xs
xsm
sm
md
lg

แบบพระเมรุคืบหน้ากว่าร้อยละ 80 “อาวุธ” เผยยึดพอเพียงสร้างพระที่นั่งธรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“น.อ.อาวุธ” เผยแบบพระเมรุคืบหน้ากว่า 80% ส่วนพระที่นั่งทรงธรรมที่ประทับในหลวงและพระบรมวงศานุวงศ์ เน้นแบบสถาปัตยกรรมไทย อาคารประกอบสร้างตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง คำนึงประโยชน์ใช้สอย ประหยัด และสง่างามสมพระเกียรติ คาดปลาย มี.ค.ต้น เม.ย.ตั้งเสาเอกพระเมรุ ด้านเจ้ากรมสรรพาวุธคาดการซ่อมแซมราชรถทันกำหนดเวลา

วันนี้ (12 ก.พ.) ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร น.อ.อาวุธ เงินชูกลิ่น ประธานคณะทำงานออกแบบและจัดสร้างพระเมรุ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ กล่าวภายหลังประชุมคณะทำงานฝ่ายจัดสร้างพระเมรุ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุ และบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ว่า ตนได้เชิญสำนักช่างสิบหมู่ กลุ่มงานวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ทหารช่างจากกรมสรรพาวุธทหารบก มาหารือถึงแนวทางการดำเนินงานบูรณะพระมหาพิชัยราชรถ พระเวชยันตราชรถ ราชรถน้อย พระที่นั่งราเชนทรยาน พระยานมาศ 3 ลำคาน พระวอสีวิกากาญจน์ และเกรินบันไดนาค เพื่อวางแนวทางการดำเนินงานก่อนหลัง รวมทั้งให้จัดทำงบประมาณที่จะต้องใช้ในการบูรณะมาเสนอต่อกรมศิลปากรด้วย

น.อ.อาวุธ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้กรมสรรพวุธทหารบกได้เข้ามาดำเนินการ ถอดล้อราชรถ เพื่อตรวจสอบการขับเคลื่อนและการรับน้ำหนัก ในขณะเดียวกัน กลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ ก็ได้เข้ามาดำเนินการทำความสะอาดพระมหาพิชัยราชรถแล้ว ส่วนสำนักช่างสิบหมู่ ตนคิดว่า จะให้เข้ามาดำเนินการบูรณะธง ม่าน ฉัตร ล่วงหน้าไปก่อน สำหรับความคืบหน้าการเขียนแบบพระเมรุนั้น ดำเนินการได้ 70-80% แล้ว ขณะที่แบบของพระที่นั่งทรงธรรม ซึ่งเป็นสถานที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ ในการประกอบพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลในการออกพระเมรุ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ตนออกแบบได้ 30% แล้ว โดยจะคำนึงถึงแบบสถาปัตยกรรมไทย ซึ่งจะมีความคล้ายคลึงกับพระที่นั่งทรงธรรมในงานออกพระเมรุมาศสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี แต่จะมีพื้นที่มากกว่าและจะมีการติดตั้งลิฟท์เป็นทางเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย รวมทั้งจะคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยในการเสด็จพระราชดำเนินทรงบำเพ็ญพระราชกุศล อาทิ พื้นที่ประทับ พื้นที่พระสงฆ์สดับปกรณ์ ฉัน เป็นต้น

“พระที่นั่งทรงธรรมในยุคนี้ โครงสร้างจะใช้วัสดุอื่นแทนไม้ อาทิ ไม้เฌอร่า หรือเหล็กในการทำโครงสร้าง เพราะปัจจุบันไม้หายาก ดังนั้น การก่อสร้างคณะทำงานจะใช้วัสดุที่มีอยู่ในประเทศและราคาประหยัดมาทดแทน โดยจะยึดแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นหัวใจหลักในการออกแบบและจัดสร้างพระเมรุ รวมถึงอาคารประกอบโดยรอบ ที่สำคัญจะต้องมีความสง่างามสมพระเกียรติมากที่สุดด้วย” ประธานคณะทำงานฯกล่าว

น.อ.อาวุธ กล่าวอีกว่า สำหรับการจัดสร้างพระเมรุและการบูรณะราชรถ ในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากทุกหน่วยงานอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม คาดว่าประมาณปลายเดือน มี.ค.ถึงต้นเดือน เม.ย.คงจะได้ตั้งเสาเอกของพระเมรุ ควบคู่กับการวางฐานรากของพระเมรุทั้งหมดด้วย

นายธนชัย สุวรรณวัฒนะ ผอ.สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร กล่าวว่า ไม้จันทน์หอม 130 แผ่น ได้นำมาเก็บผึ่งไว้ในอาคาร ที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี โดยจะต้องวางเรียงเป็นแนว ไม่ให้ไม้คด ไม่ให้ตากแดด เพราะจะทำให้ไม้แตก และเสื่อมสภาพได้ง่าย ส่วนปีกไม้ติดเปลือก ช่างสิบหมู่จะนำมาเหลากลม เพื่อนำมาทำเป็นฟืน ตั้งอยู่บนพระจิตกาธาน ขณะที่ไม้จันทน์ที่จะนำมาสร้างพระโกศจันทน์นั้น จะต้องรอให้อาคารสร้างพระโกศจันทน์ที่บริเวณสนามหลวงสร้างเสร็จก่อน

ในวันเดียวกัน เวลา 10.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ท.คำณวน เธียรประมุข เจ้ากรมสรรพาวุธทหารบก พร้อมด้วยผู้บริหารจากกรมสรรพาวุธทหารบกเดินทางเข้าตรวจ และติดตามความคืบหน้าการซ่อมแซมพระมหาพิชัยราชรถ พระเวชยันตราชรถและราชรถน้อยภายในโรงราชรถพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร โดยวันนี้เจ้าหน้าที่ทหารช่างจากกรมสรรพาวุธทหารบกประมาณ 30 นายเข้ามาดำเนินการซ่อมแซมช่วงล่างราชรถน้อยหมายเลข 9783 เป็นวันที่สอง โดยมีการถอดล้อประดับและล้อหลักสำหรับบังคับทิศทาง นำไปจัดทำใหม่ทั้งหมดหลังพบว่ามีสภาพทรุดโทรมมาก

พล.ท.คำณวน กล่าวว่า จากการติดตามความคืบหน้าของเจ้าหน้าที่ทหารจากกรมสรรพาวุธทหารบกที่เข้ามาดำเนินการซ่อมช่วงล่าง และระบบทางวิศวกรรมของราชรถทั้งหมดที่จะใช้ประกอบพิธีอัญเชิญพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ จากพระบรมมหาราชวังไปยังพระเมรุ ซึ่งขณะนี้พบว่า ทหารช่างจากกรมสรรพาวุธถอดช่วงล่างราชรถน้อย ไม่ว่าจะเป็นล้อหลักและล้อประดับนำกลับไปซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดที่โรงงานกองช่างแสง กรมสรรพาวุธทหารบก อย่างไรก็ตามได้กำชับให้มีการบันทึกภาพและทำทะเบียนชิ้นส่วนต่างๆ ของราชรถที่ถอดออกไป เพื่อให้นำกลับมาประกอบได้อย่างถูกต้องครบทุกชิ้น

“ขณะนี้ยังไม่ได้ประเมินงบประมาณการซ่อมช่วงล่าง เพราะต้องทำข้อตกลงและร่วมการจัดระบบการซ่อมแซมระหว่างกรมสรรพาวุธทหารบกกับกรมศิลปากรเสียก่อน อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ก็สามารถเข้ามาดำเนินการซ่อมและสำรวจความชำรุดของราชรถทุกองค์ได้เลย ที่สำคัญกรมสรรพาวุธทหารบกมีช่างในสาขาต่างๆ เช่น ช่างไม้ ช่างโลหะ ที่มีประสบการณ์ในการซ่อมบูรณะราชรถเมื่อครั้งงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อปี 2539 ดังนั้นการทำงานจึงไม่น่าเป็นห่วง และมั่นใจว่าการซ่อมแซมจะเสร็จได้ตามกำหนดเวลา” เจ้ากรมสรรพาวุธทหารบกกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น