แม้วัดเทพธิดาราม จะเป็นพระอารามหลวงแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่บนเกาะรัตน์โกสินทร์ ของกรุงเทพมหานคร มา 170 ปีแล้ว แต่เชื่อว่าคนกรุงรุ่นใหม่ อาจจะยังไม่รู้ว่าวัดแห่งนี้มีความสำคัญและมีความงดงามอ่อนหวานผสานแทรกอยู่ในศิลปะต่างๆภายในวัด ด้วยเพราะพระอารามนี้เป็นอารามที่สร้างให้กับ ‘พระราชธิดา’ ผู้เป็นที่รัก
วัดเทพธิดารามวรวิหาร เดิมเรียกว่า “วัดพระยาไกรสวนหลวง” โดยตั้งชื่อตามสถานที่สร้างวัด ที่แต่เดิมเป็นเรืีอกสวนไร่นาของพระยาไกร ซึ่งเป็นเจ้านายหรือขุนนางในสมัยรัชกาลที่ ๓
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นภูมินทรภักดี พระราชโอรส เป็นแม่กองในการสร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๙ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงวิลาส ผู้เป็นพระราชธิดา ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระเมตตา และโปรดปรานเป็นพิเศษ เพราะทรง มีพระปรีชาสามารถรับราชการสนองพระมหากรุณาธิคุณอย่างใกล้ชิด และได้รับความไว้วาง พระราชหฤทัยเป็นอันมาก จนได้รับการสถาปนาขึ้นทรงกรม มีพระนามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ” เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๓๘๑
ในการสร้างวัดเทพธิดารามนี้ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพได้ทรงบริจาคทุนทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นจำนวนมากร่วมโดยเสด็จพระราชกุศลในการนี้ด้วย
การก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๒ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดพระราชทานนามว่า “วัดเทพธิดาราม” ซึ่งหมายถึง “อัปสรสุดาเทพ” และพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีผูกพัทธสีมา เมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๓๘๒
ศาสนสถานสำคัญภายในวัดสร้างขึ้นตามแบบพระราชนิยม คือศิลปะจีน ผสมผสานกับสถาปัตยกรรมของไทย ได้แก่ พระอุโบสถ พระวิหาร ศาลาการเปรียญ ล้วนแล้วแต่มีลักษณะหลังคาและหน้าบันเหมือนกันทั้งหมด คือไม่มีเครื่องบน อาทิ ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีต่างๆ เป็นลวดลายแบบจีน แต่หลังคามุงกระเบื้องเคลือบแบบไทย
ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัย ที่มีความงดงามอ่อนหวาน สลักด้วยศิลาขาวบริสุทธิ์ หน้าตักกว้าง ๑๕ นิ้ว สูง ๑๙ นิ้ว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้อัญเชิญมาจากพระบรมมหาราชวัง มาประดิษฐานไว้เหนือเวชยันต์บุษบก ชาวบ้านทั่วไปเรียกขานกันว่า “หลวงพ่อขาว” ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน ได้ทรงถวายพระนามว่า “พระพุทธเทววิลาส” ตามพระนามเดิมของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ
ในส่วนของพระวิหารนั้นที่หน้าบันประดับกระเบื้องเคลือบสีรูปหงส์ ซึ่งคติจีนถือว่าหงส์ เป็นสัตว์มงคลและเป็นสัญลักษณ์ของสตรีผู้สูงศักดิ์ และภาพจิตรกรรมฝาผนังภาย ในพระวิหารก็เป็นภาพหงส์เช่นเดียวกัน ภายในวิหาร เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหล่อปางมารวิชัย หน้าตัก ๗๕ นิ้ว สูง ๙๕ นิ้ว ด้านซ้ายและด้านขวามีพระพุทธรูปทรงเครื่องปางห้ามญาติอยู่ข้างละ ๑ องค์ และมีรูปปั้นพระมหากัจจายนเถระ หน้าตัก ๓๐ นิ้ว สูง ๒๙ นิ้ว นอกจากนี้ยังมีรูปหมู่พระอริยสาวิกาหรือภิกษุณี หล่อด้วยด้วยดีบุก ลงรักปิดทองหน้าตัก ๑๑ นิ้ว สูง ๒๑ นิ้ว จำนวน ๕๒ องค์ ประดิษฐานบนแท่นหน้าองค์พระประธาน แต่ละองค์จะมีอิริยาบถแตกต่างกัน โดยตรงกลางเป็นรูปหล่อของ “พระนางปชาบดีโคตมี” ภิกษุณีองค์แรกในพระพุทธศาสนาที่มีส่วนในการช่วยเผยแผ่พระศาสนาในหมู่สตรี
สำหรับรูปหล่อภิกษุณี 52 องค์นี้ มีผู้เข้าใจผิดว่าทั้งหมดเป็นภิกษุณีเอตทัคคะ จริงๆ แล้ว “เอตทัคคะ” หมายถึง ผู้ประเสริฐสุดในทางใดทางหนึ่ง เป็นตำแหน่งทางพุทธศาสนา ที่พระพุทธเจ้าได้ประทานแต่งตั้งให้พุทธบริษัท คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ผู้มีความรู้ความสามารถเด่นกว่าท่านอื่นๆในด้านนั้นๆ และแต่ละตำแหน่ง พระพุทธองค์ประทานแต่งตั้งเพียงรูปเดียวเท่านั้น
ภิกษุณีที่เป็นเอตทัคคะ ที่มีบทบาทสำคัญในการประกาศศาสนา มีทั้งหมด ๑๓ รูป ดังนี้
๑.พระมหาปชาบดีเถรี เอตทัคคะในทางรัตตัญญู
๒.พระเขมาเถรี เอตทัคคะในทางมีปัญญามาก
๓.พระอุบลวรรณาเถรี เอตทัคคะในทางมีฤทธิ์มาก
๔.พระปฏาจาราเถรี เอตทัคคะในทางทรงพระวินัย
๕.พระนันทาเถรี เอตทัคคะในทางเพ่งด้วยฌาน
๖.พระธรรมทินนาเถรี เอตทัคคะในทางเป็นธรรมกถึก
๗.พระโสณาเถรี เอตทัคคะในทางปรารภความเพียร
๘.พระสกุลาเถรี เอตทัคคะในทางมีทิพยจักษุ
๙.พระภัททากุณฑลเกสาเถรี เอตทัคคะในทางขิปปาภิญญา คือ ตรัสรู้ฉับพลัน
๑๐.พระภัททกาปิลานีเถรี เอตทัคคะในทาง ผู้มีปุพเพนิวาสานุสสติ
๑๑.พระภัททากัจจานาเถรี เอตทัคคะในทางบรรลุมหาอภิญญา
๑๒.พระกีสาโคตมีเถรี เอตทัคคะในทางทรงจีวรเศร้าหมอง
๑๓.พระสิคาลมาตาเถรี เอตทัคคะในทางศรัทธาธิมุต หรือน้อมใจไปตามความศรัทธา
อนึ่ง จำนวนภิกษุณีครั้งพุทธกาลที่บรรลุธรรมเป็นอริยสาวิกานั้น มีมากกว่า 52 รูป
นอกจากนี้ ปูชนียสถานอื่นๆ ภายในวัดเทพธิดารามก็มีความงดงามไม่แพ้กัน อาทิ พระปรางค์จตุรทิศ ก่ออิฐถือปูน ประดับกระเบื้องเคลือบสีต่างๆสูงประมาณ ๑๕ เมตร ตั้งอยู่บนลานทักษิณสูง ตรงมุมของพระอุโบสถทั้ง ๔ ทิศ ที่ฐานพระปรางค์แต่ละองค์ มีรูปท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ คือ ท้าวธตรฐ ท้าววิรุฬหก ท้าววิรูปักษ์ และท้าวกุเวร ประจำรักษาใน ทิศทั้ง ๔ รวมทั้งมีพระเจดีย์ทรงกลมบ้าง ทรงเหลี่ยมบ้าง รายรอบพระวิหารจำนวน ๑๓ องค์ และหอระฆังและซุ้มเสมาที่เป็นลักษณะเก๋งจีน
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างภายในวัดก็คือตุ๊กตาหินสลักต่างๆ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณรอบพระอุโบสถ พระวิหาร และศาลาการเปรียญ ซึ่งส่วนมากเป็นรูปผู้หญิง ทั้งผู้หญิงจีนและไทย ต่างจากตุ๊กตาหินของวัดอื่นๆ ที่จะเป็นรูปคนจีนทั้งหมด โดยช่างที่สลักตุ๊กตานั้นเป็นช่าง ชาวจีน อาจจะเพื่อให้สอดคล้องกับวัดซึ่งสร้างให้กับเจ้านายผู้หญิง
ที่สำคัญบริเวณสังฆาวาส หรือกุฏิของพระสงฆ์นั้น ได้มีการวางแปลนจัดระเบียบหมู่กุฏิสงฆ์ไว้อย่างงดงามมาก โดยมีกุฏิรูปทรงแปลกไม่ซ้ำแบบกัน และมีกุฏิหลังหนึ่ง ซึ่งเป็นกุฏิที่ ‘สุนทรภู่’ กวีเอกของโลก เมื่อครั้งบวชเป็นพระภิกษุ ได้อยู่จำพรรษาเมื่อ พ.ศ.2382-2385 ปัจจุบันทางวัดได้เก็บรวบรวมเครื่องอัฐบริขารของสุนทรภู่เมื่อครั้งบวชเป็นพระภิกษุไว้ ที่กุฏิหลังนี้ และจะเปิดให้เข้าชมในงานรำลึกสุนทรภู่ในวันที่ 26 มิถุนายน ของทุกปี
วัดเทพธิดารามวรวิหาร ตั้งอยู่ริมถนนมหาไชย แขวงสำราญราษฏร์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ปัจจุบัน พระราชวรเมธี (แผ่ว ตุ้มทอง ป.ธ. ๙) เป็นเจ้าอาวาส
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 88 มี.ค. 51 โดย เก้า มกรา)