เผยแบบร่างพระเมรุ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ “น.อ.อาวุธ” ระบุใช้ต้นแบบร่างมาจากแบบร่างของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ โดยทำเป็นทรงปราสาท ที่หน้าบันทั้ง 4 ด้าน จะมีพระลัญจกรของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอประดิษฐานอยู่ “คุณหญิงไขศรี” เผย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเลือกแบบร่างพระเมรุฉัตร 7 ชั้นในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงพอพระราชหฤทัยหลังทอดพระเนตรแบบร่างพระเมรุ พร้อมพระราชทานคำแนะนำให้ขยายทางเดินให้กว้างมากขึ้น
นาวาอากาศเอกอาวุธ เงินชูกลิ่น อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ประธานคณะทำงานในการจัดสร้างพระเมรุ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ของกรมศิลปากร ซึ่งเป็นผู้ออกแบบร่างพระเมรุที่จะใช้ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เปิดเผยว่า
แบบร่างที่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้ทรงมีพระราชวินิจฉัย มี 2 แบบร่าง คือ รูปแบบยอดปราสาท และแบบยอดปรางค์ ซึ่งพระองค์ได้ทรงมีพระราชวินิจฉัยให้ใช้แบบร่างยอดปราสาท จึงได้นำเสนอแบบร่างพระเมรุดังกล่าวต่อที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ
“สำหรับรูปแบบพระเมรุยอดปราสาท ได้ศึกษาจากการออกแบบพระเมรุมาศของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ สมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ โดยยึดเค้าโครงพระเมรุมาศของสมเด็จพระปิตุฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี มาเป็นต้นแบบ โดยแนวคิดหลักได้ยึดถือความเชื่อ เรื่องเขาพระสุเมรุ ตามแบบโบราณราชประเพณี ด้วยการจำลองปราสาท ซึ่งเปรียบเสมือนสถานที่สถิตของเหล่านางฟ้า เทวดา มาเป็นตัวองค์ของพระเมรุ ส่วนยอดพระเมรุ ประกอบด้วย ยอดชั้นเชิงกลอน 5 ชั้น ต่อยอดด้วย ชั้นบัวคลุ่มจนถึงปลายยอดประดับฉัตร 7 ชั้น เอกลักษณ์ของพระเมรุที่จะใช้ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ อยู่ที่หน้าบันทั้ง 4 ทิศ เนื่องจากได้อัญเชิญตราพระราชลัญจกร กว ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ มาประดิษฐานที่หน้าบันของพระเมรุทั้ง 4 ด้านด้วย”
นาวาเอกอาวุธ กล่าวต่อไปว่า การออกแบบร่างพระเมรุครั้งนี้ ได้คำนึงถึงสถาปัตยกรรมไทย ตามแบบโบราณราชประเพณี เพื่อให้พระเมรุมีความงดงามเปรียบเสมือนสรวงสวรรค์ เพื่อถวายพระเกียรติแด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ อย่างสมพระเกียรติมากที่สุด
ทั้งนี้ แบบร่างพระเมรุออกเป็นทรงปราสาท โดยมีอุดมคติที่ยึดเขาพระสุเมรุเป็นหลักในการออกแบบซึ่งมีความหมายว่าเป็นปราสาทอันเป็นที่สถิตของเทพยดา โดยหน้าบันจะมีพระลัญจกรของพระพี่นางประดิษฐานอยู่ทั้ง 4 ด้าน
นอ.อาวุธกล่าวอีกว่า หลังจากนี้ไปจะต้องไปทำรายละเอียดเพิ่มเติมในด้านโครงสร้าง อย่างไรก็ตามจะใช้โครงสร้างที่ทำมาจากเหล็กและจะไม่ใช่ไม้เพราะไม้หายาก แต่ในช่วงสมเด็จพระศรีนครินทราพระบรมราชนนีใช้ไม้ทั้งหมด แต่คิดว่าครั้งนี้จะเปลี่ยนวิธีการเพราะไม้หายาก อย่างไรก็ตามจะใช้โครงสร้างที่ทำมาจากเหล็กเป็นส่วนใหญ่ แต่อาจจะมีบางที่จะใช้ไม้อัดเข้ามาห่อหุ้มแทน เช่น เสา ซึ่งภายนอกอาจจะมองเห็นเป็นเสาไม้ใหญ่แต่ภายในเป็นเหล็กที่บุด้วยไม้อัด
นอ.อาวุธ กล่าวอีกว่า พระเมรุของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ จะใช้ยอดปราสาท แต่อย่างไรก็ตามยอดพระเมรุมาศมีความแตกต่างกันหลายแบบ เช่น ยอดมณฑปสูงที่สุด รองลงมาคือ ยอดปราสาท และยอดเกี้ยวรองลงไป ซึ่งยอดเกี้ยวใช้ทำถวายสมเด็จพระศรีนครินทราพระบรมราชนนี
“ยอดพระเมรุมีหลายแบบ เช่น ยอดปรางค์ ยอดเจดีย์ แต่ละลักษณะนำมาใช้เป็นยอดเมรุมาศได้ทั้งนั้น แต่ขึ้นอยู่กับระดับศักดิ์ที่ทำให้แตกต่างกัน โดยเฉพาะยอดมณฑป จะใช้กับพระมหากษัตริย์เท่านั้น เพราะ ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 , 6 และ 8 ใช้ยอดมณฑปที่แสดงถึงฐานานุศักดิ์ ที่ถือว่าสูงที่สุด”นอ.อาวุธกล่าว
นอ.อาวุธ กล่าวอีกว่า สำหรับกำลังคนที่จะใช้ในการก่อสร้างจะเน้นในงานโครงสร้างเป็นหลักซึ่งจะใช้ระบบจ้างเหมา ส่วนเป็นรายละเอียดในงานปราณีตศิลป์จะให้ทางกรมศิลปากรเป็นผู้ดำเนินการ เช่น รูปเทวดา ฉัตรเครื่องสูง และ พระโกศจันทร์ เช่นเดียวกับครั้งสมเด็จพระศรีนครินทราพระบรมราชนนี จะใช้กำลังคนจำนวนมาก ที่สำคัญจะเปิดโอกาสให้กับประชาชนทั่วไปให้เข้ามาช่วยสร้างพระเมรุด้วย เหมือนสมัยพระศรีนครินทราพระบรมราชนนี
นอ.อาวุธอธิบายเพิ่มเติมว่าสำหรับพระเมรุเป็นลักษณะสถาปัตยกรรม ที่มีชั้นเชิงกลอน 5 ชั้น ก่อนจะมีฉัตรตามพระราชอิสริยศ แต่งานพระศพพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ครั้งนี้เป็นเศวตฉัตร 7 ชั้น โดยมีเค้าร่างของแบบเดิมมาจากสมัยสมเด็จพระปิตุฉาเจ้าสุขุมาลมารศรีที่เคยสร้างมา ยอมรับว่างดงามอย่างมาก แต่เชื่อมั่นว่า การก่อสร้างพระเมรุมาศครั้งนี้จะไม่ลำบาก เพราะได้มีประสบการณ์จากการจัดสร้างพระเมรุของสมเด็จพระศรีนครินทราพระบรมราชนนี และพระเมรุนี้จะมีลิฟท์เพื่อใช้ให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงขึ้นไปบนพระเมรุมาศด้วย
คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ รมว.วัฒนธรรม กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่มี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า
ในช่วงเช้า ตนพร้อมด้วย นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ ปลัด วธ. นายเกรียงไกร สัมปัชชลิต อธิบดีกรมศิลปากร และ นาวาอากาศเอกอาวุธ เงินชูกลิ่น อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ศิลปินแห่งชาติ ซึ่งเป็นประธานคณะทำงานออกแบบร่างพระเมรุฯ เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อนำแบบร่างพระเมรุที่ น.อ.อาวุธ ออกแบบจำนวน 2 แบบ เป็นแบบฉัตร 5 ชั้น และฉัตร 7 ชั้น ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทอดพระเนตร
“สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเลือกแบบร่างพระเมรุที่มียอดฉัตร 7 ชั้น โดยภาพรวมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงพอพระราชหฤทัยการออกแบบร่างพระเมรุ อย่างไรก็ตาม พระราชทานคำแนะนำให้ น.อ.อาวุธ ปรับปรุงรายละเอียดบางส่วน อาทิ การปรับพื้นที่ทางเดินให้มีความกว้างมากยิ่งขึ้น เป็นต้น ซึ่ง น.อ.อาวุธ รีบนำมาปรับปรุง แล้วเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการ ในช่วงบ่ายทันที เมื่อที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการคัดเลือกแบบร่างพระเมรุฯ ดังกล่าวแล้ว ทางรัฐบาลจะทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อขอพระบรมราชวินิจฉัยต่อไป”
รมว.วัฒนธรรม กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ คณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ 5 ชุด ดังนี้ 1.คณะกรรมการฝ่ายจัดการพระราชพิธีพระราชเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ 2.คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์และประสานงานการจัดงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ โดยแต่งตั้งให้ คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ทั้ง 2 คณะ 3.คณะกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุ และบูรณะปฏิสังขรณ์ราชรถ และพระยานมาศ โดยนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน 4.คณะกรรมการฝ่ายรักษาความปลอดภัย และการจราจร ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธาน และ 5.คณะกรรมการฝ่ายจัดทำจดหมายเหตุและหนังสือที่ระลึก ให้คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ รมว.วัฒนธรรม เป็นประธาน เพื่อประสานงานทำงาน โดยเฉพาะการเบิกจ่ายงบประมาณที่สะดวกรวดเร็ว ไม่ต้องผ่านขั้นตอนที่ยุ่งยาก เพราะจะทำให้การทำงานล่าช้าไม่ทันต่อกำหนดเวลา
“ที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการฯ ได้มอบหมายให้ วธ.รับผิดชอบเรื่องการออกแบบ ก่อสร้างพระเมรุฯ และการเตรียมความพร้อม สำรวจซ่อมแซมราชรถ และพระยานมาศสามลำคาน สำหรับอัญเชิญพระศพเคลื่อนขบวนพระศพเข้าสู่พระเมรุ รวมทั้งให้จัดทำจดหมายเหตุและหนังสือที่ระลึกงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ที่ประชุมยังไม่ได้หารือว่าจะต้องมีการอัญเชิญราชรถองค์ใดออกมาใช้ระหว่างพระมหาพิชัยราชรถ กับพระเวชยันตราชรถ ทั้งนี้ เบื้องต้นที่ประชุมมอบหมายให้ดำเนินการเตรียมจัดหาทรัพยากรต่างๆ สำหรับสร้างพระเมรุ ไม่ว่าจะเป็นกำลังคน ช่างฝีมือ และไม้จันทน์หอมที่เป็นวัสดุสำคัญที่ช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร จะต้องนำมาฉลุลวดลายเพื่อใช้เป็นเครื่องทรงใหญ่ประกอบพระอิสริยยศ เป็นต้น ซึ่งคาดว่าการก่อสร้างพระเมรุฯ จะต้องดำเนินการอย่างรัดกุม ไม่จำเป็นต้องเร่งรัดเกินไป เพราะเป็นของช่างศิลป์ที่ต้องอาศัยความละเอียดอ่อนในการก่อสร้างพระเมรุให้มีความสวยงามและสมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ” รมว.วัฒนธรรม กล่าว