xs
xsm
sm
md
lg

อบรมกรรมฐาน : โพชฌงค์เจ็ด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รู้วิชชา วิมุตติ
ธรรมที่จะแสดงในวันนี้ คือ โพชฌงค์ทั้งเจ็ด โพชฌงค์นั้นเรียกกันสั้นๆ ว่า โพชฌงค์ก็ได้ สัมโพชฌงค์ ก็ได้มาจากคำว่า สัม โพชฌ และอังคหรือองค์ แปลรวมกันว่า องค์แห่งความตรัสรู้พร้อม เพราะคำว่า “โพชฌ” นั้นก็มีมูลธาตุเป็นอันเดียวกับคำว่า “พุทธ”หรือโพธิ คำว่า โพธิิและคำว่า โพชฌ เป็นคำนามด้วยกัน แปลว่า ความรู้หรือความตรัสรู้ ถ้าเป็นบุคคลก็เป็นพุทธ ที่แปลว่า ผู้รู้หรือผู้ตรัสรู้ คำแปลนี้ว่ารู้ก็ตาม ว่าตรัสรู้ก็ตาม ก็เพื่อให้เข้าใจ ถ้าแปลว่ารู้เฉยๆ ก็ดูจะเป็นความรู้ธรรมดาก็ได้ แต่ว่ารู้ที่เป็นโพธิหรือเป็นโพชฌ ไม่ใช่เป็นรู้ธรรมดาหรือรู้อย่างสามัญ ฉะนั้นจึงใช้คำแปลอีกอย่างหนึ่งว่า ตรัสรู้ เมื่อใช้คำว่าตรัสรู้ ก็ทำให้เข้าใจว่าเป็นรู้ที่พิเศษที่เป็นอย่างยิ่ง
ก็เคยมีปัญหาว่า รู้ที่เป็นสามัญนั้นรู้อย่างไร รู้ที่เป็นพิเศษที่เป็นอย่างยิ่งนั้นรู้อย่างไร ทางที่จะตอบปัญหานี้ก็มีหลายทาง แต่ทางหนึ่งที่คิดว่าสั้นที่สุดก็คือ รู้ธรรมดาสามัญนั้นเป็น “รู้ติด” แต่รู้ที่เป็นโพธิเป็นโพชฌนั้นเป็น “รู้พ้น”

รู้ติดนั้นก็คือ รู้สิ่งใดก็ติดสิ่งนั้น ถ้าไม่รู้เสียอีกก็จะไม่ติด ดังเช่นรู้รูปก็ติดรูป รู้เสียงก็ติดเสียง รู้กลิ่น รู้รส รู้โผฏฐัพพะ สิ่งที่กายถูกต้อง รู้เรื่องราวทั้งหลาย ก็ติดกลิ่น ติดรส ติดโผฏฐัพพะ และติดเรื่องราวทั้งหลาย และเมื่อรู้ติดขึ้นมาแล้วก็มีกิเลสเป็นต้นว่า โลภ โกรธ หลง บังเกิดขึ้นตามความติดนั้น ยกตัวอย่างเช่น สมมติว่าบุคคลที่มีมรดกที่บิดามารดาหรือใครยกให้ก็ตาม เมื่อยังไม่รู้ว่าได้มรดกก็ยังไม่ติด แต่ครั้นรู้ว่าได้มรดกก็ติดในมรดกนั้น และก็จะต้องมีการขวนขวายหวงแหนเป็นต้นในมรดกนั้น เดินไปในที่ใดในเวลาค่ำคืน สมมติว่าเดินไปในป่าช้า ไม่รู้ว่านี่เป็นป่าช้าก็ไม่ติดก็ไม่กลัว แต่ครั้นรู้ว่านี่เป็นป่าช้า ก็ติดก็กลัว ดังที่เรียกว่าก็กลัวขึ้นมา แต่อันที่จริงนั้นความกลัวเนื่องมาจากความติด ติดขึ้นก่อนว่านี่เป็นป่าช้ามีผี และเมื่อติดขึ้นมาดังนี้ก็กลัว ถ้าไม่รู้ก็ไม่กลัว ฉะนั้น รู้ที่เป็นสามัญทั้งหลายจึงเป็นความรู้ติด รู้ติดดั่งนี้ไม่ใช่เป็น โพธิ ไม่ใช่เป็นโพชฌ แต่ว่าความรู้ที่เป็นรู้พ้น คือรู้สิ่งใดก็พรากจิตออกจากสิ่งนั้นได้ ไม่ติดสิ่งนั้น รู้รูปก็ไม่ติดรูป รู้เสียงก็ไม่ติดเสียง ดั่งนี้เป็นต้น จึงจะเป็นโพธิหรือเป็นโพชฌ

ฉะนั้น รู้ที่เป็นโพธิหรือเป็นโพชฌ จึงต้องมี ๒ อย่างประกอบกันอยู่ คือ วิชชาหนึ่ง วิมุตติหนึ่ง วิชชาก็คือรู้วิมุตติก็คือพ้น รวมกันเป็นรู้พ้น รู้ที่ประกอบด้วยวิชชาวิมุตติดั่งนี้เป็นโพธิหรือเป็นโพชฌ ทางพุทธศาสนาแสดงสติปัฏฐานโพชฌงค์ เป็นต้น อันรวมเข้าในหมวดโพธิปักขิยธรรม ธรรมที่เป็นไปในฝ่ายโพธิ ย่อมต้องการปฏิบัติให้บรรลุถึงความรู้พ้นดังกล่าว ซึ่งเป็นความรู้ที่เป็นโพธิหรือเป็นโพชฌ องค์แห่งความรู้ดังกล่าวก็คือ ข้อปฏิบัติหลายข้อที่นำไปสู่ความรู้ดังกล่าวนั้น โดยที่สัมพันธ์กันไปเหมือนอย่างเป็นลูกโซ่ เรียกว่าโพชฌังค หรือโพชฌงค์ แปลว่าองค์แห่งโพธิหรือโพชฌ และก็เรียกว่า สัมโพชฌังค หรือสัมโพชฌงค์ ได้ด้วย เติม “สัม” เข้ามาข้างหน้าอีกคำหนึ่งเสริมความว่า พร้อมก็ได้ ด้วยกันก็ได้ เองก็ได้ ที่แปลว่าพร้อมนั้นก็คือสมบูรณ์ ที่แปลว่าด้วยกันนั้นก็คือทุกๆ องค์ ทุกๆข้อ ย่อมเนื่องกันไปด้วยกัน ไม่ใช่เฉพาะข้อใดข้อหนึ่ง เองนั้นก็คือว่าจะต้องเป็นสันทิฏฐิโก คือว่ารู้เองเห็นเอง คนอื่นจะมาเห็นให้แทน รู้ ให้ไม่ได้ เมื่อเสริมความเข้ามาดั่งนั้น หรือจะไม่มีก็ได้เรียกสั้นๆ ว่าโพชฌังค หรือโพชฌงค์ แต่ก็ย่อมจะมีความหมายดังกล่าวนั้น
มีพระพุทธาธิบายสั้นๆ ที่เรียกว่า โพชฌังคหรือโพชฌงค์นั้น ก็คือธรรมทั้งหลายที่เป็นไปเพื่อโพธิ คือความรู้ หมายถึงตรัสรู้หรือรู้พ้นดังกล่าว ซึ่งตรัสอธิบายแสดงเอาไว้เป็นเจ็ดประการ

สติสัมโพชฌงค์
ประการแรก ก็คือสติสัมโพชฌงค์ สัมโพชฌงค์คือสติ สตินั้นก็คือสติปัฏฐาน สติปัฏฐานนั้นก็ได้แก่สติที่ตั้งกำหนดกาย เวทนา จิต ธรรม จึงมีปัญหาว่าถ้าเช่นนั้นจะต่างกันอย่างไร พิจารณาดูแล้วก็ตอบได้ว่า ทางที่ต่างกันนั้นก็คือว่า สติปัฏฐานมุ่งสติที่กำหนดกาย เวทนา จิตธรรม จนกาย เวทนา จิต ธรรม ปรากฏแก่สติ สติสัมโพชฌงค์นั้นมุ่งสติที่กำหนดในสติปัฏฐาน คือ กาย เวทนา จิต ธรรม ที่ปรากฏ แต่ว่าส่งไปให้แก่ปัญญาพิจารณาเพื่อความรู้พ้นยิ่งขึ้นไป นี้เป็นทางที่ต่างกัน
แต่ว่าอีกอย่างหนึ่งในมหาสติปัฏฐานสูตร โพชฌงค์ทั้งเจ็ดก็รวมอยู่ในหมวดธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เมื่อเป็นดั่งนี้ จึงได้มีคำอธิบายอีกอย่างหนึ่งว่า สติปัฏฐานนั้นเป็นข้อปฏิบัติที่คลุมไปได้ทั้งหมด ตั้งแต่เบื้องต้นจนถึงโพชฌงค์ทั้งเจ็ด มรรคมีองค์ ๘ ก็รวมอยู่ในสติปัฏฐานทั้งหมด และขั้นของสติปัฏฐานนี้เมื่อเพียงขั้นสติกำหนดในกาย เวทนา จิต ธรรม แจ่มชัดเท่านั้น ก็เป็นสติปัฏฐาน ที่ต่ำกว่าโพชฌงค์ แต่เมื่อสตินั้นเสมอปัญญาพิจารณาเพื่อความรู้พ้นอันยิ่งขึ้นไป ก็เลื่อนขึ้นเป็นสติปัฏฐานขั้นโพชฌงค์ ยิ่งขึ้นไปกว่านั้นก็เลื่อนขึ้นเป็นสติปัฏฐานขั้นมรรคมีองค์แปด แต่ข้อนี้ก็พึงเข้าใจว่า เป็นเพียงสมมติธรรม บัญญัติธรรม ผู้ปฏิบัตินั้นไม่ต้องคำนึงถึงสมมติธรรม บัญญัติธรรมใดๆ ทั้งสิ้น แต่ว่าจับปฏิบัติตั้งสติกำหนดกายเวทนาจิตธรรมให้เป็น เอโก ธมฺโม หรือ เอกายโน มคฺโค ธรรมที่เป็นเอกหรืออันหนึ่งอันเดียว หรือทางที่ไปเอกหรืออันหนึ่งอันเดียว จะจับกำหนดลมหายใจเข้าออก หายใจเข้าก็รู้ หายใจออกก็ให้รู้ ไปตามที่ทรงสั่งสอนตั้งไว้เป็นหลัก แล้วกำหนดเวทนาในลมหายใจเข้าออก กำหนดจิตในลมหายใจเข้าออก กำหนดธรรมในลมหายใจเข้าออก คือให้ลมหายใจเข้าออกเป็นธรรมในจิต เป็นตัวจิตเอง เป็นตัวเวทนาเอง และเป็นตัวลมหายใจเข้าออกเองรวมกันอยู่ ดังจะพึงเห็นได้ว่าเมื่อทุกคนกำหนดลมหายใจเข้าออกในบัดนี้ลองดู หายใจเข้าก็ให้รู้ หายใจออกก็ให้รู้ ก็จะเห็นว่าลมหายใจเข้าออกที่เป็นกายก็อยู่ที่นี่ เวทนา สุข ทุกข์ก็อยู่ที่นี่ จิตใจก็อยู่ที่นี่ ธรรมในจิตก็อยู่ที่นี่ ลมหายใจเข้าออกก็เป็นธรรมในจิต รวมอยู่ที่นี่ทั้งหมดไม่ได้แยกกันไปที่ไหน กำหนดจับเข้ามารวมเข้ามาให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ธรรมก็ไม่แตกออกไป จิตใจก็ไม่แตกออกไป เวทนาก็ไม่แตกออกไป ลมหายใจก็ไม่หายไปไหนปรากฏอยู่ ลมหายใจปรากฏ เวทนาก็ปรากฏ จิตใจก็ปรากฏ ธรรมก็ปรากฏ รวมกันอยู่เป็นอันเดียว ดั่งนี้ก็เป็นสติปัฏฐาน

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 109 ธันวาคม 2552 พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
กำลังโหลดความคิดเห็น