เอ่ยถึงเมืองสรรคบุรี ฟังดูเหมือนจะคุ้นๆ หู แต่ก็ยังนึกไม่ออกว่าอยู่แห่งหนตำบลไหน ยิ่งพูดถึงแพรกศรีราชา ก็ยิ่งไม่รู้จักเข้าไปใหญ่ แต่เมื่อได้ร่วมทริปไปกับ "มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์" ที่เขาพาไปชมวัดเก่าในเมืองเก่าที่มีชื่อว่าเมืองสรรคบุรี หรือแพรกศรีราชา ก็ทำให้ "ตะลอนเที่ยว" ได้รู้จักกับเมืองเก่าในอดีตที่แทบจะไม่ถูกเอ่ยถึงในบทเรียนวิชาประวัติศาสตร์เบื้องต้น ด้วยการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทยนั้นมักจะเริ่มต้นด้วยอาณาจักรสุโขทัย ตามด้วยอยุธยา และมาเป็นรัตนโกสินทร์ในที่สุด จึงทำให้เมืองที่เอ่ยถึงนี้ไม่เป็นที่รู้จักนัก
สำหรับคนที่ยังไม่รู้จักเมืองแพรกศรีราชานี้เหมือนกัน "ตะลอนเที่ยว" จะพาไปทำความรู้จักพร้อมๆกัน โดยเมือง "แพรกศรีราชา" นี้ เป็นอีกเมืองหนึ่งที่มีชื่อปรากฏในศิลาจารึกกรุงสุโขทัย หลักที่ 1 และในเอกสารโบราณอื่นๆ แต่ต่อมาในสมัยหลังชื่อเมืองนี้เลือนหายไป แต่มีผู้สันนิษฐานว่าเมืองนี้ก็คือ เมืองสรรคบุรี ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งด้านตะวันตกของแม่น้ำน้อยในเขตจังหวัดชัยนาทนั่นเอง
และเมื่อพิจารณาจากศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมที่พบในเมืองแพรกศรีราชาแล้วก็พบว่า เมืองนี้ต้องสร้างก่อนการสร้างกรุงศรีอยุธยาและมีความเจริญในสมัยเดียวกับเมืองสุพรรณภูมิ เมืองลพบุรี เมืองสุโขทัย และเมืองอโยธยา โดยเป็นเมืองสำคัญในฐานะเมืองลูกหลวงของแคว้นสุพรรณภูมิ และเมื่อสุพรรณภูมิกับอโยธยาร่วมกันสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้น ก็ยังคงสถานะเป็นเมืองลูกหลวงอยู่
ในวันนี้เราได้มาเยี่ยมเยียนเมืองแพรกศรีราชา หรือที่ตอนนี้คือตำบลแพรกศรีราชา อำเภอสรรคบุรี ในจังหวัดชัยนาทนั่นเอง ที่แห่งนี้ยังคงหลงเหลือโบราณสถานหลายแห่งด้วยกันที่แสดงถึงความรุ่งโรจน์ในอดีตของเมืองแพรกศรีราชา
โดยจากตำแหน่งที่ตั้งของแพรกศรีราชาที่ตั้งอยู่ตรงชายแดนของสามแคว้น คือ แคว้นสุโขทัยทางเหนือ แคว้นอโยธยาหรือละโว้ทางตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ และแคว้นสุพรรณภูมิทางด้านตะวันตกและด้านใต้ จึงพบการผสมผสานของศิลปกรรมแบบลพบุรี อู่ทอง และสุโขทัย จนกลายมาเป็นศิลปกรรมในแบบของตัวเองซึ่งไม่พบในเมืองอื่น ๆ ซึ่งรู้จักกันในนาม ศิลปะอู่ทอง หรือสุพรรณภูมิ-อโยธยา อันเป็นศิลปะก่อนการสร้างกรุงศรีอยุธยานั่นเอง
เรามาเริ่มต้นกันที่ "วัดมหาธาตุ" หรือวัดมหาธาตุเมืองสรรค์ หรือที่ชาวบ้านแถบนั้นมักเรียกว่าวัดหัวเมือง หรือวัดศีรษะเมือง เป็นวัดเก่าแก่คู่เมืองสรรคบุรีมาเป็นเวลานาน โดยจากรูปแบบศิลปะทำให้มีการสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นก่อนสมัยอยุธยา แต่ได้รับการบูรณะในสมัยอยุธยา
เมื่อมาที่วัดมหาธาตุแล้วต้องไม่พลาดชมสิ่งน่าสนใจอย่างพระปรางค์ทรงมะเฟืองบนฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ซึ่งมีความเพรียวระหงคล้ายปรางค์กลีบมะเฟืองที่วัดมหาธาตุเมืองลพบุรี เป็นลักษณะศิลปะอู่ทองตอนปลาย บนองค์ปรางค์มีซุ้มจรนำทั้งสี่ทิศ ประดิษฐานพระพุทธรูปปางลีลา ทำด้วยปูนปั้น มีลักษณะแบบบางสะโอดสะอง และที่เชิงกลีบมะเฟืองขององค์ปรางค์มีเทพพนมประดับ
นอกจากนี้ก็ยังมีหมู่เจดีย์รายข้างพระวิหารที่เป็นศิลปะอู่ทองงดงาม เช่น เจดีย์แปดเหลี่ยม มีฐานซ้อนเป็นชั้นๆ มีซุ้มประดิษฐานพระยืนแปดทิศในซุ้มเรือนแก้วโค้ง ค่อยๆชมรายละเอียดเล็กๆน้อยๆของเจดีย์แต่ละองค์ก็เพลิดเพลินได้มาก
นอกจากนั้นแล้วที่วัดมหาธาตุนี้ยังมีพระอุโบสถรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า และพระเจดีย์ที่เหลือเพียงส่วนฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมสูงซ้อนกันหลายชั้น แต่ส่วนใหญ่พังทลายลงไปมากจนไม่เห็นถึงสภาพที่แท้จริง และยังมีพระวิหารซึ่งเป็นอาคารขนาดเก้าห้อง ที่ตอนนี้เหลือเพียงเสาแปดเหลี่ยมยอดบัวจงกล และผนังบางส่วนเท่านั้น
และสิ่งที่ชาวบ้านในแถบนี้ให้ความเคารพศรัทธาก็คือ "หลวงพ่อหลักเมือง" หรือหลวงพ่อหมอ พระพุทธรูปโบราณ ที่เรียกท่านว่าหลวงพ่อหลักเมืองนั้นก็เพราะเบื้องหลังของท่านมีแผ่นศิลาสองแผ่นจำหลักลายเทวรูปปักอยู่คู่กัน ชาวบ้านต่างพากันเรียกว่าหลักเมือง และจึงเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่าหลวงพ่อหลักเมืองด้วย ส่วนนามหลวงพ่อหมอนั้นก็มาจากการที่ชาวบ้านในแถบนั้นเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยก็มักจะพากันมาบนบานศาลกล่าว หรือขอน้ำมนต์ไปรักษากันตามความเชื่อถือ
ติดๆ กับวัดมหาธาตุนั้นยังมีวัดร้างที่ถือเป็นโบราณสถานอีกแห่งหนึ่ง นั่นก็คือ "วัดพระยาแพรก" ซึ่งยังคงหลงเหลือพระวิหาร และพระเจดีย์ประธานทรงกลมบนฐานแปดเหลี่ยม ประดิษฐานพระพุทธรูปให้เราได้ชมกัน
นอกจากนั้นแล้ว ไม่ไกลกันนักก็ยังเป็นที่ตั้งของ "วัดสองพี่น้อง" เป็นวัดขนาดใหญ่ที่ปัจจุบันยังหลงเหลือโบราณสถานให้เห็นแต่พระปรางค์และพระเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม ซึ่งองค์ปรางค์มีรูปทรงและลวดลายเครื่องประดับและพระพุทธรูปประจำซุ้มทิศแบบอู่ทองหรืออโยธยาอย่างแท้จริง
และวัดที่พลาดไม่ได้อีกแห่งหนึ่งก็คือ "วัดพระแก้ว" หรือวัดพระแก้วเมืองสรรค์ ที่แต่เดิมมีชื่อว่าวัดป่าแก้ว เป็นวัดของคณะสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสี ซึ่งต่อมามีคนพบพระพุทธรูปองค์เล็กขนาดเท่าปลายนิ้วมือทำด้วยแก้วจากในเจดีย์ จึงเรียกกันติดปากว่าวัดพระแก้วต่อมา
เพราะมีสิ่งที่สำคัญคือองค์สถูปเจดีย์ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของศิลปะอู่ทองที่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะแบบปาละของอินเดีย มีลักษณะเด่นคือฐานเป็นสี่เหลี่ยมสองชั้น ชั้นสามเป็นทรงแปดเหลี่ยม เหนือขึ้นไปเป็นองค์ระฆังต่อยอดด้วยเจดีย์ทรงกรวยกลม ในแต่ละชั้นจะมีซุ้มพระพุทธรูปยืนประดิษฐานอยู่ทั้ง 4 ทิศ โดยอาจารย์ น. ณ ปากน้ำ บรมครูทางด้านศิลปะไทยถึงกับยกย่องว่าสถูปวัดพระแก้วเมืองสรรคบุรีนี้เป็น "ราชินีแห่งเจดีย์" ในประเทศไทยเลยทีเดียว
นอกจากนั้นแล้วบริเวณด้านหน้าเจดีย์ยังมี "วิหารหลวงพ่อฉาย" ซึ่งเบื้องหลังองค์หลวงพ่อมีทับหลังแกะสลักด้วยหินทรายติดอยู่กับองค์พระ หินทรายนั้นสลักเป็นภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว เป็นศิลปะขอมมีอายุเป็นพันปีขึ้นไป
จากอำเภอสรรคบุรี มาที่อำเภอเมืองกันบ้าง ที่ "วัดพระบรมธาตุวรวิหาร" โบราณสถานที่สร้างก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา แล้วมาซ่อมแซมภายหลัง เพราะจากหลักฐานศิลาจารึกที่อยู่ติดกับฝาผนังวิหารด้านหลังติดกับองค์พระธาตุเจดีย์ กล่าวถึงการเฉลิมฉลองบูรณปฏิสังขรณ์วัดในสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ภายในวัดมีพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุเป็นศิลปะอู่ทอง มีลักษณะเป็นฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมลดระดับขึ้นไปต่อกับระฆังคว่ำ และทั้งสี่ด้านมีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปปางนาคปรก และยังมีเจดีย์เล็กจิ๋วประดับอยู่บนเจดีย์พระบรมธาตุคล้ายกับเจดีย์แบบศรีวิชัย ภายในองค์เจดีย์ใหญ่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองมาแต่โบราณ
ในบริเวณวัดพระบรมธาตุฯ ยังมี "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี" พิพิธภัณฑ์ที่พระชัยนาทมุนี (นวม สุทัตโต) อดีตเจ้าคณะจังหวัดชัยนาท และอดีตเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุวรวิหารได้ริเริ่มเก็บรักษารวบรวมโบราณวัตถุศิลปวัตถุจำนวนมากที่พบอยู่ในจังหวัดชัยนาทและบริเวณใกล้เคียงมาเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ของวัด และท่านได้มอบโบราณวัตถุศิลปวัตถุทั้งหมดให้เป็นสมบัติของชาติ กรมศิลปากรจึงได้สร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ขึ้นในพื้นที่ของวัด เป็นแหล่งเรียนรู้ของประชาชนต่อมาจนปัจจุบัน
ภายในพิพิธภัณฑ์ฯ นั้นมีข้าวของโบราณน่าสนใจหลายอย่าง โดยเฉพาะพระพุทธรูป ทั้งพระพิมพ์สมัยต่างๆ ตั้งแต่สมัยทวาราวดีถึงสมัยรัตนโกสินทร์ รวมไปถึงเครื่องสังคโลก เครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องประดับ ฯลฯ ตั้งแต่สมัยทวาราวดีถึงสมัยรัตนโกสินทร์
หลายคนอาจจะนึกไม่ถึงว่าจังหวัดชัยนาท จังหวัดเล็กๆที่หลายคนมองข้ามไปจะซ่อนเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อันเก่าแก่ยาวนานและมีโบราณสถานโบราณวัตถุอันทรงคุณค่ามากมาย ซึ่งหากใครอยากจะรู้จักส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทยผ่านเมืองแพรกศรีราชาให้มากขึ้นอีกนิด ก็อย่าลืมแวะเวียนกันมาที่จังหวัดชัยนาทนี้ได้
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
จังหวัดชัยนาทอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ไปประมาณ 194 กิโลเมตร การเดินทางขับไปตามทางหลวงหมายเลข 1 ไปประมาณกิโลเมตรที่ 50 จะมีทางแยกเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 32 ผ่านจังหวัดอ่างทอง สิงห์บุรี ไปประมาณกิโลเมตรที่ 183 จะมีทางแยกซ้ายมือเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 1 ไปจังหวัดชัยนาทอีก 10 กิโลเมตร