xs
xsm
sm
md
lg

พราหมณ์กำหนดฤกษ์วันอังคาร 5 ก.พ.บวงสรวงบูรณะราชรถราชยาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“พระครูวามเทพมุนี” กำหนดฤกษ์ดีวันอังคารที่ 5 ก.พ.เวลา 12.15 น.บวงสรวงเพื่อซ่อมแซมราชรถ ราชยานที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สร้างขวัญกำลังใจให้ช่างสิบหมู่และทหารกรมสรรพาวุธ   

เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 25 ม.ค.ที่กรมศิลปากร นายเกรียงไกร สัมปัชชลิต อธิบดีกรมศิลปากร แถลงข่าวความคืบหน้าการจัดสร้างพระเมรุ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุ และบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถราชยานที่ใช้ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ว่า ขณะนี้กรมศิลปากรได้ประสานพระครูวามเทพมุนี หัวหน้าพราหมณ์ เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ เพื่อขอให้คำนวนกำหนดเวลาที่จะใช้เป็นฤกษ์บวงสรวง เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับช่างจากกรมศิลปากรและกรมสรรพาวุธก่อนที่จะเข้าไปซ่อมแซมราชรถ ราชยาน ที่จัดเก็บไว้ในโรงราชรถ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

โดยพระครูวามเทพมุนี ตรวจสอบทางโทราศาสตร์ ระบุว่า ในปีนี้อังคารเป็นวันที่ดี เป็นมงคลเหมาะแก่การประกอบพิธีกรรมต่างๆ จึงได้กำหนดฤกษ์บวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวันอังคารที่ 5 ก.พ.2551 เวลา 12.15 น.เพื่อความเป็นสิริมงคลให้กับช่างกรมศิลปากรและผู้เกี่ยวข้อง ทั้งนี้การซ่อมราชรถนั้น กรมศิลปากรอาจมีการว่าจ้างช่างศิลป์จากบริษัทเอกชนมาร่วมกันบูรณะ โดยทำงานร่วมกับช่างสิบหมู่ แต่จะต้องพิจารณาก่อน ว่า มีการจ้างช่างมาช่วยกี่อัตรา เพราะช่างสิบหมู่มีกำลังคน ไม่เพียงพอ และต้องทำงานในหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นส่วนการจัดสร้างพระเมรุ การบูรณะราชรถ ราชยาน และการสร้างพระโกศไม้จันทน์ เป็นต้น

สำหรับฤกษ์ในการกำหนดวันประกอบพิธีบวงสรวงตั้งเสาเอกในการจัดสร้างพระเมรุนั้น ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าว่าจะกำหนดใช้วันใด คงต้องรอให้กรมศิลปากรเข้าไปสร้างรั้วกั้นสนามหลวงด้านทิศใต้ และสร้างโรงขยายแบบหัวมุมสนามหลวงตรงข้ามกรมศิลปากร พร้อมทั้งวางผังพื้นที่ก่อสร้างพระเมรุและอาคารประกอบในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์เสียก่อน

“แม้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังไม่โปรดเกล้าฯ ว่า จะใช้ราชรถองค์ใดในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ แต่ในส่วนของกรมศิลปากรจะเตรียมความพร้อมบูรณะราชรถ ราชยานทุกองค์ ให้พร้อมใช้งาน แต่ตามโบราณราชประเพณีแล้ว การที่ช่างจะเข้าไปบูรณะราชรถ ราชยาน ซึ่งเป็นเครื่องทรงชั้นสูงของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเปรียบเสมือนสมมติเทพนั้น จะต้องมีจัดประกอบพิธีบวงสรวงตามคติพราหมณ์ เพื่อขอพระบรมราชานุญาตจากดวงพระวิญญาณของบูรพมหากษัตริย์ทุกพระองค์และเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ผู้ปฏิบัติงาน สำหรับการก่อสร้างลิฟต์นั้นคงจะไม่ใช้ลิฟต์โดยสารแบบทั่วไป ซึ่งผมทราบจาก น.อ.อาวุธ ว่า การออกแบบจะใช้ลิฟต์แบบยก โดยพิจารณาให้สร้างลิฟต์ที่ไม่ยกสูงมากนัก โดยมีลักษณะคล้ายกับลิฟต์ยกบริเวณด้านข้างพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ภายในพระบรมมหาราชวัง นอกจากนี้ กรมทรัพยากรธรรมชาติฯมีหนังสือมายังกรมศิลปากรเรื่องการจัดส่งไม้จันทน์แปรรูปจำนวน 3 ต้น เพื่อจัดทำพระโกศไม้จันทน์ ทั้งนี้ กรมศิลปากรคาดว่าจะใช้ไม้จันทน์ไม่เกิน 2 ต้น ส่วนวันและเวลามอบจะมีการนัดหมายอีกครั้ง” อธิบดีกรมศิลปากร กล่าว

ด้านนายไพบูลย์ ผลมาก ผู้อำนวยการสำนักสถาปัตยกรรมให้รายละเอียดถึงรูปแบบของพระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ว่า เป็นกุฎาคารเรือนยอดประธานมณฑลสร้างหันหน้าไปทางทิศตะวันตก เป็นพระเมรุทรงปราสาทจตุรมุขย่อมุมไม้สิบสอง ยอดปักพระสิปตปฎลเศวตฉัตร จากฐานถึงยอดสูง 37.85 เมตร กว้าง 31.80 เมตร ยาว 39.80 เมตร สร้างด้วยไม้ โครงสร้างภายในเป็นเหล็กประดับด้วยกระดาษทองย่นตกแต่งด้วยลวดลาย ฐานพระเมรุจัดทำเป็น 2 ระดับ มีบันไดทอดถึงตลอดทั้ง 4 ทิศ ระดับแรกเรียกว่า ฐานชาลา ประดับด้วยรูปเทวดานั่งคุกเข่าพระหัตถ์ถือบังแทรกตรงกลางเป็นโคมไฟ ประดับตามพนักฐานชาลา ด้านในมีรูปเทวดาประทับยืนถือฉัตรเครื่องสูงรายรอบ ระดับที่สอง หรือฐานบน เรียกว่า ฐานพระเมรุเป็นฐานสิงห์ มีบันไดขึ้นจากฐานชาลาทั้ง 4 ทิศ โถงกลางใหญ่ตั้งพระจิตกาธานขนาดใหญ่สำหรับประดิษฐานพระโกศ เพื่อถวายพระเพลิงทางด้านทิศเหนือของพระจิตกาธานมีรางยื่นออกไปนอกมุขเป็นสะพานเกริน เพื่อใช้เป็นที่เคลื่อนพระโกศจากพระยานมาศสามลำคานขึ้นบนพระเมรุ

สำหรับองค์พระเมรุทั้งด้านในและด้านนอกนั้น จะประดับตกแต่งด้วยกระดาษทองย่นเกือบทั้งหมด ใช้สีทองเป็นหลักและประกอบด้วยสีอื่นๆ ที่เป็นสีอ่อนสีหวาน ทั้งนี้ เพื่อให้เหมาะกับพระอุปนิสัย และพระจริยวัตรที่นุ่มนวลสง่างามของพระเจ้าพี่นางเธอฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น