น.อ.อาวุธ เผยทีมงานออกแบบพระเมรุกำลังเร่งวันเร่งคืนแบบแปลนพิมพ์เขียวที่จะใช้ในการจัดสร้าง พร้อมเตรียมทำรายละเอียดพระเมรุ พระราชยาน และพระราชพิธีขบวนเคลื่อนพระศพลงในเว็บไซต์ ขณะที่กรมศิลปากรระบุทุกภาคส่วนแสดงเจตจำนงที่จะขอเข้ามามีส่วนร่วมเป็นจำนวนมาก
น.อ.อาวุธ เงินชูกลิ่น อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ประธานคณะทำงานออกแบบพระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ เปิดเผยว่า ประชาชนจำนวนมากสนใจอยากทราบรายละเอียดสถาปัตยกรรมไทยพระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ แต่ละชั้นมีชื่อเรียกและมีความหมายอย่างไรบ้าง เพราะที่ผ่านมาแบบร่างบอกเพียงว่าเป็นสถาปัตยกรรมไทยยอดปราสาท ขณะนี้เท่าที่ตนทราบกรมศิลปากรกำลังจัดทำรายละเอียดพระเมรุ พระราชยาน และพระราชพิธีขบวนเคลื่อนพระศพ ลงในเว็บไซต์ www.finearts.go.th และจะเผยแพร่ได้ในไม่ช้านี้
สำหรับสถาปัตยกรรมพระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ยึดแนวความคิดจำลองรูปเขาพระสุเมรุและสะท้อนพระอุปนิสัยและพระจริยวัตรที่นุ่มนวล สง่างามของพระองค์ไว้ในองค์ประกอบพระเมรุ และแต่ละชั้นของพระเมรุมีความหมายแฝงอยู่ ตั้งแต่หน้าบันมุขพระเมรุ 4 มุข หรือด้านประดับพระลัญจกร เหนือขึ้นเป็นกร 5 ชั้นบันแถลง (หมายถึงวิมานของแต่ละชั้น)
ถัดขึ้นไปเป็นบัวกลุ่ม 5 ชั้นแสดงถึงความอ่อนโยน เมื่อดูโครงสร้างพระเมรุจะเบา คล้าย ๆ ดอกบัวดอกไม้รองรับยอดปลี ถัดขึ้นไปอีกจะมีเม็ดเล็ก ๆ เรียกว่า เม็ดน้ำค้าง ประดับคั่นกลางปลีอยู่ก่อนถึงยอดเศวตฉัตร 7 ชั้น เม็ดน้ำค้าง ในความหมายสถาปัตยกรรมไทย ไม่ว่าจะเป็นยอดปราสาท มณฑป ยอดเกี้ยว คือเป็นที่สุดยอดของทุกอย่างของความบริสุทธิ์ ความงามเทียบได้กับสีขาว ในทางคติความเชื่อพุทธศาสนาหมายถึงขั้นสุดท้ายหรือสิ่งท้ายสุดขึ้นสวรรค์ เช่นเดียวกับคติความเชื่อเรื่องบัวในพุทธประวัติ ชาดก ตำนาน และพระสูตรต่าง ๆ ที่คนไทยนำมาเป็นดอกไม้มงคล
น.อ.อาวุธ กล่าวอีกว่า นักสถาปัตยกรรมไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันนำเม็ดน้ำค้างมาเป็นองค์ประกอบรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยบนยอดปลีปลายแหลม เวลามองไกล ๆ เหมือนปลายแหลมจะขาด แต่มีเม็ดน้ำค้างมาคั่น จะทำให้เห็นมีจุดต่ออยู่ของปลายแหลม ถัดจากเม็ดน้ำค้างขึ้นไปบนยอดสุดปักสัปตปฎลเศวตฉัตร 7 ชั้นเป็นเครื่องราชูปโภคประดับพระราชอิสริยยศ สำหรับความสูงของพระเมรุจากฐานถึงยอดอยู่ราวประมาณ 35 เมตร ถือว่ามีความใกล้เคียงของพระเมรุมาศสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งมีความสูง 36.30 เมตร ความกว้างน่าจะใกล้เคียงกันคือ 26-27 เมตร รวมทั้งลวดลายศิลปกรรมพระเมรุจะมีใกล้เคียงและเพิ่มเติมบ้าง
ทั้งนี้ ขณะนี้ทีมงานออกแบบพระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ เร่งวันเร่งคืนแบบแปลนพิมพ์เขียวที่จะใช้ในการจัดสร้างพระเมรุ ได้คำนวณและตีสเกลมาตราส่วนของโครงสร้างพระเมรุที่คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณ 2 เดือนเป็นอย่างช้า และอาจจะมีการปรับแก้ในขณะที่สร้างพระเมรุ ทั้งนี้โครงสร้างจะยึดตามที่เคยทำพระเมรุมาศสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเป็นหลัก ฐานจะใช้คอนกรีตสำเร็จรูปสำหรับรองรับเสาเหล็กสามารถรื้อถอนได้ มีไม้อัดประกบติดประดับด้วยกระดาษทองย่นตกแต่งลวดลาย ปลียอดทำจากวัสดุไฟเบอร์กลาส และเม็ดน้ำค้างจะทำจากเรซิ่น รวมทั้งแบบแปลนอาคารพิธี เช่น หอเปลื้อง สถานที่สำหรับพักพระลองทองใหญ่ประกอบพระโกศ พระที่นั่งทรงธรรม สถานที่สำหรับพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ ประกอบพระราชกรณียกิจทรงบำเพ็ญพระราชกุศล เป็นต้น
ด้านนายเกรียงไกร สัมปัชชลิต อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ขณะนี้มีองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนประชาชน แสดงเจตจำนงที่จะขอเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดสร้างพระเมรุและอาคารต่าง ๆ ที่ประกอบใช้ในการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทางกรมศิลปากรยินดี เพราะทุกคนสำนึกในพระกรุณาธิคุณของพระองค์ แต่ต้องดูความเหมาะสมของงานด้วย เพราะใช้ความประณีตศิลป์อย่างมาก อาจจะดูว่าตรงไหนพอจะช่วยได้ เช่น พื้นไม้กระดานขรุขระก็นำกระดาษทรายช่วยกันขัด หรือให้กำลังใจ มีขนม น้ำมาแจกก็ได้ เพราะใช้ช่างศิลป์จำนวน 300-400 คน
ในส่วนของการใช้พื้นที่สนามหลวงนั้น กรมศิลปากรได้ทำหนังสือถึงกรุงเทพมหานคร ให้กันพื้นที่ไว้ทางด้านทิศใต้ที่จะเริ่มจัดสร้างพระเมรุ และทิศเหนือสร้างอาคารพิธีดังกล่าว ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ คาดจะใช้เวลา 4-6 เดือน จึงแล้วเสร็จ