xs
xsm
sm
md
lg

ปธ.วิศวกรรมก่อสร้างพระเมรุเผยติดตั้งลิฟต์เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประธานวิศวกรรมก่อสร้างพระเมรุ เผยเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ติดตั้งลิฟต์ในพระเมรุเพื่อเป็นเส้นทางเสด็จพระราชดำเนิน โดยจะจัดวางให้กลมกลืนกับสถาปัตยกรรมไทย คำนึงถึงความปลอดภัย และต้องสมพระเกียรติ

นายอารักษ์ สังหิตกุล หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ในฐานะประธานวิศวกรรมโครงสร้างพระเมรุ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เปิดเผยว่า ในการก่อสร้างพระเมรุในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทางด้านวิศวกรรมถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่นำแนวคิดการออกแบบลิฟต์เป็นทางเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปประกอบพระราชพิธีบนพระเมรุ ซึ่งลิฟต์ดังกล่าวจะใช้เป็นทางเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ เนื่องจากบันไดที่จะเสด็จฯ ขึ้นไปยังพระเมรุมีความสูงชันมาก

ทั้งนี้ การสร้างลิฟต์ในพระเมรุ วิศวกรต้องดูจากการออกแบบสถาปัตยกรรมของคณะทำงานที่ น.อ.อาวุธ เงินชูกลิ่น เป็นประธาน โดยต้องพิจารณาถึงการจัดวางให้มีลักษณะสวยงามกลมกลืนกับสถาปัตยกรรมไทยของพระเมรุ ที่สำคัญต้องคำนึงถึงความสง่างาม ความปลอดภัย และความสะดวกสบายในการใช้เป็นทางเสด็จฯ ซึ่งตนจะหารือกับ น.อ.อาวุธ ถึงการเลือกใช้ลิฟต์ ซึ่งโดยทั่วไปจะมีลิฟต์อยู่ 2 ประเภท คือ ลิฟต์ที่ใช้เครื่องจักรดึง ซึ่งใช้อยู่ตามตึกและอาคารใหญ่ทั่วไป โดยลิฟต์แบบนี้จะมีเครื่องจักรติดตั้งอยู่ด้านบน และมีสายสลิงเพื่อชักรอกขึ้นลง อย่างไรก็ตาม การติดตั้งเครื่องจักรด้านบนลิฟต์อาจไม่เหมาะสม และไม่สวยงาม ส่วนอีกประเภท คือ ลิฟต์ที่ใช้ระบบไฮโดรลิก ซึ่งจะใช้แรงดันในการเคลื่อนขึ้นลง แต่คงต้องหารือถึงแนวทางอื่นๆ ที่ใช้เป็นทางเสด็จฯ ด้วย โดยต้องมีความเหมาะสม และสมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะการติดตั้งลิฟต์เป็นเรื่องใหม่สำหรับการก่อสร้างพระเมรุ จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบทุกประการ

นายอารักษ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้การทำงานในส่วนของวิศวกรรมต้องรอทางกรมศิลปากร จัดจ้าง บริษัทเอกชนเข้ามารับเหมาก่อสร้างพระเมรุ และอาคารประกอบต่างๆ เมื่อมีระยะเวลาที่จำกัดจึงจำเป็นต้องขอที่ประชุมฝ่ายคณะกรรมการจัดสร้างพระเมรุฯ อนุมัติการจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ เพราะการก่อสร้างพระเมรุนั้น ต้องใช้บริษัทผู้รับเหมาที่มีประสบการณ์การก่อสร้างอาคารตามสถาปัตยกรรมไทย รวมทั้งบริษัทนั้นต้องมีบุคลากรที่เป็นช่างฝีมือสามารถก่อสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมไทยที่ออกแบบไว้ได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน โดยบริษัทเหล่านี้หายากมาก แต่ก็มีบริษัทที่เคยร่วมงานด้านการก่อสร้าง ตกแต่ง บูรณะอาคารหรือโบราณสถานแบบสถาปัตยกรรมไทยโบราณประมาณ 5 แห่งในประเทศ ซึ่งการจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ นายเกรียงไกร สัมปัชชลิต อธิบดีกรมศิลปากร จะเป็นผู้บริหารจัดการดำเนินการเชิญบริษัทมาประกวดราคา ส่วนตนจะเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างด้านวิศวกรรม โดยมีคณะทำงานนักวิศวกรประจำกรมศิลปากร ที่มีประสบการณ์การทำงานการจัดสร้างพระเมรุมาศของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ร่วมกันควบคุมการก่อสร้างให้เป็นไปตามการออกแบบทุกจุด โดยคาดว่าประมาณเดือนกุมภาพันธ์นี้ เมื่อสร้างโรงขยายแบบที่ท้องสนามหลวงแล้ว คณะทำงานของ น.อ.อาวุธ ทำการขยายแบบเสร็จแล้ว ก็จะเริ่มก่อสร้างได้ทันที

“ตามคติความเชื่อ พระมหากษัตริย์ทรงเปรียบเสมือนสมมติเทพของคติพราหมณ์ ดังนั้น การก่อสร้างพระเมรุ หรือพระเมรุมาศ จึงถือเป็นการทำงานถวายเทพเจ้า การสร้างสรรค์งานศิลป์เหล่านี้ สะท้อนถึงความรุ่งเรืองและเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมไทย ก่อสร้างพระเมรุในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ด้านวิศวกรรมเป็นการก่อสร้างที่ตอบสนองความคิดสร้างสรรค์ทางสถาปัตยกรรมไทยของช่างผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะต้องทำงานออกมาให้ดีที่สุด โดยเฉพาะการคำนึงถึงความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้างพระเมรุ” นายอารักษ์ กล่าว

รองนายกฯ เตรียมมอบงานสร้างพระเมรุให้รัฐบาลชุดใหม่
นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในฐานะประธานคณะกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุและบูรณะปฏิสังขรณ์ราชรถ และพระยานมาศ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ว่า ตนได้เข้าร่วมประชุมเตรียมความพร้อมกับคณะทำงาน ประกอบด้วย ผู้แทนกรมศิลปากร สำนักราชวัง ราชเลขาธิการ และ น.อ.อาวุธ เงินชูกลิ่น ประธานคณะทำงานการออกแบบและจัดสร้างพระเมรุฯ ขณะนี้การดำเนินงานทุกอย่างเป็นไปอย่างเรียบร้อยตามเป้าหมายที่วางไว้ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบพระเมรุ การสำรวจราชรถ ราชยาน คานหาม งานเกี่ยวกับพระราชพิธี ซึ่งการเตรียมงานในพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ถือว่ารัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีได้เริ่มต้นไว้อย่างดีแล้ว รอมอบให้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาถวายงานต่อ อย่างไรก็ตาม คาดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะมีช่างผู้ชำนาญด้านสถาปัตยกรรม โบราณราชประเพณีที่กรมศิลปากรเป็นผู้ดำเนินงานอยู่แล้ว

ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรียังกล่าวต่อไปว่า สำหรับเรื่องที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นห่วงเรื่องช่างสิบหมู่ที่จะทรงเกรงว่าจะไม่เพียงพอ และในอนาคตจะมีจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ นั้น เป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องจะต้องช่วยกันดูแลในระยะยาวเพื่อให้เยาวชนหันมาให้ความสนใจมากขึ้น เนื่องจากช่างสิบหมู่ก็เป็นงานสถาปัตยกรรมไทยสาขาหนึ่งที่ควรดำรงไว้สาขาหนึ่ง

กำลังโหลดความคิดเห็น