xs
xsm
sm
md
lg

อบรมกรรมฐาน : ขันธ์ห้า (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปัญญาในขันธ์ห้า
ความเกิดขึ้นของขันธ์ห้านี้จะเกิดขึ้นในทุกๆอารมณ์ และในขณะเดียวกันก็ดับไปในทุกๆอารมณ์ ดังที่ได้เคยแสดงแล้ว ขันธ์ห้าเกิดขึ้นในเสียงคำที่หนึ่ง ก็ดับไปในเสียงคำที่หนึ่งนั้น ถ้าเกิดขึ้นในเสียงคำที่สอง ก็ดับไปในเสียงคำที่สองนั้น ดั่งนี้โดยลำดับ เป็นขันธ์ห้าที่เป็นปัจจุบัน คราวนี้เมื่อขันธ์ห้าปรากฏเป็นความเกิดความดับขึ้นในอารมณ์ทั้งหลายทุกขณะจิตดั่งนี้ ก็ตั้งสติกำหนดดูขันธ์ห้าที่ปรากฏขึ้นนี้ หัดดูไปทีละข้อก็จะไม่ทัน เพราะว่าเกิดขึ้นรวดเร็วมาก ก็อาจจะหัดดูอย่างย่นย่อลงเป็นรูปและนาม หูกับเสียงที่มาประจวบกันก็เป็นรูป คือเป็นสิ่งที่รู้ นามก็เป็นตัวรู้ รู้รูปนั้น เสียงกับหูที่มาประจวบกันเป็นรูปเกิด ขึ้น นามก็เกิดขึ้นเป็นตัวรู้ขึ้นทันทีทุกๆคำก็กำหนดว่าเกิดดับอยู่ทุกๆคำ ก็จะทำให้เห็นรูปเห็นนามชัดขึ้น เห็นเกิดเห็นดับชัดเจนขึ้น ดั่งนี้ก็เป็นสติในขันธ์ห้า ย่อลงก็ในรูปในนาม และก็เป็นปัญญาในเมื่อความเกิดความดับปรากฏขึ้น เพราะว่าความเกิดความดับนั้นเป็นสัจจะคือความเป็นจริง เรียกว่าเป็นสัจจธรรม ธรรมที่เป็นตัวความจริง
เมื่อสัจจธรรม ธรรมที่เป็นความจริงปรากฏขึ้น นี้แหละเป็นปัญญาที่รู้เข้าถึงสัจจะที่เป็นตัวความจริง แต่ว่าถ้าสติยังไม่ชัดตามดูตามรู้ตามเห็นไม่ชัด ปัญญาที่เป็นตัวรู้ถึงสัจจธรรมก็ไม่ชัด จะต้องใช้อนุมานปัญญา ปัญญาโดยอนุมานเข้าช่วย คืออนุมานเอาว่าเป็นอย่างนี้ ตามเหตุตามผล แต่เมื่อสติกำหนดได้ชัด ความเกิดความดับปรากฏชัด นี่แหละก็เป็นตัวปัญญาควบคู่กันมากับสติและปัญญาที่ชัดเจนยิ่งขึ้นนั้น ความดับจะปรากฏขึ้นชัดมากจนเหมือนกับเป็นความดับ เป็นความดับเท่านั้นในขันธ์ห้าหรือในรูปในนาม นั้น เพราะฉะนั้นการปฏิบัติเมื่อมาถึงขั้นนี้ก็นับว่าเป็น ปัญญาออกหน้า เข้าเขตการปฏิบัติทางวิปัสสนาโดยที่มีสตินำทางมาโดยลำดับ

ความรู้เหตุปัจจัยในขันธ์ห้า
เมื่อได้ปัญญาในขันธ์ห้าดั่งนี้ ก็ย่อมจะได้ความรู้จักเหตุปัจจัยในขันธ์ห้า คือเหตุปัจจัยที่จะให้ขันธ์ห้าบังเกิดขึ้นก็จะปรากฏขึ้น ได้แก่อายตนะภายในและอายตนะภายนอกที่คู่กันทั้งหก กล่าวคือเมื่อขันธ์ห้าปรากฏดังกล่าว รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ปรากฏ วิญญาณขันธ์นั้นจะปรากฏเป็นความรู้สึกเห็นรูป ได้ยินเสียงเป็นต้น ก็ดังที่พูดกันว่าเห็นอะไร ได้ยินอะไร ได้ทราบกลิ่นอะไร ได้ทราบรสอะไร ได้ทราบสิ่งที่ถูกต้องทางกายอะไร ได้รู้เรื่องที่มโนคือใจคิดอะไร ที่พูดกันอยู่และเมื่อพูดกันดั่งนี้ก็มักจะพูดกันว่า ตานั้นแหละเห็น หูนั่นแหละได้ยิน จมูกนั่นแหละได้ทราบกลิ่น ลิ้นนั่นแหละได้ทราบรส กายนั่นแหละได้ทราบสิ่งที่ถูกต้องทางกาย มโนคือใจนั่นแหละได้รู้เรื่องที่ใจคิด และก็มักจะพูดกันอย่างนี้ และเข้าใจกันอย่างนี้ แต่ว่าทางกระแสธรรมนั้นมิใช่ตาเห็น รูป หูได้ยินเสียง แต่อันที่จริงนั้นจักขุวิญญาณต่างหาก เห็นรูป โสตวิญญาณต่างหากได้ยินเสียง ฆานวิญญาณ ต่างหากได้ทราบกลิ่น ชิวหาวิญญาณต่างหากได้ทราบรส กายวิญญาณต่างหากได้ทราบสิ่งที่ถูกต้องทางกาย มโนวิญญาณต่างหากได้รู้เรื่องที่ใจคิด
ฉะนั้น สิ่งที่ได้เห็นจริงๆ สิ่งที่ได้ยินจริงๆ ก็คือวิญญาณ นั่นเอง ไม่ใช่ตา ไม่ใช่หู เป็นต้น ดังจะพึงเห็นได้ว่า การที่หู กับเสียงกำลังประจวบกันอยู่ในบัดนี้ เสียงก็คือเสียงแสดง ธรรม หูก็คือหูที่ได้ยินเสียงที่แสดงธรรม จะต้องมีมโน คือใจเข้าตั้งฟังอีกด้วยจึงจะสำเร็จการได้ยินเสียง ดังเช่น ในบัดนี้ ถ้ามโนคือใจไม่ตั้งเพื่อที่จะฟัง คือว่าส่งใจไปเสียในที่อื่น หูจะดับทันทีไม่ได้ยิน อันที่จริงหูนั้นก็ดีไม่หนวก เสียงก็มาประจวบอยู่กระทบอยู่เป็นปรกตินั้นแหละ แต่ว่าใจไม่ฟัง ใจจะต้องตั้งฟังด้วยพร้อมกันไปจึงจะได้ยิน การได้ยินนั้นจึงไม่ใช่หูได้ยิน ใจต่างหากที่ได้ยิน ดังที่เรียกในที่นี้ว่า โสตวิญญาณเป็นตัวได้ยิน ฉะนั้น เมื่อวิญญาณขันธ์ปรากฏ วิญญาณขันธ์นั้นต้นทางมาทางไหน ก็มาทางตา กับรูปที่ประจวบกัน หูกับเสียงที่ประจวบกัน จมูกกับกลิ่นที่ประจวบกัน ลิ้นกับรสที่ประจวบกัน กายและโผฏฐัพพะคือ สิ่งที่กายถูกต้องที่ประจวบกัน มโนคือใจกับธรรมคือเรื่อง ราวมาประจวบกัน ต้นทางของวิญญาณก็คือว่า อายตนะภายในหกและอายตนะภายนอกหกที่คู่กันมาประจวบกันนั้น
เมื่อวิญญาณขันธ์ปรากฏขึ้น อายตนะภายในกับ อายตนะภายนอกมาประจวบกันแต่ละคู่ย่อมมาปรากฏขึ้นแก่สติ เป็นอันว่าได้รู้ถึงเหตุเกิดขึ้น ปัจจัยเกิดขึ้นเป็นขันธ์ห้าอันเป็นปัจจุบันธรรมว่ามาทางอายตนะดังกล่าวนี้ ตั้งต้นแต่อายตนะคู่ที่หนึ่ง ก็สุดแต่ว่าในปัจจุบันนั้น อายตนะคู่ไหนมาประจวบกันอย่างไร ดังในบัดนี้ก็อายตนะคู่ที่สอง คือโสตกับเสียงที่มาประจวบกัน ก็ให้สติกำหนดหูกับเสียงที่มาประจวบกันนี้เป็นปัจจุบันธรรม เป็นเหตุปัจจุบันให้เกิดขันธ์ห้าในเสียงขึ้น ตั้งต้นแต่ว่าหูกับเสียงนี้เป็นรูปขันธ์ ก็เป็นเวทนาขันธ์ เป็นสัญญาขันธ์ เป็นสังขารขันธ์ และเป็นวิญญาณขันธ์ อายตนะที่มาประจวบกันอยู่ก็ปรากฏขึ้น

ละสังโยชน์ด้วยสติและปัญญา
เมื่ออายตนะที่มาประจวบกันอยู่ปรากฏขึ้นแล้ว ถ้ามีสติกำหนดดูอยู่ย่อมจะได้พบภาวะของกิเลสอีกอันหนึ่งที่บังเกิดขึ้นสืบต่อกันไป คือสังโยชน์ อันได้แก่ความผูก เมื่อตากับรูป หูกับเสียงประจวบกันเป็นต้น ก็เกิด สังโยชน์คือความผูกขึ้น คือผูกตากับรูปนั้นกับจิต ยกตัวอย่างเช่น ตากับรูปเมื่อมาประจวบกันเป็นขันธ์ห้าขึ้นมาดังกล่าวแล้ว ก็เกิดสังโยชน์คือความผูกขึ้น ผูกตากับรูปนั้นกับจิต หรือว่าจิตก็ผูกอยู่ที่ตากับรูปนั้น
ท่านจึงเปรียบเหมือนกับว่าวัวขาวกับวัวแดงอันถูกผูกอยู่ที่แอกด้วยเชือก อันที่จริงแอกนั้นก็เป็นอย่างหนึ่ง วัวขาวกับวัวแดงก็เป็นอย่างหนึ่ง แต่ว่ามีเชือกมาผูกไว้ที่แอก เชือกที่ผูกนี้คือตัวสังโยชน์ เพราะอันที่จริงจิตนั้นก็อย่าง หนึ่ง ตากับรูปนั้นก็อย่างหนึ่ง แต่ว่ามีสังโยชน์อันเป็นเหมือนอย่างเชือกมาผูกเอาไว้ เมื่อเป็นดั่งนี้ แม้ว่าตากับรูป นั้นจะประจวบกันไปแล้ว เกิดดับไปแล้ว แต่ว่ายังผูกอยู่ที่จิต เหมือนกับว่าเห็นอะไรไปเมื่อวานนี้ คือตากับรูป ประจวบกันเมื่อวานนี้ แต่บัดนี้ก็ยังผูกอยู่ที่จิต ตากับรูป นั้น ยังปรากฏอยู่ที่จิตในวันนี้ เพราะสังโยชน์นี้แหละที่ เป็นเหมือนอย่างเชือกที่เป็นตัวผูก และสังโยชน์ที่เกิดขึ้นนี้ ก็เพราะว่าสติและปัญญาเกิดขึ้นตัดไม่ทันห้ามไม่ทัน สังโยชน์ก็บังเกิดขึ้นผูกเอาไว้ และเมื่อผูกเอาไว้ก็เหมือนอย่างที่วัวขาววัวแดงติดอยู่กับแอก วัวขาววัวแดงก็ลากแอกไป เมื่อตากับรูปผูกอยู่กับจิตด้วยสังโยชน์ก็ดึงจิตไปด้วยอำนาจของความรักบ้าง ความชังบ้าง ความหลงบ้าง ก็เป็นตัวนิวรณ์นี้แหละ ก็ให้ตั้งสติกำหนดอยู่ดั่งนี้ คอยทำความรู้ในขณะที่ตากับรูปเป็นต้นประจวบกัน ให้รู้ถึงความเกิดดับอันเป็นสัจจะคือความจริง เมื่อความรู้เข้าถึงสัจจะคือความจริงคือความเกิดดับนี้ชัด สังโยชน์ก็ไม่เกิด แต่ถ้าปัญญาอันนี้อ่อนสังโยชน์ก็เกิด
(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 94 ก.ย. 51 พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
กำลังโหลดความคิดเห็น