อธิบดีกรมศิลปากรประมาณการก่อสร้างพระเมรุในพระราชพิธีพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ 150-200 ล้านบาท ระยะเวลาในการก่อสร้างอยู่ในช่วง 4-8 เดือน โดยขอยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบราชพัสดุของทางราชการเพราะจะทำให้งานล่าช้าไม่ทันเวลา คาดต้องใช้คนในการก่อสร้างพระเมรุ 300-400 คน
นายเกรียงไกร สัมปัชชลิต อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยภายหลังการประชุมเตรียมงานก่อสร้างพระเมรุ และอาคารประกอบพิธี ณ บริเวณปริมณฑลท้องสนามหลวงว่า การประชุมวันนี้ (7 ม.ค.) เป็นการหารือกันถึงการเตรียมงานก่อสร้างพระเมรุในพระราชพิธีพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เพื่อเตรียมเสนอต่คณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ที่มี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งจะมีการประชุมในวันพรุ่งนี้ (8 ม.ค.) โดยที่ประชุมได้หารือกัน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ องค์ประกอบพระเมรุในพระราชพิธีพระศพ งบประมาณในการก่อสร้างพระเมรุ และระยะเวลาที่ใช้ในการก่อสร้างพระเมรุ
“สำหรับองค์ประกอบต่างๆ นั้นจะรวมทั้งการก่อสร้างพระเมรุ และอาคารประกอบต่างๆ ในบริเวณมณฑลพิธี ตลอดจนการก่อสร้างโรงมหรสพ ปะรำ ปรับปรุงเส้นทางเดินเท้า ทางลาด และพื้นลานต่างๆ โดยงบประมาณที่จะใช้ในการก่อสร้างพระเมรุในพระราชพิธีพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ประมาณ 150-200 ล้านบาท ซึ่งเทียบเคียงจากงานก่อสร้างพระเมรุมาศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเมื่อ 15 ปีที่ผ่านมา ซึ่งใช้งบฯ ทั้งสิ้น 120 ล้าน ระยะเวลาการก่อสร้างพระเมรุมาศ 6 เดือน แต่ปัจจุบันค่าวัสดุก่อสร้างต่างๆ มีราคาแพงขึ้น จึงทำให้งบฯ ที่จะใช้สูงขึ้นตามไปด้วย ส่วนระยะเวลาในการก่อสร้างพระเมรุในพระราชพิธีพระศพสมเด็จพระพี่นางเธอฯ อยู่ในช่วง 4-8 เดือน”
อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวอีกว่า รายละเอียดการก่อสร้างพระเมรุในขณะนี้ยังไม่สามารถบอกได้ เนื่องจากยังไม่ทราบแบบร่างพระเมรุต้องรอให้คณะกรรมการอำนวยการจัดงานฯ ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อมีพระบรมราชวินิจฉัยก่อน ซึ่งการก่อสร้างพระเมรุครั้งนี้ ตนจะขอยกเว้นเป็นกรณีพิเศษที่จะไม่ปฏิบัติตามระเบียบพัสดุของทางราชการ เนื่องจากจะใช้เวลานานไม่ทันกับการก่อสร้างพระเมรุ โดยรัฐบาลอาจจะให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือสำนักงบประมาณเข้ามาร่วมในการก่อสร้างดังกล่าว เพื่อดูแลเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณด้วยก็ได้ ทั้งนี้ สำนักช่างสิบหมู่จะรับผิดชอบในการจัดทำลวดลายต่างๆ ในพระเมรุทั้งหมด ซึ่งคาดว่าจะใช้บุคลากรในการก่อสร้างพระเมรุประมาณ 300-400 คน และระยะเวลาในการก่อสร้างไม่ควรน้อยกว่า 4 เดือน แต่หากจะต้องดำเนินการให้เสร็จก่อน 4 เดือน ตนก็พร้อมจะระดมบุคลากรจากกรมศิลปากรทั้งหมด และประสานหน่วยงานอื่นๆ เข้ามาร่วมในการก่อสร้างให้เสร็จตามเวลา