xs
xsm
sm
md
lg

"จารึกวัดโพธิ์" ภูมิปัญญาไทยน่าทึ่ง มรดกความทรงจำแห่งโลกสิ่งใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : หนุ่มลูกทุ่ง

ฉันเคยมาเยือน "วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม" หรือ "วัดโพธิ์" ก็หลายครั้ง ทั้งมากราบไหว้พระพุทธเทวปฏิมากรณ์ พระประธานในพระอุโบสถ มากราบไหว้พระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่งดงาม มาเดินนับเจดีย์ภายในวัดโพธิ์ที่มีอยู่มากมายถึง 99 องค์ รวมไปถึงมาชมศิลปกรรมอันงดงามหลายอย่างในวัดแห่งนี้

แต่ในวันนี้ที่ฉันกลับมาเยือนวัดโพธิ์อีกครั้งหนึ่ง ก็เนื่องมาจากว่า เมื่อเร็วๆนี้ ทางองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational Scientific and Cultural Organization) หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ได้มีมติรับรองให้ "จารึกวัดโพธิ์" ขึ้นทะเบียนเป็นเอกสารมรดกความทรงจำแห่งโลกในส่วนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หลังจากที่ได้มีการเสนอต่อคณะกรรมการไปเมื่อปลายปีที่แล้ว

ก่อนอื่นฉันขอขยายความคำว่า "มรดกความทรงจำแห่งโลก" (Memory of the World) ให้เข้าใจกันเสียก่อนว่า มันคือมรดกเอกสารที่บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร (Documentary Heritage) ที่เกี่ยวกับมรดกวัฒนธรรมแห่งโลก แสดงให้เห็นวิวัฒนาการของความคิด การค้นพบ และผลงานของสังคมมนุษย์ เป็นมรดกตกทอดจากสังคมในอดีต ให้แก่สังคมปัจจุบัน ที่จะสืบสานส่งต่อให้แก่สังคมในอนาคต

มรดกความทรงจำแห่งโลกนี้จะต่างจากมรดกโลก (World Heritage) ที่เรารู้จักกันดี ตรงที่มรดกโลกนั้นจะเป็นสถานที่ที่เป็นแหล่งธรรมชาติหรือแหล่งทางวัฒนธรรม แต่มรดกความทรงจำแห่งโลกนั้นจะต้องเป็นมรดกทางเอกสาร หรือข้อมูลความรู้ที่บันทึกไว้ หรือประกาศถ่ายทอดออกมา แต่ทั้งมรดกความทรงจำแห่งโลกและมรดกโลกนั้น ต่างก็เป็นงานของยูเนสโกเหมือนกัน โดยมรดกความทรงจำแห่งโลกของประเทศไทยที่ขึ้นทะเบียนไปก่อนหน้านี้หลายปีแล้วก็คือศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงนั่นเอง

คราวนี้เรามาดูกันดีกว่าว่า จารึกวัดโพธิ์นี้มีดีอะไร ถึงได้รับการรับรองให้ขึ้นทะเบียนมรดกความทรงจำแห่งโลก

วัดโพธิ์เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่มาได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์จนกลายเป็นวัดสำคัญก็ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ในแผ่นดินรัตนโกสินทร์ แต่ในส่วนของจารึกวัดโพธิ์นั้น ถูกสร้างขึ้นในการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่อีกครั้งในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้วัดโพธิ์เป็นแหล่งความรู้ของมหาชนโดยไม่เลือกชนชั้น เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีหนังสือ ไม่มีโรงเรียน การเล่าเรียนส่วนใหญ่จะมีสอนให้อยู่ตามวัดต่างๆ หรือตามบ้านผู้ดีมีสกุลเท่านั้น

ดังนั้น พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมและเลือกสรรตำรับตำราวิชาความรู้ต่างๆ มาจารึกไว้บนแเผ่นศิลา และประดับไว้ในบริเวณวัดโพธิ์แห่งนี้ ทำให้คนทุกชนชั้นสามารถมาหาความรู้จากวัดโพธิ์ได้ทั่วถึงกัน เพราะใครก็ตามก็สามารถเข้ามายังวัดได้ วัดโพธิ์จึงได้รับการขนานนามว่าเป็น "มหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกของไทย"

จารึกวัดโพธิ์เหล่านี้ เมื่อแบ่งประเภทออกแล้วก็นับได้ถึงหลายหมวดด้วยกัน ซึ่งก็ได้แก่ หมวดการสร้างและปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน ที่มีจารึกเรื่องทรงสร้างวัดพระเชตุพนครั้งรัชกาลที่ 1 เรื่องประวัติของพระพุทธเทวปฏิมากร พระพุทธโลกนาถ โคลงดั้นเรื่องปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน เป็นต้น หมวดพระพุทธศาสนา เป็นจารึกเรื่องพระสาวกเอตทัคคะ 41 องค์ ติดไว้ที่เชิงผนังหน้าต่างระหว่างพระอุโบสถ เนื้อหาอธิบายถึงประวัติของพระเถระแต่ละรูป เหตุที่ออกบวช และคุณสมบัติพิเศษของพระเถระแต่ละองค์ เช่น พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ ฯลฯ จารึกเรื่องพระสาวิกาเอตทัคคะ 13 องค์ ที่อยู่เชิงผนังหน้าต่างพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ จารึกเรื่องเวสสันดรชาดก เป็นต้น

หมวดวรรณคดี ก็เช่นจารึกโคลงภาพเรื่องรามเกียรติ์ ที่เป็นแผ่นหินอ่อนอยู่รอบพระอุโบสถ จารึกนิทาน 12 เหลี่ยม ที่จารึกไว้ที่คอสอง เฉลียงศาลาล้อมพระมณฑปทิศตะวันตก (ปัจจุบันศาลานี้เป็นพิพิธภัณฑ์เก็บของมีค่าของวัด) ตำราฉันท์วรรณพฤติ เพลงยาวกลบทและกลอักษร โคลงกลบท ติดอยู่ตามพระระเบียงของพระอุโบสถ หมวดทำเนียบ เช่น จารึกทำเนียบตราตำแหน่งสมณศักดิ์ ทำเนียบหัวเมืองและผู้ครองเมือง โคลงภาพคนต่างภาษา จารึกอยู่ตามผนังเฉลียงสกัดศาลารายรอบวัด เพื่ออธิบาย ลักษณะ อุปนิสัย บ้านเมืองชาวต่างประเทศที่ชาวสยามคุ้นเคย

หมวดประเพณี เช่นเรื่องรามัญหุงข้าวทิพย์ จารึกเรื่องมหาสงกรานต์ จารึกริ้วกระบวนแห่พระกฐินพยุหยาตราทางสถลมารค หมวดสุภาษิต ฉันท์กฤษณาสอนน้อง จารึกอยู่ที่ผนังด้านในศาลาหน้าพระมหาเจดีย์หลังเหนือ ฉันท์พาลีสอนน้อง จารึกอยู่ที่ผนังด้านในศาลาหน้าพระมหาเจดีย์ทิศใต้ โคลงโลกนิติ มีจำนวน 420 บทด้วยกัน จารึกไว้ที่ผนังด้านนอกศาลาทิศพระมณฑป หมวดอนามัย ตำรายา และโคลงภาพฤาษีดัดตน เป็นท่าดัดตนทั้ง 80 ท่าที่จะแก้การ ปวดเมื่อยของอวัยวะต่างๆ

สำหรับจารึกเหล่านี้ บางชิ้นตัวอักษรก็ลบเลือนไปมาก บางอันก็ยังพออ่านเห็น บางอันก็อ่านได้ชัดเจน จารึกที่ฉันแนะนำว่าไม่ควรพลาดชมก็เช่น จารึกเรื่องทรงสร้างวัดพระเชตุพน ในรัชกาลที่ 3 ซึ่งติดอยู่ที่มุมหลังพระวิหารทิศตะวันออก เป็นเรื่องราวในการปฏิสังขรณ์วัดโพธิ์ครั้งใหญ่ในรัชกาลที่ 3 จารึกเพลงยาวกลบทและกลอักษรก็น่าสนใจสำหรับคนที่ชอบโคลงกลอน เพราะจะได้เห็นรูปแบบโคลงแปลกๆ ที่เหมือนกับการถอดรหัส คล้ายปริศนาอักษรไขว้ เป็นรูปแบบหนึ่งของการแต่งโคลงสี่รูปแบบพิเศษที่ซ่อนคำไว้ในรูปแบบต่างๆ โดยคนอ่านจะต้องคิดเอาคำเหล่านี้ที่คนแต่งแต่งไว้มาหาวิธีเรียงร้อยคำเหล่านั้นให้อ่านออกมาเป็นโคลงสี่สุภาพที่ได้สัมผัสคล้องจอง หรือจะเป็นโคลงฤาษีดัดตนที่ผนังศาลารายรอบวัด ก็สามารถนำไปลองทำเพื่อแก้อาการปวดเมื่อยด้วยตนเองก็ได้เช่นกัน

แต่หากใครอยากจะอ่านเนื้อความจากจารึกเหล่านี้แบบครบถ้วน ฉันขอแนะนำหนังสือ "ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน" ที่ศาสตราจารย์ ด็อกเตอร์นิยะดา เหล่าสุนทร เป็นผู้เขียนรวบรวมมาไว้ให้อ่านกันแบบง่ายๆ แต่หนังสือเล่มนี้ออกจะเล่มโตและหนักนิดหนึ่ง แต่เนื้อหาอัดแน่นน่าสนใจมากๆ ใครสนใจก็ไปหามาอ่านกันได้

หลังจากที่จารึกวัดโพธิ์ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกแล้ว ฉันก็เชื่อว่าคงจะมีหลายๆ คนให้ความสนใจ และทำให้จารึกเป็นที่รู้จักกันในวงกว้างมากขึ้น ไม่ใช่แค่คนไทยอย่างเดียว แต่รวมไปถึงชาวต่างชาติที่มีความสนใจในสิ่งดีๆ ที่เรามีอยู่ ซึ่งก็ถือเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยอีกอย่างหนึ่ง ที่โลกยอมรับว่ามีคุณค่า ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ให้คงอยู่ตลอดไป

และในวันที่ 31 มีนาคมที่จะถึงนี้ ก็จะมีพิธีมอบประกาศนียบัตรมรดกความทรงจำแห่งโลกให้แก่ทางวัดโพธิ์ และวันที่ 31 มีนาคม ก็ยังเป็นวันสำคัญคือเป็นวันเสด็จพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ผู้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ทำจารึกเหล่านี้ขึ้น จึงเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้ไปรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ อีกทั้งยังจะได้ชมจารึกวัดโพธิ์อันทรงคุณค่าเหล่านี้ด้วย

*    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    * 

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ ตั้งอยู่ริมถนนสนามไชยและถนนมหาราช ติดกับพระบรมมหาราชวัง เปิดให้เข้าชมทุกวัน ระหว่างเวลา 08.00-17.00 น. ชมฟรีสำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทย ส่วนชาวต่างชาติจะต้องซื้อบัตรเข้าชมคนละ 20 บาท สำหรับนักท่องเที่ยวต้องแต่งกายสุภาพ สุภาพสตรีห้ามสวมกางเกงขาสั้นเหนือเข่าเข้าไปเที่ยวชม

หากเดินทางโดยรถประจำทาง มีรถผ่าน สาย 1, 3, 6, 9, 12, 25, 32, 43, 44, 47, 48, 53, 60, 82, 91, 123 รถปรับอากาศ สาย ปอ.6, 7, 8, 9, 12, 25, 44, 91


อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

'กลอนวัดโพธิ์' ขุมทรัพย์ทางภาษา มรดกทางปัญญาแห่งสยามประเทศ
ดูของดี ที่ “วัดโพธิ์”

เที่ยว“วัดโพธิ์” สัมผัสวัดเก่า ในมุมมองใหม่
เที่ยว“ท่าเตียน”ชุมชนเก่าแก่คู่วัดโพธิ์
 
กำลังโหลดความคิดเห็น