xs
xsm
sm
md
lg

ไหว้หลวงพ่อโตรับวันมาฆะ ที่ "วัดอินทรวิหาร"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย หนุ่มลูกทุ่ง

เพิ่งผ่านพ้นวันแห่งความรักของฝรั่งมาได้อาทิตย์เดียว มาวันนี้ก็ใกล้วันแห่งความรักของชาวพุทธ หรือ "วันมาฆบูชา" กันแล้ว (21 กุมภาพันธ์) ฉันจึงอยากจะชวนพ่อแม่พี่น้องไปทำบุญไหว้พระกันเช่นเคย และไม่พลาดที่จะหาสถานที่ทำบุญซึ่งเป็นวัดที่มีความน่าสนใจมาฝากกันด้วย โดยคราวนี้จะชวนไปที่ "วัดอินทรวิหาร" ในย่านบางขุนพรหม

วัดแห่งนี้เป็นวัดโบราณสร้างขึ้นสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย แต่ดั้งแต่เดิมชาวบ้านเรียกชื่อวัดกันว่า "วัดไร่พริก" เพราะสร้างอยู่ในบริเวณสวนผักของชาวจีน และต่อมาก็เปลี่ยนมาเรียกเป็น "วัดอินทาราม" ตามนามของเจ้าอินทวงศ์ โอรสของเจ้าผู้ครองนครศรีสัตนาคนหุต ผู้ซึ่งมาพำนักตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณใกล้ๆ วัด และเป็นผู้ปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ขึ้นใหม่อีกด้วย

ส่วนชื่อวัดในปัจจุบัน หรือ "วัดอินทรวิหาร" นั้น ได้ถูกเปลี่ยนมาใช้ก็ในสมัยรัชกาลที่ 6 เพราะพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้วัดอินทาราม (บางขุนพรหม) ซึ่งมีชื่อไปพ้องกับวัดอินทาราม (บางยี่เรือ) เปลี่ยนชื่อวัดเสียเป็น "วัดอินทรวิหาร" โดยมีสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น) แห่งวัดบวรนิเวศวิหารเป็นผู้ตั้งชื่อวัดเสียใหม่ และใช้ชื่อนี้มาตลอดจนปัจจุบัน

วัดอินทรวิหารนี้มีความสำคัญอย่างหนึ่งตรงที่ว่า เป็นวัดที่ "สมเด็จพระพุฒาจารย์" (โต พรหมรังสี) ปูชนียบุคคลของพระพุทธศาสนาไทย และเป็นผู้นำพระคาถาชินบัญชรซึ่งเป็นพระคาถาเก่าแก่มาปรับปรุงแก้ไขจนกลายเป็นบทสวดมนต์หนึ่งที่พุทธศาสนิกชนไทยนิยมสวดกัน ได้มาบรรพชาเป็นสามเณรและศึกษาเล่าเรียนอยู่ที่วัดนี้ โดยเป็นศิษย์ของท่านเจ้าคุณอรัญญิก เจ้าอาวาสวัดอินทรวิหารในสมัยนั้น แม้ต่อมาท่านจะไปบวชเป็นภิกษุและเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่วัดระฆังโฆษิตารามก็ตาม แต่ก็ยังมีความผูกพันกับวัดอินทรวิหารเป็นอย่างมาก เห็นได้จากสิ่งต่างๆ ที่ท่านได้สร้างไว้ในวัดแห่งนี้

เมื่อฉันย่างเท้าเข้ามาในวัดอินทร์ฯในบ่ายวันหนึ่ง ก็พบว่าภายในวัดเต็มไปด้วยญาติโยมที่มาทำบุญไหว้พระกันอย่างหนาแน่น และไม่เพียงแค่คนไทยเท่านั้น แต่ก็มีญาติโยมที่เป็นนักท่องเที่ยวต่างประเทศหนาตาด้วยเช่นกัน และสิ่งหนึ่งที่ดูจะเป็นจุดดึงดูดความสนใจของผู้ที่มาเยี่ยมเยือนได้ก็คือ พระพุทธรูปองค์ใหญ่โตที่ยืนเด่นอยู่กลางแจ้ง ซึ่งมีนามว่า "พระศรีอริยเมตไตรย" หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า "หลวงพ่อโต" นั่นเอง

หลวงพ่อโตเป็นพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีความสูงตั้งแต่พื้นถึงยอดเกตุ 16 วา หรือราวๆ 32 เมตร สมเด็จพระพุฒาจารย์โตเป็นผู้ริเริ่มสร้างพระพุทธรูปองค์นี้ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 แต่เมื่อสร้างไปได้ถึงเพียงพระนาภี หรือบริเวณสะดือของพระพุทธรูป สมเด็จพระพุฒาจารย์โตก็มรณภาพลงเสียก่อน การก่อสร้างจึงได้หยุดชะงักอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนจะดำเนินต่อมาอีกถึง 60 ปี ก่อนที่จะสร้างพระศรีอริยเมตไตรยองค์นี้เสร็จสิ้นลงในสมัยรัชกาลที่ 7

บนยอดเกตุของหลวงพ่อโตองค์นี้มีพระบรมสารีริกธาตุที่รัฐบาลประเทศศรีลังกามอบให้รัฐบาลไทยประดิษฐานอยู่ ส่วนองค์ของหลวงพ่อโตนั้นก็ประดับด้วยกระจกโมเสกทองคำแท้จากประเทศอิตาลีทั้งองค์ มีการเล่าขานถึงเรื่องราวความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อโตว่า ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการทิ้งระเบิดตามสถานที่สำคัญต่างๆ และระเบิดก็ได้มาตกอยู่ที่บริเวณองค์หลวงพ่อโตจำนวนหนึ่ง แต่ไม่ระเบิดเลยสักลูก ทำให้ชาวบ้านต่างศรัทธาในองค์หลวงพ่อโตเป็นอย่างมาก และว่ากันว่า หากต้องการบนบานกับหลวงพ่อโต ก็จะต้องแก้บนด้วยหัวปลาทู ไข่ต้ม และพวงมาลัย สิ่งที่บนไว้ก็มักจะสำเร็จ

เมื่อฉันได้เข้าไปกราบไหว้หลวงพ่อโต ก็พบว่าต้องแหงนหน้าแบบคอตั้งบ่าเลยทีเดียวเพื่อที่จะมองเห็นพระเศียรของท่าน และหลังจากไหว้เสร็จก็สามารถปิดทองได้เพียงพระบาททั้งสองข้างของท่านเท่านั้น และเมื่อกราบท่านเรียบร้อยแล้ว ฉันก็ได้เข้าไปกราบพระในวิหารซึ่งตั้งอยู่ด้านข้างองค์หลวงพ่อโต ภายในมีพระพุทธรูปปางสมาธิ ซึ่งเป็นพระประจำวัดเกิดของสมเด็จพระพุฒาจารย์โตซึ่งท่านได้สร้างไว้ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่

นอกจากหลวงพ่อโตและพระพุทธรูปองค์นี้แล้ว ก็ยังมีสิ่งที่สมเด็จฯ สร้างเอาไว้อีกอย่างหนึ่ง นั่นก็คือ บ่อน้ำพระพุทธมนต์ ซึ่งสมเด็จฯ ได้ให้ช่างที่มาสร้างองค์หลวงพ่อโตขุดไว้ ปัจจุบันบ่อนี้ก็ยังคงอยู่ โดยได้มีการปรับปรุงเสียใหม่เป็นห้องหับมิดชิดและติดเครื่องปรับอากาศอย่างดีเนื่องจากมีรูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งของสมเด็จพระพุฒาจารย์โตประดิษฐานอยู่ด้านใน ส่วนในบ่อน้ำพระพุทธมนต์ก็ได้อัญเชิญแผ่นยันต์พระคาถา 121 พระคาถาที่ขุดพบใต้บ่อมาประดิษฐานไว้ บุคคลภายนอกสามารถเข้าไปชมภายในบริเวณบ่อน้ำพุได้ แต่ต้องระมัดระวังและสำรวมเสียหน่อย เพราะด้านในจะมีเสียงสวดพระคาถาชินบัญชรอย่างต่อเนื่อง และมีคนเข้าไปนั่งสวดมนต์กันอยู่เสมอๆ

หรือหากไม่ได้เข้าไปด้านใน ก็สามารถรับน้ำพระพุทธมนต์อยู่ภายนอกก็ได้ ทางวัดติดป้ายไว้ให้เห็นชัดเจนว่าสะอาด ดื่มได้ ประพรมเป็นมงคลได้ และมีแก้วกระดาษเตรียมไว้ให้เรียบร้อย

แหม... ชมอย่างอื่นเสียเพลินจนฉันเกือบจะลืมชมสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งเสียแล้ว นั่นก็คือพระอุโบสถของวัดนั่นเอง พระอุโบสถของวัดอินทรวิหารนี้ไม่ใหญ่โตแต่ก็งดงามด้วยศิลปะแบบอยุธยา ช่อฟ้าใบระกา หน้าบัน รวมไปถึงซุ้มเสมาเป็นงานฝีมือปูนปั้นแบบอยุธยา ซึ่งฉันประทับใจเสมาของอุโบสถแห่งนี้มากๆ เพราะนอกจากจะดูเก่าแก่ควรค่าแก่การรักษาแล้ว ฝีมือปูนปั้นก็ยังอ่อนช้อยงดงามมากด้วย ส่วนภายในพระอุโบสถนั้นมีพระประธาน 3 องค์ ขนาดพอเหมาะพอเจาะกับอุโบสถตั้งลดหลั่นกันไป

หลังจากกราบพระแล้ว ฉันนั่งพิจารณาดูจิตรกรรมฝาผนังภายใน ก็เห็นว่ามีเรื่องราวของสมเด็จพระพุฒาจารย์โต ซึ่งเป็นภาพชีวประวัติของท่าน รวมไปถึงภาพสิ่งก่อสร้างต่างๆ เช่น พระนอนที่วัดสะตือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระนั่งปางสมาธิ ที่วัดไชโยวรวิหาร หรือวัดเกษไชโย จังหวัดอ่างทอง เป็นต้น

ออกมาจากพระอุโบสถแล้ว อย่าลืมแวะชมที่บรรจุอัฐิซึ่งอยู่รอบๆ กำแพงพระอุโบสถ ที่ให้ชมก็เพราะที่บรรจุอัฐินี้ไม่ใช่ธรรมดาๆ แต่บรรจุไว้ในโถเบญจรงค์ซึ่งอยู่ในตู้กระจกอีกที มองผาดๆ ไม่เหมือนกับเป็นที่เก็บอัฐิ แต่ดูคล้ายตู้โชว์เครื่องเบญจรงค์เสียมากกว่า เพราะมีมากถึง 732 ใบทีเดียว

นอกจากนั้นพระอุโบสถแห่งนี้ยังมีชั้นใต้ดินซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์รักษาของเก่าของวัด เช่น พระพุทธรูป ตู้ลายรดน้ำ และของที่ขุดได้ในการบูรณปฏิสังขรณ์ แต่จะเปิดให้ชมเฉพาะเวลามีงานประจำปี ซึ่งหากใครอยากจะมาชมก็เตรียมตัวกันได้ เพราะงานจะมีในวันที่ 1-10 มีนาคมนี้แล้ว

ไม่เพียงแค่สิ่งที่ฉันกล่าวมาแล้วเท่านั้น แต่ภายในวัดก็ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นรอยพระพุทธบาทจำลอง ซึ่งอยู่บนมณฑปด้านหลังองค์หลวงพ่อโต พระรูปของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รูปปั้นเจ้าแม่กวนอิม รวมไปถึงจตุคามรามเทพ พระอินทร์ พระพรหม ฯลฯ ก็มีให้กราบไหว้กันตามศรัทธา

ในวันมาฆบูชาที่จะถึงนี้ฉันก็ไม่อยากให้ทุกคนละเลย มองเห็นเป็นเพียงแค่วันหยุดวันหนึ่งเท่านั้น แต่ให้ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้มาทำบุญสะสมเอาไว้เพื่อเป็นทุนสำหรับการดำเนินชีวิตต่อไปข้างหน้า และที่วัดอินทรวิหารแห่งนี้ก็เปิดกว้างสำหรับผู้ที่อยากมาทำบุญทำกุศลกัน

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

วัดอินทรวิหาร ตั้งอยู่ที่ 114 ถนนวิสุทธิกษัตริย์ แขวงบางขุนพรหม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 สามารถสู่วัดได้สองทางคือทางถนนสามเสน (ทางคนเดิน) และทางถนนวิสุทธิกษัตริย์ (ทางรถเข้า) มีรถประจำทางสาย 3, 9, 30, 32, 33, 43, 49, 53, 64, 65 สอบถามโทร.0-2282-0461, 0-2282-3094, 0-2281-1406

กำลังโหลดความคิดเห็น