บริเวณกลุ่มทอผ้าทั้ง 3 แห่ง และจะดำเนินการทอตุงให้แล้วเสร็จต่อไป