เป็นความฝันของชาวพุทธจำนวนไม่น้อยที่หวังว่าสักวันหนึ่งจะได้เดินทางไปสักการะสังเวชนียสถาน ดินแดนพุทธภูมิที่ซึ่งพระบรมศาสดาเคยมีพระชนม์ชีพอยู่ เหมือนดังเช่นชาวอิสลามที่ชีวิตนี้ ขอให้ได้เดินทางไปยังดินแดนอันศักดิ์สิทธ์อย่างเมืองเมกกะ
ในฐานะชาวพุทธคนหนึ่ง จิตรกร-นักเขียนอย่าง ‘พิษณุ ศุภนิมิตร’ ได้บรรลุความฝันของตัวเอง เมื่อได้ มีโอกาสไปเยือนสังเวชนียสถาน (สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า) ณประเทศเนปาลและอินเดีย ครั้งแรกเมื่อต้นปี 2550
“เรารู้จักพระพุทธเจ้ามาตั้งแต่เกิดแล้ว รู้จักพุทธประวัติ พุทธจริยวัตร ตั้งแต่ตอนที่เรายังคิดว่าพระพุทธเจ้าเป็นคนไทย ทั้งแท้ที่จริงพระพุทธองค์ประสูติที่อินเดีย มหาบุรุษผู้เผยแผ่คำสอนสู่คนทั้งโลก และคนครึ่งโลกได้รับอิทธิพลจากความคิดตรงนี้มันทำให้คิดว่า เราสมควรจะต้องไปสักการะให้ได้สักครั้ง”
ระยะทางที่ห่างไกลกันของสังเวชนียสถานทั้ง 4 ตอกย้ำให้พิษณุยิ่งศรัทธาในความวิริยะอุตสาหะของ พระพุทธองค์ เพราะเมื่อครั้งอดีตเส้นทางที่พุทธองค์ทรงดำเนินไป น่าจะมีความยากลำบากมากกว่าปัจจุบันหลายเท่า
“ผมก็รู้สึกประทับใจ ที่ได้ไปรู้ถึงรายละเอียดของชีวิต และเส้นทางพุทธดำเนินของพระพุทธองค์ ซึ่งหลายๆสิ่งมันมีหลักฐาน มันมีร่องรอย ให้ได้รู้ว่า พระพุทธองค์เคยมีตัวตนอยู่บนโลกนี้จริงๆ”
พิษณุกล่าวว่าเป็นความโชคดีที่ทริปเยือนสังเวชนียสถาน มีพระนักเทศน์ชื่อดังอย่าง พระมหาวุฒิชัย หรือ ว.วชิรเมธี ร่วมไปด้วย เพราะในแต่ละจุดที่เดินทาง ไปถึง ท่านได้มีส่วนสำคัญในการไขข้อข้องใจเกี่ยวกับข้อธรรมะซึ่งเกี่ยวข้องกับสังเวชนียสถานแต่ละแห่งให้ได้เข้าใจลึกซึ้งยิ่งขึ้น
“พอไปถึงแต่ละสถานที่ ท่าน ว. วชิรเมธี จะเทศน์ให้ทุกคนฟัง อย่างเช่นไปถึงที่ประสูติ ทำให้เราเกิดความรู้สึกว่า เราควรจะมีการเกิดครั้งใหม่ของเราเหมือนกัน นะ พระพุทธองค์มีความสำคัญกับโลกมนุษย์มากๆ ท่านเกิดสองครั้ง เกิดทางร่างกายครั้งหนึ่ง และทางจิตวิญญาณครั้งหนึ่ง หรือพอไปถึงที่ตรัสรู้ ทำให้เรารู้ซึ้งว่า มนุษย์คนหนึ่งได้บรรลุธรรม ได้เจอธรรมะที่จะเป็นประโยชน์ เป็นแสงไฟให้กับชาวโลก เรารู้สึกว่า ตัวเรายังทำประโยชน์ได้ไม่มากเลย และพอไปถึงที่ปรินิพานเป็นเรื่องแปลกมาก เพราะมีหลายคนที่ร้องไห้ อาจจะด้วยความตื้นตันใจ และเข้าใจถึงสัจจธรรมที่ว่า แม้แต่มหาบุรุษก็ยังต้องตาย”
พิษณุคืนสู่เมืองไทยพร้อมกับภาพสเก็ตและภาพถ่ายของสถานที่แต่ละแห่ง แล้วได้ลงมือวาดภาพสีน้ำต้นฉบับขึ้นจำนวน 36 ชิ้น ต่อเนื่องสู่การสร้างสรรค์ เป็นงานศิลปะ เทคนิคภาพพิมพ์สีน้ำชุด ‘ประทับไว้ในอินเดีย : แดนพุทธภูมิ’ พร้อมกับมีงาน เขียนชื่อ ‘สีสันแห่งศรัทธา : แดนพุทธภูมิ’ ตีพิมพ์ออกมาให้แฟนผลงานได้ติดตามอ่าน และเพลิดเพลินไปกับทริปท่องแดนพุทธภูมิที่เล่าผ่านตัวอักษรของเขา ที่นับวันยิ่งปล่อยวางไปตามตัวเลขของอายุที่เพิ่มมากขึ้น
“ผมไม่อยากถ่ายทอดเรื่องราวของพระพุทธเจ้า ดังเช่นภาพพุทธประวัติ อย่างที่ศิลปินหลายท่านเคยสร้างสรรค์ขึ้น แต่ภาพของผมพยายามเล่าให้ผู้ชมเห็น ถึงอารมณ์ และความรู้สึกของผมที่มีต่อสถานที่นั้นๆซึ่งมันเป็นภาพในจินตนาการของเรา เช่น วาดภาพแม่น้ำโรหินี แม่น้ำเนรัญชรา เรารู้สึกยังไงกับแม่น้ำนั้นๆ หรือเราวาดภาพพุทธคยาตอนกลางคืน มีดวงดาวเฉลิมฉลองเต็มไปหมด เรารู้สึกยังไงกับธรรมะที่พระพุทธเจ้าค้นพบ ส่วนงานเขียนหนังสือนอกจากเขียนเล่าพุทธประวัติด้วยภาพและตัวอักษรประกอบกันไป ยังได้ชี้จุดตำแหน่ง และเส้นทางต่างๆ ไว้หมดว่า พระพุทธเจ้าเสด็จพุทธดำเนินอย่างไร”
แม้จะเคยออกตัวว่าตนเองเป็นเพียงบัวที่ยังไม่พ้นผิวน้ำ ไม่อาจบานรับแสงตะวันได้ ทว่าภาพบางภาพที่วาดและประทับไว้ในแดนพุทธภูมิของพิษณุ น่าจะทำให้ใครหลายคนฉุกคิดถึงพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่มีส่วนทำให้เราเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 88 มี.ค. 51 โดยฮักก้า)