xs
xsm
sm
md
lg

เที่ยวเมืองพุทธศาสน์ ไหว้พระธาตุ-เกจิดัง "สกลนคร"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระธาตุเชิงชุม พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองสกลนคร
หากพูดถึง "แอ่งธรรมะแห่งอีสาน" หลายๆ คนก็คงนึกไม่ออกว่าหมายถึงที่ใด แต่เมื่อเฉลยมาว่าเป็น "จังหวัดสกลนคร" "ผู้จัดการท่องเที่ยว" ก็ร้องอ๋อขึ้นมาทันที เพราะเคยได้ยินว่าเมืองสกลนครนี้มีวัดวาอารามเก่าแก่มากมาย อีกทั้งยังเป็นถิ่นกำเนิดและพำนักของพระเกจิอริยสงฆ์สำคัญหลายรูปที่ชาวพุทธเคารพบูชา ไม่ว่าจะเป็นพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พระอาจารย์วัน อุตตโม หลวงปู่หลุย จันทสาโร หลวงปู่เทสก์ เทสก์รังสี เป็นต้น

ในวันนี้เมื่อ "ผู้จัดการท่องเที่ยว" ได้มีโอกาสมาเยือนแอ่งธรรมมะแห่งอีสานแล้ว จึงไม่พลาดจะนำสถานที่เหล่านี้มาบอกต่อ เผื่อคนที่สนใจจะได้ใช้เป็นเส้นทางท่องเที่ยวไหว้พระกันตามศรัทธา
เจดีย์พุทธคยาจำลอง สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
วัดแรกที่ "ผู้จัดการท่องเที่ยว" ได้ไปเยือนก็คือวัดคู่บ้านคู่เมืองชาวสกลนคร "วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร" พระอารามหลวงอันมีพระธาตุเชิงชุมเป็นศูนย์รวมความศรัทธาของประชาชน คำว่าเชิงชุมนั้น หมายถึงการมีรอยเท้ามาชุมนุมกันอยู่ โดยคำว่าเชิงหมายความถึงตีน หรือเท้า ส่วนคำว่าชุมนั้นก็หมายถึงการมาชุมนุม รอยเท้าที่มาชุมนุมเหล่านั้นก็หมายถึงรอยพระพุทธบาท 4 รอย ที่พระพุทธเจ้าทั้ง 4 องค์เสด็จมาประทับไว้บนแผ่นหิน และเชื่อกันว่าแผ่นหินนั้นถูกเก็บรักษาไว้ใต้บาดาลโดยพญาสุวรรณนาค เพื่อรอพระศรีอริยเมตไตรมาประทับรอยพระพุทธบาทเป็นองค์สุดท้าย

ตามตำนานกล่าวว่า พระเจ้าสุวรรณภิงคาร กษัตริย์ที่ครองเมืองหนองหารหลวงในอดีต เป็นผู้สร้างพระธาตุเชิงชุม แต่พระธาตุองค์ปัจจุบันที่เราเห็นกันอยู่นั้นก็เป็นพระธาตุองค์ใหม่ที่สร้างครอบองค์เดิมไว้ หากอยากจะเข้าไปสักการะด้านในพระธาตุเชิงชุมนั้นก็สามารถเข้าไปได้ทางเดียวคือทางด้านหลังวิหารหลวงพ่อองค์แสนซึ่งอยู่ติดกับองค์พระธาตุ
สถานที่แสดงปฐมเทศนา
"ผู้จัดการท่องเที่ยว" ได้เข้าไปกราบหลวงพ่อองค์แสนซึ่งเป็นพระประธานอยู่ในพระวิหาร ก่อนจะเดินอ้อมด้านหลังองค์พระเข้าไปชมด้านในของพระธาตุเชิงชุม ด้านในนั้นมีลักษณะคล้ายถ้ำ บรรยากาศดูขรึมขลัง ถ้าเข้าไปดูคนเดียวอาจเกิดอาการขนหัวลุกได้ โดยภายในนั้นประดิษฐานพระพุทธรูปไว้หลายองค์ด้วยกัน และเชื่อกันว่าภายในพระธาตุนี้เป็นส่วนหนึ่งของซากเทวสถานขอม โดยยังคงจะเห็นจารึกภาษาขอมอยู่ที่กรอบประตูทางเข้าองค์พระธาตุ

ความงดงามของวัดพระธาตุเชิงชุมนั้น เชื่อว่าใครได้มาเยือนก็จะต้องได้รับความประทับใจ เหมือนอย่างที่ "ผู้จัดการท่องเที่ยว" รู้สึก และนอกจากนั้นภายในวัดก็ยังมีสิ่งสำคัญอย่าง "ภูน้ำลอด" ซึ่งเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ มีมาพร้อมกับพระธาตุเชิงชุม น้ำในบ่อแห่งนี้ไหลมาจากเทือกเขาภูพาน ถือเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่นำไปใช้ในพิธีกรรมต่างๆ อีกด้วย
เจดีย์สิริมหามายา สถานที่ประสูติ
จากอำเภอเมือง เดินทางต่อมายังอำเภอส่องดาว ที่นี่มีวัดอภัยดำรงธรรม หรือวัดถ้ำพวง ซึ่งพระอุดมสังวรวิสุทธิ หรือพระอาจารย์วัน อุตตโม พระเกจิทางวิปัสสนากรรมฐานสายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ซึ่งมรณภาพไปแล้วเป็นผู้สร้างขึ้น

ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจ เช่น พิพิธภัณฑ์พระอาจารย์วัน อุตตโม ซึ่งสร้างด้วยหินอ่อนทั้งหลัง จัดแสดงประวัติของพระอาจารย์วันตั้งแต่เกิดจนมรณภาพ อีกทั้งยังมีมีรูปปั้นของท่านในท่านั่งขัดสมาธิ และตู้กระจกจัดแสดงเครื่องอัฐบริขารของท่าน และในบริเวณใกล้เคียงกันก็ยังมีถ้ำพวง ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระมุจลินทร์ พระพุทธรูปปางนาคปรกขนาดใหญ่อยู่ภายในถ้ำ
สถานที่ปรินิพพาน
และไม่ไกลจากพิพิธภัณฑ์พระอาจารย์วันนัก ก็เป็นที่ตั้งของสังเวชนียสถาน 4 ตำบลซึ่งจำลองมาจากประเทศอินเดีย อยู่ในพื้นที่ของวัดอภัยดำรงธรรมด้วยเช่นกัน

สังเวชนียสถาน 4 ตำบลนั้นก็คือสถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ซึ่งอยู่ในประเทศอินเดีย ถือกันว่าหากชาวพุทธคนใดได้ไปกราบไหว้สังเวชนียสถานเหล่านี้ถึงถิ่นแล้วก็จะถือเป็นสิริมงคลของชีวิต พระอาจารย์วันเป็นผู้คิดริเริ่มให้สร้างขึ้นโดยใช้เวลาก่อสร้างทั้งหมด 6 ปี และใช้ทุนสร้างกว่า 16 ล้านบาท
รูปหล่อพระอาจารย์มั่น
เราเริ่มสักการะสังเวชนียสถานที่แรก คือสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้าที่ลุมพินีวัน โดยมี "เจดีย์สิริมหามายา" ที่ภายในมีรูปจำลองเหตุการณ์ที่พระนางสิริมหามายาทรงยืนเหนี่ยวกิ่งต้นสาละ และเจ้าชายสิทธัตถะที่เพิ่งประสูติจากครรภ์มารดาประทับยืนอยู่ที่พื้นและมีดอกบัวรองรับพระบาท พร้อมทั้งทรงเปล่งพระสุรเสียงว่า "เรานี้ประเสริฐยิ่งในโลก ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายแห่งเรา" และบริเวณด้านหน้าของเจดีย์ก็มีเสาหินพระเจ้าอโศกมหาราชจำลองเท่าของจริงตั้งไว้ด้วย

เดินเท้ากันต่อมาที่สถานที่ตรัสรู้ ซึ่งก็คือใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ ที่เมืองอุรุเวลาเสนานิคม ที่แห่งนี้ได้จำลองเอา "พระเจดีย์ศรีมหาโพธิ์" หรือเจดีย์พุทธคยา ที่สร้างในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช แต่สร้างขนาดย่อส่วนลงมาจากองค์จริง "ผู้จัดการท่องเที่ยว" ได้เข้าไปกราบพระพุทธรูปด้านใน และได้ขึ้นไปชมวิวมุมสูงรับลมเย็นๆที่ด้านบนขององค์เจดีย์มาแล้ว
พิพิธภัณฑ์พระอาจารย์หลุย
แสงแดดเริ่มส่องแสงแรงขึ้น แต่เราก็ยังมุ่งมั่นจะไปสักการะสังเวชนียสถานจำลองให้ครบ ในที่สุดก็เดินมาถึงสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ซึ่งจำลองมาโดยมีการปรับเปลี่ยนเล็กน้อย เพราะสังเวชนียสถานของจริงที่ประเทศอินเดียนั้นจะเป็นเจดีย์ปิดไม่มีประตูหน้าต่าง แต่สำหรับเจดีย์ที่จำลองมานี้ได้ย่อส่วนให้เล็กลง และจัดทำให้มีช่องประตูหน้าต่างและมีพระพุทธรูปอยู่ด้านใน ผู้ที่มาสักการะสามารถเข้าไปกราบพระพุทธรูปภายในได้

และแล้วเราก็มาถึงสังเวชนียสถานแห่งสุดท้าย นั่นก็คือสถานที่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้าที่เมืองกุสินารา สังเวชนียสถานแห่งนี้ก่อสร้างจำลองจากประเทศอินเดียมาทุกประการ แต่ย่อส่วนให้เล็กลง ภายในเป็นห้องโถงใหญ่ มีพระพุทธรูปปางปรินิพพานองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่ พร้อมทั้งพระสาวกอีกสามองค์คือพระอานนท์ พระอนิรุทธ และพระสุภัททะนั่งอยู่เบื้องหน้า
ศาลาอาพาธพระอาจารย์มั่น
และอย่างที่ "ผู้จัดการท่องเที่ยว" บอกไปข้างต้นแล้วว่าที่เมืองสกลนครนี้เป็นเมืองที่มีพระเกจิอาจารย์หลายท่านด้วยกัน ดังนั้นจึงจะพาไปชมวัดป่า ไหว้พระเกจิดังๆกันต่ออีกสักหน่อย

ที่ "วัดป่าสุทธาวาส" ในอำเภอเมืองนั้น เป็นวัดป่าที่สร้างขึ้นเพื่อถวายแด่พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล และพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และยังเป็นวัดที่พระอาจารย์มั่นมามรณภาพที่นี่ด้วย ภายในวัดจึงจัดทำพิพิธภัณฑ์พระอาจารย์มั่น โดยตัวพิพิธภัณฑ์นั้นเป็นสถาปัตยกรรมแบบสมัยใหม่ประยุกต์ สร้างด้วยกระเบื้องดินเผา ภายในมีรูปหล่อพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ในท่านั่งสมาธิ และมีตู้กระจกบรรจุอัฐิของท่านที่แปรสภาพเป็นแก้วผลึกใสสีขาว และตู้แสดงเครื่องอัฐบริขาร พร้อมทั้งมีประวัติความเป็นมาของท่านตั้งแต่เกิดจนมรณภาพ
รูปหล่อพระอาจารย์ฝั้น
และในบริเวณใกล้เคียงกันก็ยังมีเจดีย์พิพิธภัณฑ์หลวงปู่หลุย จันทสาโร หรือที่เรียกว่า "จันทรสารเจติยานุสรณ์" โดยรูปแบบเจดีย์นั้นได้รับพระราชทานมาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภายในมีเจดีย์หุ่นขี้ผึ้งรูปเหมือนหลวงปู่หลุย และเครื่องอัฐบริขารของท่าน และมีนิทรรศการทางพระพุทธศาสนาจัดแสดงไว้

ที่ "วัดป่ากลางโนนภู่" ในอำเภอพรรณนานิคม ก็เป็นอีกแห่งหนึ่งที่มีพิพิธภัณฑ์พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต โดยเป็นอาคารไม้ซึ่งเป็นกุฏิที่พระอาจารย์มั่นใช้พักในคราวที่ท่านอาพาธระยะสุดท้าย ก่อนจะไปมรณภาพที่วัดป่าสุทธาวาส และมีการจัดแสดงเครื่องอัฐบริขารของพระอาจารย์มั่นขณะจำพรรษาอยู่ที่วัดนี้
พิพิธภัณฑ์พระอาจารย์ฝั้น
ส่วนที่ "วัดป่าอุดมสมพร" ในอำเภอเดียวกัน ก็มีพิพิธภัณฑ์อาจารย์ฝั้น อาจาโร ศิษย์ของพระอาจารย์มั่น ตัวพิพิธภัณฑ์มีความงดงาม สร้างเป็นรูปเจดีย์ฐานกลมกลีบบัวสามชั้น ภายในมีรูปปั้นพระอาจารย์ฝั้นในท่านั่งห้อยเท้าและถือไม้เท้าไว้ในมือ ขนาดเท่าตัวจริง มีการจัดแสดงประวัติความเป็นมาของพระอาจารย์ฝั้นตั้งแต่เกิดจนมรณภาพ และภายในยังมีตู้กระจกบรรจุอัฐิ และเครื่องอัฐบริขารที่ท่านเคยใช้เมื่อยามมีชีวิต

*    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    * 

สอบถามรายละเอียดการท่องเที่ยวจังหวัดสกลนครได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขต 4 โทร.0-4251-3490

กำลังโหลดความคิดเห็น