xs
xsm
sm
md
lg

อบรมกรรมฐาน : อายตนะหก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปิยรูป สาตรูป

ธรรมนั้นได้แสดงแล้วว่าเป็นสามัญสัจจธรรมส่วนหนึ่ง อริยสัจจธรรมส่วนหนึ่ง จิตนี้เมื่อได้รับการซักฟอก โดยสดับฟังสามัญสัจธรรมเป็นต้นว่า อนุปพพิกกถามาโดยลำดับแล้ว ก็ย่อมจะรับอริยสัจจธรรมได้ง่ายขึ้น เปรียบเหมือนผ้าที่สกปรกเมื่อได้รับการซักฟอกจนสะอาดดีแล้ว ย่อมควรที่จะรับน้ำย้อมฉะนั้น
อนึ่ง ในการพิจารณาทุกขสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์นั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสชี้เอาตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยาก ของใจว่าเป็นตัวเหตุให้เกิดทุกข์ และในการพิจารณาจับตัวตัณหาที่บังเกิดขึ้นในใจนั้น ก็จะพิจารณาได้ที่อายตนะ ภายในและอายตนะภายนอกที่ประจวบกันอยู่นี้เอง หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่ง ก็จับพิจารณาได้ที่ทวารทั้งหกและอารมณ์ทั้งหก ก็อายตนะทั้งสองดังกล่าวนั้นเองแสดงต่างกันแต่ชื่อ ฉะนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าได้ทรงชี้ลักษณะของตัณหาอันเป็นทุกขสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ จึงได้ทรงตรัสแสดงต่อไปว่า ตัณหานั้นย่อมเกิดขึ้นตั้งอยู่ในที่ไหน ตัณหานั้นย่อมเกิดขึ้นตั้งอยู่ที่ปิยรูป สาตรูป คือรูปอันเป็นที่รัก รูปอันเป็นที่พอใจ สำราญใจ อะไรเป็นปิยรูป สาตรูป ก็ทรงชี้ยกเอาอายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ขึ้นแสดงก่อนว่าตัณหานั้นย่อมเกิดขึ้นตั้งอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้เอง และต่อจากนั้นก็ได้ตรัสยกเอาอายตนะภายนอกที่คู่กันว่า ตัณหาเกิดขึ้นอยู่ที่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และเรื่องราวทางใจทั้งหลายนั่นเอง ดังนี้
คำว่าปิยรูป สาตรูปนี้ ไม่ได้หมายถึงว่าเป็นรูปที่ตาเห็นเท่านั้น จึงจะเรียกว่ารูป แต่ว่าหมายถึงรูปนิมิตในใจ คือสิ่งที่เป็นที่กำหนดหมายเกิดขึ้นตั้งอยู่แห่งตัณหา ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรมนามธรรม สิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นที่กำหนด หมายบังเกิดขึ้นตั้งอยู่ของตัณหาแล้ว ก็เรียกว่ารูปในที่นี้ทั้งนั้น และโดยเฉพาะยกเอาปิยรูป สาตรูป คือรูปที่เป็นที่รักเป็นที่ชอบใจขึ้นเป็นประธาน ก็เพราะว่าอันตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยาก ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในลักษณะของกามตัณหา ภวตัณหา ประกอบกับนันทิ ความเพลิน ราคะ ความติดความยินดีนั้นย่อมอยากได้ติดใจสิ่งเป็นที่รักที่ชอบใจ ตัณหาจึงจะบังเกิดขึ้นตั้งอยู่ในสิ่งนั้น และเมื่อได้พบปะกับสิ่งที่ตรงกันข้าม คือสิ่งที่เป็นที่เกลียดชังไม่ชอบใจ ก็ย่อมจะเกิดความดิ้นรนทะยานอยากขึ้นอีกอย่างหนึ่ง สงเคราะห์เรียกว่าตัณหาเหมือนกัน แต่ว่าเป็นวิภวตัณหา คือดิ้นรนทะยานอยากที่จะให้สิ่งที่เกลียดชังไม่ชอบใจนั้นสิ้นไปหมดไป ตัณหาลักษณะที่สองนี้ก็นับว่าเป็นลักษณะที่รอง ลักษณะที่ขึ้นหน้านั้นก็คือกามตัณหา ภวตัณหา และโดยปกติที่เรียกว่าตัณหานั้น ก็มักจะเป็นตัณหาที่มีลักษณะ อันเรียกว่ากามตัณหา ภวตัณหา อันบังเกิดขึ้น ตั้งอยู่ในปิยรูป สาตรูป คือสิ่งที่เป็นที่รักที่ชอบใจนั้นแหละเป็นประการสำคัญ

กำหนดสติในปัจจุบันธรรมทางอายตนะ

คราวนี้ตั้งสติกำหนดเข้ามาดูให้รู้จักตากับรูป ให้รู้จักหูกับเสียงให้รู้จักจมูกกับกลิ่น ให้รู้จักลิ้นกับรส ให้รู้จักกายและสิ่งที่กายถูกต้อง ให้รู้จักมโนคือใจ และธรรมคือเรื่องราวที่คิดที่รู้อยู่ในใจอันประจวบกันอยู่ นี้เป็นทางปฏิบัติอันหนึ่งที่ผู้ปฏิบัติในสติปัฏฐานใช้ปฏิบัติได้ คือตั้งสติให้รู้จักอายตนะภายใน อายตนะภายนอกที่ประจวบกันอยู่ในปัจจุบันซึ่งมีอยู่ทุกขณะ ตากับรูปที่ประจวบกันก็มีอยู่ทุกขณะที่ตายังลืมอยู่ และมองเห็นรูปอันนั้นรูปอัน นี้ หูกับเสียงก็ประจวบกันอยู่ทุกขณะได้ยินเสียงนั้นได้ยินเสียงนี้ จมูกกับกลิ่นเป็นต้น ตลอดถึงมโนคือใจและเรื่องราวก็ประจวบกันอยู่ทุกขณะ โดยเฉพาะมโนคือใจและเรื่องราวที่รู้ที่คิดในใจย่อมมีอยู่ทุกขณะ อันนับว่าอาการที่อายตนะภายในอายตนะภายนอกประจวบกันอยู่นี้เป็นปัจจุบันธรรม คือธรรมที่เป็นปัจจุบัน คือเป็นสิ่งที่เป็นปัจจุบัน
แต่โดยปกตินั้นทุกๆคนมักจะใส่ใจถึงแต่ความประจวบกันทางใดทางหนึ่งที่ต้องการ เช่นต้องการจะดูสิ่งอันใดด้วยตา เช่นดูรูป ก็ใส่ใจในรูปที่ตาเห็นนั้นใส่ใจถึงในการดูนั้น เมื่อต้องการที่จะฟังเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็ใส่ ใจอยู่ในการฟังและเรื่องที่ฟังนั้น เมื่อต้องการที่จะคิดเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็ใส่ใจในเรื่องที่คิดและในการที่คิดนั้น เพราะเหตุว่าบางทีสิ่งเหล่านั้นก็เป็นการงานที่ทำ และบาง ทีสิ่งเหล่านั้นก็เป็นปิยรูป สาตรูป คือเป็นสิ่งที่รัก เป็นสิ่งที่ชอบใจโดยตรง และบางทีก็ตั้งใจไว้ก่อนว่าจะดูสิ่งนั้นจะฟังสิ่งนี้ แต่บางทีก็ไม่ได้ตั้งใจไว้ก่อน เช่นเมื่อเดินไปใน ถนนก็สุดแต่ว่าจะเห็นอะไร สุดแต่ว่าจะได้ยินอะไร ดังนี้เป็นต้น และเมื่อมีสติที่ระลึกได้อยู่ถึงอายตนะภายในภายนอกทางใดทางหนึ่งที่ประจวบกันอยู่ในปัจจุบัน ก็นับ ว่าได้มีสติที่รักษาตัว ที่รักษาใจได้ตามสมควร แต่ถ้าไม่มีสติที่ระลึกได้ถึงปัจจุบันธรรมดังกล่าวนั้น เพราะเหตุว่าส่งใจล่องลอยไปในที่อื่นเรื่องอื่นคือปัจจุบันธรรมเป็นอย่างหนึ่ง แต่ว่าส่งใจล่องลอยไปเสียอีกอย่างหนึ่ง เช่นปัจจุบันธรรมขณะนี้ต้องการฟังธรรมบรรยาย เมื่อมีสติคอยตั้งใจฟัง ฟังให้ได้ยินอยู่ก็เรียกว่า มีสติอยู่ในปัจจุบัน ธรรม แต่เมื่อส่งใจล่องลอยไปในที่อื่น ก็เรียกว่าไม่มีสติอยู่ในปัจจุบันธรรม แต่ว่าส่งใจล่องลอยไปเสียในอีกเรื่องหนึ่ง กำลังเดินอยู่ในถนนเมื่อมีสติระลึกได้อยู่ว่า อายตนะภายในภายนอกกำลังเป็นไปอยู่ในปัจจุบัน คือเดินไปอยู่ ดั่งนี้ก็มีสติอยู่ในปัจจุบันธรรม แต่ว่าเมื่อเดินไปแต่ว่าส่งใจล่องลอยไปคิดเสียในเรื่องอื่น จนลืมไปว่าเรากำลังเดินอยู่ในถนน ดั่งนี้ก็เป็นการขาดสติ
(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 97 ธ.ค. 51 พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
กำลังโหลดความคิดเห็น