xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องจากพระไตรปิฎก : ตำนาน นโม (๓๓)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตำนาน นโม (๓๓)

         
          พระอุดมสังวรวิสุทธิเถร (วัน อุตฺตโม) วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม (ถ้ำพวง) อ.ส่องดาว จ.สกลนคร ได้อธิบาย คารวธรรม ไว้ดังนี้
          “คารวธรรมมี ๖ ประการ คือ ความเคารพในพระ พุทธเจ้า เคารพในพระธรรม เคารพในพระสงฆ์ เคารพในการศึกษา เคารพในการปฏิสันถาร เคารพในความไม่ประมาท
          ความเคารพเป็นสิ่งที่ทำให้จิตใจมีความอ่อนน้อม ไม่แข็งกระด้าง ความที่จิตมีความอ่อนน้อมเป็นจิตที่ยังความเจริญให้เกิดขึ้น เหมือนกันกับต้นไม้ที่มีรากอ่อน เปลือกอ่อน มีกระพี้อ่อน มียอดอ่อน เรียกว่าส่วนของต้นไม้ เป็นการรับความเจริญ ทำให้ต้นไม้มีความเจริญ มีความสดชื่น มีความเขียวชอุ่ม ลำต้นก็ย่อมมีความเจริญเติบโต มีความเจริญขึ้นโดยลำดับ หากว่าขาดความอ่อน ต้นไม้หมดความเจริญ จะต้องอยู่ตัว และจะยังความอับเฉาลงไปโดยลำดับ คือหมดความเจริญ เมื่อหมดความเจริญแล้วไม่เพียงแต่เท่านั้น มันจะต้องทุพลภาพลงไปตามลำดับ ถึงกับต้องตายต้องโค่น ต้องล้มลงไป ฉันใดก็ดีคนเราที่มีจิตแข็งกระด้างเป็นคนที่หมดความเจริญ มีแต่ความเสื่อม มีแต่ความเสีย เกิดแต่ความผิด คิดแต่ความชั่ว เป็นคนที่เป็นไปเพื่อความเสื่อมอย่างเดียว ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงสอนให้เป็นผู้ที่ตั้งอยู่ในความเคารพ
          สตฺถุครุ เคารพในพระพุทธเจ้า ธมฺมครุ เคารพในพระธรรม สงฺฆครุ เคารพในพระสงฆ์ หรือเป็นความเคารพในพระไตรสรณาคมน์ของเรา คือ เราถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะ แล้วก็เราน้อมระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อยู่เสมอ แสดงความเคารพ อ่อนน้อม จึงได้มีการกราบ การไหว้ การสักการบูชา เมื่อพระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว เรามาระลึกถึงพระคุณของพระองค์ โดยความที่เป็นอตีตารมณ์ คือ ระลึกถึงคุณเมื่อสมัยพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ตลอดถึงพระองค์ได้ทรงประกาศพระพุทธศาสนา เป็นหลักคำสอนสืบมาจนถึงพวกเรา ที่เราได้รู้จักบาปบุญคุณโทษ หรือจะดีชั่วได้จากศึกษา ได้ยิน ได้ฟัง ตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั่นเอง และผู้ที่ปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เรียกว่าผู้มีศีลธรรม
          เมื่อบุคคลมีศีลธรรมแล้วย่อมยังความร่มเย็นเป็นสุขให้เกิดขึ้น จะได้บำเพ็ญประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้สมบูรณ์บริบูรณ์ขึ้น จึงเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตของผู้มีศีลธรรมนั้น เป็นชีวิตที่เป็นไปด้วยสารประโยชน์ ไม่ได้ประกอบกรรมทำความชั่ว เป็นคนที่ไม่มัวหมอง เป็นคนที่มีแต่คุณความดี ประโยชน์ในปัจจุบันก็จะเกิดขึ้น ประโยชน์ในชาติหน้าก็จะเกิดขึ้น เพราะเรารับเอาธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านำไปประพฤติปฏิบัติ ฉะนั้น เราจึงได้เคารพในพระพุทธเจ้า จึงได้เกิดการสร้างพระปฏิมากรขึ้นเป็นอุทเทสิกเจดีย์ เพื่ออุทิศต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วได้กราบไหว้สักการบูชาระลึกต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้
          ฉะนั้นในพระพุทธรูปที่เป็นอุทเทสิกเจดีย์ เราจึงได้มีความเคารพนับถือแสดงความคารวะ เคารพต่อองค์ปฏิมากรหรือพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุอันเป็น พระอัฐิธาตุของพระพุทธเจ้า เราก็ได้กราบไหว้สักการบูชา แสดงความเคารพในสถานที่ ในวัตถุสิ่งนั้น ไม่ทำสิ่งที่เป็นความประมาท เป็นความไม่เคารพ ทั้งทางกายก็ดี ทาง วาจาก็ดี ทางใจก็ดี เมื่อเวลาเราเข้าหาพระพุทธรูป เราก็แสดงความเคารพ อย่างเราเข้าใกล้สิ่งใดที่ไม่เคารพ เราก็ไม่ทำสิ่งนั้น แสดงกิริยามารยาทอย่างใดอย่างหนึ่ง อย่างเราเหยียดเท้าเข้าไปหาพระพุทธรูปอันนี้เรียกว่าเราไม่เคารพ หรือนอนเอาเท้าของเราไปทางพระพุทธรูป ก็เป็นการไม่เคารพ หรือเราทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งในบริเวณใกล้เคียง เรียกว่า เขตพุทธาวาสนั้น เราไม่เคารพ ก็เป็นการไม่เคารพในพระพุทธเจ้า เราพูดคำที่ไม่ควรพูดในสถานที่นั้นก็เป็น การไม่เคารพ หรือทางจิตทางใจเราคิดชั่วขึ้นมา ก็เรียกว่าเราไม่เคารพทางใจ ฉะนั้นเราจะต้องเคารพ เรียกว่าเคารพ ในพระพุทธเจ้า
เคารพในพระธรรม พระธรรมคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่จารึกไว้เป็นตำรับตำรา จะเป็นใบลานหรือกระดาษก็ดี เราก็แสดงความเคารพ เก็บไว้ในที่อันเหมาะ- สม คือ ที่สูง ไม่ทิ้งเกะกะ เพราะเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แม้เราถือไปก็ต้องระวังถือไปด้วยความเคารพ นี้ก็เรียกว่าเราเคารพในพระธรรม นี้เราจะกล่าวถึงคำสั่ง สอนของพระพุทธเจ้า เราก็กล่าวด้วยความเคารพ จะกล่าว แนะนำสั่งสอนคนอื่นก็ดี หรือจะสาธยายการไหว้พระสวดมนต์เราก็ต้องว่าด้วยความเคารพ มีความอ่อนน้อมไปด้วย และไม่นำเอาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไปกล่าวเป็นคำล้อเลียนอย่างใดอย่างหนึ่ง การกล่าวล้อเลียนเรียก ว่าไม่เป็นการแสดงความเคารพในพระธรรม รู้จักเคารพในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอย่างนั้นเรียกว่าเคารพในพระธรรม
          เคารพในพระสงฆ์ คือ พระสงฆ์ที่ล้วนแล้วแต่เป็นอริยสงฆ์ที่ท่านดับขันธ์ไปสู่ปรินิพพานแล้วก็ตาม หรือพระสงฆ์ที่อยู่ในปัจจุบันนี้ก็ดี เราก็แสดงความเคารพตาม สมควร ฉะนั้นผู้ที่บวชมาจึงเคารพในพรรษาที่บวช ผู้ที่เป็นอุปัชฌาย์ก็แสดงความเคารพตามฐานะนั้นๆ อันนี้เป็นการแสดงความเคารพในพระสงฆ์ คือ พระสงฆ์นั้นยังมีอยู่ก็มี ที่มรณภาพตายไปแล้วก็มี ทั้งที่ล่วงลับไปแล้ว และที่ยังมีชีวิตอยู่เราก็แสดงความเคารพ แม้แต่สัตว์ดิรัจฉานเขาเห็นผ้ากาสาวพัสตร์อันนี้ ตัวที่รู้สำนึกก็ยังแสดงความเคารพขึ้นมา เราเป็นมนุษย์ เราก็ควรจะเคารพ รู้จักเคารพในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็มีความเจริญ
          เคารพในการศึกษา คือ เราจะศึกษาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า คือ เราตั้งใจศึกษาด้วยดี มีความตั้งอกตั้งใจ เราหมั่นท่องบ่นจดจำ เราก็ท่องบ่นจดจำได้ดี เราจะสาธยาย เราก็ตั้งใจสาธยาย เราจะทำความเข้าอกเข้าใจ เราก็ต้องมี ความเคารพเหมือนกัน เรียกว่าค้นคิดให้เป็นไม่คิดประมาท
          ในการศึกษาของเรารู้คุณค่าของพระธรรม เช่นจะศึกษาศีล เราก็ศึกษาด้วยความเคารพ คือมีความนับถืออยู่เสมอ ศึกษาเรื่องจิตเรื่องปัญญาเราก็ต้องแสดงความเคารพ ผู้ที่เคารพในการศึกษา ถือว่าพระธรรมคำสั่งสอน ของพระพุทธเจ้านี้เป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่หาประมาณมิได้ ฉะนั้นเราจึงต้องแสดงความเคารพการศึกษา
          ทีนี้เราจะประกอบการพากเพียร ทำจิตทำใจของเรา เราก็ต้องมีความเคารพ ฉะนั้นเวลาที่เราจะนั่งสมาธิก็ดี เราก็นึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือเวลาที่เราจะเดินจงกรม เราก็ระลึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างเราไม่ได้กราบไหว้ เราก็ยกมือประนมระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วเราจึงนั่งสมาธิหรือเดินจงกรม ประกอบความพากเพียรด้วยตั้งใจ ไม่ได้เป็นการทำเล่น ไม่ได้เป็นการทำอวด ไม่ได้เป็นการทำหลอกลวงผู้อื่น ความเป็นผู้ที่ทำจริง หวังความดีความชอบในการประกอบความพากเพียร จะเพียรละความชั่วก็ดี จะเพียรทำความดีก็ดี จะเพียรรักษาความดีที่มีอยู่ก็ดี เราก็ต้องเคารพในความเพียรเหล่านั้น นี้เรียกว่า เคารพในความเพียรในการบำเพ็ญความดีความชอบของเรา
          เคารพในการปฏิสันถาร คือการต้อนรับ เราก็ต้องทำด้วยความเคารพ คือทำด้วยดีนั่นเอง อย่างพระเจ้า พระสงฆ์ก็เรียกว่าอาคันตุกวัตร วัตรที่เราต้องต้อนรับขับสู้ แก่พระผู้ที่มาถึง เราเรียกว่ามาใหม่ เราก็รู้จักการต้อนรับ ทำอะไรบ้างคือให้ความสะดวก เป็นการบริการ ในเวลาที่อาคันตุกะมาถึง การปฏิสันถารตลอดไป แม้ญาติโยมก็มีการปฏิสันถาร รู้จักการต้อนรับขับสู้ การต้อนรับทำอะไรบ้าง ธรรมดาก็ต้องมีการไหว้กัน มีการเชื้อเชิญกัน มีการให้ที่นั่ง มีการให้น้ำให้อะไรเหล่านี้เรียกว่าเป็นการปฏิสันถาร
          ฉะนั้นในการปฏิสันถารนี้เราจะต้องรู้จักสถานที่ เราใช้เก้าอี้ ต้อนรับในทางเก้าอี้ก็มี ต้อนรับในการปูสาดปูเสื่อก็มีแล้วแต่สถานที่ แล้วแต่ความเหมาะ ตามแต่กาลเทศะ เราจะต้องรู้จักการปูเสื่อ เราก็รู้จักวิธีปูข้างไหนขึ้น เอาข้างไหนลง การให้น้ำ การต้อนรับ อย่างนั้นเราก็จะเก้อเขิน เป็นแต่เพียงมองดูอยู่เฉยๆ ไม่รู้สึกสิ่งที่จะทำ คือไม่รู้จักการปฏิสันถารนั่นเอง การทำด้วยความละมุนละไมนั้น เรียกว่าเป็นการแสดงออกซึ่งความเคารพ เคารพในปฏิสันถาร ปฏิสันถารด้วยการถามข่าวคราวต่างๆ หรือการชี้แจงบอกโน้นบอกนี้หรือปฏิสันถารด้วยธรรมอามิสปฏิสันถาร ธรรมปฏิสันถาร
          การปฏิสันถารมี 2 อย่าง อามิสปฏิสันถาร คือการต้อนรับด้วยอามิส คือที่นั่ง ที่พัก ที่ไป ที่มา น้ำ เหล่านี้เรียกว่าอามิสปฏิสันถาร ธรรมปฏิสันถาร คือปฏิสันถารด้วยความละมุนละไมแสดงความเอื้อเฟื้อ หรือแนะนำในทางที่เป็นประโยชน์ เอาธรรมะออกใช้กับคนที่มา ต้องการการศึกษา เราก็ให้การศึกษาได้ คนที่มีปัญหาที่จะต้องถาม เรา ก็แก้ปัญหาข้อคิดเห็นซึ่งกันและกัน นี้เรียกว่าธรรมปฏิสันถาร คือให้กันด้วยดี มีความมุ่งหวังดีโดยความที่มุ่งหวังดีมีความละมุนละไม มีการให้ความสะดวกหรือให้ ความเป็นไปนั้น เรียกว่าเคารพในปฏิสันถาร
          ในคารวะทั้ง ๖ ประการนี้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า อภพฺโพ ปริหานาย เป็นผู้ที่ไม่เสื่อม จะเป็นไปเพื่อความเจริญนั้นเอง นิพฺพานสฺเสว สนฺติเก ได้ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติใกล้พระนิพพาน เป็นข้อปฏิบัติที่ใกล้พระนิพพาน เมื่อเรา มีธรรมะคือธรรมปฏิสันถารนี้ เรียกว่าเป็นผู้ใกล้หลุดพ้นไปได้ จึงเป็นธรรมะที่เราจะต้องนำมาปฏิบัติเหมือนกัน
          ฉะนั้นสิ่งใดที่เรายังไม่เข้าใจ เราก็ต้องศึกษา สิ่งใดที่ยังไม่เป็น เราก็ต้องฝึก ต้องอบรมให้เป็น กราบไม่เป็น เราก็ต้องฝึก ไหว้ไม่เป็น เราก็ต้องฝึก
          กราบคือการใช้วิธีที่เรากราบนี้เอง คือนั่งกระหย่งเท้าขึ้น แล้วพนมมือยกขึ้นระหว่างคิ้ว แล้วก็เอามือลงไปโน้มศีรษะ ลงไประหว่างมือที่ราบพื้นนั้น เรียกว่าการกราบเบญจางคประดิษฐ์ คือ มีเข่าสอง มือสอง ศีรษะหนึ่ง โดยที่เข่านี้จะต้องห่างออกจากกันนิดหน่อยหว่างคืบ เวลากราบลงไป เอาศอกจดเข่ามือราบกับพื้น หัวแม่มือห่างกันนิดหน่อยแล้วก็เอาศีรษะลงไป ช่องจมูกลงช่องกลางนั้น นี้เรียกว่า เบญจางคประดิษฐ์ เรียกว่าการกราบ
          การไหว้ เป็นแต่เพียงพนมมือขึ้นในระหว่างคิ้ว น้อมศีรษะลงไปพอสมควร นี้เรียกว่าการไหว้ ถ้าหากเรายกมือ สูงกว่านั้นก็เรียกว่าไหว้เกิน ถ้ายกไม่สูงกว่านั้นก็เรียกว่า ขาด บางคนที่ไหว้ยกมือสูงๆ นั้นเรียกว่าทำเกินแล้ว ทำเกินไหว้ ก็แสดงถึงว่าไม่ถูกลักษณะการไหว้ และอีกอย่างหนึ่งไม่แสดงการไว้ใจ เพราะมันเรื่องไม่พอดีแล้วอาจจะมีเล่ห์เหลี่ยมมายาสาไถยอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ เป็นคนที่ ไม่น่าไว้ใจ เพราะทำไม่พอดี ไม่ขาดก็เกิน ไม่เกินก็ขาด เรียกว่าคนไม่เหมาะสมแล้ว อันนี้เป็นกิริยาที่ส่อพิรุธในทางที่เสียหาย ถ้าหากเราไม่เจตนาก็จริงอยู่ แต่เขาก็มองดูว่า ถ้าไม่มีเจตนาในทางอื่นก็ทำด้วยความโง่ แสดงความโง่ของเราประจานให้คนอื่นรู้
          ฉะนั้น เราก็ต้องรู้จักกิริยาไหว้ นั่งไหว้ก็มี นอนไหว้ก็มี คือ เวลาที่เจ็บไข้ได้ป่วยจำเป็นลุกไม่ได้ ก็จำเป็นต้องนอนไหว้ บางทีเรานั่งอยู่ เราก็นั่งไหว้ ยืนก็ยืนไหว้ เดินไหว้ก็มี การไหว้มีได้หลายอย่าง ฉะนั้นเราก็ต้องรู้จักการกราบไหว้คนละอย่าง ไหว้เรียกว่าอัญชลี อัญชลี ก็คือการไหว้ อภิวาทก็คือการกราบ เราก็ทำให้ถูกต้อง แต่นี่สมัยใหม่ผู้หญิงนั่งราบกราบ อันนี้มันพูดตามสมัยนิยมต่างๆ แต่หลักเดิมก็เหมือนกันนั่นแหละเหมือนผู้ชาย เหตุที่เปลี่ยนแปลงตามกาลสมัย ก็เนื่องจากสมัยนี้ผู้หญิง นุ่งผ้าสั้นเกินไป ถ้าไม่นั่งเผยอกราบแล้วมันไม่เหมาะสม เพราะผ้าข้างหลังมันจะเขินขึ้น เป็นอย่างนั้นจึงว่ากันไปใหม่ เท่านั้น เรื่องเป็นอย่างนี้ จึงเปลี่ยนกันเป็นลักษณะผู้หญิง ลักษณะผู้ชาย ความจริงแล้วเดิมมีอย่างเดียว ไม่ได้บอกว่าผู้หญิงต้องกราบอย่างนั้น ผู้ชายต้องกราบอย่างนี้ไม่มี ความเดิมมีอยู่อย่างนี้
          ฉะนั้นการกราบไหว้เป็นลักษณะที่แสดงออกถึงความเคารพ เมื่อพวกเราทั้งหลายสร้างความเคารพในตัวของเราเองเพื่อสร้างความเจริญ จะไม่เป็นไปเพื่อความเสื่อม เพราะการแสดงความเคารพพร้อมด้วยไตรทวาร คือ กายมีความเคารพ วาจาเคารพ จิตเคารพ ฉะนั้นเราต้องศึกษา กายเคารพมีลักษณะอย่างไร วาจาเคารพมีลักษณะอย่างไร จิตใจเคารพมีลักษณะอย่างไร อันนี้จะต้องสำเหนียกศึกษาในตัวของเราให้เข้าใจ
          กายนี้อาจจะมียืน มีเดิน มีนั่ง มีนอน ในอิริยาบถทั้ง 4 และกิริยาอื่นๆอีกที่ส่อแสดงออกทางกาย ลักษณะไหน เป็นลักษณะที่เคารพ ถ้าจิตของเรามีความเคารพเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว เราก็จะรู้จักในตัวของเรา ที่เราใช้คำพูด เราก็ต้องศึกษาเรื่องไวพจน์หรือไวยากรณ์ของภาษาอีก เพื่อให้ รู้จักคำที่ควรใช้เป็นอย่างไร คือผู้ใหญ่พูดกับผู้น้อย อีกอย่างหนึ่ง คำแทนตัวของผู้พูด คำแทนตัวของผู้ฟัง นี่เราก็ ต้องรู้จัก ผู้น้อยพูดกับผู้ใหญ่อย่างนี้ มันก็อยู่ที่เราจะต้องใช้ เพราะฉะนั้นคำพูดที่แทนตัวเรียกว่าท่าน คือ เขา มัน หรือเอ็ง มึง อย่างนี้เป็นแทนตัวของคนอื่น คำแทนตัวของเรามันก็มีอีกอย่างหนึ่ง เช่นเราจะพูดว่าผม คำว่าผมควรพูด กับคนฐานะเช่นใด เกล้ากระผมควรพูดกับบุคคลฐานะเช่น ใด อย่างนี้เราก็ต้องศึกษา เพื่อเราจะใช้คำพูดได้ถูกตามหลัก ของไวยากรณ์ คำบางอย่างที่เราพูดกับผู้ใหญ่ ท่านห้ามคำที่เป็นเชิงบังคับ เช่น จงไป จงอยู่ จงทำ จงกิน จงดื่ม ถ้าใช้ คำจงเข้าไปเรียกว่าเป็นคำบังคับ ทั้งนี้คำบังคับด้วยการบอก กล่าวมีคำเชื้อเชิญ คำอ้อนวอน คำร้องเรียน คำขอร้อง นี้เรา จะต้องมาแต่งการพูดการจาของเราให้เหมาะสมตามฐานะ ตามชั้น ตามภูมิ อันนี้มีคำที่เราจะต้องใช้ มิใช่ว่าจะเป็นคำเสมอไปหมด ถ้าอย่างนั้นก็จะเสียความเคารพในคำพูด
          เสียงพูดก็เหมือนกัน เราก็ต้องใช้เสียงพูดที่อ่อนโยนนิ่มนวล บางคนว่าเสียงอ่อนโยนคือเสียงกระซิบ อันนั้นเสียงกระซิบนั้นอย่างหนึ่ง เสียงกระซิบกระซาบ แต่เสียงอ่อนโยนคือเสียงที่เหมาะสมแล้วแต่ว่าผู้ฟัง ถ้าหากผู้ฟัง หูตึง เราก็ต้องใช้เสียงดังขึ้นหน่อย หรือว่าเราอยู่ไกลก็ใช้เสียงดังพอที่จะได้ยิน หรือเวลาที่มีเสียงอื่นรบกวนเราจะต้องใช้เสียงขนาดไหนผู้ฟังจึงจะได้ยิน อันนี้เราก็ต้องรู้จัก การใช้เสียง คือใช้คำพูดอย่างหนึ่ง ใช้เสียงอย่างหนึ่งเสียง กระโชกโฮกฮากอันนั้นเป็นเสียงที่ไม่เคารพ เสียงกล้า เสียง สูง เสียงสูงคือการขึ้นเสียงเป็นลักษณะที่ว่าไม่สุภาพ เสียง กระโชกโฮกฮาก เสียงกล้าเป็นเสียงกล้าแข็ง เสียงกล้า แข็งเป็นเสียงประชดประชัน ถ้าอย่างนั้น ถ้าพูดกับบุคคลที่ควรเคารพ ก็เรียกว่าไม่มีความเคารพ อันนี้เราก็ต้องรู้จัก ฉะนั้นเราก็ต้องศึกษา
          ทีนี้จิตของเรา เราคิดลบหลู่บุญคุณ คิดโกรธ คิด เกลียด คิดชัง คิดอิจฉาพยาบาท คิดดูหมิ่นดูแคลน เหล่านี้เรียกว่าเป็นความคิดที่ไม่เคารพขึ้นมา เราก็จะต้องแต่งความคิดที่ดีกว่าจึงจะเรียกว่าเคารพ
          ฉะนั้น หลักของการเคารพก็คือเคารพทางกาย เคารพทางวาจา เคารพทางจิตใจ หากว่าเรามีคุณธรรมอันนี้ไว้ที่ตัวของเราแล้ว ความประพฤติปฏิบัติของเราก็มีความเจริญ ก้าวหน้า ได้รับความเมตตาอารีจากผู้อื่น ได้รับความเอื้อเฟื้อ ได้รับความอนุเคราะห์สงเคราะห์ในทางประพฤติปฏิบัติของเรา เราก็จะเป็นที่เย็นอกเย็นใจ ยังข้อปฏิบัติของเราให้ ดำเนินไปด้วยความสะดวกสบาย ฉะนั้น หลักของความเคารพ จึงเป็นคุณธรรมที่พวกเราทั้งหลาย จะต้องนำมาประพฤติปฏิบัติ”
         
          (โปรดติดตามตอนต่อไปในฉบับหน้า)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 94 ก.ย. 51 โดย พระพจนารถ ปภาโส วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม)
กำลังโหลดความคิดเห็น