xs
xsm
sm
md
lg

อบรมกรรมฐาน ; ขันธ์ห้า (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อนัตตตลักขณสูตร
เทศนาที่สองอันชื่อว่า อนัตตลักขณสูตร ที่พระพุทธเจ้า ได้ทรงแสดงแก่พระปัญจวัคคีย์ เป็นการประทาน แสงสว่าง เหมือนอย่างทรงชูประทีปในที่มืดให้ท่านทั้งห้า ที่ได้ธรรมจักษุ ดวงตาเห็นธรรมในขั้นแรกแล้วได้ดวงตาเห็นธรรมในขั้นที่สุด มีใจความอันเป็นคำแปลโดยสรุปว่า พระพุทธเจ้าได้ตรัสยกเอารูปขึ้นแสดงว่าเป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน จากนั้นก็ทรงยกเอาเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ขึ้นแสดงว่าเป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตนโดย ลำดับ ครั้นแล้วจึงได้ตรัสสอบถามท่านทั้งห้า ครั้นตรัสสอบถามท่านทั้งห้าแล้วก็ได้ตรัสประมวลความเข้ามาอีกครั้งหนึ่ง คำแปลแห่งเทศนาที่สองมีดังต่อไปนี้
รูป เป็นอนัตตามิใช่อัตตาตัวตน ถ้ารูปจะพึงเป็นอัตตาตัวตนไซร้ รูปก็จะไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และก็จะพึงได้ในรูปว่า ขอให้รูปของเราจงเป็นดังนี้เถิด ขอให้รูปของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย แต่เพราะเหตุที่รูปเป็นอนัตตามิใช่อัตตาตัวตน ฉะนั้น รูปจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และก็ย่อมจะไม่ได้ในรูปตามปรารถนาว่า ขอให้รูปของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด ขอให้รูปของเราอย่าได้เป็นดั่งนั้นเลย
เวทนา คือความรู้เป็นสุขเป็นทุกข์ หรือเป็นกลาง ๆ ไม่ทุกข์ไม่สุขก็เช่นเดียวกัน
สัญญา คือความรู้จำก็เช่นเดียวกัน
สังขาร คือความรู้คิดปรุงหรือปรุงคิดต่างๆ ก็เช่น เดียวกัน
วิญญาณ คือความรู้สึกเห็นรูปได้ยินเสียงเป็นต้นก็เช่นเดียวกัน คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มิใช่อัตตาตัวตน ถ้าเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณจะพึงเป็นอัตตาตัวตนแล้วไซร้ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็จะไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และก็จะพึงได้ในเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณว่า ขอให้เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด ขอให้เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณของเรา อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย แต่เพราะเหตุที่เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตา มิใช่เป็นอัตตาตัวตน ฉะนั้นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และก็ย่อมจะไม่ได้เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นไปตามปรารถนาว่า ขอให้เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย
พระพุทธเจ้าครั้นทรงแสดงว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน โดยมีพระพุทธาธิบายให้เข้าใจชัดเจนว่า เพราะบังคับให้เป็นไปตามปรารถนา มิได้ จึงได้ตรัสถามท่านทั้งห้าทีละข้อว่า รูปเที่ยงหรือมิเที่ยง เวทนาเที่ยงหรือไม่เที่ยง สัญญาเที่ยงหรือไม่เที่ยง สังขารเที่ยงหรือไม่เที่ยง วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง ท่านทั้งห้าก็กราบทูลตอบว่าไม่เที่ยง จึงได้ตรัสสอบถามต่อไปว่า ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข ท่านทั้งห้าก็กราบทูลตอบว่าสิ่งนั้นเป็นทุกข์ จึงได้ตรัสถามสอบต่อไปว่า ก็สิ่งใดไม่เที่ยงเป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นเป็นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาตัวตนของเรา ท่านทั้งห้าก็กราบทูลตอบว่า ไม่ควรที่จะตามเห็นอย่างนั้น ครั้นได้ตรัสถามสอบและท่านทั้งห้าก็ได้กราบทูลตอบอันแสดงว่า ท่านทั้งห้าได้มีความรู้ความเห็นธรรมอันเป็นสัจจะคือความจริงในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณถูกต้องโดยตลอดแล้ว จึงได้ตรัสแสดงสรุปไปทีละข้อว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณที่เป็นอดีตคือล่วงไปแล้วก็ตาม ที่เป็นอนาคตยังไม่มาถึงก็ตาม ที่เป็นปัจจุบันก็ตาม ที่เป็นภายในก็ตาม ที่เป็นภายนอกก็ตาม ที่เป็นของหยาบก็ตาม ที่เป็นของละเอียดก็ตาม ที่เป็นของเลวก็ตาม ที่เป็นของประณีตดีก็ตาม ที่อยู่ในที่ไกลก็ตาม ที่อยู่ในที่ใกล้ก็ตาม รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณดังกล่าวทั้งหมดมิใช่ของเรา เรามิใช่เป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ และรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มิใช่เป็นอัตตาตัวตนของเรา พึงเห็นได้โดยสัมมาปัญญา คือปัญญาชอบตามที่เป็นแล้ว อย่างนี้
ครั้นได้ตรัสสรุปทั้งหมดดังกล่าวแล้ว จึงได้ตรัสต่อไป ว่า อริยสาวกผู้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ย่อมหน่ายในรูป หน่ายในเวทนา หน่ายในสัญญา หน่ายในสังขาร หน่ายในวิญญาณ ความหน่ายนี้เป็นนิพพิทา เมื่อหน่ายก็ย่อมสิ้นความติดใจยินดีอันเรียกว่าวิราคะ เพราะสิ้นความติดใจ ยินดี จึงวิมุตติหลุดพ้น และเมื่อวิมุตติหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณ คือความหยั่งรู้เกิดขึ้นว่า จิตวิมุตติหลุดพ้นแล้ว วิมุตติคือความหลุดพ้นของเราไม่กำเริบ ชาติสิ้นแล้ว ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย ชาติที่สุดของพรหมจรรย์ อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้กระทำแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป ดั่งนี้
พระธรรมสังคาหตจารย์ ผู้ร้อยกรองพระสูตรนี้ได้แสดงต่อไปว่า เมื่อพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนานี้อยู่ จิตของท่านทั้งห้าก็วิมุตติหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายดั่งนี้ นี้เป็นคำแปลพระสูตรที่สอง อันเป็นเทศนาที่พระพุทธเจ้าได้แสดงเป็นทุติยเทศนา เทศนาที่สองแก่พระปัญจวัคคีย์ คือพระภิกษุทั้งห้ารูป มีท่านพระอัญญาโกณฑัญญะเป็นต้น มีใจความที่เป็นคำแปลตั้งแต่ต้นจนจบเพียงเท่านี้
ปฏิเวธธรรม
อันเทศนาที่ทรงแสดงนี้ก็เป็นดวงประทีปที่พระพุทธเจ้า ได้ทรงชูขึ้นในที่มืด ท่านทั้งห้านั้นได้มีจักษุคือดวงตาที่ได้ล้างชำระมาเป็นอันดีแล้ว จึงได้มองเห็นแจ่มใส เห็นธรรมที่เป็นสัจจะคือความจริงทะลุปรุโปร่ง อันความรู้ความเห็นที่ทะลุปรุโปร่งดั่งนี้ เรียกว่า ปฏิเวธ ที่แปลว่าความเจาะแทง และก็มีคำแปลแกมอธิบายว่า ความรู้แจ้งแทงตลอด ก็คือความรู้ความเห็นที่ทะลุปรุโปร่งไม่ติดขัด เป็นความรู้แจ้งเห็นแจ้งทั่วถึง ดังนี้คือปฏิเวธ แต่ก็น่าจะมีผู้ตั้งปัญหาถามว่า ก็เมื่อเป็นดวงประทีปดวงเดียวกัน แต่ทำไมผู้ที่ได้ฟังเทศนาทั้งสองนี้ตั้งแต่ครั้งพุทธกาลมาจนถึงบัดนี้ จึงไม่อาจ ที่จะประสบวิมุตติ คือความหลุดพ้นถึงที่สุดเหมือนอย่าง ท่านทั้งห้านั้น ทั้งนี้ก็ตอบได้ว่า ก็เป็นประทีปดวงเดียวกันนั้นแหละ แต่ว่าจักษุคือดวงตาของบุคคลเป็นไปต่างๆ กัน เมื่อยังมีฝ้าคือผงธุลีเข้าตาอยู่มาก แม้จะมีดวงประทีปส่องเพื่อที่จะให้มองเห็น ก็ไม่สามารถที่จะมองเห็นได้ เพราะบรรดาผงธุลีที่เข้าตานั้นทำให้ดวงตาเกิดความมืดมัว ไม่อาจเห็นได้แจ้งชัด ถ้ามีผงเข้าตามากหรือเป็นโรคนัยน์ตาอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นเป็นโรคต้อต่างๆ ก็จะทำให้ตามืดมัว อาจจะมองไม่เห็นเอาเลยก็ได้ ฉะนั้น แม้จะเป็นประทีปดวงเดียวกันมาตั้งส่องอยู่ข้างหน้า เมื่อตาของบุคคลไม่แจ่มใสหรือว่ามืดมัว จึงไม่อาจจะมองเห็นได้ชัดเจนหรือไม่อาจจะมองเห็นได้ เพราะฉะนั้นแม้ว่าจะได้อ่านได้ฟังได้ศึกษาทราบความในปฐมเทศนา ทุติยเทศนาเหล่านี้บ่อยๆ ก็ตาม แต่เพราะมีผงเข้าตาอยู่มาก แถมยังเป็นโรคนัยน์ตาอยู่มาก จึงทำให้มองไม่เห็น จึงเป็นโทษแก่บุคคลแต่ละคน เอง ในเมื่อยังมีผงเข้าตาอยู่ก็ทำให้มองไม่เห็นมองไม่ชัด ไม่ใช่เป็นโทษของดวงประทีปที่พระพุทธเจ้าได้ทรงชูอย่าง นั้น และเมื่อพระพุทธศาสนายังเป็นไปอยู่ ก็กล่าวได้ว่าดวงประทีปนั้นยังส่องสว่างอยู่ เมื่อตาของบุคคลมีผงเข้าตามากหรือมีโรคนัยน์ตา จึงไม่อาจที่จะรู้ไม่อาจที่จะเห็นอยู่ เอง เพราะฉะนั้น ความรู้แจ้งแทงตลอดที่เป็นตัวปฏิเวธนั้นจึงยังไม่เกิดขึ้น
(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 95 ต.ค. 51 พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสัฆปริณายก)
กำลังโหลดความคิดเห็น