xs
xsm
sm
md
lg

ตำนาน นโม (๓๑)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (สุวฑฺฒนมหาเถร) ทรงอธิบายถึงความเคารพ ในพระธรรมเทศนาสังฆานุสสติกถา ตอนอัญชลิกรณีโย ภควโต สาวกสังโฆ ความว่า

“...อันการแสดงความเคารพนั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้มีความเคารพในพระศาสดา พระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระสงฆ์ อันเป็นรัตนะทั้ง ๓ รัตนะทั้ง ๓ นี้ เป็นที่ตั้งแห่งความเคารพ และความเคารพนั้นก็ได้แก่การอภิวาทกราบไหว้ อภิวาทกราบไหว้อย่างเดียวบ้าง อภิวาทกราบไหว้พร้อมกับเปล่งวาจาสรรเสริญพระคุณบ้าง การลุกขึ้นยืนรับ การกระทำอัญชลีคือพนมมือไหว้ การแสดงความนอบน้อมอย่างอื่นต่างๆ การกระทำสามีจิกรรม อันหมายความว่าการกระทำที่เหมาะสมอันแสดงถึงว่ามีความเคารพ เพราะฉะนั้น การแสดงความเคารพนั้นจึงมีวิธีทำต่างๆ ที่แสดงออกทางกาย ทางวาจา และด้วยใจที่มีความเคารพนับถืออย่างแท้จริง...”

พระพุทธเจ้าทรงแสดงความเคารพพระธรรม ให้ปรากฏเป็นหลักฐานแก่พุทธบริษัทผู้เกิดในภายหลัง คือคนในรุ่นปัจจุบันได้ประจักษ์เป็นพยาน ดังความที่แสดงในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต ปัณณาสก์ สัมโพธวรรคที่ ๑ สูตรที่ ๔ นันทกสูตร ว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล ท่านพระนันทกะชี้แจงภิกษุทั้งหลายให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญร่าเริงด้วยธรรมีกถา ในอุปัฏฐานศาลา(หอฉัน)

ครั้งนั้น เป็นเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้น เสด็จเข้าไปยังอุปัฏฐานศาลา ประทับยืนรอจนจบกถาอยู่ ณ ซุ้มประตูด้านนอก ครั้นทรงทราบว่ากถาจบแล้ว ทรงกระแอมและเคาะที่ลิ่มประตู ภิกษุเหล่านั้นเปิดประตูให้พระผู้มีพระภาค ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังอุปัฏฐานศาลาประทับนั่งบนอาสนะที่ปูไว้ แล้วตรัสกะท่านพระนันทกะว่า ดูกรนันทกะ ธรรมบรรยายของเธอนี่ยาวมาก แจ่มแจ้งแก่ภิกษุ เรายืนรอฟังจนจบกถาอยู่ที่ซุ้มประตูด้านนอก ย่อมเมื่อยหลังฯ

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระนันทกะรู้สึกเสียใจ สะดุ้งกลัว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่ทราบเกล้าเลยว่า พระผู้มีพระภาคประทับยืนอยู่ที่ซุ้มประตูด้านนอก ถ้าข้าพระองค์พึงทราบเกล้าว่า พระผู้มีพระภาคประทับยืนอยู่ที่ซุ้มประตูด้านนอกแล้ว แม้คำประมาณเท่านี้ ก็ไม่พึงแจ่มแจ้งแก่ข้าพระองค์เลย

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่าพระนันทกะเสียใจ จึงตรัสกะพระนันทกะว่า ดีแล้วๆนันทกะ ข้อที่เธอทั้งหลายพึงสนทนาด้วยธรรมีกถานี้ สมควรแก่เธอทั้งหลายผู้เป็นกุลบุตรออกบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา เธอทั้งหลายผู้ประชุมกันพึงทำกิจ ๒ อย่างคือ ธรรมีกถาหรือดุษณีภาพของพระอริยะ ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา แต่ไม่มีศีล ไม่ได้เจโตสมาธิในภายใน ยังไม่ได้การเห็นแจ้งซึ่งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง อย่างนี้เธอชื่อว่ายังไม่บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น เปรียบเหมือนสัตว์ ๒ เท้าหรือ ๔ เท้า แต่เท้าข้างหนึ่งของมันเสียพิการไป อย่างนี้มันชื่อว่า เป็นผู้ไม่บริบูรณ์ ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เธอพึงบำเพ็ญธรรมนั้นให้บริบูรณ์ด้วยคิดว่าอย่างไรหนอ เราจึงเป็นผู้มีศรัทธา มีศีล ได้เจโตสมาธิในภายใน และได้การเห็นแจ้งซึ่งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง เมื่อใดแล ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา มีศีล ได้เจโตสมาธิในภายใน และได้การเห็นแจ้งซึ่งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง เมื่อนั้น เธอชื่อว่าเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น

พระผู้มีพระภาคผู้สุคต ตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้วเสด็จลุกจากอาสนะเข้าไปยังพระวิหารฯ

เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปแล้วไม่นาน พระนันทกะกล่าวกะภิกษุทั้งหลายว่า บัดนี้ พระผู้มีพระภาคทรงประกาศพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิงด้วยองค์ ๔ แล้ว เสด็จลุกจากอาสนะเข้าไปยังพระวิหาร ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง แก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการใดๆ ย่อมมีอานิสงส์ในการฟังธรรมตามกาล ในการสนทนาธรรมตามกาล ๕ ประการ คือ

๑.เธอย่อมเป็นที่รัก เป็นที่พอใจของพระศาสดานั้นๆ เป็นที่เคารพสรรเสริญ

๒.เธอย่อมซาบซึ้งอรรถ และซาบซึ้งธรรมในธรรมนั้น

๓.เธอย่อมแทงตลอดบทแห่งอรรถอันลึกซึ้งในธรรมนั้น เห็นด้วยปัญญา

๔.เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายย่อมสรรเสริญยิ่งขึ้นไปว่าท่านผู้นี้บรรลุแล้วหรือกำลังบรรลุเป็นแน่

๕.ในภิกษุเหล่านั้น ภิกษุเหล่าใดเป็นพระเสขะ ยังไม่บรรลุอรหัต ปรารถนาธรรมอันเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยมอยู่ ภิกษุเหล่านั้นฟังธรรมนั้นแล้ว ย่อมปรารภความเพียร เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ยังไม่ทำให้แจ้ง ส่วนภิกษุเหล่าใดเป็นพระอรหันตขีณาสพอยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ของตนแล้ว มีกิเลสเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในภพสิ้นสุดแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ ภิกษุเหล่านั้นฟังธรรมนั้นแล้ว ย่อมประกอบธรรม เครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน

เมื่ออ่านความในนันทกสูตรจบแล้ว คงมีความสงสัยอยู่ว่าตอนไหนที่แสดงว่าพระพุทธเจ้าทรงแสดงความเคารพในพระธรรม ความสงสัยนี้ได้เคยมีแล้วแต่ครั้งอดีต พระอรรถกถาจารย์ได้ค้นคว้าสืบถามบันทึกเป็นอรรถกาแก้ความสงสัยปัญหาในนันทกสูตรไว้ดังนี้

บทว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้น เสด็จเข้าไปยังอุปัฏฐานศาลา มีพรรณนาในอรรถกถาเพิ่มเติมว่า พระศาสดาสดับเสียงการแสดงธรรมอันพระนันทกเถระเริ่มแล้วด้วยเสียงอันไพเราะ จึงตรัสถามว่า อานนท์ นั่นใครแสดงธรรมด้วยถ้อยคำอันไพเราะ ในอุปัฏฐานศาลา พระอานนท์ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันนี้เป็นวาระของพวกนันทกเถระผู้เป็นธรรมกถึก ทรงตรัสว่า อานนท์ ภิกษุนั่นแสดงธรรมไพเราะยิ่งนัก แม้เราจักไปฟังดังนี้ จึงเสด็จเข้าไปยังอุปัฏฐานศาลา

บทว่า ประทับยืนรอ จนจบกถาอยู่ ณ ซุ้มประตูด้านนอก มีพรรณนาในอรรถกถาเพิ่มเติมว่า ทรงปิดบังฉัพพัณณรังสีไว้ในกลีบจีวร แล้วประทับยืนด้วยเพศที่ใครไม่รู้จักท่านพระอานนท์ได้ทูลถวายสัญญาแต่พระศาสดาเมื่อเลยปฐมยามไปแล้วว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ปฐมยามล่วงไปแล้ว พระองค์ทรงพักผ่อนสักหน่อยเถิด พระศาสดาก็คงประทับยืนอยู่ ณ ที่นั้นนั่นแล ครั้นเมื่อเลยมัชฌิมยามไปแล้ว ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ทรงเป็นขัตติยะสุขุมาลชาติโดยปกติ ทรงเป็นพุทธสุขุมาลชาติ ทรงเป็นสุขุมาลชาติอย่างยิ่ง แม้มัชฌิมยามก็ล่วงไปแล้ว ขอจงทรงพักผ่อนสักครู่เถิด พระศาสดาก็คงประทับยืนอยู่ ณ ที่นั้นนั่นเอง รุ่งอรุณปรากฏแล้วแก่พระศาสดา ผู้ทรงประทับยืนอยู่นั่นแล ประทับยืนฟังธรรมกถาอยู่ถึงกถาสุดท้ายว่า “อิทมโวจ” อรุณขึ้นก็ดี การจบกถาถึงบทว่า “อิทมโวจ” ของพระกถาก็ดี การเปล่งฉัพพรรณรังสีของพระทศพลก็ดี ได้มีคราวเดียวกันนั่นเอง

บทว่า ทรงเคาะที่ลิ่มประตู พรรณนาอธิบายว่า ทรงเอาปลายพระนขา(เล็บ)เคาะบาน ประตู

บทว่า ดีแล้วๆนันทกะ พรรณนาอธิบายว่า ทรงร่าเริงกับการแสดงธรรมของพระเถระ จึงได้ตรัสเช่นนี้ มีความหมายว่า ธรรมเทศนา ท่านถือเอาความได้ดี และแสดงได้ดีแล้ว ดังนี้

เมื่ออ่านนันทกสูตร พร้อมอรรถกถา จะพบว่า แม้พระพุทธเจ้าทรงเป็นพระศาสดา เป็น ครูของพระนันทกะผู้แสดงธรรม พระพุทธองค์ทรงทำสามีจิกรรมต่อพระธรรมที่พระนันทกะกำลังแสดงอยู่ ด้วยทรงประทับยืนฟังความโดยตลอดจนสิ้นสุด พระองค์มิได้แสดง ความเป็นพระองค์เช่นฉัพพัณณรังสีให้ปรากฏ เพื่อเป็นการหยุดการแสดงธรรมของพระนันทกะ ระยะกาลเวลานั้น พระอรรถกถาจารย์ได้พรรณนาว่าเป็นไปตลอดราตรี เมื่อการแสดงธรรมจบลง พระพุทธองค์จึงทรงแสดงสัญญาณให้สงฆ์ ณ ที่นั้นทราบด้วยการทรงเคาะประตู แล้วเสด็จเข้าไปประทับนั่งบนอาสนะที่ปูไว้ นี่คือความเคารพในพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงให้ปรากฏแก่เราทั้งหลายในบัดนี้

การที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงความเคารพในพระธรรมให้ปรากฏแก่พระสาวกเสมอ ความเคารพจึงเป็นธรรมปฏิบัติของพระสาวกสืบมา พระสาวกพึงมีความเคารพในสิ่งใดบ้าง มีปรากฏอยู่ในธรรมปริวิตกของพระสารีบุตร ที่แสดงอยู่ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต มหาวรรคที่ ๒ สักกัจจสูตร ความว่า

“ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรหลีกออกเร้นอยู่ในที่ลับ เกิดความปริวิตกแห่งใจอย่างนี้ว่า ภิกษุสักการะ เคารพ อาศัยอะไรอยู่หนอ จะพึงละอกุศล เจริญกุศล? ลำดับนั้น ท่านคิด เห็นดังนี้ว่าภิกษุสักการะ เคารพ อาศัย พระศาสดา ธรรม สงฆ์ สิกขา สมาธิ ความไม่ประมาท ปฏิสันถาร อยู่แล จะพึงละอกุศล เจริญกุศล ท่านคิดเห็นอีกว่าธรรมเหล่านี้ของ เราบริสุทธิ์ผุดผ่อง ผิฉะนั้น เราพึงไปกราบทูลธรรมเหล่านี้แด่พระผู้มีพระภาค ธรรมเหล่านี้ของเราจักบริสุทธิ์และจักนับว่าบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น ด้วยอาการอย่างนี้ เปรียบเหมือนบุคคลได้ทองคำอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง เขาจะพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า ทองคำแท่งของเรานี้ บริสุทธิ์ผุดผ่องผิฉะนั้น เราพึงนำเอาทองคำแท่งนี้ไปแสดงแก่นายช่างทอง ทองคำแท่งของเรานี้ ไปถึงนายช่างทองเข้าจักบริสุทธิ์และจักนับว่าบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น ด้วยอาการอย่างนี้ ฉะนั้นฯ

ในเย็นวันนั้น ท่านพระสารีบุตรออกจากที่เร้น เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ข้าพระองค์หลีกออกเร้นอยู่ในที่ลับเกิดความปริวิตกแห่งใจอย่างนี้ว่าภิกษุสักการะ เคารพ อาศัยอะไรอยู่หนอ จะพึงละอกุศล เจริญกุศล ลำดับนั้น ข้าพระองค์ได้คิดเห็นดังนี้ว่า ภิกษุสักการะ เคารพ อาศัยพระศาสดา ธรรม สงฆ์ สิกขา สมาธิ ความไม่ประมาท ปฏิสันถาร อยู่แล จะพึงละอกุศล เจริญกุศลฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรสารีบุตร ดีละ ดีละ ภิกษุสักการะ เคารพ อาศัยพระศาสดา ธรรม สงฆ์ สิกขา สมาธิ ความไม่ประมาท ปฏิสันถาร อยู่แล จะพึงละอกุศล เจริญกุศลฯ

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์รู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วโดยย่อนี้ โดยพิสดารอย่างนี้ว่า ภิกษุไม่เคารพในพระศาสดา จักเคารพในธรรม ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ภิกษุไม่เคารพในพระศาสดา ชื่อว่าไม่เคารพในธรรมด้วย ฯลฯ ภิกษุไม่เคารพในพระศาสดา ในธรรม ในสงฆ์ ในสิกขา ในสมาธิ ในความไม่ประมาท ชื่อว่าไม่เคารพใน ปฏิสันถารด้วย

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุเคารพในพระศาสดา จักไม่เคารพในธรรม ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ภิกษุเคารพในพระศาสดา ชื่อว่าเคารพในธรรมด้วย ฯลฯ ภิกษุเคารพในพระศาสดา ในธรรม ในสงฆ์ ในสิกขา ในสมาธิ ในความไม่ประมาท จักไม่เคารพในปฏิสันถาร ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ภิกษุเคารพในพระศาสดา ในธรรม ในสงฆ์ ในสิกขา ในสมาธิ ในความไม่ประมาท ชื่อว่าเคารพในปฏิสันถารด้วย ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์รู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว โดยย่อนี้ โดยพิสดารอย่างนี้ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรสารีบุตร ดีละ ดีละ สารีบุตร เธอรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งคำที่เรากล่าวแล้วโดยย่อนี้ โดยพิสดารอย่างนี้ ดีแล้ว ดูกรสารีบุตร ภิกษุไม่เคารพในพระศาสดา จักเคารพในธรรม ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ภิกษุไม่เคารพในพระศาสดา ชื่อว่าไม่เคารพในธรรมด้วย ฯลฯ ภิกษุไม่เคารพในพระศาสดา ในธรรม ในสงฆ์ ในสิกขา ในสมาธิ ในความไม่ประมาท จักเคารพในปฏิสันถาร ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ภิกษุไม่ เคารพในพระศาสดา ในธรรม ในสงฆ์ ในสิกขา ในสมาธิ ในความไม่ประมาท ชื่อว่าไม่เคารพในปฏิสันถารด้วยฯ

ดูกรสารีบุตร ภิกษุเคารพในพระศาสดา จักไม่เคารพในธรรม ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ภิกษุเคารพในพระศาสดา ชื่อว่าเคารพในธรรมด้วย ฯลฯ ภิกษุเคารพในพระศาสดา ในธรรม ในสงฆ์ ในสิกขา ในสมาธิ ในความไม่ประมาท จักไม่เคารพในปฏิสันถาร ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ภิกษุเคารพในพระศาสดา ในธรรม ในสงฆ์ ในสิกขา ในสมาธิ ในความไม่ประมาท ชื่อว่าเคารพในปฏิสันถารด้วย ดูกรสารีบุตร เธอพึงเห็นเนื้อความแห่งคำที่เรากล่าวแล้วโดยย่อนี้ โดยพิสดารอย่างนี้แลฯ”

สักกัจจสูตร แสดงให้ทราบถึงจริยาวัตรปฏิบัติของพระมหาเถระครั้งพุทธกาลว่า เมื่อว่างจากภารกิจในความรับผิดชอบ ท่านจะปลีกตนเองออกไปแสวงหาที่สงบสงัดจากผู้คน เพื่อบำเพ็ญสมณธรรมส่วนตน ทำเวลานั้นให้เป็นประโยชน์แก่ตนและหมู่คณะ แม้สมเด็จ-พระบรมศาสดาก็ทรงปฏิบัติเช่นนี้ ดังที่แสดงไว้ในอุรุเวลสูตร

ความปริวิตกแห่งใจของพระพุทธเจ้าคือบุคคลผู้ไม่มีที่เคารพไม่มีที่ยำเกรง ย่อมอยู่เป็นทุกข์ เราจะพึงสักการะเคารพสมณะหรือพราหมณ์คนไหนหนอแล แล้วอาศัยอยู่? แต่ปริวิตกแห่งใจของพระสารีบุตรคือ ภิกษุสักการะ เคารพ อาศัยอะไรอยู่หนอ จะพึงละอกุศล เจริญกุศล? ในปริวิตกทั้ง ๒ นี้ ล้วนมีเหตุมาจากความเคารพเหมือนกัน

คำตอบแห่งปริวิตกของพระพุทธเจ้าคือ เราพึงสักการะเคารพธรรมที่เราตรัสรู้นั้น คำตอบแห่งปริวิตกของพระสารีบุตรคือภิกษุสักการะ เคารพ อาศัย พระศาสดา ธรรม สงฆ์ สิกขา สมาธิ ความไม่ประมาท ปฏิสันถาร อยู่แล จะพึงละอกุศล เจริญกุศล คำตอบของพระสารีบุตรนี้ เป็นธรรมอันเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุ ๗ ประการ ที่เทวดา มาทูลถวายแด่พระพุทธเจ้า ดังคาถาในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต เทวตาวรรคที่ ๔ สูตรที่ ๑ อัปปมาทสูตร ความว่า

ภิกษุผู้มีความเคารพในพระศาสดา มีความเคารพในธรรม มีความเคารพอย่างแรงกล้าในสงฆ์ มีความเคารพในสมาธิ มีความเพียร มีความเคารพอย่างแรงกล้าในสิกขา มีความเคารพในความไม่ประมาท มีความเคารพในปฏิสันถาร เป็นผู้ไม่ควรเพื่อความเสื่อม ย่อมมีในที่ใกล้นิพพานทีเดียวฯ

(โปรดติดตามตอนต่อไปในฉบับหน้า)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 92 ก.ค. 51 โดย พระพจนารถ ปภาโส วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม)
กำลังโหลดความคิดเห็น