วันที่ ๑๒ สิงหาคม ของทุกปี ถือเป็นวันสำคัญของคนไทยเราวันหนึ่ง เพราะเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และเป็นวันแม่แห่งชาติ ที่นอกจากจะเป็นวันระลึกและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงแผ่พระเมตตาปกเกล้าฯ ชาวไทยให้ความร่มเย็นเป็นผาสุกแล้ว ยังเป็นการระลึกถึงพระคุณของแม่ผู้ให้กำเนิดอีกด้วย
“แม่” เป็นคำพูดที่ยิ่งใหญ่ และมีพลานุภาพต่อจิตใจของลูกทุกคน คำแรกที่แม่สอนลูกและลูกพูดได้ ก็คือ “แม่” และแม่ก็ปลาบปลื้มเป็นที่สุดที่ได้ยินลูกเรียกว่า “แม่” เป็นคำพูดที่บอกนัยความผูกพันของแม่กับลูกอย่างลึกซึ้ง
มีพระพุทธดำรัสในสพรหมสูตร และมาตาปิตุคุณสูตร ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย คำว่าพรหมก็ดี บุพพเทวดาก็ดี บุพพาจารย์ก็ดี อาหุไนยบุคคลก็ดี เป็นชื่อของมารดาบิดา เพราะท่านมีอุปการะมาก เป็นผู้เลี้ยงดูให้ความเจริญ และแสดงโลกนี้แก่บุตร”
อนึ่ง คำว่า “แม่” นี้ ในพระพุทธศาสนาให้ความสำคัญแก่สตรีผู้เป็นแม่ด้วยการยกย่องคำว่า “แม่” นำหน้าผู้เป็นบิดาหรือพ่อเสมอ ไม่ว่าจะในพระสูตร หรือในพระวินัย เช่น ธรรมะว่าด้วยการบำรุงเลี้ยงดูมารดาบิดา จะใช้คำว่ามารดาหรือแม่ นำหน้าบิดาพ่อเสมอ ในพระวินัยที่กล่าวถึงกุลบุตรที่จะเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา ต้องได้รับอนุญาตจากมารดาบิดาก่อน ก็ใช้คำว่ามารดานำหน้าบิดา เป็นต้น
และความยิ่งใหญ่ของแม่นั้น ถูกนำมาเป็นชื่อหรือคำต่อท้ายชื่อของบุคคลสำคัญในพระพุทธศาสนา เช่น พระสารีบุตร เดิมชื่อ อุปตัสสะตามสกุลบิดา แต่เมื่อเข้ามาบวชแล้ว ท่านได้ชื่อว่า พระสารีบุตร ตามชื่อของมารดาคือนางสารี ส่วนพระโมคคัลลานะ ชื่อเดิมว่า โกลิตะ ตามสกุลบิดา แต่เมื่อเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา ท่านมีชื่อว่า โมคคัลลานะ ตามชื่อของนางพราหมณีโมคคัลลี เป็นต้น พระเจ้าอชาตศัตรู ราชาแห่งมคธรัฐ เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าพิมพิสาร แต่มีพระนามพระราชมารดาต่อท้ายพระนามของพระองค์ว่า พระเจ้าอชาตศัตรูเวเทหิ เป็นการบอกให้รู้ว่าใครคือพระราชมารดาของพระองค์
นี่คือความยิ่งใหญ่ของ “แม่” ที่พระพุทธศาสนาได้กล่าวยกย่องให้ปรากฏแก่โลก
อันว่าความรักของแม่มีอานุภาพที่ยิ่งใหญ่ สามารถบันดาลคุณประโยชน์ใหญ่หลวงแก่ผู้เป็นแม่และลูกได้อย่างน่าอัศจรรย์ ดังเช่นเรื่องราวของพระสารีบุตร อัครสาวกเบื้องซ้าย ซึ่งการเข้าไปบวชในพระพุทธศาสนา ยังความไม่พอใจให้แก่มารดาของท่านเป็นอย่างยิ่ง เพราะมารดาของท่านยังฝังยึดติดอยู่ในลัทธิพราหมณ์ดั้งเดิม และเห็นว่าการที่พระสารีบุตรเปลี่ยนไปนับถือพระพุทธศาสนา เป็นความผิดอย่างมากจนมารดาของท่านรับไม่ได้
ท่านพระสารีบุตร เป็นผู้ที่มีกิตติศัพท์ว่าเป็นพระอัครสาวกที่มีปัญญายอดเยี่ยม และมีความกตัญญูเป็นเลิศ ท่านได้แสดงธรรมโปรดมารดาหลายครั้ง แต่ก็ได้รับการปฏิเสธตลอดมา จนเมื่อท่านใกล้จะนิพพาน จึงกลับบ้านเกิด แล้วบอกแก่โยมมารดาว่า ท่านจะนิพพานภายในเจ็ดวันนี้แล้ว ขอนิพพานภายในห้องที่ท่านเกิด
โยมมารดาพอได้ยินพระลูกชายพูดถึงการนิพพาน (ตาย) ความรักความห่วงหาอาลัยประดังท่วมท้นใจ มานะทิฐิที่เคยมีต่อลูกก็ค่อยๆหายไป จนกลายมาเป็นความอ่อนโยนเหมือนเมื่อครั้งในอดีตที่เคยมีแก่พระลูกชาย ท่านพระสารีบุตรเห็นว่าโยมมารดามีอุปนิสัยในธรรมะจึงได้แสดงธรรม โดยกล่าวถึงการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า การแสดงปฐมเทศนาแก่พระเบญจวัคคีย์ และท้ายที่สุดกล่าวถึงพระพุทธ พอจบคำว่า “พุทโธ ภควาติ” เท่านั้น มารดาของท่านก็บรรลุเป็นพระโสดาบันในทันที
นี่เป็นเพราะอานุภาพความรักของแม่เป็นเครื่องดลใจให้เกิดประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่ “แม่” เอง และเป็นการเปิดโอกาสให้ท่านพระสารีบุตรได้ตอบแทนพระคุณโยมมารดาได้สำเร็จ เพราะไม่ว่าลูกจะเลี้ยงดูมารดาบิดาดีมากเพียงไร ก็ไม่นับว่าทดแทนพระคุณได้ทั้งหมด แต่ลูกที่ทำให้มารดาบิดามีศีลมีศรัทธา ตั้งมั่นอยู่ในธรรม จึงจะชื่อว่าเป็นการทดแทนพระคุณอย่างแท้จริง และโยมมารดาของพระสารีบุตรก็ปลื้มปีติเป็นนิตย์ เพราะได้ชื่อว่า “เป็นแม่ของพระอัครสาวก” ซึ่งเป็นฐานะที่น้อยคนจะได้รับ
ขณะที่พระองคุลิมาล ซึ่งเป็นที่รู้จักดีในหมู่คนที่ศึกษาพระพุทธศาสนา ท่านเกิดในตระกูลพราหมณ์ที่เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล เมืองสาวัตถี เมื่อเติบใหญ่ได้ไปศึกษาศิลปวิทยาในสำนักทิศาปาโมกข์ ถูกอาจารย์ซึ่งมีจิตริษยา เกรงว่าศิษย์จะเก่งกว่าอาจารย์ จึงหลอกให้ไปฆ่าคน ให้ครบหนึ่งพันคน แล้วจะบรรลุวิชาการขั้นสูงสุด เพื่อต้องการยืมมือคนอื่นฆ่าองคุลิมาล เพราะเมื่อองคุลิมาลฆ่าคนอื่น ก็อาจถูกคนอื่นฆ่าได้เช่นกัน
ความเป็นโจรโหดเหี้ยมขององคุลิมาลแพร่สะพัดไป และไม่มีใครจะปราบปรามหรือต่อกรได้ จึงทำให้พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงยกพลออกไปปราบ มารดาขององคุลิมาลจึงออกไปพบลูก ขอร้องให้เลิกเป็นโจร เพราะไม่ต้องการให้ลูกถูกฆ่า ซึ่งองคุลิมาลก็รออยู่ว่าจะมีใครมาให้ฆ่า เพราะจะครบหนึ่งพันคนในวันนั้นพอดี
แต่ความคาดหวังของนางพราหมณี แม่ขององคุลิมาลที่จะได้พบลูกก็ดี กองทหารของพระเจ้าปเสนทิโกศลก็ดี ไม่มีใครได้พบโจรองคุลิมาลเลย เพราะก่อนหน้าเพียงไม่เท่าไร โจรองคุลิมาลได้พบพระพุทธเจ้าและได้ยินพระพุทธดำรัสว่า “เราหยุดจากการฆ่าแล้ว” เท่านั้น ก็ได้สำนึกผิดและขอบวชในพระพุทธศาสนา และบรรลุธรรมสูงสุดในเวลาต่อมา
โยมแม่ของพระองคุลิมาลก็ไม่ต้องอับอายใครที่มีลูกเป็นโจร เพราะว่าบัดนี้ลูกกลายเป็นพระอรหันต์ในพระพุทธศาสนาแล้ว ความรักของแม่ที่ปรารถนาให้ลูกดีมีความสุขอย่างสมบูรณ์ที่คนดีพึงมีพึงได้ ก็สำเร็จแล้วดังตั้งใจ
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 93 ส.ค. 51 โดย ธมฺมจรถ)
“แม่” เป็นคำพูดที่ยิ่งใหญ่ และมีพลานุภาพต่อจิตใจของลูกทุกคน คำแรกที่แม่สอนลูกและลูกพูดได้ ก็คือ “แม่” และแม่ก็ปลาบปลื้มเป็นที่สุดที่ได้ยินลูกเรียกว่า “แม่” เป็นคำพูดที่บอกนัยความผูกพันของแม่กับลูกอย่างลึกซึ้ง
มีพระพุทธดำรัสในสพรหมสูตร และมาตาปิตุคุณสูตร ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย คำว่าพรหมก็ดี บุพพเทวดาก็ดี บุพพาจารย์ก็ดี อาหุไนยบุคคลก็ดี เป็นชื่อของมารดาบิดา เพราะท่านมีอุปการะมาก เป็นผู้เลี้ยงดูให้ความเจริญ และแสดงโลกนี้แก่บุตร”
อนึ่ง คำว่า “แม่” นี้ ในพระพุทธศาสนาให้ความสำคัญแก่สตรีผู้เป็นแม่ด้วยการยกย่องคำว่า “แม่” นำหน้าผู้เป็นบิดาหรือพ่อเสมอ ไม่ว่าจะในพระสูตร หรือในพระวินัย เช่น ธรรมะว่าด้วยการบำรุงเลี้ยงดูมารดาบิดา จะใช้คำว่ามารดาหรือแม่ นำหน้าบิดาพ่อเสมอ ในพระวินัยที่กล่าวถึงกุลบุตรที่จะเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา ต้องได้รับอนุญาตจากมารดาบิดาก่อน ก็ใช้คำว่ามารดานำหน้าบิดา เป็นต้น
และความยิ่งใหญ่ของแม่นั้น ถูกนำมาเป็นชื่อหรือคำต่อท้ายชื่อของบุคคลสำคัญในพระพุทธศาสนา เช่น พระสารีบุตร เดิมชื่อ อุปตัสสะตามสกุลบิดา แต่เมื่อเข้ามาบวชแล้ว ท่านได้ชื่อว่า พระสารีบุตร ตามชื่อของมารดาคือนางสารี ส่วนพระโมคคัลลานะ ชื่อเดิมว่า โกลิตะ ตามสกุลบิดา แต่เมื่อเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา ท่านมีชื่อว่า โมคคัลลานะ ตามชื่อของนางพราหมณีโมคคัลลี เป็นต้น พระเจ้าอชาตศัตรู ราชาแห่งมคธรัฐ เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าพิมพิสาร แต่มีพระนามพระราชมารดาต่อท้ายพระนามของพระองค์ว่า พระเจ้าอชาตศัตรูเวเทหิ เป็นการบอกให้รู้ว่าใครคือพระราชมารดาของพระองค์
นี่คือความยิ่งใหญ่ของ “แม่” ที่พระพุทธศาสนาได้กล่าวยกย่องให้ปรากฏแก่โลก
อันว่าความรักของแม่มีอานุภาพที่ยิ่งใหญ่ สามารถบันดาลคุณประโยชน์ใหญ่หลวงแก่ผู้เป็นแม่และลูกได้อย่างน่าอัศจรรย์ ดังเช่นเรื่องราวของพระสารีบุตร อัครสาวกเบื้องซ้าย ซึ่งการเข้าไปบวชในพระพุทธศาสนา ยังความไม่พอใจให้แก่มารดาของท่านเป็นอย่างยิ่ง เพราะมารดาของท่านยังฝังยึดติดอยู่ในลัทธิพราหมณ์ดั้งเดิม และเห็นว่าการที่พระสารีบุตรเปลี่ยนไปนับถือพระพุทธศาสนา เป็นความผิดอย่างมากจนมารดาของท่านรับไม่ได้
ท่านพระสารีบุตร เป็นผู้ที่มีกิตติศัพท์ว่าเป็นพระอัครสาวกที่มีปัญญายอดเยี่ยม และมีความกตัญญูเป็นเลิศ ท่านได้แสดงธรรมโปรดมารดาหลายครั้ง แต่ก็ได้รับการปฏิเสธตลอดมา จนเมื่อท่านใกล้จะนิพพาน จึงกลับบ้านเกิด แล้วบอกแก่โยมมารดาว่า ท่านจะนิพพานภายในเจ็ดวันนี้แล้ว ขอนิพพานภายในห้องที่ท่านเกิด
โยมมารดาพอได้ยินพระลูกชายพูดถึงการนิพพาน (ตาย) ความรักความห่วงหาอาลัยประดังท่วมท้นใจ มานะทิฐิที่เคยมีต่อลูกก็ค่อยๆหายไป จนกลายมาเป็นความอ่อนโยนเหมือนเมื่อครั้งในอดีตที่เคยมีแก่พระลูกชาย ท่านพระสารีบุตรเห็นว่าโยมมารดามีอุปนิสัยในธรรมะจึงได้แสดงธรรม โดยกล่าวถึงการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า การแสดงปฐมเทศนาแก่พระเบญจวัคคีย์ และท้ายที่สุดกล่าวถึงพระพุทธ พอจบคำว่า “พุทโธ ภควาติ” เท่านั้น มารดาของท่านก็บรรลุเป็นพระโสดาบันในทันที
นี่เป็นเพราะอานุภาพความรักของแม่เป็นเครื่องดลใจให้เกิดประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่ “แม่” เอง และเป็นการเปิดโอกาสให้ท่านพระสารีบุตรได้ตอบแทนพระคุณโยมมารดาได้สำเร็จ เพราะไม่ว่าลูกจะเลี้ยงดูมารดาบิดาดีมากเพียงไร ก็ไม่นับว่าทดแทนพระคุณได้ทั้งหมด แต่ลูกที่ทำให้มารดาบิดามีศีลมีศรัทธา ตั้งมั่นอยู่ในธรรม จึงจะชื่อว่าเป็นการทดแทนพระคุณอย่างแท้จริง และโยมมารดาของพระสารีบุตรก็ปลื้มปีติเป็นนิตย์ เพราะได้ชื่อว่า “เป็นแม่ของพระอัครสาวก” ซึ่งเป็นฐานะที่น้อยคนจะได้รับ
ขณะที่พระองคุลิมาล ซึ่งเป็นที่รู้จักดีในหมู่คนที่ศึกษาพระพุทธศาสนา ท่านเกิดในตระกูลพราหมณ์ที่เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล เมืองสาวัตถี เมื่อเติบใหญ่ได้ไปศึกษาศิลปวิทยาในสำนักทิศาปาโมกข์ ถูกอาจารย์ซึ่งมีจิตริษยา เกรงว่าศิษย์จะเก่งกว่าอาจารย์ จึงหลอกให้ไปฆ่าคน ให้ครบหนึ่งพันคน แล้วจะบรรลุวิชาการขั้นสูงสุด เพื่อต้องการยืมมือคนอื่นฆ่าองคุลิมาล เพราะเมื่อองคุลิมาลฆ่าคนอื่น ก็อาจถูกคนอื่นฆ่าได้เช่นกัน
ความเป็นโจรโหดเหี้ยมขององคุลิมาลแพร่สะพัดไป และไม่มีใครจะปราบปรามหรือต่อกรได้ จึงทำให้พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงยกพลออกไปปราบ มารดาขององคุลิมาลจึงออกไปพบลูก ขอร้องให้เลิกเป็นโจร เพราะไม่ต้องการให้ลูกถูกฆ่า ซึ่งองคุลิมาลก็รออยู่ว่าจะมีใครมาให้ฆ่า เพราะจะครบหนึ่งพันคนในวันนั้นพอดี
แต่ความคาดหวังของนางพราหมณี แม่ขององคุลิมาลที่จะได้พบลูกก็ดี กองทหารของพระเจ้าปเสนทิโกศลก็ดี ไม่มีใครได้พบโจรองคุลิมาลเลย เพราะก่อนหน้าเพียงไม่เท่าไร โจรองคุลิมาลได้พบพระพุทธเจ้าและได้ยินพระพุทธดำรัสว่า “เราหยุดจากการฆ่าแล้ว” เท่านั้น ก็ได้สำนึกผิดและขอบวชในพระพุทธศาสนา และบรรลุธรรมสูงสุดในเวลาต่อมา
โยมแม่ของพระองคุลิมาลก็ไม่ต้องอับอายใครที่มีลูกเป็นโจร เพราะว่าบัดนี้ลูกกลายเป็นพระอรหันต์ในพระพุทธศาสนาแล้ว ความรักของแม่ที่ปรารถนาให้ลูกดีมีความสุขอย่างสมบูรณ์ที่คนดีพึงมีพึงได้ ก็สำเร็จแล้วดังตั้งใจ
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 93 ส.ค. 51 โดย ธมฺมจรถ)