xs
xsm
sm
md
lg

"สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ" สวนของแม่ เพื่อคนรักต้นไม้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : หนุ่มลูกทุ่ง
ภายในอาคารเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา
เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศของวันแม่ 12 สิงหาคมอย่างนี้ ฉันจึงเลือกมาเที่ยวยัง “สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ” สวนขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ใกล้กับตลาดนัดสวนจตุจักร ที่ภาครัฐและเอกชนได้ร่วมกันสมทบทุนสร้างถวายเนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถทรงมีพระชนมพรรษา 60 พรรษาในปี 2535

จากนั้นอีก 12 ปีต่อมา สวนแห่งนี้ก็ถูกทำให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เนื่องจากมูลนิธิสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ได้จัดทำโครงการเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษาขึ้นในพื้นที่ส่วนหนึ่งของสวน เพื่อสนองพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ ที่ทรงสนพระทัยให้มีการอนุรักษ์พรรณไม้หอมต่างๆ ไม่ให้สูญพันธุ์ และให้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย และในโครงการนั้นเอง ก็ทำให้เกิดสิ่งที่น่าสนใจต่างๆ ภายในสวนมากมาย ที่ฉันจะพาไปชมกันวันนี้
ต้นไม้ร่มรื่นภายในอาคารพรรณไม้ไทยฯ
ฉันก้าวเท้าเข้ามาในสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ทางฝั่งประตูใกล้กับพิพิธภัณฑ์เด็ก เมื่อเข้ามาปุ๊บก็เริ่มเห็นสีสันสดใสของบรรดาดอกไม้ใบหญ้าภายในสวนฯ ทางซ้ายมือของประตูทางเข้ามีอาคารสีขาวหลังใหญ่ตั้งอยู่กลางแมกไม้ ฉันจะเริ่มต้นชมสวนฯ จากอาคารนี้เป็นที่แรก เพราะนี่คือ "อาคารเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา" ที่จะทำให้เรารู้จักกับภาพกว้างๆของสวนฯ และรู้จักที่มาของโครงการเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษาอีกด้วย

เมื่อเดินเข้ามาภายในอาคารเฉลิมพระเกียรติฯ นั้น ก็จะเห็นพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พร้อมกับตัวหนังสือซึ่งเป็นพระราชดำรัสของพระองค์ที่ว่า "พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ พระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำ ฉันจะสร้างป่า" ซึ่งแสดงให้เห็นความสนพระทัยของพระองค์เกี่ยวกับป่าไม้มาโดยตลอด
ทางเดินในสวนพระมหากรุณาธิคุณ เพื่อผู้พิการทางสายตา
เรื่องราวภายในอาคารเฉลิมพระเกียรติฯ นอกจากจะมีเรื่องเกี่ยวกับโครงการพระราชดำริของ ก็จะเป็นเรื่องราวของสมเด็จพระนางเจ้าฯ กับพรรณไม้ต่างๆ ได้แก่ พรรณไม้เฉลิมพระเกียรติ เช่น กุหลาบควีนสิริกิติ์ ดอนญ่าควีนสิริกิติ์ พรรณไม้พระราชทานนาม เช่น ดุสิตา นิมมานนรดี มณีเทวา และพรรณไม้หอมที่โปรด เช่น กุหลาบมอญ นางแย้ม สายหยุด

นอกจากนั้นก็ยังมีวงศ์ไม้เด่น 5 วงศ์ในด้านพฤกษศาสตร์ที่มีในสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์จากทั้งหมด 106 วงศ์ ได้แก่ วงศ์เข็ม ที่มีอยู่ด้วยกัน 52 ชนิด เช่น ดอนญ่าควีนสิริกิติ์ เข็มชะวา พุดน้ำบุษย์ ฯลฯ วงศ์กล้วย ซึ่งมี 3 ประเภทคือ กล้วยป่า กล้วยกินได้ และกล้วยประดับ รวมกันแล้วกว่า 68 ชนิด เช่น กล้วยดารารัศมี กล้วยร้อยหวี ฯลฯ
ด้านหน้าอาคารพรรณไม้ไทยฯ
วงศ์ปาล์ม ที่มีปาล์มพันธุ์ไทย 57 ชนิด และปาล์มพันธุ์ต่างประเทศ 41 ชนิดด้วยกัน เช่น หมากแดง ตาลโตนด ช้างร้องไห้ ฯลฯ วงศ์ลั่นทม มี 57 ชนิด เช่น ลั่นทมลูกศร รำเพย ยี่โถ ฯลฯ และสุดท้ายคือวงศ์บัว มีสองวงศ์คือบัวหลวง และบัวสาย

อ่านข้อมูลในอาคารเฉลิมพระเกียรติฯดูแค่นี้ก็พอจะรู้แล้วว่า สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์นี้ไม่ใช่เป็นเพียงสวนธรรมดาๆ ที่เอาไว้เดินเล่นพักผ่อนหย่อนใจ แต่ถือได้ว่าเป็นสวนพฤกษศาสตร์ที่รวมเอาพรรณไม้นานาพรรณไว้ให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษากัน
บัวดอกงามๆในลานบัว
ออกจากอาคารเฉลิมพระเกียรติฯแล้ว เราข้ามมาดูกันอีกอาคารหนึ่งคือ "อาคารพรรณไม้ไทย เทิดไท้ บรมราชินีนาถ" ที่ประกอบด้วยอาคาร 3 หลังเชื่อมต่อกัน คืออาคารพรรณไม้ภาคกลางและภาคตะวันตก อาคารพรรณไม้ภาคใต้และภาคตะวันออก และอาคารพรรณไม้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีตัวอย่างต้นไม้จากแต่ละภูมิภาคมาปลูกไว้ภายใน และทำเป็นทางเดินในสวนให้เดินชมต้นไม้เหล่านี้กันอย่างใกล้ชิด

บริเวณด้านหน้าอาคารพรรณไม้ไทยฯ เป็นที่ตั้งของ "สวนพระมหากรุณาธิคุณ เพื่อผู้พิการทางสายตา" ซึ่งเป็นสวนสำหรับผู้พิการทางสายตาแห่งแรกของประเทศไทย ในบริเวณสวนแห่งนี้ก็จะปลูกไม้ดอกกลิ่นหอมๆ เช่นกุหลาบกอใหญ่ เพื่อให้ผู้พิการทางสายตาได้สัมผัสกับกลิ่นของดอกไม้แทนการมองเห็น มีราวเหล็กไว้ให้จับเดินตลอดทาง
ชบาสีชมพูหวานในลานชบา
อีกทั้งบนราวเหล็กก็ยังมีอักษรเบลล์เป็นบางช่วงเพื่อให้ผู้พิการทางสายตาได้ทราบข้อมูลว่าขณะนี้เขากำลังเดินอยู่ใกล้พรรณไม้อะไร มีลักษณะเป็นอย่างไร อีกทั้งบางช่วงของทางเดินก็จะมีเสียงผู้บรรยายดังขึ้นอธิบายถึงต้นไม้ที่อยู่บริเวณนั้นด้วย นับว่าเป็นแหล่งเรียนรู้อีกแห่งหนึ่งของผู้พิการทางสายตาได้ดีทีเดียว

และบริเวณใกล้เคียงกันนั้นก็ยังมี "สวนไม้หอมน้อมเกล้าฯ" ที่รวบรวมพรรณไม้หอมประเภทต่างๆ ทั้งประเภทที่มีดอกหอม เปลือกไม้หอม เนื้อไม้หอม ใบหอม ผลหอม ยางหอม หอมไปหมดทั้งต้น ให้ได้รู้จักกัน และ "สวนพรรณไม้อันเกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์" เช่น พรรณไม้พระนาม พรรณไม้ที่โปรด และพรรณไม้บางชนิดที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการพระราชดำริ รวมไปถึงพรรณไม้ที่ได้รับพระราชานุญาตให้ตั้งชื่อตามพระนามาภิไธย ถ้าใครอยากเห็นมะม่วงมหาชนก ใบไม้สีทอง ก็มาหาความรู้กันได้ที่นี่
บรรยากาศภายในสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์
ทั้ง 5 สิ่งที่ว่ามาทั้งหมดนั้นก็เป็นสิ่งที่จัดทำขึ้นในโครงการเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษานั่นเอง แต่ใช่ว่าสิ่งที่น่าสนใจภายในสวนจะหมดเพียงเท่านี้ เพราะยังมีพื้นที่อีกเกือบ 200 ไร่ ให้เดินชมต้นไม้กันอย่างจุใจ สมดังความตั้งใจที่จะสร้างสวนนี้ให้เป็น "ป่าเล็กในเมืองใหญ่" ที่มีระบบนิเวศและความหลากหลายที่สมบูรณ์คล้ายกับป่าธรรมชาติ

ฉันเดินเลียบเลาะริมสระน้ำในสวนฯไปเรื่อยๆ มองจากระดับสายตาก็จะเห็นเป็นสระน้ำธรรมดา แต่หากบินขึ้นไปบนฟ้าแล้วมองลงมาแล้วจะเห็นว่าสระน้ำนั้นเป็นรูปตัวอักษรไทย ส เสือ และตัวอักษรภาษาอังกฤษ S เกาะเกี่ยวกันอยู่ และบริเวณรอบๆสระน้ำนั้นก็มีต้นไม้หลากหลายชนิดทั้งไม้ดอกไม้ใบให้เลือกชม เช่น สวนไม้มงคลพระราชทาน 76 จังหวัด ที่จำลองแผนที่ประเทศไทยและปลูกไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ตามตำแหน่งของแต่ละจังหวัด ลานชบา ที่มีดอกชบาหลากหลายสีออกดอกสวยๆแข่งกัน ลานอโศก ต้นไม้ที่ฉันมักเคยได้ยินชื่อแต่ไม่เคยเห็นตัวจริง ลานบัว ที่มีดอกบัวงามๆบานอยู่ในสระน้ำหลายต่อหลายดอก และสวนหิน ที่จัดวางหินขนาดต่างๆไว้อย่างน่าชม
สวนหินที่ตกแต่งไว้อย่างงดงาม
แม้สิ่งที่น่าสนใจในสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์จะมีอยู่มากมาย แต่หากใครจะไม่เดินชมให้ทั่วฉันก็ไม่ว่าอะไรหรอก เพราะเข้าใจว่าสวนแห่งนี้ช่างกว้างใหญ่ไพศาล แต่สำหรับคนที่รักต้นไม้และกำลังศึกษาเกี่ยวกับพรรณไม้อยู่ละก็ แม้สวนจะกว้างแค่ไหน ขาจะเมื่อยล้าเพียงใด ก็ถือว่าคุ้มค่ากับการได้มาชมมากทีเดียว

*    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    * 

สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ตั้งอยู่ที่ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กทม. 10900 เปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 05.30-18.30 น. ที่ตั้งของสวนฯ อยู่ในรั้วเดียวกับพิพิธภัณฑ์เด็ก และอยู่บริเวณด้านหลังสวนจตุจักร ติดกับสวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) หากมาจากทางถนนกำแพงเพชรสองมุ่งหน้าถนนพหลโยธิน สวนฯจะอยู่ทางซ้ายมือ มีที่จอดรถให้บริการ สามารถนั่งรถไฟฟ้ามาลงที่สถานีหมอชิต หรือรถไฟใต้ดินมาขึ้นที่สถานีกำแพงเพชร แล้วเดินต่อมายังสวนฯ หรือหากเดินทางมาโดยรถประจำทาง ก็มีรถสาย 3, 8, 28, 29, 44, 52, 59, 69, 108, 134, 138, 145, 509, 510, 512, 134 ฯลฯ ผ่านบริเวณด้านหน้าสวนจตุจักร สอบถามรายละเอียดโทร.0-2272-4358
กำลังโหลดความคิดเห็น