สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้มีสัตว์หิมพานต์ 3 คู่ ประดับเชิงบันไดพระเมรุ ผอ.สำนักช่างสิบหมู่คาดใช้ช่างเพชรบุรี ที่มีประสบการณ์ครั้งพระเมรุมาศของสมเด็จย่า ส่วนการสร้างพระเมรุกรมศิลปากรคาดทำพิธีลงเสาเอกประมาณ ก.พ.นี้
วันนี้ (11 ม.ค.) สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงานเทิดพระเกียรติพระบิดาแห่งการอนุรักษ์มรดกไทย “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับการอนุรักษ์มรดกไทย” (The Supreme Patron of Thai Cultural Heritage) ณ ห้องบอลรูมและโถงต้อนรับ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.)กล่าวภายหลังเฝ้ารับเสด็จฯ ว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงทอดพระเนตรสัตว์หิมพานต์ที่นำมาปั้นโชว์จัดแสดงในงาน ทรงมีพระกระแสรับสั่งว่า ควรจะมีสัตว์หิมพานต์ 3 คู่ ประดับอยู่ที่บันไดชั้นล่างเชิงพระเมรุ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ซึ่งตนได้มอบหมายให้สำนักช่างสิบหมู่นำไปจัดทำตามพระราชดำริ
ด้านน.อ.อาวุธ เงินชูกลิ่น ศิลปินแห่งชาติ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร หัวหน้าทีมออกแบบพระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ กล่าวว่า ในเรื่องของสัตว์หิมพานต์ตามจินตนาการ ตามธรรมเนียมของพระเมรุที่มีมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 จะมีสัตว์หิมพานต์ เช่น หัวเป็นสิงห์ หางเป็นมังกร หรือเอารูปยักษ์มาปนกับสิงห์ วานร ครุฑ นาค บางตัวเอา 3 ชนิดมารวมอยู่ในตัวเดียวก็มีถือเป็นสัตว์หิมพานต์นำมาประดับที่เชิงบันไดพระเมรุที่เป็นเสมือนเขาพระสุเมรุ จะส่งเสด็จสู่เทวาลัยสถานบรรพต ทั้งนี้ จะได้ให้ทางสำนักช่างสิบหมู่ปั้นขึ้นมา 3 คู่ มาประดับไว้ตรงที่บันไดใหญ่ 3 ทางชั้นล่างของพระเมรุ ส่วนบันไดขึ้นไปจะประดับรูปปั้นเทวดา
ทั้งนี้ ในการจัดสร้างพระเมรุ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ว่า ตามธรรมเนียมราชประเพณีไทยโบราณมา ต้องมีทำพิธีบวงสรวงขออนุญาตเจ้าที่เจ้าทาง ในครั้งนี้เช่นกันจะทำพิธีลงเสาเอกพระเมรุ ช่างกรมศิลปากรที่เกี่ยวข้องจะได้ทำพิธีบวงสรวงบอกกล่าว และเพื่อเป็นมงคลแก่ช่างด้วย คาดว่า จะใช้ตามปฏิทินหลวงกำหนดฤกษ์วันธงชัย หรือวันอธิบดีเป็นฤกษ์มงคลปีนี้ หรือประมาณเดือน ก.พ.ปีนี้
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้นำแบบพระเมรุแบบเก่ามาศึกษา โดยพระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ อาจมีการเปลี่ยนโครงสร้างเล็กน้อย เนื่องจากของเก่าใช้วัสดุไม้จำนวนมาก แต่พระเมรุแบบใหม่ไม่อยากให้ใช้วัสดุที่เป็นไม้มากนัก ทั้งนี้ ตนได้มอบหมายให้นายสุทิน เจริญสวัสดิ์ หัวหน้าส่วนนักวิศวกร กองสถาปัตยกรรม ของกรมศิลปากรดูแลในเรื่องดังกล่าวแล้ว
ขณะที่นายธนชัย สุวรรณวัฒนะ ผู้อำนวยการสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร กล่าวว่า ได้มอบหมายให้ช่างสิบหมู่ เช่น ช่างประติมากรรม ช่างไม้ ช่างจิตรกรรม ที่มีอยู่เกือบ 200 คน เตรียมความพร้อมไว้ เมื่อแบบแปลนพระเมรุเสร็จเรียบร้อยอย่างเป็นทางการ สำหรับงานช่างปูนปั้นสัตว์หิมพานต์และเทวดาคงจะใช้งานช่างเพชรบุรี ที่มีประสบการณ์ครั้งพระเมรุมาศของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มาร่วมงานสร้างพระเมรุ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ