xs
xsm
sm
md
lg

ขันธ์ห้า (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิปัสสนาภูมิ

การปฏิบัติสติปัฏฐานนำจิตมากำหนดพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม เป็นสติปัฏฐาน การตั้งสติหรือความมีสติ ปรากฏก็เป็นทางแห่งสมาธิกับปัญญาร่วมกันไป อันตรายของการปฏิบัติก็รวมเข้าในนิวรณ์ทั้งห้านั้น เมื่อจิตมีนิวรณ์ครอบงำ การปฏิบัติทำสติในสติปัฏฐานก็เป็นการทำยาก แต่เมื่อนิวรณ์สงบ การปฏิบัติในสติปัฏฐานก็สะดวกเข้า และการปฏิบัติในสติปัฏฐานนี้เองก็เป็นเครื่องช่วยสงบนิวรณ์ได้ด้วย เมื่อได้ตั้งใจยกเอาปัพพะใดปัพพะหนึ่งคือข้อใดข้อหนึ่งขึ้นมาตั้งสติกำหนดโดยที่มีอุปการธรรม ธรรมที่เป็นอุปการะช่วยเหลือเกื้อกูล คือมีอาตาปะ ความเพียร สัมปชานะ ความรู้ตัว สติ ความระลึกได้ กับความที่คอยกำจัดคือสงบหรือว่าละความยินดีความยินร้ายต่างๆ ในสิ่งต่างๆที่บังเกิดขึ้น เมื่อมีอุปการธรรมสี่ข้อนี้สนับสนุนก็จะทำให้สงบนิวรณ์ลงได้ และเมื่อสงบนิวรณ์ลงได้ ก็ดำเนินการปฏิบัติในสติปัฏฐานแม้ข้อที่ยกมาตั้งไว้ปฏิบัตินั้นต่อไปได้สะดวก

การปฏิบัติในเบื้องต้น สติย่อมออกหน้า ญาณหรือปัญญาก็ตามหลัง หรือจะเรียกว่าสมาธิออกหน้า ปัญญาตามหลังก็ได้ แต่ว่าในข้อนี้ก็ต้องเข้าใจว่า ที่ว่ามีสติออกหน้านั้นก็คือ มุ่งทำสติ ความระลึกได้ ซึ่งมีอาการที่ตามดูตาม รู้ตามเห็นที่ตั้งของสติที่ตั้งไว้นั้น ยังไม่มุ่งที่จะใช้ปัญญาพิจารณาเหมือนอย่างอานาปานปัพพะ ข้อที่ว่าด้วยลมหายใจเข้าลมหายใจออก ก็ทำสติตามดูตามรู้ตามเห็นลมหายใจที่หายใจเข้าที่หายใจออก อันปรากฏที่ปลายจมูกหรือที่ริมฝีปากเบื้องบน และเมื่อมีสติออกหน้าดั่งนี้ ปัญญาก็ย่อม บังเกิดตาม และอันที่จริงนั้นก็ต้องมีปัญญาเป็นพื้นฐานอยู่โดยแท้ คือจะต้องมีปัญญาที่รู้แนวปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนไว้ แม้เป็นปริยัติปัญญา ปัญญาในปริยัติ และก็ต้องมีปัญญารู้ประโยชน์ เห็นประโยชน์ของการปฏิบัติในสติปัฏฐานนี้ แม้ว่าจะยังไม่ใช่เป็นความรู้ของตนเองโดย ตรง อาศัยศรัทธาคือความเชื่อในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ก็ยังชื่อว่ารู้จักเลือกศรัทธา คือรู้จักเลือกเชื่อ เลือกเชื่อคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จึงได้ลงมือปฏิบัติ ก็นับว่าเป็นปัญญาออกหน้าเหมือนกัน ซึ่งถ้าไม่มีปัญญาที่เป็นพื้นอันทำให้รู้จักเลือกเชื่อดังกล่าวมานี้ และไม่มีปัญญาที่จะรู้ในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ก็ไม่สามารถที่จะปฏิบัติได้ ผู้ที่ไม่สนใจก็เท่ากับว่าไม่มีปัญญาเหมือนกัน คือไม่ใช้ปัญญา ก็เป็นอันว่าไม่ได้ประโยชน์ ฉะนั้นก็ต้องเข้าใจเรื่องปัญญาที่เรียกว่าเป็นพื้นฐาน หรือออกหน้าบ้าง ปัญญาที่ตามหลังบ้าง ดังนี้

การปฏิบัติตั้งสติพิจารณากายในทางที่ทำจิตให้กำหนด อยู่ในอารมณ์อันเดียว ดังกำหนดลมหายใจเข้าออกก็ดี ใช้ปัญญาพิจารณาพร้อมกับสติก็ดี ดังเช่นตั้งสติกำหนดพิจารณาอาการ ๓๑ ว่า เป็นของปฏิกูล หรือพิจารณาแยกกายนี้ออกเป็นธาตุสี่ให้เห็นสักแต่ว่าธาตุ แต่ก็ยังนับรวมอยู่ในสมถกรรมฐาน คือเป็นอุบายที่จะทำจิตให้สงบจากนิวรณ์ ทั้งหลาย เมื่อเริ่มมีจิตสงบขึ้น เวทนาก็ปรากฏ จับเวทนาขึ้น มากำหนดพิจารณาตามดู ให้รู้จักเวทนาตามที่เกิดขึ้น ทั้งให้รู้จักว่าเป็นสามิส มีอามิส หรือว่าเป็นนิรามิส ไม่มีอามิส ก็ทำจิตให้สงบยิ่งขึ้นไปอีก และจิตที่ถูกกายและเวทนาปรุงกันต่อมาโดยลำดับ โดยปราศจากสติที่เป็นสติปัฏฐานย่อมก่อนิวรณ์ให้บังเกิดขึ้น

อันนิวรณ์ที่บังเกิดขึ้นนั้นก็สืบเนื่องมาจากเวทนาและกายนี้แหละเป็นเหตุปัจจัยอันสำคัญดังที่ได้กล่าวแล้ว ว่ากายก็ปรุงเวทนา เวทนาก็ปรุงจิต เพราะเวทนานี้เองเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหาและเมื่อจิตถูกตัณหาเข้ามาปรุงเข้าอีกส่วนหนึ่ง ก็ปรากฏเป็นนิวรณ์ เมื่อมิได้ปฏิบัติในสติปัฏฐาน นิวรณ์ห้าซึ่งรวมเข้าแล้ว ก็คือราคะ โทสะ โมหะ หรือโลภ โกรธ หลง จึงบังเกิดขึ้นแก่จิตอยู่เป็นประจำ จนถึงมีคำเรียก ว่า เป็นอาลัยของจิต คือเป็นที่อาศัยของจิต เหมือนอย่างอาลัยคือน้ำเป็นที่อาศัยของปลา และเมื่อเป็นดั่งนี้ นิวรณ์นี้เองก็ปิดบังขันธ์ห้ามิให้ขันธ์ห้าปรากฏขึ้นเป็นภูมิของปัญญา เพราะว่าภูมิของปัญญาที่เรียกว่าวิปัสสนาภูมินั้นก็คือขันธ์ห้านี้แหละ ในเมื่อขันธ์ห้าถูกนิวรณ์ทั้งห้านี้ปิดบัง ก็เป็นภูมิของวิปัสสนาปัญญาไม่ได้

ฉะนั้น ในการปฏิบัติสติปัฏฐาน ในเมื่อตั้งสติกำหนดตามดูกาย กายจะปรุงเวทนาอย่างไรก็รู้ทัน ตามดูเวทนา เวทนาจะปรุงจิตอย่างไรก็รู้ทัน เมื่อเป็นดั่งนี้เวทนาก็ไม่เป็นปัจจัยแห่งตัณหา ไม่เป็นปัจจัยแห่งนิวรณ์ จิตจึงสงบ และเมื่อจิตสงบลงได้ก็คือสงบนิวรณ์ลงได้ ขันธ์ห้าจึงปรากฏ รูปขันธ์ กองรูปก็ปรากฏ เวทนาขันธ์ กองเวทนาก็ปรากฏ สัญญาขันธ์ กองสัญญาก็ปรากฏ สังขารขันธ์ กองสังขารก็ปรากฏ วิญญาณขันธ์ กองวิญญาณก็ปรากฏ ก็ปรากฏในอารมณ์ทั้งหลายดังเช่นในบัดนี้มีการบรรยายธรรมด้วยการใช้เสียง และมีการฟังธรรมด้วยการใช้โสตปราสาทหรือหู หูกับเสียงจึงประจวบกันอยู่ทุกคำพูด ดังนี้ก็เป็นรูปขันธ์ กองรูปปรากฏขึ้นมา เวทนาขันธ์ กองเวทนา ในเสียงที่มาประจวบกับหู คือเป็นสุขเป็นทุกข์ หรือเป็น กลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุขก็ปรากฏขึ้น สัญญาขันธ์ กองสัญญาคือความจำหมาย จำหมายในสิ่งที่พูดเป็นภาษา เป็นบัญญัติถ้อยคำก็จำได้ สัญญาขันธ์ก็ปรากฏขึ้น สังขารขันธ์ คือความคิดปรุงหรือความปรุงคิดก็เข้าไปในธรรมที่แสดง คือในเสียงที่แสดงธรรม เป็นสังขารขันธ์ปรากฏขึ้น วิญญาณขันธ์ กองวิญญาณคือความรู้สึกได้ยินเสียงก็ปรากฏขึ้น ดั่งนี้คือขันธ์ห้าในอารมณ์ทั้งหลายที่ปรากฏในปัจจุบัน

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 93 ส.ค. 51 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
กำลังโหลดความคิดเห็น