xs
xsm
sm
md
lg

เจดีย์ศรีพุทธคยา พระศรัทธาแห่ง ‘สมเด็จพระพี่นางฯ’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หนึ่งในพระราชกรณียกิจนานัปการของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่ได้ทรงบำเพ็ญมาตลอดพระชนมชีพกว่า ๘๔ พรรษา ก็คือการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา โดยศาสนสถานล่าสุดที่พระองค์ทรงมีพระศรัทธาสร้างไว้ในพระบวรพุทธศาสนา คือ ‘เจดีย์ศรีพุทธคยา เฉลิมพระเกียรติ’ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี และเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๐

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงรับเป็นองค์ประธานงานสร้างเจดีย์แห่งนี้ เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๙ และได้พระราชทานพระราชทรัพย์ประดับองค์ผ้าป่าพระราชทาน ๑ ล้านบาท ไปทอดถวายที่วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ ในพระองค์ฯในวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๐
โดยมีประชาชนทุกหมู่เหล่าจากทั่วประเทศได้ร่วมเป็นเจ้าภาพกองผ้าป่าพระราชทาน เพื่อนำไปสมทบทุนใน การจัดสร้างเจดีย์ศรีพุทธคยา เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้นางสุมนา อภินรเศรษฐ์ เป็นผู้แทนพระองค์ไปประกอบพิธีสมโภชเฉลิมฉลองเจดีย์ เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๐

เจดีย์องค์นี้มีความโดดเด่นและงดงามมาก โดยจำลองแบบสถาปัตยกรรมและงานพุทธศิลป์มาจากเจดีย์พุทธคยา ณ เมืองคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย สูง ๒๘ เมตร เป็นสัญญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์ กว้าง ๑๖x ๒๐ เมตร ประดับลวดลาย ปูนปั้น ทางเข้าสู่เจดีย์จะเป็น ‘โตรณะ’ หรือซุ้มประตูปราสาทพร เป็นเสาสลักลวดลายแบบ อินเดีย เมื่อเข้าถึงเจดีย์จะผ่านประตูชั้นล่าง ซึ่งมีซุ้มพระพุทธรูปประทับยืนศิลปะอินเดีย ทั้งสองข้าง มีหน้าบันใหญ่อยู่ด้านบนประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่งและรอบๆเป็นซุ้ม พระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์ ส่วนบริเวณรอบฐานเจดีย์ ก็มีซุ้มพระพุทธรูปประทับนั่งเช่นกัน ส่วนชั้นที่สอง มีลักษณะเป็นมุขเด็จทั้งซ้ายขวา มีการตกแต่งแผงกลาง ๔ ทิศ รายรอบด้วยมุมพระพุทธรูป ส่วนเหนือขึ้นไป ตรงกลางจะเป็นหน้าบันประดิษฐานพระพุทธรูปตามมุม แกะลวดลายปูนปั้นหน้ากาล องค์พระเจดีย์แต่ละด้านประดับด้วยหน้าบัน ซุ้มพระ และหน้ากาลลดหลั่นกันไปถึงยอด

ภายในองค์เจดีย์มี ๔ ชั้น ชั้นล่าประดิษฐาน “สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพ่อดำ” และเป็นสถานที่ใช้ปฏิบัติธรรม

ชั้นที่ ๑ เป็นที่ประดิษฐาน “พระพุทธเมตตาสันติภาพ” สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ในปี พ.ศ.๒๕๕๐

ชั้นที่ ๒ เป็นที่ประดิษฐาน “พระศรีอริยเมตไตรยศรีศากยสิงห์” สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๖ รอบ

ชั้นที่ ๓ เป็นที่ประดิษฐาน “พระคันธกุฎีจำลอง” ของพระพุทธเจ้า
เจดีย์ศรีพุทธคยา เฉลิมพระเกียรติ ตั้งอยู่ที่วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ บ้านเขาโคกเผ่น ต.ทำนบ อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ ซึ่งเป็นวัดในพระองค์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

สำหรับวัดในพระองค์ฯแห่งนี้ เดิมคณะศิษย์สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธมฺมสารเถร) อดีตเจ้าอาวาสวัดราชผาติการาม กทม. นำโดยพระเทพโมลี (สุนทร สุนฺทราโภ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชผาติการาม เจ้าคณะเขตดุสิต (ธรรมยุติ) สร้างถวายสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ในโอกาสที่ได้เจริญชนมายุศม์ครบ ๘๐ ปี เมื่อ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๒๙ และเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๖ รอบ ๗๒ พรรษา โดยได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในพ.ศ.๒๕๔๘ และชื่อ “วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์” นี้ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เป็นผู้ประทาน เพื่อถวายพระเกียรติแด่สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์

ในปี ๒๕๕๐ คณะสงฆ์วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ ได้น้อมเกล้าฯถวายวัดแห่งนี้ เป็นวัดใน พระองค์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เพื่อเทิดพระเกียรติในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๘๔ พรรษา เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๕๐ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯรับวัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ เป็นวัดในพระองค์ เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๐

บนเนื้อที่ ๙๖ ไร่ ๒ งาน ๕๘ ตารางวา ของวัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ นั้นได้รับการรังสรรค์ขึ้นอย่างงดงามเป็นรูปเรือหลวง กว้าง ๓๐ เมตร ยาวประมาณ ๖ ไร่เศษ มีชื่อว่า “ราชญาณนาวาทีฆายุมงคล” ด้วยเหตุที่สร้างขึ้นในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๕ รอบ ของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ มีความหมายถึงพาหนะที่จะช่วยขนสรรพสัตว์ที่ตกอยู่ในห้วงแห่งสังสารวัฎ ให้พ้นจากโอฆะสงสาร ห้วงน้ำคือกิเลส โดยเรือนี้ตั้งอยู่บนเกาะหรือภูเขา หมายถึง เป็นสถานที่ที่น้ำท่วมไม่ถึง หรือท่วมทับแก่บุคคลที่มีปัญญาไม่ได้ เพราะผู้มีปัญญา มีความขยัน ไม่ประมาทตามกิเลส มีความสำรวมระวังดี ก็จะอยู่บนเรือลำนี้ได้โดยปลอดภัย

ภายในศาสนสถานแห่งนี้ ประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างอันเป็นมงคลมากมาย อาทิ

มณฑปเรือนแก้ว ซึ่งเป็นอุโบสถของวัด เป็นสถาปัตยกรรมประยุกต์ไทยอินเดีย เป็นที่ประดิษฐานพระประธาน “พระพุทธรัชมงคลอุบลบพิตร” ซึ่งสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ทรงถวายพระนาม อันมีความหมายว่า “พระพุทธเจ้าทรงเป็นมงคลผู้สร้างแห่งความเป็นพระราชา” และทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ได้เสด็จมาถวาย เมื่อวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๗ รวมทั้งเป็นที่ประดิษฐาน “รอยพระพุทธบาทคู่” เนื้อสำริดสามกษัตริย์ ประกอบด้วยทองคำ เงิน และ นาค รวม ๑๐๘ บาท

ศาลาเสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติเสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ในฐานะทรงเป็นพระบิดาแห่งราชนาวีไทย และเพื่อเป็นสิริมงคลแก่เรือราชญาณนาวาฑีฆายุมงคล

ลานพระธรรมจักร เป็นลานกว้างขนาด ๗ x ๗ เมตร ประดิษฐานแท่นพระธรรมจักร มีหินทรายแกะสลักเป็นรูปกวาง และแท่นหิน ๘ เหลี่ยม สลักเป็นรูปมงคลต่างๆ ตั้งไว้ด้านหน้า เป็นนิมิตหมายว่า พระพุทธเจ้าได้ประกาศพระธรรมคำสอนอันยอดเยี่ยมให้เป็นไปในโลกทั้งสอง

พระพุทธเอกนพรัตน์ สร้างขึ้นในมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี เป็นปีกาญจนาภิเษก ประดิษฐานอยู่ ณ บริเวณหัวเรือราชญาณฑีฆายุมงคล

พระภควัมบดี ประดิษฐานอยู่กลางเขาโพธิสัตว์ หน้าตักกว้าง ๕ เมตร สูง ๑๐ เมตร ประกอบด้วยรัศมีประภามงคล ฉัตรทอง ๙ ชั้น สูงราว ๔ เมตร เป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะเหมือนกันทั้งสองด้าน คือ ไม่มีหน้า ไม่มีหลัง และไม่มีพระพักตร์ ซึ่งเป็นปริศนาธรรม หมายถึงการทำดีไม่เอาหน้า การสำรวจระวัง และการปล่อยวาง ส่วนด้าน หน้าด้านหลังเหมือนกันนั้นหมายถึง หน้าอย่างไรหลังอย่างนั้น

เจดีย์ศรีมหาราช สร้างขึ้นเพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นราชสักการะปูชนียานุสรณ์ในปี กาญจนาภิเษก มีความสูง ๔๕ เมตร กว้าง ๑๒ เมตร ภายในเจดีย์มี ๓ ชั้น จัดแบ่งเป็นห้องต่างๆ

ชั้นที่ ๑ มีชื่อว่า “ห้องมหาราช” เป็นที่ประทับของพระบรมรูปหล่อของมหาราชทั้ง ๘ พระองค์

ชั้นที่ ๒ จัดแบ่งเป็นห้องสำคัญทางประวัติศาสตร์ อาทิ ห้องสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ห้องสมเด็จพระสุริโยทัย ฯลฯ รวมทั้งห้องสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมฺรังสี) และห้องพระไตรปิฎก

ชั้นที่ ๓ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ และวัตถุมงคลต่างๆ

คณะสงฆ์และคณะกรรมการโครงการจัดสร้างเจดีย์ศรีพุทธคยา เฉลิมพระเกียรติฯได้ร่วมประกอบพิธีสมโภชวัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ ในพระองค์ฯ และฉลองตราสัญลักษณ์วัดที่ได้รับพระราชทานให้เป็นสิริสวัสดิ์แก่พุทธศาสนิกชน เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๐

ความหมายตราสัญลักษณ์วัดในพระองค์ฯ

พระนามย่อ “กว.” ประดิษฐานด้านบนตราสัญลักษณ์ อันหมายถึง สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

ดอกบัว สื่อถึง พระพุทธศาสนา ซึ่งมีดอกบัวสีเงินและสีทอง

พระพุทธรูปตรงกลางดอกบัว อันเกิดจากลวดลายไทยของดอกบัว หมายถึง พระพุทธศาสนาเป็นศูนย์ กลางยึดเหนี่ยวจิตใจของพระพุทธศาสนิกชนชาวไทยทั่วประเทศ

พระสงฆ์ ๒ รูปนั่งพนมมือหันหน้าเข้าหากัน สื่อถึงพระภิกษุผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ

ตัวเลข ๘๔ หมายถึง การเจริญพระชนมายุ ๘๔ พรรษา ซึ่งตัวเลข “๘” และ “๔” เกี่ยวประสานกันเพื่อสื่อถึงพลังแห่งการประสานใจ รวมใจเป็นหนึ่งเดียว เพื่อการเทิดพระเกียรติที่ยิ่งใหญ่ โดยตัวเลขดังกล่าวนี้ ใช้สีเหลือง ๒ เฉด แทนสีจีวรพระสงฆ์ ๒ นิกาย คือ ธรรมยุตินิกาย และมหานิกาย และรวมความหมายถึงเปลวพลังแห่งพระพุทธศาสนาของพระสงฆ์ทุกนิกาย เป็นพลังศรัทธาที่โชติช่วง เป็นพลังที่ทำให้จิตใจเป็นสุข สงบนิ่ง

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 87 ก.พ. 51 โดย เก้า มกรา)
กำลังโหลดความคิดเห็น