องค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งซึ่งส่งผลให้เสมามีความโดดเด่นและมีความงดงามมากยิ่งขึ้นนั่นคือ ‘ซุ้มเสมา’
ซุ้มเสมาเป็นอีกรูปแบบสถาปัตยกรรมหนึ่ง ที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรม โดยสืบทอดแบบอย่างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย เป็นแบบแผนที่ยังคงมีให้ศึกษามาจวบจนปัจจุบัน
ซุ้มเสมาที่พบสามารถจำแนกได้ดังนี้ คือ
๑. ซุ้มเสมายอดเจดีย์ คือ ซุ้มเสมาที่ทำเรือนซุ้มเป็นรูปสี่เหลี่ยม ยอดซุ้มทำเป็นรูปทรงอย่างเจดีย์ เช่น ซุ้มเสมาวัดพระเชตุพนฯ, วัดสุทัศน์ฯ กทม. โดยซุ้มเสมายอดเจดีย์นี้ยังมีอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจ กล่าวคือมีการสร้างเป็นซุ้มเสมายอดเจดีย์ห้ายอด โดยทำเรือนซุ้มอย่างปราสาท มีมุขซ้อนและมุขลดทั้ง ๔ ด้านเทินรับเครื่อง ยอดทรงเจดีย์ ที่สันของมุขซ้อนแต่ละด้านเทินเจดีย์จำลองขนาดเล็กอีกด้านละองค์ รวมเป็นยอดเจดีย์แบบห้ายอด รูปแบบของซุ้ม เสมาแบบนี้มีตัวอย่างที่ ซุ้มเสมาวัดพระศรีรัตนศาสดาราม, วัดระฆังโฆษิตาราม กทม. เป็นต้น
๒. ซุ้มเสมายอดมณฑป คือ ซุ้มเสมาที่ทำส่วนยอดซุ้มให้มีลักษณะคล้ายอย่างเรือนยอดมณฑปหรือบุษบก เช่น ซุ้มเสมาวัดอรุณราชวราราม, วัดราชนัดดาราม กทม. วัดขนอน จ.ราชบุรี
๓. ซุ้มเสมาทรงกูบ คือ ซุ้มเสมาที่ทำเรือนซุ้มเป็นรูปหลังคาโค้ง อย่าง“กูบ” (ที่ใช้ประกอบสำหรับนั่งบนหลังช้าง) ส่วนยอดทำเป็นหัวเม็ดหรือปลีประดับ เช่น ซุ้มเสมาวัดดุสิตาราม, วัดช่องนนทรี กทม. วัดเขาบันไดอิฐ จ.เพชรบุรี เป็นต้น
๔. ซุ้มเสมาทรงเกี้ยว คือ ซุ้มเสมาที่ทำรูปแบบลักษณะซุ้มคล้ายอย่าง “เรือนเกี้ยว”(พาหนะที่ตั้งบนคานใช้คนแบกหามของ จีน) เป็นแบบแผนซุ้มเสมาที่เริ่มนิยมมาตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นต้นมา เช่น ซุ้มเสมาวัดราชโอรส, วัดราชสิทธาราม กทม.และวัดเฉลิมพระเกียรติ จ.นนทบุรี
๕. ซุ้มเสมาทรงปรางค์ คือ ซุ้มเสมาที่นำรูปทรงลักษณะของพระปรางค์มาใช้ ซึ่งรูปแบบของพระปรางค์นี้มีความนิยมสร้างเป็น เจดีย์ประธานในสมัยอยุธยา เมื่อสร้างเป็นยอดของซุ้มเสมาจึงลดทอนรายละเอียดต่างๆเพื่อให้ได้ยอดเจดีย์ที่มีทรงสูง โดยสร้าง ให้ส่วนของเรือนธาตุเปิดเป็นช่องโปร่งใช้เป็นที่ตั้งเสมา ซุ้มเสมาใน ลักษณะเช่นนี้พบที่ ซุ้มเสมาวัดพิชัยญาติ, วัดปทุมคงคา, วัดอัปสร-
สวรรค์ กทม.
๖. ซุ้มเสมาทรงคฤห์ คือ ซุ้มเสมาที่สร้างเป็นเรือนหรืออาคารอย่างทรงคฤห์ (อาคารที่อยู่อาศัยของบุคคล) หลังคาประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ แบบประเพณีทุกประการ ทำให้เครื่องยอดของ ซุ้มเสมานี้ดูคล้ายกับบ้านเรือนแบบไทยตามแนวประเพณี เช่นเดียว กับพระราชวัง ตัวอย่างที่มีความชัดเจนมากคือ ซุ้มเสมาวัดพุทไธ-สวรรค์ จ.พระนครศรีอยุธยา
ในการสร้างซุ้มเสมานั้น นอกจากจะเป็นการทำนุรักษาเสมาให้มีความสมบูรณ์แล้ว ยังมีคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมอีกด้วย โดยสามารถบอกถึงรสนิยมของผู้สร้างในสมัยต่างๆ โดยรูปแบบที่กล่าว มาข้างต้น ล้วนแต่เป็นการจำลองอาคารชั้นสูงมาแทบทั้งสิ้น โดยแฝงความหมายอันลึกซึ้งถึงเรือนเครื่องสูงอันเป็นที่ประดิษฐานเครื่องบูชาอันศักดิ์สิทธิ์ เป็นการเน้นย้ำความสำคัญของเครื่องหมาย ที่บ่งบอกถึงเขตพุทธาวาสได้เป็นอย่างดี
เอกสารอ่านประกอบ
กรมศิลปากร.วัดหลวงสมัยรัตนโกสินทร์.กรุงเทพฯ : กรม,๒๕๔๐.
สมคิด จิระทัศนกุล. รูปแบบพระอุโบสถและพระวิหารในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว.กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, ๒๕๔๗.
------------.วัด:พุทธศาสนสถาปัตยกรรมไทย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๔๔.
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 88 มี.ค. 51 โดยนฤมล สารากรบริรักษ์)