เผยการสร้างพระโกศจันทน์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ส่วนการตบแต่งทางศิลปกรรมสรุปชัดใช้ “ลายใบเทศ” อันเป็นลายต้นตระกูลสูงของลายศิลปะไทย ระบุก่อนหน้านี้ เคยใช้ในการสร้างโกศจันทน์สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 7 มาแล้ว
**ใช้เวลาสร้างพระโกศ 3 เดือน
นายอารักษ์ สังหิตกุล หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) และประธานวิศวกรรมโครงสร้างพระเมรุ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ กล่าวว่า โครงสร้างพระโกศจันทน์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ จะใช้ลวดโลหะไร้สนิม ดัดตามรูปร่าง และขนาดสถาปัตยกรรมที่ น.อ.อาวุธ เงินชูกลิ่น ประธานคณะทำงานออกแบบฯ ได้กำหนดไว้ เพื่อนำมาเชื่อมต่อกันขึ้นเป็นรูป แล้วจึงนำลวดตาข่ายบุทับโครงภายนอกอีกชั้นไว้ติดแผ่นไม้จันทน์ที่ฉลุลวดลายไทยแต่ละแผ่นมาประกบติดกัน ซึ่งการจัดโครงสร้างและประดับไม้จันทน์ลายไทยพระโกศจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน เพราะมีความละเอียดอ่อน และเพื่อให้ได้ความสมบูรณ์ต้องใช้ช่างไม้ ช่างประดับลายประณีตศิลป์ที่มีฝีมืออย่างมาก สำหรับการใช้โกศไม้จันทน์ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระบรมศพ หรือพระศพเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน เป็นความเชื่อแต่โบราณ ถือเป็นการให้เกียรติแก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว
**แกะ “ลายใบเทศ” ประดับพระโกศ
ด้าน นายนิยม กลิ่นบุปผา นายช่างศิลปกรรม 9 ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ (ชช.) ประธานกลุ่มช่างพระโกศจันทน์ และส่วนประกอบพระเมรุ กล่าวว่า การตบแต่งลวดลายศิลปกรรมไทยพระโกศจันทน์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ จะต้องฉลุลายไทย ได้แก่ ลายใบเทศ ซึ่งถือว่าเป็นลายต้นตระกูลสูงของลายศิลปะไทยที่มีอยู่ เช่น ลายกระหนก ลายก้านแย่ง ลายเครือเถา ลายกลีบบัว ลายก้านขด ลายเทพพนม ลายพุดตาล และลายกระจังแบบต่างๆ
“ลายใบเทศจะเหมือนลายกนกเปลว หรือขนของปีกครุฑ มีความอ่อนช้อยกว่า และลายใบเทศส่วนใหญ่จะใช้เกี่ยวข้องกับเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ที่แสดงออกในเรื่องนั้นๆ เช่น วัดหลวง สามารถดูได้ที่พระอุโบสถวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือวัดโพธิ์ อีกทั้งยังเป็นลายเกี่ยวกับเครื่องพระอิสริยยศ เมื่อครั้งสร้างพระโกศจันทน์สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ก็ได้ประดับลายใบเทศ เช่นเดียวกับพระโกศจันทน์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ก็ใช้ลายใบเทศเช่นกัน”
**พระโกศทรง 8 เหลี่ยม
นายเกรียงไกร สัมปัชชลิต อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า พระโกศจันทน์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ เป็นรูปทรง 8 เหลี่ยม และหลังจากที่โหรพราหมณ์พระราชวังทำพิธีบวงสรวงเทพยดาป่า ขออนุญาตนำไม้จันทน์มาสร้างพระโกศจันทน์แล้ว ขั้นตอนต่อไปทางผู้เกี่ยวข้องจะทำการแปรรูปไม้เป็นแผ่นให้เสร็จเรียบร้อย แต่คงจะให้เก็บไว้ที่เดิมก่อน เพราะขนย้ายมาที่สำนักช่างสิบหมู่หรือที่กรมศิลปากรคงจะไม่มีที่เก็บ ต้องรอให้กรมศิลปากรปลูกโรงขยายแบบพระเมรุที่สนามหลวงให้แล้วเสร็จก่อน ซึ่งสัปดาห์หน้าหรือปลายเดือนมกราคมกรมศิลปากรจะลงมือกั้นเขตทำรั้วและปลูกโรงขยายแบบพระเมรุ จากนั้นจึงจะนำไม้จันทน์แปรรูปมาเก็บไว้ที่โรงแบบ สำหรับการเคลื่อนย้ายไม้จันทน์แปรรูปที่กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ มาที่สนามหลวง ตนจะได้ทำหนังสือถึงคณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ เพื่อขออนุญาตเคลื่อนย้ายไม้จันทน์ดังกล่าว
อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวอีกว่า ในวันนี้ (21 ม.ค.) จะมีการประชุมคณะกรรมการฝ่ายสร้างพระเมรุสิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุ และการบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ เวลา 09.00 – 12.00 น. ห้องประชุม 501 ชั้น 5 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล โดย น.อ.อาวุธ เงินชูกลิ่น ประธานคณะทำงานออกแบบพระเมรุ ได้สรุปงบประมาณไว้จำนวน 175 ล้านบาท เพื่อเสนอต่อนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการฝ่ายสร้างพระเมรุ
จากนั้น น.อ.อาวุธ จะแถลงข่าวความคืบหน้าการจัดสร้างพระเมรุในเวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุมกรมศิลปากร