xs
xsm
sm
md
lg

ยูเนสโกขึ้นทะเบียน ‘จารึกวัดโพธิ์’ ‘มรดกความทรงจำของโลก’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต ประธานคณะกรรมการแห่ง ชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลก เปิดเผย ว่า คณะกรรมการองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization) หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ซึ่งจัดการประชุมใหญ่ยูเนสโก ที่ประเทศออสเตรเลีย เมื่อเร็วๆนี้มีมติรับรองศิลาจารึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) ขึ้นทะเบียนเป็นเอกสารมรดกความทรงจำของโลกในส่วนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตามที่คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความ ทรงจำแห่งโลก ประเทศไทย เสนอเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ยูเนสโก เนื่องจากยูเนสโกวิเคราะห์แล้วเห็นว่า ศิลาจารึกวัดโพธิ์ไม่ได้ให้ผลกระทบต่อหลายประเทศในโลก แต่มีความสำคัญควรได้รับการขึ้นทะเบียนระดับภูมิภาค

“จากการที่ศิลาจารึกวัดโพธิ์ได้รับการประกาศยกย่องเป็นเอกสารมรดกความทรงจำของโลกส่วนภูมิภาค ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ที่โปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมองค์ความรู้และสรรพวิทยาการต่างๆ ของไทยนำมาจารึกไว้ในศิลาจารึกและประดิษฐานไว้ที่วัดโพธิ์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการศึกษาของ ไทยในสมัยนั้น ถือเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทยและเป็นที่ชุมนุมนักปราญ์แลกเปลี่ยนความรู้จนถึงทุกวันนี้” คุณหญิงแม้นมาส กล่าว

โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ถวายประกาศนียบัตรมรดกความทรงจำแห่งโลกให้แก่พระธรรมปัญญาบดี เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนฯเมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ๕๑ ซึ่งเป็นวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓

ทั้งนี้ แผนงานของยูเนสโกว่าด้วยความทรงจำแห่งโลก (Memory of the World Program) เป็นแผนงานที่องค์การ ยูเนสโก กำหนดให้มีขึ้นเมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๕ โดยการเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านสารนิเทศจากองค์กรภาครัฐ และภาคเอกชนจากทั่วโลก มาประชุมหารือร่วมกัน แผนงานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์และการเผยแพร่มรดกภูมิปัญญาของโลก ที่บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ไม่ว่าจะเป็นการบันทึกไว้ในรูปแบบใดๆ และไม่ว่าจะผลิตในประเทศใด ถือว่าเป็นแหล่งรวมความคิด ความรู้ ประสบการณ์ ที่สามารถ สะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายทั้งในด้านของวัฒนธรรม และความคิดริเริ่มของมนุษยชาติ

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เดิมชื่อวัดโพธาราม หรือที่ชาวบ้านเรียกสั้นๆว่า ‘วัดโพธิ์’ เป็นวัดโบราณที่สันนิษฐานว่าสร้างมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

มีหลักฐานปรากฏในศิลาจารึกวัดโพธิ์ว่า หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนาพระบรมมหาราชวังแล้ว ทรงพระราชดำริว่า มีวัดเก่าขนาบพระบรมมหาราชวัง ๒ วัด ด้านเหนือคือ วัดสลัก (วัดมหาธาตุฯ) ส่วนด้านใต้คือ วัดโพธาราม จึงโปรดฯ ให้ขุนนางเจ้าทรงกรม ช่างสิบหมู่อำนวยการบูรณะปฏิสังขรณ์ เพื่อสถาปนาให้เป็นวัดหลวง โดยเริ่มเมื่อปี พ.ศ.๒๓๓๑ ใช้เวลา ๗ ปี ๕ เดือน ๒๘ วัน จึงแล้วเสร็จ และโปรดฯ ให้มีการฉลองเมื่อ พ.ศ.๒๓๔๔ พระราชทานนามใหม่ว่า ‘วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาศ’ (ต่อมารัชกาลที่ ๔ โปรดฯ ให้เปลี่ยน เป็น ‘วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม’)

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โปรดให้บูรณะและปฏิสังขรณ์เป็นการใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งถือเป็นครั้งสำคัญโดยทรงมีพระราชประสงค์ ให้ พระอารามแห่งนี้เป็นสถานที่เผยแพร่สรรพวิทยาการต่างๆ สู่ปวงชน ให้คนไทยทุกคนมีโอกาสเรียนรู้สรรพวิชาตามความสนใจ โดยเล็งเห็นว่าการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ และวัดเป็นสถานที่ที่ทุกคนสามารถเข้าไปเรียนรู้ได้ และการศึกษาในสมัยโบราณนั้นก็เริ่มต้นที่วัด ดังนั้นจึงโปรดให้จารึกสรรพวิชาความรู้ ซึ่งรวบรวมเป็นหมวดหมู่จารึกลงบนแผ่นศิลาประดับไว้ทั่วเขตพุทธาวาส

ดังที่ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวไว้ในคำนำหนังสือ ‘ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน’ ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ พ.ศ.๒๔๖๒ ว่า

“...ในการที่ทรงปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ มีพระราชประสงค์พิเศษอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งจะให้เป็นแหล่งเล่าเรียนวิชาความรู้ของมหาชนไม่เลือกชั้นบรรดาศักดิ์ ถ้าจะเรียกอย่างทุกวันนี้ ก็คือจะให้เป็นมหาวิทยาลัย เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีการพิมพ์หนังสือไทย การเล่าเรียนส่วนสามัญศึกษาที่มี เรียนอยู่ตามวัดทั่วไป แต่ส่วนวิสามัญศึกษาอันจะเป็นวิชาอาชีพของคนทั้งหลาย ยังศึกษาได้แต่ในสกุล ผู้อยู่นอกสกุลโดยเฉพาะที่เป็นพลเมืองสามัญไม่มีโอกาสที่จะเรียนได้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมเลือกสรรตำรับตำราต่างๆ ซึ่งสมควรจะ เล่าเรียนเป็นชั้นสามัญศึกษามาตรวจตราแก้ไข ใช้ของเดิมบ้าง หรือประชุมผู้รู้หลักในวิชานั้นๆโดยมาก เพื่อคนทั้งหลายไม่ เลือกว่าตระกูลชั้นใดๆ ใครมีใจรักวิชาอย่างใด ก็ให้สามารถ เล่าเรียนได้จากศิลาจารึกที่วัดพระเชตุพนฯ จึงมีหลายอย่าง ทั้งเป็นความรู้ส่วนวรรณคดี โบราณคดี และ ศัสตราคมต่างๆ เป็นอันมาก และได้เป็นประโยชน์แก่ผู้ศึกษา...”

จารึกในวัดโพธิ์จากหนังสือ ‘ประชุมจารึกพระเชตุพน’ (คณะสงฆ์วัดพระเชตุพนจัดพิมพ์เป็นที่ระลึกสมโภชหิรัญบัฏและฉลองอายุวัฒนมงคล ๘๕ ปี พระธรรมปัญญาบดี พ.ศ.๒๕๔๔) แบ่งออกเป็นหมวด ดังนี้ หมวดประวัติ ได้แก่ จารึกเรื่องทรงสร้างวัดพระเชตุพน ครั้งรัชกาลที่ ๑, จารึกครั้งรัชกาลที่ ๑ จดหมายเหตุเรื่องว่าด้วยพระบรมธาตุมาแต่ เมืองน่าน, การปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนถอดจากโคลงดั้นฯ, พระพุทธเทวปฏิมากร, พระพุทธโลกนาถ, พระพุทธมารวิชัย, พระพุทธชินราช, พระพุทธชินศรี, พระพุทธปาลิไลย, พระพุทธศาสดา, พระพุทธไสยาสน์, รายการแบ่งด้าน ปฏิสังขรณ์ ถอดจากโคลงดั้น, โคลงดั้นเรื่องปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน(พระนิพนธ์สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส) และโคลงบอกด้านการปฏิสังขรณ์ หมวดพระพุทธศาสนา ได้แก่ จารึกเรื่องพระสาวกเอตทัคคะ ๔๑ องค์, จารึกเรื่องพระสาวิกาเอตทัคคะ ๑๓ องค์, จารึกเรื่องอุบาสกเอตทัคคะ ๑๐ คน, จารึกเรื่องอุบาสิกาเอตทัคคะ ๑๐ คน, จารึกเรื่องอสุภ ๑๐ และญาณ ๑๐, จารึกเรื่องฎีกาพาหุง ๘ บท, จารึกเรื่องพระพุทธบาท, จารึกเรื่องธุดงค์ ๑๓, จารึกเรื่องพาหิรนิทาน, จารึกเรื่องอรรถกถาชาดก, จารึกเรื่องศาลารายหลังที่ ๑, จารึกเรื่องศาลารายหลังที่ ๒, จารึกเรื่องศาลารายหลังที่ ๓, จารึกเรื่องศาลารายหลังที่ ๔, จารึกเรื่องศาลารายหลังที่ ๑๐, จารึกเรื่องศาลารายหลังที่ ๑๒, จารึกเรื่องศาลารายหลังที่ ๑๓, จารึกเรื่องศาลารายหลังที่ ๑๖, จารึกเรื่องศาลาการเปรียญ, จารึกเรื่องเวสสันดรชาดก, จารึกเรื่องมหาวงษ์, จารึกเรื่องนิรยกถา และจารึกเรื่องเปรตกถา หมวดวรรณคดี ได้แก่ จารึกเรื่องรามเกียรติ์, จารึกนิทานสิบสองเหลี่ยม, จารึกตำราฉันท์วรรณพฤติ, จารึกตำราฉันท์มาตราพฤติ, จารึกเพลงยาวกลบทและกลอักษร, จารึกโคลงกลบท และจารึกโคลงภาพเรื่องรามเกียรติ์ หมวดทำเนียบ ได้แก่ จารึกทำเนียบตราตำแหน่งสมณศักดิ์, จารึกทำเนียบหัวเมือง และผู้ครองเมือง และจารึกโคลงภาพต่างคนต่างภาษา หมวดประเพณี จารึกเรื่องรามัญหุงข้าวทิพย์, จารึกเรื่องมหาสงกรานต์ และจารึกริ้วขบวนแห่พระกฐินพยุหยาตราทางสถลมารค หมวดสุภาษิต ได้แก่ จารึกฉันท์กฤษณาสอนน้อง, จารึกฉันท์พาลีสอนน้อง, จารึกสุภาษิตพระร่วง, จารึกฉันท์อัษฎาพานร และจารึกโคลงโลกนิติ หมวดอนามัย ได้แก่ จารึกโคลงภาพฤาษีดัดตน และอาธิไท้โพธิบาท

การบูรณะปฏิสังขรณ์วัดโพธิ์ครั้งใหญ่นี้ ใช้เวลาถึง ๑๖ ปี ๗ เดือน จึงแล้วเสร็จ ในรัชกาลต่อมาๆจนถึงรัชกาลปัจจุบันก็ได้โปรดให้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์เรื่อยมา ถือเป็นวัดที่มีความสำคัญมาตลอดทุกรัชกาลในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๑ ปัจจุบันมีพระธรรมปัญญาบดี (ถาวร ติสฺสานุกโร เจริญพานิช ป.ธ.๔) เป็นเจ้าอาวาส


มรดกโลก-มรดกความทรงจำโลก ต่างกันอย่างไร

“มรดกโลก” (World Heritage) เป็นมรดกที่ประกอบไปด้วยแหล่ง (sites) หรือสถานที่ ทั้งที่เป็น “แหล่งธรรมชาติ” หรือ “แหล่งทางวัฒนธรรม” ที่มนุษย์สรรค์สร้างขึ้น เช่น อนุสรณ์สถาน เมือง ฯลฯ แต่ต้องเป็นแหล่งที่มีคุณค่าเป็นเอก เป็นสากล สมควรที่ทั่วโลก จะช่วยกันปกป้องรักษาไว้ ให้อนุชนรุ่นหลังได้รู้จักชื่นชมสืบไป ทั้งนี้ยูเนสโกได้ประกาศอนุสัญญาว่าด้วยมรดกโลกขึ้น โดยประเทศที่ร่วมเป็นภาคี ตกลงร่วมกันที่จะดำเนินการตามนัยของอนุสัญญา เพื่ออนุรักษ์ และดำเนินการเกี่ยวกับมรดกโลก

ประเทศไทยมีแหล่งธรรมชาติ ที่ขึ้นทะเบียนมรดกโลกแล้ว ๒ แห่ง คือ ห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร และเขาใหญ่-ดงพญาเย็น ส่วนมรดกวัฒนธรรมมี 3 แห่ง คือ สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร, อยุธยากับเมืองบริวาร และบ้านเชียง

ส่วน “มรดกความทรงจำโลก” (Memory of the World) คือ มรดกเอกสารที่บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร (Documentary Heritage) เกี่ยวกับมรดกวัฒนธรรมแห่ง โลก แสดงให้เห็นวิวัฒนาการของความคิด การค้นพบ และผลงานของสังคมมนุษย์ เป็นมรดกตกทอดจากสังคมในอดีตให้แก่สังคมปัจจุบัน ที่จะสืบสานส่งต่อให้แก่สังคมในอนาคต

โดยเอกสารมรดกของชาติที่เป็น ‘มรดกความทรงจำของโลกชิ้นแรกของไทย’ คือ ‘ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงหลักที่ ๑’ ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์สำคัญ ที่บันทึก และประกาศข้อมูลข่าวสารสาธารณะ และนโยบายของรัฐโบราณ ให้สาธารณชนรับทราบ และมีผลต่อ ประวัติของโลกนอกพรมแดนวัฒนธรรมของไทย ทำให้เข้าใจความสำคัญของการปกครอง การค้าขาย การติดต่อแลกเปลี่ยนกับชาติต่างๆ ในช่วงเวลาของยุคสุโขทัย มีความ สมบูรณ์ในตัวเอง นับเป็นเอกสารสาธารณะที่หายากยิ่ง ซึ่งยูเนสโกได้ประกาศขึ้นทะเบียนไว้เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๖ ต่อมาคือ ‘จารึกวัดโพธิ์’ ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนในปี ๒๕๕๑

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 89 เม.ย. 51 โดย เก้า มกรา)




กำลังโหลดความคิดเห็น