“อาวุธ เงินชูกลิ่น” นำคณะผู้เชี่ยวชาญกรมศิลปากรตรวจสภาพ “พระมหาพิชัยราชรถ” เตรียมบูรณะซ่อมแซม เพื่อนำใช้ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ “สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ สำนักช่างสิบหมู่เตรียมอัตรากำลังพร้อมเริ่มดำเนินการได้ทันที ขณะที่กรมสรรพวุธทหารบกดูแลเรื่องล้อ เพลาและการเคลื่อนราชรถ
วันนี้ (9 ม.ค.) นาวาอากาศเอกอาวุธ เงินชูกลิ่น อดีตอธิบดีกรมศิลปากร และศิลปินแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะทำงานออกแบบร่างพระเมรุ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พร้อมด้วย นายเกรียงไกร สัมปัชชลิต อธิบดีกรมศิลปากร และคณะผู้บริหารผู้เชี่ยวชาญกรมศิลปากร เดินทางมาสำรวจความพร้อมของ พระมหาพิชัยราชรถ เวชยันตราชรถ ราชรถน้อย และพระยานมาศสามลำคาน ที่เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร รวมทั้งหารือเกี่ยวกับการซ่อมแซม เตรียมความพร้อมในส่วนต่างๆ
นาวาอากาศเอกอาวุธ กล่าวว่า การสำรวจครั้งนี้เป็นการเตรียมความพร้อมทั้งหมด ซึ่งคณะทำงานหารือแล้วสรุปว่าจะต้องปรับปรุงและซ่อมแซม “พระมหาพิชัยราชรถ” โดยสภาพส่วนใหญ่ยังอยู่ในสภาพดี แต่ขอให้กรมสรรพาวุธทหารบกเข้ามาดูแลการซ่อมในส่วนของล้อและเพลาที่จะใช้ชักรากพระมหาพิชัยราชรถไปสู่การเคลื่อนขบวนพระศพ ส่วนเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรดูแลด้านลวดลายเครื่องประณีตศิลป์ต่างๆ และอุปกรณ์ที่ต้องทำใหม่ ได้แก่ ฉัตร ผ้าม่าน และธง เป็นต้น ส่วนกลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์จะเข้ามาดำเนินการในส่วนของการล้างคราบต่างๆ ที่จับบนทองคำในองค์ราชรถ รวมถึงเครื่องอุบะที่ทำด้วยเงิน ส่วนราชรถน้อย ขณะนี้เหลืออยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เพียง 3 องค์ จากเดิมที่สร้างตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทั้งหมด 7 องค์ ได้มีการซ่อมแซมแล้ว 2 องค์ เพราะฉะนั้นในครั้งนี้ก็จะซ่อมแซมราชรถน้อยที่เหลือให้มีสภาพดีพร้อมใช้งานด้วย
ในส่วนของพระยานมาศสามลำคาน โดยใช้เฉพาะในส่วนคานต้องมีความแข็งแรงสามารถรองรับการแบกหาม ซึ่งต้องตรวจสอบว่าจะต้องเปลี่ยนตัวไม้คานหรือไม่ และในเรื่องของทองคำที่ปิดไว้ทั่วพระยานมาศต้องมาตรวจสอบด้วยว่าจะปิดทองใหม่หรือไม่ ซึ่งสำนักช่างสิบหมู่จะเข้ามาทำงานในส่วนนี้อย่างละเอียด ขณะเดียวกัน ได้กำชับให้ตรวจสอบระบบการชักรอกของเกรินบันไดนาคให้มีความแข็งแรงด้วย นอกจากนี้ ยังได้ตรวจความเรียบร้อยเพื่อซ่อมแซมพระที่นั่งราเชนทรยาน ซึ่งจะใช้อัญเชิญพระอัฐิ และวอศิวิกาซึ่งจะใช้อัญเชิญพระบรมศฤรางคารจากพระเมรุมาศภายหลังพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระบรมศพที่ท้องสนามหลวงเข้าสู่พระบรมมหาราชวังด้วย
ด้าน นายเกรียงไกร กล่าวว่า ตนได้ประชุมผู้บริหารกรมศิลปากร และได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานที่เกี่ยวข้องกับพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาขึ้น 3 ชุด ได้แก่ 1.คณะทำงานที่เกี่ยวข้องกับงานสถาปัตยกรรม วิศวกรรม รวมถึงสภาพภูมิทัศน์ ของพระเมรุ โดยให้สำนักสถาปัตยกรรม เป็นผู้ดำเนินการ 2.คณะทำงานเกี่ยวกับการขยายลวดลายศิลปะไทยประกอบพระเมรุ พระโกศไม้จันทน์ ฉากบังเพลิง และการซ่อมแซมศิลาภรณ์ราชรถ โดยให้สำนักช่างสิบหมู่เป็นผู้ดำเนินการ และ 3.คณะทำงานที่เกี่ยวข้องกับงานจดหมายเหตุ และหนังสือที่ระลึกประกอบพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ โดยให้สำนักหอจดหมายเหคุแห่งชาติเป็นผู้ดำเนินการ
นายธนชัย สุวรรณวัฒนะ ผอ.สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ขณะนี้ตนได้มอบหมายให้ช่างสิบหมู่ เตรียมความพร้อมในการบูรณะซ่อมแซมพระมหาพิชัยราชรถ ราชรถน้อย และยานมาศสามลำคานแล้ว โดยสำนักช่างสิบหมู่จะรับผิดชอบในส่วนการตกแต่งลวดลายทั้งพระโกศ พระเมรุ รวมทั้งการฉลุและแกะสลักโครงสร้างไม้จันทน์ เพื่อใช้ในการทำลวดลายในทางประณีตศิลป์ ซึ่งขณะนี้สำนักช่างสิบหมู่มีความพร้อมในการดำเนินการและเตรียมอัตรากำลังกว่า 190 คน ในการซ่อมแซมราชรถและจัดสร้างพระเมรุ ทั้งนี้ ในส่วนที่สำนักช่างสิบหมู่จะดำเนินการซ่อมแซมได้ทันทีคือการทำธงสามชายหน้าพระมหาพิชัยราชรถ และการทำผ้าลายทองแผ่ลวดประกอบส่วนต่างๆ โดยช่างบางส่วนจะคัดเลือกช่างฝีมือดีจากที่สำนักช่างสิบหมู่ได้จัดอบรมให้กับบุคคลภายนอกที่ผ่านมา เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในพระราชพิธีครั้งนี้ด้วย
พ.อ.มังกร ว่านเครือ ทหารกรมสรรพาวุธทหารบก กล่าวว่า ในส่วนของกรรมสรรพาวุธได้มาตรวจความพร้อมที่ต้องรับผิดชอบการเคลื่อนขบวนพระศพ และขับเคลื่อนราชรถ ในเบื้องต้นจะต้องมีการตรวจสอบความแข็งแรงของราชรถทั้งหมด ทั้งเพลา ล้อ คานหาม โดยได้เตรียมช่างฝีมือของกรมสรรพาวะเอาไว้เรียบร้อยแล้ว เพื่อจะได้ทำงานร่วมกับกรมศิลปากร ซึ่งจากสภาพทั่วไปในการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าพระมหาพิชัยราชรถ ราชรถน้อย และยานมาศสามลำคานยังอยู่ในสภาพดี ซึ่งอาจจะต้องมีการหยอดน้ำมันในส่วนของการขับเคลื่อน และตกแต่งความสวยงามในส่วนอื่นๆ เท่านั้น
นางจิราภรณ์ อรัณยะนาค ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ ในฐานะหัวหน้ากลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ กรมศิลปากร เปิดเผยว่า การทำความสะอาด ซ่อมแซมตามขั้นตอนของการอนุรักษ์นั้น ต้องใช้นักวิทยาศาสตร์ที่มีความรู้เป็นผู้ควบคุมการทำงานและมีผู้ช่วยเป็นเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ของกรมศิลปากร ซึ่งมีคณะทำงานประมาณ 30 คน ขณะเดียวกันทางกลุ่มวิทยาศาสตร์จะเปิดให้นักศึกษาที่เรียนวิชาพิพิธภัณฑวิทยา ซึ่งมีความรู้เรื่องการอนุรักษ์เบื้องต้นเข้ามาเป็นอาสาสมัครในการบูรณะ โดยการทำงานจะต้องสร้างนั่งร้านขึ้นสำหรับปีนขึ้นไปทำความสะอาดตั้งแต่ส่วนล่างจนถึงส่วนยอด ซึ่งนักอนุรักษ์จะไม่ปีนขึ้นไปบนราชรถเด็ดขาด ที่สำคัญต้องระมัดระวังในการทำงานมาก เพราะพระมหาพิชัยราชรถไม่ได้นำออกมาใช้เป็นเวลา 11 ปีแล้ว จึงไม่มีการทำความสะอาดตามขั้นตอนของวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ อย่างไรก็ตาม มีความเป็นห่วงในส่วนยอดของพระมหาพิชัยราชรถ ซึ่งมีความสูงและมียอดแหลมมาก หากมีการสะเทือนจากการเคลื่อนที่อาจทำให้ยอดหักลงมาได้ ดังนั้นต้องทำการบูรณะให้มีความแข็งแรงที่สุด
สำหรับพระมหาพิชัยราชรถสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2338 ในสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี เพื่อใช้สำหรับอัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกสู่พระเมรุมาศคราวงานถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิในทุ่งพระเมรุ ในปี พ.ศ.2339 หลังจากนั้นในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกรัชกาลก็ได้ใช้พระมหาพิชัยราชรถในการอัญเชิญพระบรมโกศออกสู่พระเมรุมาศ ณ ทุ่งพระเมรุ ครั้งหลังสุดเมื่อคราวถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในปี พ.ศ.2539 พระมหาพิชัยราชรถได้ถูกกำหนดให้เป็นราชรถอัญเชิญพระโกศพระบรมศพออกสู่พระเมรุมาศ ณ ท้องสนามหลวง
วันเดียวกัน เมื่อเวลา 10.00 น. นายปรีชา กันธิยะ เลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ(กวช.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ(สวช.)ได้จัดพิธีบำเพ็ญพระกุศลทักษิณานุปทาน อุทิศถวายพระกุศลแด่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ โดยมีคุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ รมว.วัฒนธรรม รวมทั้งได้จัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติเกี่ยวกับงานศิลปะ และด้านดนตรี ที่ห้องนิทรรศการหมุนเวียน ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ระหว่างวันที่ 9 ม.ค.- 11 เม.ย. 51 ซึ่งประชาชนที่มาเข้าชมนิทรรศการจะได้รับหนังสือ “กัลยาณิวัฒนา คารวาลัย องค์อุปถัมภ์ สืบสาน ศิลปวัฒนธรรมไทย”เป็นที่ระลึก โดย สวช.ได้จัดพิมพ์ 80,000 เล่ม เพื่อแจกจ่ายแก่ห้องสมุด และจะมอบให้แก่ สำนักพระราชวัง แจกประชาชนที่มาสักการะพระศพต่อไป