โดย หนุ่มลูกทุ่ง
นับได้เกือบ 76 ปีแล้วที่ประเทศของเราได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ในยุคนี้มีสิ่งใหม่ๆ หลายสิ่งเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวิธีคิดใหม่ การปฏิบัติตัวใหม่ ไม่เว้นแม้แต่วัดใหม่ในยุคเริ่มต้นประชาธิปไตยด้วยเช่นกัน
นี่เป็นเหตุผลที่ฉันมายืนอยู่ที่ "วัดพระศรีมหาธาตุ วรมหาวิหาร" ในย่านบางเขนวันนี้ เพราะอีกไม่กี่วันก็จะถึงวันสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ไทย คือวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 แต่... วัดพระศรีมหาธาตุฯ นี้มีอะไรเกี่ยวข้องอะไรกับวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง?? ถ้าอยากรู้ก็ต้องตามไปดูพร้อมๆ กัน
ก่อนที่จะมาเป็นวัดพระศรีมหาธาตุในปัจจุบันนี้ แต่เดิมวัดนี้เคยมีชื่อว่า "วัดประชาธิปไตย" มาก่อน เพราะหลังจากที่ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย คณะรัฐบาลในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยในขณะนั้นก็ได้มีมติให้สร้างวัดประชาธิปไตยขึ้น โดยตั้งใจให้เป็นอนุสรณ์แห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย วัดแห่งนี้ก็ได้ถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2483 หรือ 8 ปี หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั่นเอง
แต่ในขณะที่ก่อสร้างนั้น คณะทูตไทยโดยมีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์เป็นหัวหน้า ได้เดินทางไปอินเดียและได้ขออัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุที่ขุดพบ ณ มหาสถูปธรรมราชิกะ กิ่งพระศรีมหาโพธิ์ และดินจากสังเวชนียสถานที่รัฐบาลอินเดียมอบให้มาประดิษฐานไว้ที่วัด ดังนั้นจากวัดประชาธิปไตยจึงได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น "วัดพระศรีมหาธาตุ" อย่างในปัจจุบัน
ภายในวัดพระศรีมหาธาตุนั้นมีพื้นที่กว้างใหญ่ แต่สิ่งที่โดดเด่นที่สุดภายในวัดก็ต้องเป็น "พระเจดีย์ศรีมหาธาตุ" ซึ่งเป็นพระเจดีย์องค์ใหญ่โดดเด่น ตรงฐานพระเจดีย์ด้านนอกมีจารึกเกี่ยวกับการสร้างวัดไว้ว่า "นายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เรื่องสร้างวัดประชาธิปตัยว่า ข้าพเจ้าอยากจะขออนุมัติเงินสักแสนบาท เพื่อสร้างวัดสักวัดหนึ่งในสมัยประชาธิปตัย และใคร่จะให้แล้วเสร็จทันงานวันชาติ 24 มิถุนายน ศกนี้ และสถานที่ที่สร้างนั้นอยากจะสร้างใกล้ๆ กับอนุสาวรีย์หลวงอำนวยสงคราม ตำบลหลักสี่ ที่ประชุมตกลงเห็นชอบด้วย"
เมื่อฉันเดินเข้าไปกราบสักการะพระบรมธาตุด้านในพระเจดีย์ ก็พบว่าภายในมีลักษณะเป็นห้องโถงทรงกลม มีเจดีย์องค์เล็กสีทองอร่ามอยู่ตรงกลางอีกชั้นหนึ่ง ภายในเจดีย์องค์นี้เองที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและดินจากสังเวชนียสถานไว้ เมื่อกราบไหว้เสร็จเรียบร้อยคราวนี้ก็เริ่มสำรวจภายในองค์พระเจดีย์กันบ้าง บรรยากาศภายในนี้ค่อนข้างเงียบสงบ จึงมักมีคนมาหามุมสงบนั่งสมาธิกัน เพราะฉะนั้นการเดินสำรวจจึงต้องเป็นไปอย่างเงียบสงบด้วยเช่นกัน
ฉันสังเกตเห็นว่าบนฝาผนังด้านในรอบองค์พระเจดีย์จะมีแผ่นหินบรรจุอัฐิของผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว เข้าใจว่าคงเป็นคนใหญ่คนโตไม่น้อยจึงได้รับเกียรติให้บรรจุอัฐิไว้ในเจดีย์อย่างนี้ พอดูไปดูมาสักพัก เริ่มเห็นป้ายชื่ออัฐิของผู้ที่มีชื่อเสียงเรียงนามคุ้นหูอย่างจอมพล ป. พิบูลสงคราม นาวาเอกหลวงศุภชลาศัย พ.อ.พระยาฤทธิอัคเนย์ พันเอกพระยาทรงสุรเดช พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา พันโทหลวงอำนวยสงคราม นายปรีดี พนมยงค์ นายเฉลียว ปทุมรส นายทวี บุญยเกตุ นายดิเรก ชัยนาม และอีกหลายรายนามที่คุ้นหูบ้างไม่คุ้นบ้าง แต่พอจะจับทางได้ว่าบรรดาผู้ที่มีรายชื่ออยู่ในเจดีย์นี้ก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ทั้งสิ้น
ข้อสังเกตของฉันก็ถูกต้องแล้ว เพราะผนังด้านในพระเจดีย์นี้ได้ทำเป็นช่องไว้ทั้งหมด 112 ช่องสำหรับบรรจุอัฐิบุคคลสำคัญที่รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาว่าเป็น "ผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ" นั่นเอง
ออกจากพระเจดีย์ศรีมหาธาตุมาดูที่พระอุโบสถกันที่อยู่ด้านหลังองค์พระเจดีย์กันบ้าง มองไปมองมาแล้วแล้วพระอุโบสถของวัดนี้ดูคล้ายคลึงกับพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรอยู่เหมือนกัน แต่น่าเสียดายที่ตอนนี้พระอุโบสถกำลังอยู่ระหว่างการซ่อมแซมกระเบื้องหลังคา เครื่องบน ปิดทองเขียนลายน้ำประตูหน้าต่าง และระเบียงคด กว่าจะเสร็จก็คงอีกสองสามเดือน ฉันจึงได้ชมแต่ยืนชมพระอุโบสถภายนอก กราบพระศรีสัมพุทธมุนี พระประธานในพระอุโบสถอยู่ข้างนอกเท่านั้น
ได้กราบไหว้พระบรมสารีริกธาตุและดินจากสังเวชนียสถานจากประเทศอินเดียกันไปแล้ว ยังขาดกิ่งพระศรีมหาโพธิ์อีกอย่างหนึ่งที่ฉันยังไม่เห็น พอออกมามองหาด้านนอกจึงพบว่า กิ่งพระศรีมหาโพธิ์ซึ่งตอนนี้กลายเป็นต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นใหญ่แผ่กิ่งก้านใบร่มรื่นอยู่กลางสระน้ำด้านข้างองค์พระเจดีย์นั่นเอง และมีพระพุทธรูปปางสมาธินั่งสงบนิ่งอยู่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทำให้มีบรรยากาศที่สงบร่มรื่นมากทีเดียว
ไหนๆ ก็พูดถึงวัดในยุคประชาธิปไตยไปแล้ว ถ้าไม่พูดถึง "อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ" ที่อยู่ใกล้เคียงกันก็คงจะไม่ครบถ้วน อนุสาวรีย์ที่ว่านี้ก็อยู่กลางวงเวียนหลักสี่ใกล้กับวัดพระศรีมหาธาตุนั่นเอง หากอยากไปชมใกล้ๆก็ต้องข้ามถนนฝ่ารถซิ่งทั้งหลายไปตรงกลางวงเวียน แต่ถ้าไม่อยากเสี่ยงชีวิตก็ดูเอาในรูปที่ฉันถ่ายมานี้ก็ได้
อนุสาวรีย์แห่งนี้มีที่มาจากเหตุการณ์กบฏบวรเดช ถ้าใครที่สนใจประวัติศาสตร์การเมืองคงจะพอทราบแล้วว่าหลังจากการเปลี่ยนแปลงการโดยคณะราษฎร์แล้ว ก็มีผู้ที่ไม่เห็นด้วยในการกระทำนั้น และได้รวมกลุ่มกันต่อต้านโดยมีพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดชเป็นผู้นำกองทัพมาสู้รบต่อต้านและได้มีการปะทะกันที่บางเขน จนเมื่อฝ่ายรัฐบาลเป็นผู้ชนะ โดยมีทหารฝ่ายรัฐบาลเสีย ชีวิตลง 17 นาย จึงได้มีการสร้างอนุสาวรีย์ขึ้นเพื่อเป็นการสดุดีวีรกรรมและบรรจุอัฐิของผู้เสียชีวิตไว้
ลักษณะของอนุสาวรีย์เป็นสีขาวมีฐานเป็นสี่เหลี่ยม ด้านบนเป็นแท่งเสาแปดเหลี่ยมประดับกลีบบัวซ้อนขึ้นไป 2 ชั้นยอดเรียวเล็กลงไป และบนยอดนั้นก็มีพานรองรัฐธรรมนูญลักษณะเดียวกันกับพานรัฐธรรมนูญที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ส่วนฐานด้านล่างด้านหนึ่งจารึกชื่อผู้ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์กบฏบวรเดช โคลงสยามานุสติ และรูปครอบครัวชาวนา มีผู้ชายถือเคียวเกี่ยวข้าว ผู้หญิงถือรวงข้าว และเด็กถือเชือก
ฉันเห็นสภาพของอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญวันนี้ดูแล้วเหมือนอนุสาวรีย์ที่ถูกลืมยังไงก็ไม่รู้ เพราะบริเวณรอบๆนั้นเป็นที่จอดรถขยะเรียงเป็นแถว หากใครผ่านมาอาจจะมองไม่เห็นอนุสาวรีย์เลยก็ได้ เพราะโดนรถขยะบดบังไว้เสียหมด
หากใครมีเวลาว่างก็ลองแวะไปกราบพระบรมสารีริกธาตุกันได้ที่วัดแห่งนี้ และยังจะได้ซึมซับบรรยากาศของยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่แม้จะผ่านมาถึงเกือบ 76 ปีแล้ว ประชาธิปไตยก็ดูเหมือนจะยังไม่เคยเต็มใบสักที
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
วัดพระศรีมหาธาตุ วรมหาวิหาร ตั้งอยู่ที่ เลขที่ 1 หมู่ 6 ถนนพหลโยธิน แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220 วัดเปิดให้เข้าชมทุกวัน สอบถามรายละเอียดโทร.0-2521-5974 ส่วนอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญอยู่กลางวงเวียนหลักสี่ ไม่ห่างจากวัดพระศรีมหาธาตุมากนัก
การเดินทางไปยังวัดพระศรีมหาธาตุ เริ่มต้นจากห้างเซ็นทรัลลาดพร้าวให้วิ่งมาตามถนนพหลโยธินมุ่งหน้ารังสิต วัดจะอยู่ก่อนถึงวงเวียนหลักสี่ มีรถประจำทางสาย 26, 34, 39, 59, 114, 126, 503, 512, 524 ผ่าน
นับได้เกือบ 76 ปีแล้วที่ประเทศของเราได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ในยุคนี้มีสิ่งใหม่ๆ หลายสิ่งเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวิธีคิดใหม่ การปฏิบัติตัวใหม่ ไม่เว้นแม้แต่วัดใหม่ในยุคเริ่มต้นประชาธิปไตยด้วยเช่นกัน
นี่เป็นเหตุผลที่ฉันมายืนอยู่ที่ "วัดพระศรีมหาธาตุ วรมหาวิหาร" ในย่านบางเขนวันนี้ เพราะอีกไม่กี่วันก็จะถึงวันสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ไทย คือวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 แต่... วัดพระศรีมหาธาตุฯ นี้มีอะไรเกี่ยวข้องอะไรกับวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง?? ถ้าอยากรู้ก็ต้องตามไปดูพร้อมๆ กัน
ก่อนที่จะมาเป็นวัดพระศรีมหาธาตุในปัจจุบันนี้ แต่เดิมวัดนี้เคยมีชื่อว่า "วัดประชาธิปไตย" มาก่อน เพราะหลังจากที่ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย คณะรัฐบาลในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยในขณะนั้นก็ได้มีมติให้สร้างวัดประชาธิปไตยขึ้น โดยตั้งใจให้เป็นอนุสรณ์แห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย วัดแห่งนี้ก็ได้ถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2483 หรือ 8 ปี หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั่นเอง
แต่ในขณะที่ก่อสร้างนั้น คณะทูตไทยโดยมีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์เป็นหัวหน้า ได้เดินทางไปอินเดียและได้ขออัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุที่ขุดพบ ณ มหาสถูปธรรมราชิกะ กิ่งพระศรีมหาโพธิ์ และดินจากสังเวชนียสถานที่รัฐบาลอินเดียมอบให้มาประดิษฐานไว้ที่วัด ดังนั้นจากวัดประชาธิปไตยจึงได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น "วัดพระศรีมหาธาตุ" อย่างในปัจจุบัน
ภายในวัดพระศรีมหาธาตุนั้นมีพื้นที่กว้างใหญ่ แต่สิ่งที่โดดเด่นที่สุดภายในวัดก็ต้องเป็น "พระเจดีย์ศรีมหาธาตุ" ซึ่งเป็นพระเจดีย์องค์ใหญ่โดดเด่น ตรงฐานพระเจดีย์ด้านนอกมีจารึกเกี่ยวกับการสร้างวัดไว้ว่า "นายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เรื่องสร้างวัดประชาธิปตัยว่า ข้าพเจ้าอยากจะขออนุมัติเงินสักแสนบาท เพื่อสร้างวัดสักวัดหนึ่งในสมัยประชาธิปตัย และใคร่จะให้แล้วเสร็จทันงานวันชาติ 24 มิถุนายน ศกนี้ และสถานที่ที่สร้างนั้นอยากจะสร้างใกล้ๆ กับอนุสาวรีย์หลวงอำนวยสงคราม ตำบลหลักสี่ ที่ประชุมตกลงเห็นชอบด้วย"
เมื่อฉันเดินเข้าไปกราบสักการะพระบรมธาตุด้านในพระเจดีย์ ก็พบว่าภายในมีลักษณะเป็นห้องโถงทรงกลม มีเจดีย์องค์เล็กสีทองอร่ามอยู่ตรงกลางอีกชั้นหนึ่ง ภายในเจดีย์องค์นี้เองที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและดินจากสังเวชนียสถานไว้ เมื่อกราบไหว้เสร็จเรียบร้อยคราวนี้ก็เริ่มสำรวจภายในองค์พระเจดีย์กันบ้าง บรรยากาศภายในนี้ค่อนข้างเงียบสงบ จึงมักมีคนมาหามุมสงบนั่งสมาธิกัน เพราะฉะนั้นการเดินสำรวจจึงต้องเป็นไปอย่างเงียบสงบด้วยเช่นกัน
ฉันสังเกตเห็นว่าบนฝาผนังด้านในรอบองค์พระเจดีย์จะมีแผ่นหินบรรจุอัฐิของผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว เข้าใจว่าคงเป็นคนใหญ่คนโตไม่น้อยจึงได้รับเกียรติให้บรรจุอัฐิไว้ในเจดีย์อย่างนี้ พอดูไปดูมาสักพัก เริ่มเห็นป้ายชื่ออัฐิของผู้ที่มีชื่อเสียงเรียงนามคุ้นหูอย่างจอมพล ป. พิบูลสงคราม นาวาเอกหลวงศุภชลาศัย พ.อ.พระยาฤทธิอัคเนย์ พันเอกพระยาทรงสุรเดช พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา พันโทหลวงอำนวยสงคราม นายปรีดี พนมยงค์ นายเฉลียว ปทุมรส นายทวี บุญยเกตุ นายดิเรก ชัยนาม และอีกหลายรายนามที่คุ้นหูบ้างไม่คุ้นบ้าง แต่พอจะจับทางได้ว่าบรรดาผู้ที่มีรายชื่ออยู่ในเจดีย์นี้ก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ทั้งสิ้น
ข้อสังเกตของฉันก็ถูกต้องแล้ว เพราะผนังด้านในพระเจดีย์นี้ได้ทำเป็นช่องไว้ทั้งหมด 112 ช่องสำหรับบรรจุอัฐิบุคคลสำคัญที่รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาว่าเป็น "ผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ" นั่นเอง
ออกจากพระเจดีย์ศรีมหาธาตุมาดูที่พระอุโบสถกันที่อยู่ด้านหลังองค์พระเจดีย์กันบ้าง มองไปมองมาแล้วแล้วพระอุโบสถของวัดนี้ดูคล้ายคลึงกับพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรอยู่เหมือนกัน แต่น่าเสียดายที่ตอนนี้พระอุโบสถกำลังอยู่ระหว่างการซ่อมแซมกระเบื้องหลังคา เครื่องบน ปิดทองเขียนลายน้ำประตูหน้าต่าง และระเบียงคด กว่าจะเสร็จก็คงอีกสองสามเดือน ฉันจึงได้ชมแต่ยืนชมพระอุโบสถภายนอก กราบพระศรีสัมพุทธมุนี พระประธานในพระอุโบสถอยู่ข้างนอกเท่านั้น
ได้กราบไหว้พระบรมสารีริกธาตุและดินจากสังเวชนียสถานจากประเทศอินเดียกันไปแล้ว ยังขาดกิ่งพระศรีมหาโพธิ์อีกอย่างหนึ่งที่ฉันยังไม่เห็น พอออกมามองหาด้านนอกจึงพบว่า กิ่งพระศรีมหาโพธิ์ซึ่งตอนนี้กลายเป็นต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นใหญ่แผ่กิ่งก้านใบร่มรื่นอยู่กลางสระน้ำด้านข้างองค์พระเจดีย์นั่นเอง และมีพระพุทธรูปปางสมาธินั่งสงบนิ่งอยู่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทำให้มีบรรยากาศที่สงบร่มรื่นมากทีเดียว
ไหนๆ ก็พูดถึงวัดในยุคประชาธิปไตยไปแล้ว ถ้าไม่พูดถึง "อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ" ที่อยู่ใกล้เคียงกันก็คงจะไม่ครบถ้วน อนุสาวรีย์ที่ว่านี้ก็อยู่กลางวงเวียนหลักสี่ใกล้กับวัดพระศรีมหาธาตุนั่นเอง หากอยากไปชมใกล้ๆก็ต้องข้ามถนนฝ่ารถซิ่งทั้งหลายไปตรงกลางวงเวียน แต่ถ้าไม่อยากเสี่ยงชีวิตก็ดูเอาในรูปที่ฉันถ่ายมานี้ก็ได้
อนุสาวรีย์แห่งนี้มีที่มาจากเหตุการณ์กบฏบวรเดช ถ้าใครที่สนใจประวัติศาสตร์การเมืองคงจะพอทราบแล้วว่าหลังจากการเปลี่ยนแปลงการโดยคณะราษฎร์แล้ว ก็มีผู้ที่ไม่เห็นด้วยในการกระทำนั้น และได้รวมกลุ่มกันต่อต้านโดยมีพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดชเป็นผู้นำกองทัพมาสู้รบต่อต้านและได้มีการปะทะกันที่บางเขน จนเมื่อฝ่ายรัฐบาลเป็นผู้ชนะ โดยมีทหารฝ่ายรัฐบาลเสีย ชีวิตลง 17 นาย จึงได้มีการสร้างอนุสาวรีย์ขึ้นเพื่อเป็นการสดุดีวีรกรรมและบรรจุอัฐิของผู้เสียชีวิตไว้
ลักษณะของอนุสาวรีย์เป็นสีขาวมีฐานเป็นสี่เหลี่ยม ด้านบนเป็นแท่งเสาแปดเหลี่ยมประดับกลีบบัวซ้อนขึ้นไป 2 ชั้นยอดเรียวเล็กลงไป และบนยอดนั้นก็มีพานรองรัฐธรรมนูญลักษณะเดียวกันกับพานรัฐธรรมนูญที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ส่วนฐานด้านล่างด้านหนึ่งจารึกชื่อผู้ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์กบฏบวรเดช โคลงสยามานุสติ และรูปครอบครัวชาวนา มีผู้ชายถือเคียวเกี่ยวข้าว ผู้หญิงถือรวงข้าว และเด็กถือเชือก
ฉันเห็นสภาพของอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญวันนี้ดูแล้วเหมือนอนุสาวรีย์ที่ถูกลืมยังไงก็ไม่รู้ เพราะบริเวณรอบๆนั้นเป็นที่จอดรถขยะเรียงเป็นแถว หากใครผ่านมาอาจจะมองไม่เห็นอนุสาวรีย์เลยก็ได้ เพราะโดนรถขยะบดบังไว้เสียหมด
หากใครมีเวลาว่างก็ลองแวะไปกราบพระบรมสารีริกธาตุกันได้ที่วัดแห่งนี้ และยังจะได้ซึมซับบรรยากาศของยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่แม้จะผ่านมาถึงเกือบ 76 ปีแล้ว ประชาธิปไตยก็ดูเหมือนจะยังไม่เคยเต็มใบสักที
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
วัดพระศรีมหาธาตุ วรมหาวิหาร ตั้งอยู่ที่ เลขที่ 1 หมู่ 6 ถนนพหลโยธิน แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220 วัดเปิดให้เข้าชมทุกวัน สอบถามรายละเอียดโทร.0-2521-5974 ส่วนอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญอยู่กลางวงเวียนหลักสี่ ไม่ห่างจากวัดพระศรีมหาธาตุมากนัก
การเดินทางไปยังวัดพระศรีมหาธาตุ เริ่มต้นจากห้างเซ็นทรัลลาดพร้าวให้วิ่งมาตามถนนพหลโยธินมุ่งหน้ารังสิต วัดจะอยู่ก่อนถึงวงเวียนหลักสี่ มีรถประจำทางสาย 26, 34, 39, 59, 114, 126, 503, 512, 524 ผ่าน