xs
xsm
sm
md
lg

อบรมกรรมฐาน : อาตยนะหก (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทำสติให้เป็นสติปัฏฐาน
ความที่หัดให้มีสติระลึกได้ รู้จักอายตนะภายในภาย นอกที่ประจวบกันอยู่ในปัจจุบันให้มากที่สุด ดั่งนี้ก็นับว่าเป็นการหัดสติในปัจจุบันธรรม เป็นการหัดให้มีสติขึ้นเป็นประการแรก และอาจจะปฏิบัติสติปัฏฐานในปัจจุบันธรรมที่กำลังประสบนี้ได้ ยกตัวอย่างเช่นว่าในบัดนี้กำลังฟังเสียง การฟังเสียงนั้นเป็นปัจจุบันธรรม ฟังเพื่อให้เกิดปัญญา คือความรู้ในธรรมที่แสดง ก็เป็น วิธีฟังอย่างหนึ่ง แต่ว่าฟังและ ทำสติให้เป็นสติปัฏฐานขึ้นมา เป็นกาย เป็นเวทนา เป็นจิต เป็นธรรม ในหูกับเสียงขึ้นมา ก็เป็นวิธีฟังอีกอย่างหนึ่งซึ่งใช้ได้เหมือนกัน
สำหรับในการฟังให้เป็นสติปัฏฐานขึ้นมานั้น ก็ตั้งสติ กำหนดหูที่ฟังกับเสียงที่ได้ยิน และให้รู้จักว่า หูกับเสียงนี้ เป็นกาย และก็กำหนดดูต่อไปว่า บัดนี้เวทนาเป็นอย่างไร เป็นสุขในการฟัง หรือเป็นทุกข์ในการฟัง หรือเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุขในการฟัง เพราะจะต้องมีเวทนาประกอบไปด้วยทุกขณะ เมื่อกำหนดดูเข้ามาจริงๆแล้วก็ย่อมจะรู้ว่ามีสุขหรือมีทุกข์ หรือเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข ถ้ารู้สึกสบายก็เป็นสุข ไม่สบายอึดอัดรำคาญอะไรเป็นต้นก็เป็นทุกข์ ก็รู้สึกเฉยๆไม่ชัดนักว่าสุขว่าทุกข์ ก็เรียกว่าเป็นกลางๆ ก็ให้รู้จักว่านี่เป็นเวทนา และก็ทำสติกำหนดให้รู้จักว่า ผู้รับเวทนาก็คือจิตนี้เอง
ที่ว่าเป็นสุขนั้นก็คือจิตเป็นสุข เป็นทุกข์ก็คือจิตเป็นทุกข์ เป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุขก็จิตเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ ไม่ สุข จิตนี้เป็นส่วนสำคัญ ถ้าไม่มีจิตแล้วทุกข์ก็ไม่ปรากฏ สุขก็ไม่ปรากฏ กลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขก็ไม่ปรากฏ จิตนี้เองจึงเป็นผู้รับ เป็นสุขเป็นทุกข์ หรือเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข ก็ตั้งสติกำหนดดูจิตว่าจิตเป็นอย่างไร จิตมีสุขเป็นอย่างไร จิตมีทุกข์เป็นอย่างไร จิตเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุขเป็นอย่างไร ก็ย่อมจะรู้จักจิตของตน
คราวนี้ก็กำหนดต่อไปว่า จิตที่เป็นสุขแล้วเพราะการฟังจิตเป็นอย่างไร ชอบใจไหม จิตก็ย่อมจะชอบ ถ้าหาก ว่าจิตเป็นทุกข์เพราะการฟัง จิตเป็นอย่างไร ชอบใจไหม ไม่ชอบใจ ถ้าจิตเป็นกลางๆ จิตเป็นอย่างไร จิตก็เป็นกลางๆ ไม่ชัดว่าชอบหรือไม่ชอบ ก็เฉยๆไป กำหนดดูให้รู้จักตัวความชอบหรือความไม่ชอบหรือความที่เฉยๆนั้น ว่านั้นแหละเป็นธรรมในจิตที่บังเกิดขึ้นทันทีเหมือนกันเพราะการฟัง
รู้กุศลธรรมและอกุศลธรรม
การหัดทำสติให้รู้จักกาย รู้จักเวทนา รู้จักจิต รู้จักธรรมที่เป็นปัจจุบันธรรมดั่งนี้ บางอย่างอาจจะชัด บางอย่างอาจจะไม่ชัด บางอย่างที่ชัดนั้นเช่นว่า หูกับเสียงที่ประจวบกันอยู่เป็นปัจจุบัน สมมติว่าเป็นเสียงสรรเสริญ เขาสรรเสริญก็ได้ยิน ก็ดูก็ให้ทำสติให้รู้จักว่าหูกับเสียงก็เป็นกาย แล้วดูให้รู้จักเวทนา ให้รู้จักว่าเป็นสุขขึ้นมา เพราะได้ยินเสียงสรรเสริญ นั่นก็เป็นสุขเวทนา ดูให้รู้จักจิตว่าเป็นสุขนั้นก็คือจิตนี่เองเป็นสุข คราวนี้จิตที่เป็นสุขที่ ได้ยินเขาสรรเสริญนั้นจิตเป็นอย่างไร จิตก็ชอบใจเพลิด เพลินยินดี ก็ให้รู้จักว่านั่นก็เป็นธรรมขึ้นในจิต แต่ว่าถ้าความยินดีนั้นเป็นตัวกิเลส ก็เป็นอกุศลกรรม เป็นความหลงยินดี ก็ให้รู้จักว่านี่เป็นอกุศลธรรม จิตฟูขึ้นมาแล้ว เพราะความยินดี คราวนี้อีกทางหนึ่งตรงกันข้าม หูได้ยินเสียง แต่ว่าเป็นเสียงติเตียนเสียงด่าว่าก็ให้ทำสติให้รู้จักว่าหูกับเสียงนี้เป็นกาย ก็ย่อมจะเกิดทุกขเวทนาเพราะถูกเขาด่า ถูกเขานินทา นั่นก็เป็นเวทนา ดูให้รู้จักจิต จิตที่เป็น ทุกข์เพราะถูกเขาด่า ถูกเขานินทา ให้รู้จักว่าจิตนี้เองเป็น ตัวรับทุกข์ขึ้นมา แล้วก็ดูให้รู้จักต่อไปว่า เมื่อจิตเป็นทุกข์ เพราะถูกเขาด่าเขานินทาก็เกิดอะไรขึ้นมา ก็เกิดความเสียใจ เกิดความโกรธ เกิดความฟุบแฟบหมดกำลังใจเป็นต้น นั่นก็เป็นอกุศลธรรมขึ้นในจิตเช่นเดียวกัน คือหัดดูให้รู้จักในเมื่ออายตนะภายในอายตนะภายนอกประจวบกันดั่งนี้ว่านี่เป็นกาย นี่เป็นเวทนา นี่เป็นจิต นี่เป็นธรรม ธรรมก็ให้รู้จักว่านี่เป็นกุศลนี่เป็นอกุศล หรือนี่เป็นกลางๆ สำหรับฝ่ายกุศลนั้นก็มีอยู่เป็นอันมาก เช่นหูกับเสียงประจวบกันเป็นเสียงที่แสดงธรรม ก็ให้รู้จักว่านั่นก็เป็นกาย ก็เกิดสุขเวทนาในเมื่อมีกุศลฉันท์อยู่ นั่นก็เป็นเวทนา ก็จิตนี่เองที่เป็นผู้ที่เป็นสุข เพราะฟังธรรม เป็นจิตที่สงบ และความสงบกับตัวสติ ความระลึกได้กับตัวความรู้ในธรรมก็เป็นกุศลธรรมขึ้นมา ก็บังเกิดสืบเนื่องกันไป ดูให้รู้จักดั่งนี้

รู้จักจำแนกธรรมหรือธรรมวิจัย
ความที่มีสติหัดมากำหนดในปัจจุบันธรรมทางอายตนะ ให้จักเป็นกาย เป็นเวทนา เป็นจิต เป็นธรรม ดั่งนี้ตามเป็นจริง เรียกว่าเป็นสติที่รักษาตัวได้ดียิ่งขึ้นไป เพราะจะทำให้เกิดความรู้ความยับยั้งฝ่ายอกุศล และทำให้เกิดความเจริญฝ่ายกุศล เพราะเมื่อมีสติกำหนดรู้อยู่ดั่งนี้ ถ้าเป็นฝ่ายอกุศล ฝ่ายอกุศลนั้นก็จะสงบด้วยสติที่รู้ ถ้าเป็นฝ่ายกุศล ฝ่ายกุศลนั้นก็จะตั้งอยู่และก็จะงอกงามยิ่งขึ้นด้วยอำนาจสติที่ระลึกรู้นั้น ฉะนั้น จึงเป็นสติที่เป็นเครื่องรักษาตัวเป็นเครื่องรักษาใจเป็นอย่างดี เรียกว่าเป็นการหัดปฏิบัติทำโพชฌงค์ คือองค์แห่งความรู้ด้วย คือหัดจำแนกแยกแยะธรรมอออกไปให้รู้จัก ตั้งต้นแต่ให้รู้จักอายตนะภายในภายนอกที่ประจวบกันแต่ละข้อ ว่านี่เป็นทางตา นี่เป็นทางหู นี่เป็นทางจมูก นี่เป็นทางลิ้น นี่เป็นทาง กาย นี่เป็นทางใจ และแต่ละทางที่เป็นปัจจุบันธรรมนั้น นี่เป็นกาย นี่เป็นเวทนา นี่เป็นจิต นี่เป็นธรรม ธรรมนี้เป็นอกุศล นี้เป็นกุศล นี้เป็นกลางๆ ก็เป็นอันว่า ทำให้เกิดความรู้จำแนก เรียกว่า ธรรมวิจัย แยกแยะออกไปได้ว่าในก้อนอาการของจิตใจที่บังเกิดขึ้นทุกขณะนี้ อะไร เป็นอะไร มาทางไหน ต้นทางอยู่ที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย หรือที่ใจ และก็รู้จำแนกออกไปว่ากระบวนของจิตใจนี้ดำเนินไปอย่างนี้นั้น อะไรเป็นอะไรตามเป็นจริง ดั่งนี้ ก็จะเป็นธรรมวิจัยขึ้นมาในตัวเอง แล้วก็จะทำให้เกิดปหานะ การละ ละอกุศล ภาวนา และทำกุศลให้เกิดขึ้นไปโดยลำดับ ฉะนั้นอายตนะภายในภายนอกที่ประจวบกันอยู่เป็นปัจจุบันนี้แหละ เป็นทางปฏิบัติอันหนึ่งของผู้ปฏิบัติที่จะหัดทำสติให้มีความระลึกรู้อยู่
(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 98 ม.ค. 52 พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
กำลังโหลดความคิดเห็น