xs
xsm
sm
md
lg

โวยสร้าง ‘คอนโดกระดูกผี’-‘พระบรมธาตุ’ หมดลุ้นสู่ ‘มรดกโลก’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นครศรีธรรมราช – โวยสร้าง “คอนโดกระดูก” บริเวณพระบรมธาตุเจดีย์เมืองคอน ให้เช่าเก็บกระดูกบรรพบุรุษ วัดยังอนุญาตให้เจาะฐาน “พระด้าน” พระพุทธรูปรอบพระธาตุใส่กระดูกผี ชี้หมดลุ้นพระบรมธาตุสู่ “มรดกโลก” ปชส.วัดชี้อนุญาตเพื่อตอบแทนผู้มีอุปการะคุณ

เมื่อเวลา 09.00 น.วันนี้ (16 มิ.ย.) ที่ชมรมนักข่าวจังหวัดนครศรีธรรมราชคณะทำงานผลักดันพระบรมธาตุเจดีย์ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร สู่มรดกโลก นำโดยนายสมชาย ฝั่งชลจิต ทนายความชื่อดังและอดีตกรรมการสิทธิมนุษย์ชนภาคใต้ เปิดเผยถึงเรื่องที่มีการเจาะฐานพระพุทธรูปที่ประดิษฐานในวิหารคดรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร รวม 137 องค์ หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “พระด้าน” และนำกระดูกหรืออัฐิของผู้เสียชีวิตห่อผ้าขาวไปบรรจุไว้ในช่องฐานพระพุทธรูป ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมและส่งผลกระทบต่อเงื่อนไขในการผลักดันให้พระบรมธาตุเจดีย์เป็น “มรดกโลกทางวัฒนธรรม” เพราะถือว่าพระบรมธาตุเจดีย์เป็นมรดกอันล้ำค่าของพระพุทธศาสนา

นายสมชาย ฝั่งชลจิต กล่าวว่า พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช นั้นถือเป็นโบราณสถานโบราณวัตถุที่เก่าแก่ประวัติศาสตร์เป็นสัญลักษณ์ของพุทธศาสนาและพระพุทธเจ้าที่ชัดเจนแห่งหนึ่งของโลกและทางกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ซึ่งหากพิจารณาถึงคุณค่าและความสำคัญของพระบรมธาตุเจดีย์ถือว่ามีคุณค่ามีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อย่างแท้จริงเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนชาวพุทธทั่วโลกเหมาะสมที่จะได้รับการประกาศจากองค์การยูเนสโกให้เป็นมรดกโลก แต่เมื่อมาพิจารณาถึงระเบียบ เงื่อนไขต่างๆ แล้วความหวังมันเลือนลางริบหรี่ เพราะภายในเขตพระบรมธาตุเจดีย์มีสิ่งแปลกปลอมปะปนอยู่เยอะมาก

ด้านนอกมีร้านค้าแผงลอยกระจัดกระจายเรียงรายเต็มไปหมด ด้านในยังมีการก่อสร้างสิ่งใหม่ๆ เพิ่มเติมเข้าไปไม่น้อยเช่นกัน โดยเฉพาะการเจาะฐานพระพุทธรูปหรือพระด้านรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ 137 องค์ เพื่อนำกระดูกหรืออัฐิของคนตายไปบรรจุไว้ ซึ่งถือว่าไม่สมควรอย่างยิ่ง ชาวพุทธที่เดินทางมานมัสการพระบรมธาตุเจดีย์รวมทั้งพระพุทธรูปที่สำคัญอื่นๆ เหมือนกับมากราบไหว้บูชากระดูกของคนตายซึ่งเป็นใครก็ไม่รู้

“ที่น่าตกใจในขณะนี้มีการสร้างอาคารขนาดประมาณ 4 คูณ 4 เมตร ด้านบนสร้างพระบรมธาตุเจดีย์จำลองขึ้น 1 องค์ ในขณะที่ผนังอาคารทั้งด้านในและด้านนอกจะเจาะเป็นช่อง 4 เหลี่ยมขนาด 3 คูณ 4 นิ้ว ลึกประมาณ 4 นิ้ว เรียงรายติดๆ กันเป็นแถวนับพันรู เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนนำกระดูกของพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือมาบรรจุไว้ในช่องจากนั้นจะนำแผ่นหินอ่อนสลักชื่อคนตายมาปิดทับช่องปูน บางรายนอกจากสลักชื่อบนหินอ่อนแล้วยังนำภาพถ่ายของผู้ตายมาติดบนแผ่นหินอ่อนด้วย”

โดยทางวัดจะเก็บเงินค่าเช่าช่องปูนบรรจุกระะดูกผีช่องละ 3,000 บาท แต่เนื่องจากช่องปูนมีขนาดเล็กผู้เช่าแต่ละรายจำเป็นต้องเช่าบรรจุกระดูกอย่างน้อย 2 ช่องขึ้นไปและหลายรายที่เช่าถึง 4 ช่องและ 6 ช่อง สำหรับแผ่นหินอ่อนนั้นผู้เช่าสามารถนำมาปิดทับช่องปูนได้เอง แต่หากให้ทางวัดดำเนินการให้จะคิดแผ่นละ 1,500 บาท ซึ่งส่วนใหญ่ผู้เช่าจะให้ทางวัดดำเนินการให้ทั้งหมด

นายสมชาย กล่าวอีกว่า อาคารดังกล่าวชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า คอนโดกระดูก หรืออัฐิแมนชั่น โดยจะมีเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ 1 คน นั่งประจำเพื่อรอผู้มาติดต่อเช่าช่องบรรจุกกระดุก ภายในอาคารจะมีการนำเตียงยาวมาวางไว้ 1 ตัว เพื่อให้คนที่นั่งเฝ้าได้นอนพักผ่อน และมีตู้ไม้ 3 ชั้นเพื่อใช้วางโกฐที่เก็บกระดูกเดิมก่อนจะนำกระดูกมาบรรจุในช่องปูนวางไว้อีก 1 ตัว นอกจากนี้ตนยังทราบว่ามีการเจาะโบราณสถานโบราณวัตถุอื่นๆ ในเขตพระบรมธาตุเจดีย์เพื่อบรรจุกระดูกคนตายอีกหลายจุดเช่นกัน

“ที่ผ่านมาประชาชนในจังหวัดนครศรีธรรมราช และนักท่องเที่ยวต่างวิพากษ์วิจารณ์ถึงการหาประโยชน์ในลักษณะนี้อย่างกว้างขวางต่างเคลือบแคลงสงสัยว่าทำไม่เจ้าอาวาสและเจ้าหน้าที่ของทางราชการที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกรมศิลปากรปล่อยให้กระทำเช่นนี้ได้อย่างไร กระดูกคนตายเหล่านั้นเป็นคนสำคัญในบ้านเมืองแค่ไหน สร้างคุณประโยชน์ให้กับบ้านเมืองและประชาชนมากน้อยแค่ไหนหรือมีส่วนในการสร้างหรือซ่อมพระบรมธาตุเจดีย์แค่ไหนจึงกล้าที่นำกระดูกมาบรรจุไว้ในสถานที่เดียวกับที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ตนได้ประกาศว่าหากคนในตระกูล "ฝั่งชลจิต" นำกระดูกของพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ไปบรรจุไว้ในบริเวณพระบรมธาตุเจดีย์ตนจะทุบทิ้งทันที แต่จากการไปสำรวจดูปรากฏว่าไม่มี

ทนายความชื่อดังยังกล่าวต่อไปอีกว่า สิ่งแปลกปลอมต่างๆ ภายในบริเวณเขตพระบรมธาตุเจดีย์คือปัญหาและอุปสรรคอย่างมากที่ทำให้การพิจารณาขึ้นทะเบียนพระบรมธาตุเจดีย์เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม อย่างไรก็ตามแม้ความหวังจะริบหรี่จนดูเหมือนจะหมดโอกาสแต่คณะทำงานผลักดันพระบรมธาตุเจดีย์สู่มรดกโลกก็จะพยายามทุกวิถีทางที่จะผลักดันพระบรมธาตุเจดีย์วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารสู่มรดกโลกทางวัฒนธรรมต่อไป อย่างน้อยเป็นการเริ่มต้นจุดประกายให้กับชาวพุทธรุ่นหลังได้สืบสานในเรื่องนี้ให้สำเร็จในโอกาสต่อไป

“อยากจะวิงวอนขอร้องให้ทุกคนที่นำกระดุกพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ไปบรรจุไว้ในบริเวณเขตพระบรมธาตุเจดีย์กรุณาไปเอากระดูกออกไปเก็บไว้ที่อื่นที่เหมาะสม ขอให้เห็นแก่พระบรมธาตุเจดีย์ และภาพรวมของบ้านเมืองด้วยเถิด หากเชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษ เชื่อว่าการกระทำอย่างนี้น่าจะสร้างบาปมากกว่าได้สร้างบุญ และขอให้คิดให้ดีว่าพระบรมธาตุเจดีย์ซึ่งประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุขององค์สัมมาสัมมาพุทธเจ้าพระศาสดาแห่งพุทธศาสนาไม่ใช่แค่เจดีย์หรือบัวบรรจุกระดูกที่เห็นกันตามป่าช้าของวัดต่างๆ โดยตนพร้อมด้วยคณะทำงานเพื่อผลักดันพระบรมธาตุเจดีย์สู่ มรดกโลกจะทำหนังสือถึงหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องทั้งระดับรัฐบาลและหน่วยงานส่วนกลางรวมทั้งหน่วยงานในพื้นที่ให้ลงมาดูแลแก้ไขในเรื่องเหล่านี้อย่างเร่งด่วน” นายสมชาย กล่าวในที่สุด

ในขณะที่ นายเฉลิม จิตรามาศ ประชาสัมพันธ์วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร กล่าวว่า ตนเห็นด้วยที่จะมีการผลักดันให้พระบรมธาตุเจดีย์ได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม แต่ปัญหาในเรื่องสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ปะปนอยู่มากมาย โดยเฉพาะการนำเอากระดูกหรืออัฐิของคนตายมาไว้ใต้ฐานพระพุทธรูปหรือในสถูปเจดีย์ที่รายล้อมองค์พระบรมธาตุนั้นมีมานานแล้ว และมีมาก่อนที่กรมศิลปกรจะประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณเสียอีก ทั้งนี้ในสมัยนั้นอาจจะเป็นเพราะในสมัยก่อนวัดขาดงบประมาณในการบำรุงรักษา บูรณปฏิสังขรณ์ ทางรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้จัดสรรงบประมาณให้เหมือนในปัจจุบัน การดูแลรักษาหรือบูรณปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุเจดีย์และโบราณสถานที่เกี่ยวข้องต้องอาศัยประชาชนที่มีจิตศรัทธาบริจาคเงินช่วยเหลือ

“เพื่อเป็นการตอบแทนผู้ที่บริจาคทรัพย์สินเงินทองในการบูรณปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุเจดีย์ ทางวัดจึงอนุญาตให้ผู้ที่บริจาคทรัพย์สินเงินทองนำกระดูกหรืออัฐิของพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือมาบรรจุไว้ใต้ฐานพระพุทธรูป หรืออาจจะสร้างเป็นสถูปเจดีย์สำหรับบรรจุกระดุกหรืออัฐิเป็นการเฉพาะ”

ประชาสัมพันธ์วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร กล่าวอีกว่า จนกระทั้งในปัจจุบันทางรัฐบาลโดยกรมศิลปากรได้เข้ามาดูแลและมีงบประมาณในการซ่อมแซมบูรณปฏิสังขรณ์ ทางวัดจึงคิดที่จะให้นำกระดูกทั้งหมดออกมาจากใต้ฐานพระพุทธรูป จากสถูปเจดีย์มารวบรวมไว้ในจุดเดียวกัน ในสมัยพระธรรมรัตนโนภาส เจ้าอาวาสรูปก่อนจึงให้มีการสร้างอาคารขึ้น 1 หลังด้านบนอาคารมีพระบรมธาตุเจดีย์จำลองอยู่ด้วย ซึ่งก็คืออาคารที่ชาวบ้านรียกว่า “คอนโดกระดูก หรืออัฐิแมนชั่น“ นั่นเอง โดยผนังอาคารคอนโดกระดูกจะเจาะเป็นช่องเล็กๆ ให้สามารถนำห่อกระดูกยัดใส่เข้าไปได้ก่อนจะปิดทับด้วยแผ่นหินอ่อนสลักชื่อและรูป แต่มีปัญหาในเรื่องการแจ้งญาติๆ เจ้าของกระดูกให้ทราบเพื่อนำกระดูกออกจากจุดเดิมมาบรรจุรวมกันในอาคารที่สร้างขึ้น

และสามารถย้ายกระดูกบางส่าวนมาเก็บไว้ตามช่องทั้งภายในและภายนอกอาคาร แต่เวลาผ่านมานับ 10 ปีแล้วทางวัดยังติดต่อญาติเจ้าของกระดูกได้ไม่หมด จึงยังมีกระดูกที่อยู่ใต้ฐานพระพุทธรูปและในสถูปเจดีย์อีกจำนวนหนึ่ง โดยทางวัดพยายามที่จะติดต่อญาติๆ เจ้าของกระดุกอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องยอมรับว่าติดต่อได้ยากมากเพราะเวลาผ่านมานานหลายสิบปีหรืออาจจะเป็น 100 ปีมาแล้วอย่างไรก็ตามในส่วนของคณะกรรมการวัดจะได้หารือเพื่อแก้ไขปัญหานี้ในเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แหล่งมรดกโลกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ มรดกทางวัฒนธรรม(Cultural Heritage) และมรดกทางธรรมชาติ (NaturalHeritage) ซึ่งในอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกได้ให้คำนิยามไว้ว่า มรดกทางวัฒนธรรม หมายถึง สถานที่ซึงเป็นโบราณสถานไม่ว่าจะเป็นงานด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรมหรือแหล่งโบราณคดีทางธรรมชาติ เช่น ถ้ำหรือกลุ่มสถานที่ก่อสร้างยกหรือเชื่อมต่อกันอันมีความเป็นเอกลักษณ์ หรือแหล่งสถานที่สำคัญอันอาจเป็นผลงานฝีมือมนุษย์ หรือเป็นผลงานร่วมกันระหว่างธรรมชาติกับมนุษย์ รวมทั้งพื้นที่ที่เป็นแหล่งโบราณคดี ซึ่งสถานที่เหล่านี้มีคุณค่าความล้ำเลิศทางประวัติศาสตร์ ศิลปมนุษย์วิทยา หรือวิทยาศาสตร์

ข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้เป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมมาตรา 1 แห่งอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ได้นิยามความหมายของมรดกทางวัฒนธรรมตามวัตถุประสงค์ของอนุสัญญาฯไว้ ดังนี้

ก.อนุสรณ์สถาน (Monumentes) หมายถึง ผลงานทางสถาปัตยกรรม ผลงานประติมากรรมหรือจิตรกรรมติดที่ ส่วนประกอบหรือโครงสร้างของหลักฐานทางโบราณคดี จารึก ถ้ำที่อยู่อาศัยและร่องรอยหลากหลายผสมรวมกัน ซึ่งมีคุณค่าและความสำคัญโดดเด่นทางประวัติศาสตร์ ศิลปะหรือวิทยาศาสตร์

ข.กลุ่มอาคาร (Groups of Buildings) หมายถึง กลุ่มของอาคารที่เชื่อมต่อกันหรือแยกจากกันเพราะลักษณะของสถาปัตยกรรม หรือลักษณะที่เหมือนกัน หรือการจัดวางด้านภูมิทัศน์ ซึ่งมีคุณค่าโดดเด่นทางประวัติศาสตร์ ศิลปะหรือวิทยาศาสตร์

ค.แหล่ง (Sites) หมายถึง ผลงานการกระทำของมนุษย์หรือผลงานผสมผสานของธรรมชาติและมนุษย์ และบริเวณที่รวมถึงแหล่งโบราณคดี ซึ่งมีคุณค่าโดดเด่นทางประวัติศาสตร์ สุนทรียศาสตร์ ชาติพันธุ์วิทยาหรือมานุษยวิทยามรดกทางวัฒนธรรมที่มีคุณสมบัติตามนิยามในมาตรา 1 จะได้รับการพิจารณาให้อยู่ในบัญชีรายชื่อแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมได้

คอนโดกระดูก
กำลังโหลดความคิดเห็น