xs
xsm
sm
md
lg

พรหมวิหารสี่ข้อ เมตตาและกรุณาเจโตวิมุตติ (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ความได้ปัญญาในธรรมนั้นโดยทางหนึ่งต้องอาศัยโพชฌงค์ องค์แห่งความรู้ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้โดยเอกเทศบ้าง รวมอยู่ในหมวดโพธิปักขิยธรรม หรือในหมวดสติปัฏฐานทั้งสี่นี้บ้าง และได้มีพระพุทธภาษิตตรัสแสดงไว้ว่า ใช้ปฏิบัติอบรมกรรมฐานข้ออื่นๆ ได้อีกด้วย ดังที่ตรัสสอนให้เจริญโพชฌงค์ทั้งเจ็ด ประกอบไปด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา คือในการอบรมธรรมทั้งสี่ข้อนี้ โดยเป็นพรหมวิหารธรรม ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพรหมคือผู้ประเสริฐหรือผู้ใหญ่ ซึ่งหมายถึงจิตใจที่เมื่อประกอบด้วยธรรม เหล่านี้ก็เป็นจิตใจขั้นพรหม คือเป็นจิตใจที่ใหญ่ที่ประเสริฐ หรือโดยเป็นอัปปมัญญา คือแผ่ไปในสรรพสัตว์ทุกถ้วนหน้า ไม่มีประมาณ

ในการอบรมปฏิบัติธรรมเหล่านี้ก็ใช้โพชฌงค์ทั้งเจ็ดนี้เป็นหลักในการอบรมนั้นด้วย คือจะต้องมีสติ ความระลึกได้ ระลึกได้ถึงธรรมข้อนี้ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ว่าจะพึงอบรมให้มีขึ้นใน จิตใจ ปลูกฝังให้มีขึ้นในจิตใจ จะต้องระลึกได้ถึงแนวปฏิบัติซึ่งอาศัยความคิด คือตั้งจิตคิดถึงสัตว์ทั้งหลายทุกถ้วนหน้า ในเมื่ออบรมให้เป็นอัปปมัญญา หรือว่าคิดถึงจำเพาะบุคคลหรือสัตว์บุคคลนั้นๆเจาะจง ก็จะต้องมีสติคือความระลึกได้ ระลึกได้ถึงสัตว์บุคคลทุกถ้วนหน้า หรือสัตว์บุคคลโดยเฉพาะเจาะจง และจะต้องระลึกได้ว่าต้องนึกให้สัตว์บุคคลนั้นๆหรือสัตว์บุคคลทั้งปวงมีความสุข ให้มีจิตปราศจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองที่ตรงกันข้าม เหล่านี้ต้องอาศัยสติคือความระลึกได้ทั้งนั้น และก็จะต้องมีธรรมวิจัยคือความเลือกเฟ้นธรรม ในเมื่อกิเลสที่ขัดขวางหรือที่ตรงกันข้ามบังเกิดขึ้นให้รู้ว่า นี่เป็นกิเลสที่ขัดขวางหรือตรงกันข้าม ต่อเมื่อเป็นความคิดที่เป็นตัวเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ก็ให้รู้ และก็ให้รู้ว่าความคิดเป็น เครื่องนำเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เข้ามาสู่จิต ที่จะเป็นเมตตา เป็นกรุณา เป็นมุทิตา เป็นอุเบกขานั้น จะต้องเป็นขึ้น ในจิต จิตจะต้องเป็นเมตตา ต้องเป็นกรุณา เป็นมุทิตา เป็นอุเบกขาขึ้น ความคิดจึงเป็นอย่างหนึ่ง ความที่จิตเป็นเมตตาเป็นต้นเป็นอย่างหนึ่งต้องมีธรรมวิจัย เลือกเฟ้นธรรม ก็คือว่าให้รู้ธรรมในจิตนี้แหละว่าอะไรเป็นอะไรที่บังเกิดขึ้นเป็นไปอยู่ในจิต ดั่งนี้ก็เป็นธรรมวิจัย และก็จะต้องมีวิริยะคือความเพียร อันหมายถึงว่ามีจิตใจที่กล้าหาญ เข้มแข็งไม่ย่อท้ออ่อนแอในอันที่จะละอกุศลที่บังเกิดขึ้นในจิต ก็คือบรรดากิเลสทั้งหลายที่บังเกิดขึ้นในจิตอันขัดขวางต่อเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ในอันที่จะอบรมกุศลธรรมให้บังเกิดขึ้นในจิต ก็คือที่จะอบรมจิตให้มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ให้ธรรมเหล่านี้ซึมซาบอยู่ในจิต ผสมกลมกลืนอยู่ในจิต และเมื่อเป็นดั่งนี้ก็จะมีปีติ คือความอิ่มเอิบ เพราะว่าจิตที่สำรอกอกุศลธรรมออกไป นำกุศลธรรมเข้ามาย่อมเป็นจิตที่สะอาดผ่องใส จึงมีอาการเอิบอิ่มเหมือน อย่างร่างกายที่ได้ดื่มน้ำ ได้บริโภคอาหาร ที่โอชะสำหรับบำรุงเลี้ยง ร่างกายก็มีความเอิบอิ่ม จิตที่มีธรรมเป็นฝ่ายกุศล ชำแรกเข้าไปตั้งอยู่ และชำระฝ่ายอกุศล ออกไป ก็ย่อมเป็นจิตที่ได้ดื่มธรรมเป็น อาหารอันมีโอชะ ทำให้จิตมีความเอิบอิ่ม เมื่อเป็นดั่งนี้ก็จะได้ปัสสัทธิ ความสงบกายสงบใจมีสุข ได้สมาธิคือความตั้งจิต มั่น และได้อุเบกขาคือความเพ่งเข้ามาที่สมาธิจิตนั้น กำหนดสงบดูอยู่ที่สมาธิ จิตนั้น

สติคือความระลึกได้ ธรรมวิจัยคือความเลือกเฟ้นธรรม วิริยะคือความเพียร ปีติคือความอิ่มเอิบ ปัสสัทธิคือความสงบ สมาธิคือความตั้งจิตมั่น และอุเบกขาคือความเพ่งเข้ามาสงบอยู่ที่สมาธิจิตนั้น ดั่งนี้ก็เป็นโพชฌงค์แต่ ละข้อ และเมื่อปฏิบัติโพชฌงค์ทั้งเจ็ดนี้ไปในเมตตาภาวนา กรุณาภาวนา มุทิตาภาวนา อุเบกขาภาวนา ก็ย่อมจะได้เมตตา ได้กรุณา ได้มุทิตา ได้อุเบกขา เป็นพรหมวิหารหรืออัปปมัญญาทั้งสี่ตั้งอยู่ในจิตใจ

การแผ่เมตตา


ได้แสดงเมตตากรุณาไปแล้วสองข้อ และในสองข้อที่แสดงแล้วนั้น ได้แสดง เมตตาที่ปฏิบัติใช้สติ คือความระลึกได้ ตั้งต้นแผ่จิตไปด้วยเมตตา ความมีไมตรี จิตคิดรักชักนำให้มีความสุขไปในสรรพสัตว์ทุกถ้วนหน้าในทิศทั้งหลายดังที่ได้แสดงแล้ว และเมื่อคิดแผ่จิตออกไปได้ในสัตว์บุคคลใด ย่อมจะมีความเห็นในสัตว์บุคคลนั้นว่างาม คือไม่น่าเกลียด ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งปฏิฆะ โทสะพยาบาททุกอย่าง และเมื่อได้แผ่ไปโดยไม่เจาะจง ไม่เห็นอะไร คือไม่เห็นสัตว์ บุคคลจำ พวกไหนว่าน่าเกลียดน่าชังเป็นที่ตั้งของ ปฏิฆะ โทสะ พยาบาท คือเห็นว่างาม ไม่น่าเกลียด ไม่น่าชัง ไม่น่ากระทบกระทั่งไปทั่วทั้งหมด ดั่งนี้ก็เรียกว่าได้แผ่เมตตา ไปเป็นอัปปมัญญาที่สมบูรณ์

แต่ในการที่จะแผ่ไปให้สมบูรณ์ดั่งนี้ก็อาจเป็นการยากในเบื้องต้น เพราะในเบื้องต้นนั้นเมื่อหัดแผ่ไปโดยเจาะจงเช่นในบุคคลที่เคารพนับถือหรือในบุคคลที่เคารพรักทั้งหลาย แล้วจึงหัดแผ่ไปในบุคคลที่เป็นปานกลาง แล้วจึงหัดแผ่ไปในบุคคลที่ไม่ค่อยชอบใจที่กระทบกระ-ทั่งหรือที่เกลียดชัง หรือว่าในศัตรู เมื่อหัดขยายเขตออกไปดั่งนี้โดยลำดับก็ย่อมจะทำได้ จนถึงแผ่ไปในสัตว์บุคคล ทุกถ้วนหน้าไม่มีประมาณ เรียกว่าที่เป็นอัปปมัญญา ไม่มีประมาณจริงๆนั้น จิตจะไม่มีความรู้สึกแตกต่างว่า นั่นงาม นั่นน่าเกลียด แต่จะรู้สึกว่างดงามโดยมี ไมตรีจิตแผ่ไปเสมอกันหมด ดั่งนี้เป็นอัปปมัญญาที่สมบูรณ์ จึงได้มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ว่า “การอบรมโพชฌงค์ทั้งเจ็ดประกอบด้วยเมตตานั้น มี ‘สุภะ’ คือความงามเป็นอย่างยิ่ง คือเป็นขอบ เขตที่สุด...”

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 88 มี.ค. 51 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
กำลังโหลดความคิดเห็น