xs
xsm
sm
md
lg

สิ้น ‘สมเด็จพระพุทธชินวงศ์’ พระผู้เป็นเสาหลักแห่งการศึกษาคณะสงฆ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (ประจวบ กนฺตาจาโร) ได้ถึงแก่มรณภาพแล้ว เมื่อวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๑ สิริรวมอายุได้ ๘๑ ปี ๕ เดือน ๑๒ วัน

เจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เป็นพระมหาเถระผู้ทำคุณประโยชน์ที่ก่อความวัฒนาสถาพรแก่คณะสงฆ์ เป็นผู้บริหารงานคณะสงฆ์ในความรับผิดชอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยพรหมวิหารธรรม ในฐานะเจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยาราม ท่านได้พัฒนาพระอารามให้มีความงดงามร่มรื่นก่อประโยชน์แก่พุทธบริษัทได้ตามพระราชปรารภในบุรพกษัตริย์ผู้ทรงสถาปนาพระอาราม การบริหารที่ทันสมัย โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ ทำให้ท่านได้รับความศรัทธาจากสาธุชนและศิษยานุศิษย์เสมอมา ส่งผลให้การบริหารงานการศึกษาตามแนวพระดำริใน สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายีมหาเถระ) ได้มีการพัฒนาให้เป็นรูปธรรม และสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพให้แก่คณะสงฆ์และประเทศชาติได้เป็นจำนวนมาก ด้วยคุณูปการที่ท่านได้บำเพ็ญมานี้ คณะสงฆ์ได้แต่งตั้งท่านเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม, กรรมการในคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช, ผู้รักษาการแทนเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต ฯลฯ

การมรณภาพของท่านจึงเป็นการสูญเสียครั้งสำคัญของคณะสงฆ์ สิ้นแล้วซึ่งพระมหาเถระ ผู้เป็นเสาหลักแห่งการศึกษาคณะสงฆ์อย่างแท้จริง

ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯประกอบพิธีพระราชทานน้ำหลวงสรงศพสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เมื่อวันที่ ๔ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๑ ณ วัดมกุฎกษัตริยาราม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพิธีสวดพระอภิธรรมในพระบรมราชานุเคราะห์ ระหว่างวันที่ ๔-๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๑ การสวดพระอภิธรรมนี้ จะมีไปทุกวัน จนครบ ๑๐๐ วัน โดยพุทธศาสนิกชนสามารถเข้าร่วมฟังสวดพระอภิธรรมได้จนถึงวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๑ ระหว่างเวลา ๑๙.๐๐-๒๐.๐๐ น. ณ วัดมกุฎกษัตริยาราม ริมคลองผดุงกรุงเกษม แขวงบางขุนพรหม เขตพระนคร กรุงเทพฯ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. ๐๘-๑๙๙๒-๒๕๕๕, ๐๘-๑๘๒๗-๖๘๔๘ และ ๐-๒๒๘๑-๒๐๘๙

ประวัติ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (ประจวบ กนฺตาจาโร) เจ้าอาวาสรูปที่ ๗ วัดมกุฏกษัตริยาราม พ.ศ.๒๕๑๗-๒๕๕๐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

• ชาติภูมิ

นามเดิม ประจวบ นามสกุล เนียมหอม นามฉายา กนฺตาจาโร เกิดเมื่อวันจันทร์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๘ ปีขาล ตรงกับวันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๖๙ เวลา ๑๑.๔๐ น. ที่หมู่บ้านโรงจีน ต.บางแพ อ.บางแพ จ.ราชบุรี เป็นบุตรคนที่หนึ่งของคุณพ่อคง คุณแม่ท้อน เนียมหอม ได้เข้าเรียนระดับประถมเมื่ออายุ ๑๐ ปี ที่รร.เฉลียววิทยา วัดเหนือ บางแพ

• บรรพชา

อายุได้ ๑๒ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๐ ณ วัดเหนือบางแพ ต.บางแพ อ.บางแพ จ.ราชบุรี โดยมีท่านเจ้าคุณพระธรรมเสนานี (เงิน) วัดสัตตนารถปริวัตร อ.เมือง จ.ราชบุรี เป็นพระอุปัชฌายะ พระครูนาถ สุมโน เจ้าอาวาส วัดเหนือบางแพ ต.บางแพ อ.บางแพ จ.ราชบุรี เป็นพระศีลาจารย์

เมื่ออายุได้ ๑๔ ปี พ.ท.วิบูล สิริสุภาส ซึ่งขณะนั้นยังดำรงอยู่ในสมณเพศและดำรง สมณศักดิ์ที่พระครูวิบูลธรรมคุต วัดราชบพิธ กรุงเทพมหานคร ได้นำเข้ามาฝากตัวให้อยู่กับสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายีมหาเถร) ครั้งยังทรงดำรงสมณศักดิ์ที่พระเทพเวที วัดมกุฏกษัตริยาราม เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๓

• อุปสมบท

อายุย่างเข้า ๒๑ ปี ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๙ เวลา ๑๔.๑๖ น. โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายีมหาเถร) ขณะทรง ดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมปาโมกข์ เป็นพระอุปัชฌายะ พระธรรมกิจจานุการี (ผัน กิจฺจการี) วัดมกุฏกษัตริยาราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระเทพกิตติเมธี (หิ้น คนฺธาโร) วัดมกุฏกษัตริยาราม ครั้งยังดำรง สมณศักดิ์ที่ พระปริยัติเมธี เป็นพระอนุสาวนาจารย์

• วิทยฐานะ

ปริยัติศึกษา แผนกธรรม น.ธ.เอก และแผนกบาลี ป.ธ.๕, สามัญศึกษา ประโยคเตรียม อุดมศึกษา (ม.๘),ประโยคครู พ. และประโยคครู พ.ป., อุดมศึกษา ปริญญาตรี ศาสนศาสตร์ บัณฑิต (ศน.บ.) จากสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย, ปริญญาโท ทางปรัชญา จากมหาวิทยาลัยพาราณสี ประเทศอินเดีย, ปริญญาเอก ทางปรัชญา จากมหาวิทยาลัยพาราณสี ประเทศอินเดีย

• สมณศักดิ์

พ.ศ.๒๕๐๕ รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระกิตติสารมุนี, พ.ศ.๒๕๑๕ รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ ชั้นราชที่ พระราชกวี, พ.ศ. ๒๕๑๗ รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ ชั้นเทพที่ พระเทพโมลี, พ.ศ. ๒๕๒๘ รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ ชั้นธรรมที่ พระธรรมธัชมุนี, พ.ศ. ๒๕๓๖ รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ เจ้าคณะรองชั้นหิรัณยบัฏที่ พระธรรมปัญญาจารย์, พ.ศ.๒๕๔๓ รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์

• หน้าที่การงาน

การปกครอง

พ.ศ.๒๕๑๗ เป็นเจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยาราม, พ.ศ.๒๕๑๗ เป็นพระอุปัชฌายะ และ พ.ศ.๒๕๓๕ เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม

การศึกษา

เป็นครูสอนประปริยัติธรรมประจำสำนักเรียนวัดมกุฏกษัตริยาราม, เป็นกรรมการตรวจ ธรรมสนามหลวง, เป็นเจ้าสำนักเรียนวัดมกุฏกษัตริยาราม, เป็นประธานเปิดสอบบาลีสนามหลวง ณ สนามสอบวัดชูจิตธรรมารามในมหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา (สำนักเรียนวัดมกุฏกษัตริยาราม), เป็นผู้อุปถัมภ์ รร.วัดมกุฏกษัตริยาราม สังกัดกรุงเทพมหานคร, เป็นผู้อุปถัมภ์ รร.มัธยมวัดมกุฏกษัตริยาราม สังกัดกรม สามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ, เป็นผู้จัดการ รร.พระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา “วชิรมกุฏ” วัดมกุฏกษัตริยาราม สนองพระนโยบายสมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายีมหาเถระ), เป็นผู้ก่อตั้ง รร.พระปริยัติธรรม แผนกธรรมบาลี และแผนกสามัญศึกษา “มหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย” (พ.ศ.๒๕๑๖) ที่ ต.สนับทึบ อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ตามพระดำริของสมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายีมหาเถระ), ได้ขยายการศึกษา พระปริยัติธรรมแผนกสามัญอยู่ที่วัดไผ่ดำ และเป็นผู้จัดการ รร.พระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา วัดไผ่ดำ ต.ทองเอน อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี

การเผยแผ่
แสดงธรรมในวันธรรมสวนะ แสดงธรรมอบรมประชาชน ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ นักเรียน นักศึกษา, แสดงธรรมทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ และทางสถานีวิทยุโทรทัศน์เป็นครั้งคราว

การสาธารณูปการ

ได้บูรณปฏิสังขรณ์และก่อสร้างอาคารถาวร วัตถุภายในวัดมกุฏกษัตริยาราม, ก่อสร้างอาคารเรียน อาคารที่พักอาศัย อุโบสถ หอประชุม ที่มหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย (วัดชูจิตธรรมาราม) ต.สนับทึบ อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา รวมจำนวน ๑๐๐ หลัง, ก่อสร้างศาลาการเปรียญ และกุฏิที่พักอาศัยที่สำนักปฏิบัติธรรม “มกุฏคิรีวัน” ต.โป่งตาลอง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา จำนวน ๒๘ หลัง และให้ความอนุเคราะห์ในการก่อสร้าง ร.พ.บางแพ จ.ราชบุรี

• ตำแหน่งหน้าที่ในอดีตถึงปัจจุบัน

พ.ศ.๒๔๙๑-๒๕๐๒ เป็นเลขานุการสังฆมนตรีว่าการองค์การเผยแผ่และสั่งการแทนสังฆนายก, พ.ศ.๒๕๐๒-๒๕๐๕ เป็นเลขานุการ สังฆนายก, พ.ศ.๒๕๑๓-๒๕๑๕ เป็นเลขานุการ สมเด็จพระสังฆราช, เป็นเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย (ก.ส.ม.), เป็นกรรมการและเลขานุการมูลนิธิส่ง เสริมกิจการศาสนาและมนุษยธรรม (ก.ศ.ม.) เป็นรองประธานกรรมการมูลนิธิ ก.ศ.ม., พ.ศ. ๒๕๐๕-๒๕๒๖ เป็นรองเลขาธิการและเลขาธิการสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัยมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา แห่งประเทศไทย, พ.ศ.๒๕๒๖-๒๕๓๗ เป็นอธิการบดีสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นกรรมการอบรมพระธรรมทูตต่างประเทศ (ธรรมยุต), เป็นอนุกรรมการศูนย์ควบคุมการไปต่างประเทศ สำหรับพระภิกษุสามเณร (ศ.ต.ภ.), เป็นกรรมการคณะธรรมยุต, เป็นกรรมการเถรสมาคมคณะธรรมยุต, เป็นผู้อำนวยการมหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย, เป็นประธานคณะกรรมการมูลนิธิสงเคราะห์คนเป็นโรคเรื้อน, เป็นประธานคณะกรรมการ มูลนิธิธัมสิริ, เป็นกรรมการมูลนิธิมหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย (ม.ว.ก.), เป็นกรรมการ มูลนิธิสิรินธร (ส.ธ.), เป็นกรรมการมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย, เป็นกรรมการมูลนิธิสมเด็จพระสังฆราช อุฏฐายีมหาเถระ, เป็นเจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยาราม, เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย, เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม, เป็นประธานกรรมการบริหารสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูต ไปต่างประเทศ (ธรรมยุต), เป็นคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช และเป็นผู้รักษาการเจ้าคณะใหญ่ (ธรรมยุต)

• การปฏิบัติศาสนกิจในต่างประเทศ

ไปดูการพระพุทธศาสนา ณ ประเทศอินเดีย (ก่อนและหลังการเดินทางไปศึกษา), ไปร่วมฉลองพุทธชยันติ ณ ประเทศญี่ปุ่น และไปเยี่ยมทหารไทยที่ประเทศเกาหลี กลับมาแวะดูการพระศาสนาที่ฮ่องกงและประเทศเวียดนาม, ร่วมประชุมสงฆ์คณะธรรมยุต ที่ ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นประจำปี, เป็นผู้เริ่มก่อตั้งวัดญาณรังษี ที่รัฐเวอร์จิเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา, ไปดูการพระพุทธศาสนา ที่ประเทศฝรั่งเศส ประเทศเดนมาร์กและประเทศนอร์เว, ไปดูการพระพุทธศาสนาที่ประเทศอินโดนีเซีย และไปดูการพระศาสนาที่ประเทศไต้หวัน

• เกียรติคุณพิเศษ

ได้รับพระราชทานรางวัลเสาเสมาธรรมจักรจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะผู้ทำคุณประโยชน์ต่อ พระพุทธศาสนา ประจำปี ๒๕๒๖

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 87 ก.พ. 51 โดย กองบรรณาธิการ)
กำลังโหลดความคิดเห็น