xs
xsm
sm
md
lg

ทูลเกล้าฯ ถวายแบบร่างพระเมรุแด่ในหลวง รอพระบรมราชวินิจฉัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แบบร่างพระเมรุ
ทูลเกล้าฯ ถวายแบบร่างพระเมรุในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้ว รอมีพระบรมราชวินิจฉัยก่อนดำเนินการก่อสร้าง อธิบดีกรมศิลปากร แจงรายละเอียดการก่อสร้างพระเมรุ และซ่อมแซมราชรถ ราชยาน ที่จะใช้ คาดพระเมรุแล้วเสร็จไม่เกิน 10 ต.ค.นี้ ประสานมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงขอพันธุ์ไม้ประดับพระเมรุ และพันธุ์ไม้ที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงโปรด



เมื่อเวลา 13.30 น.วันนี้ (21 ม.ค.) ที่กรมศิลปากร นายเกรียงไกร สัมปัชชลิต อธิบดีกรมศิลปากร แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุ และบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถ และพระยานมาศ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งมี นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า

น.อ.อาวุธ เงินชูกลิ่น ประธานคณะทำงานออกแบบและจัดสร้างพระเมรุ ได้เสนอรายละเอียดการก่อสร้างพระเมรุ และอาคารประกอบ การซ่อมราชรถ ราชยาน ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ประกอบด้วย การก่อสร้างพระเมรุ และอาคารภายในมณฑลพิธีท้องสนามหลวง โดยมีรายละเอียด ประกอบด้วย 1.พระเมรุ 2.ซ่าง 4 หลัง สำหรับพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม

3.พระที่นั่งทรงธรรม ประกอบด้วย ห้องที่ประทับพักพระอิริยาบถ อาสนะพระ ที่ประทับเวลามีพระราชพิธี ที่ประทับพระบรมวงศานุวงศ์ ที่นั่งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ห้องน้ำ 2 ห้อง (สำหรับพระสงฆ์ 1 ห้อง) ลิฟต์ 2 ที่ (ด้านหน้าและด้านหลัง) 4.ศาลาลูกขุน ที่นั่งสำหรับข้าราชการผู้มาเข้าเฝ้า 5.ทับเกษตร 8 หลัง ที่นั่งข้าราชการฟังสวดพระอภิธรรม 6.ทิม 6 หลัง ประกอบด้วย ทิมเครื่องประโคม ทิมสำหรับพระสงฆ์ ทิมเจ้าพนักงาน

7.ห้องสุขา 2 หลัง 8.หอเปลื้อง 1 หลัง และเสาฉนวน 9.รั้วราชวัตร 10.ภูมิสถาปัตยกรรม ประกอบด้วย เสาไฟฟ้า ต้นไม้ ดอกไม้ ตกแต่งบริเวณ เครื่องตกแต่งอื่นๆ เช่น เสาหงส์ เสาตุง 11.เครื่องประกอบพระเมรุ ประกอบด้วย จิตกาธาน ฉัตร รูปเทวดาเชิญฉัตร และเครื่องสูง สัตว์หิมพานต์ พระโกศจันทน์ ฉากบังเพลิง ม่าน สะพานเกริน และลิฟต์

นายเกรียงไกร กล่าวต่อไปว่า ส่วนสิ่งก่อสร้างนอกมณฑลโดยรอบพิธีท้องสนามหลวง ประกอบด้วย 1.เกยลา หน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท 2.พลับพลายกหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ส่งพระศพขึ้นราชรถ 3.พลับพลายกที่หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรค์ปราสาท สำหรับเจ้านายฝ่ายในประทับส่งพระศพ

4.พลับพลายกที่ท้องสนามหลวง สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับรับพระศพลงจากราชรถ 5.โรงมหรสพ 3 โรง หากมีการโปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างเพิ่มเติม 6.ที่สำหรับประชาชนวางดอกไม้จันทน์ 7.โรงขยายแบบ 8.โรงปฏิบัติงานด้านศิลปกรรม 2 โรง 9.ก่อสร้างถนนทางเดิน ทางเท้า พื้นลาน 10.รื้อ ถอน ย้าย ติดตั้ง ระบบไฟฟ้า ประปา และทำรั้วใหม่ 11.ทำรั้วชั่วคราว 12.ซ่อม รื้อ เกาะกลางถนน สายไฟฟ้า สายโทรศัพท์ และอื่นๆ
แบบร่างพระเมรุ
อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวอีกว่า ส่วนการซ่อมแซมราชรถ ราชยาน และเครื่องประกอบ ประกอบด้วย 1.ซ่อมทำความสะอาดราชรถ 2 องค์ คือ พระมหาพิชัยราชรถ และพระเวชยันตราชรถ เพื่อเตรียมความพร้อม ทั้ง 2 องค์ แล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ว่าจะให้ใช้ราชรถองค์ใด 2.ซ่อมใหญ่ราชรถน้อย 1 คัน 3.ซ่อมทำความสะอาดราชรถน้อย 2 คัน 4.ซ่อมพระยานมาศ 3 ลำคาน 2 องค์พร้อมม้ารอง 5.ซ่อมเกรินบันไดนาค 2 เกริน 6.ซ่อมทำความสะอาดพระที่นั่งราเชนทรยาน 7.ซ่อมใหญ้พระวอสีวิกากาญจน์ 8.ซ่อมและสร้างเครื่องประกอบอื่นๆ เช่น ฉัตรเบญจรงค์ พัตราภรณ์อื่นๆ

ทั้งนี้ การจัดสร้างพระเมรุ และองค์ประกอบอื่นๆ ทั้งหมด ตลอดจนการซ่อมแซมราชรถ และราชยานต่างๆ จะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 176 ล้านบาท ซึ่งที่ประชุมได้รับทราบ และจะนำเสนอคณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ซึ่งมี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อขออนุมัติงบประมาณต่อไป นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เสนอมาตรการในการรักษาความปลอดภัยในระหว่างการดำเนินการ โดยจะประสานไปยังหน่วยงาน ตำรวจ ทหาร ที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัย และ กทม.ที่จะมาดูแลเรื่องรถดับเพลิง และรถสุขา

ทูลเกล้าฯ ถวายแบบร่างพระเมรุแล้ว

“ขณะนี้ทราบว่าทางสำนักนายกรัฐมนตรีได้นำแบบพระเมรุ ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม ต้องรอพระบรมราชวินิจฉัยก่อนที่จะดำเนินการต่อไป สำหรับฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุ ได้เสนอแผนการดำเนินงานจัดสร้างพระเมรุ และซ่อมแซมราชรถ ราชยานทั้งหมด จะแล้วเสร็จภายในช่วงเดือนกันยายน โดยอย่างช้าที่สุดไม่เกินวันที่ 10 ตุลาคมนี้ เช่นเดียวกับการออกแบบและก่อสร้างพระโกศจันทน์ก็จะอยู่ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน

โดยการออกแบบพระเมรุจะเริ่มตั้งแต่บัดนี้ไปจนสิ้นสุดในเดือนมีนาคม งานเขียนแบบขยายลวดลายเริ่มกลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม ขณะที่งานซ่อมราชรถต่างๆ ได้เริ่มดำเนินการแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม เพื่อให้ทันในการซ้อมขบวนเคลื่อนพระศพ ส่วนงานภูมิสถาปัตยกรรมจะเริ่มดำเนินการหลังสุดในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกันยายน” นายเกรียงไกร กล่าว

**ตั้ง “ร.อ.จิทัศ” พระนัดดาร่วมสร้างพระเมรุ
อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพิ่มเติมในการจัดสร้างพระเมรุ โดยแต่งตั้งให้ ร.อ.จิทัศ ศรสงคราม พระนัดดาในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ เป็นคณะกรรมการเพิ่มเติมในชุดนี้ตามที่ฝ่ายเลขานุการเสนอ เนื่องจาก ร.อ.จิทัศ มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์การทำงานด้านสถาปัตยกรรมอยู่แล้ว อีกทั้งยังเป็นผู้ออกแบบการจัดนิทรรศการ “แสงหนึ่ง คือรุ้งงาม” เพื่อเทิดพระเกียรติในโอกาส สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเจริญพระชนมายุครบ 7 รอบ 6 พฤษภาคม 2550 ดังนั้น ทางฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุ คาดว่า ร.อ.จิทัศ สามารถเข้ามาดูแลด้านการออกแบบตกแต่งพระเมรุ ได้

ส่วนการนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติโดยขอยกเว้นการดำเนินงานตามระเบียบพัสดุ ขอให้มีการจัดซื้อจัดจ้างเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งจะดำเนินการประกวดราคาก่อนที่จะได้รับงบจากรัฐบาล เนื่องจากเกรงว่า ขั้นตอนต่างๆ จะมีความล่าช้า จึงต้องเร่งดำเนินการไปก่อน ซึ่งการดำเนินการก่อสร้างกรมศิลปากรต้องการบริษัทที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ในการออกแบบศิลปกรรมไทย

นายเกรียงไกร กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เสนอแนะเพิ่มเติมว่า ควรจะมีการดูแลและมาตรการป้องกันในการก่อสร้าง เนื่องจากอยู่ในช่วงหน้าฝน ซึ่งลวดลาย หรือกระดาษต่างๆ อาจได้รับความเสียหายได้ สำหรับฤกษ์บวงสรวงเพื่อลงเสาเอกในการก่อสร้างพระเมรุที่ท้องสนามหลวงนั้น อยู่ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ตั้งแต่ 1-15 กุมภาพันธ์ โดยต้องรอกำหนดฤกษ์จากสำนักพระราชวัง ส่วนการจัดสร้างโกศไม้จันทน์นั้น น.อ.อาวุธ จะต้องออกแบบขนาด และกำหนดลวดลายก่อน จากนั้นสำนักช่างสิบหมู่จะขยายแบบ คาดว่า จะใช้เวลา 3 เดือน แต่ขณะนี้จะดำเนินการเรื่องพระเมรุก่อน ซึ่งไม้จันทน์ที่ทำพิธีบวงสรวงและตัดไม้ไปเมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมานั้น ต้องนำไปแปรรูปก่อน

ประสานมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงขอพันธุ์ไม้ที่พระพี่นางโปรด

ขณะเดียวกัน ทางกรมศิลปากร จะทำหนังสือไปถึงมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง เพื่อประสานขอพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับที่จะนำมาใช้ในงานภูมิสถาปัตยตกแต่งบริเวณโดยรอบพระเมรุ ซึ่งจะต้องหารือกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงถึงการคัดเลือกพันธุ์ไม้สีที่เหมาะสมกับงานพระเมรุ รวมทั้งจะคัดเลือกพันธุ์ไม้อีกหลายชนิดที่ปลูกในอุทยานพระตำหนักดอยตุง จ.เชียงราย เพราะเป็นพันธุ์ที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงโปรดเป็นพิเศษ ทั้งนี้ จะต้องหารือกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อให้จัดเตรียมเพาะพันธุ์ไว้รองรับการนำมาตกแต่งบริเวณพระเมรุต่อไป และประสานไปยังกรุงเทพมหานคร เพื่อขอสนับสนุนพันธุ์ไม้ในการใช้ตกแต่งด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรมศิลปากรมีการประสานไปยังคณะพราหมณ์หลวง เพื่อขอตรวจฤกษ์กำหนดวันจัดพิธีบวงสรวง ก่อนจะลงมือก่อสร้างพระเมรุที่ท้องสนามหลวง และการบูรณะราชรถ ราชยาน ที่โรงราชรถภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร หรือไม่ นายเกรียงไกร กล่าวว่า ขั้นตอนต่อไปกรมศิลปากรจะประสานไปยังคณะพราหมณ์หลวง ผ่านสำนักพระราชวัง เพื่อขอให้กำหนดฤกษ์ในการจัดพิธีบวงสรวง ซึ่งคาดว่า คงจะอยู่ระหว่างวันที่ 1-15 กุมภาพันธ์นี้ คงต้องรอให้มีการกำหนดฤกษ์ว่าจะให้มีการบวงสรวงในวันที่เท่าใด เพราะต่อจากนั้นตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ.นี้ กรมศิลปากร ก็จะเริ่มลงมือดำเนินการก่อสร้างพระเมรุ และบูรณะราชรถ ราชยาน และพระยานมาศสามลำคานต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น