xs
xsm
sm
md
lg

เสรีภาพคือชีวิตของชาติและประชาชน

เผยแพร่:   โดย: สิริอัญญา

ความจริงไม่อยากกล่าวถึงคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลแพ่ง ที่ให้กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเปิดทางและงดใช้เสียงในเวลากลางวัน แต่ทว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ของบ้านเมืองเกี่ยวกับชีวิตของประเทศชาติและประชาชน จึงจำเป็นต้องแสดงความคิดเห็นสักครั้งหนึ่ง

เรื่องนี้มีบุคคล 10 คน อ้างว่าเป็นครูโรงเรียนราชวินิต ไปยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งกล่าวหาว่ากลุ่มพันธมิตรฯ ละเมิดและขอไต่สวนฉุกเฉินให้ศาลมีคำสั่งห้าม 4 ข้อ

ศาลแพ่งไต่สวนฝ่ายเดียว แล้วมีคำสั่งยกคำขอของฝ่ายโจทก์ 2 ข้อคือที่ขอให้พันธมิตรฯ เก็บขยะและที่ให้งดใช้คำหยาบ เพราะศาลเห็นว่ากลุ่มพันธมิตรฯ ไม่มีหน้าที่เก็บขยะ และไม่ปรากฏว่าได้มีการใช้คำหยาบ

คงให้การคุ้มครองในอีก 2 ข้อที่กระทบต่อการเรียนการสอนของครู คือให้เปิดทางให้รถสัญจรไปมา ให้รถประจำทางไปโรงเรียนได้โดยสะดวก และห้ามใช้เสียงรบกวนระหว่างเวลา 07.30-16.30 น.

ศาลได้อธิบายต่อมาว่าศาลมิได้ห้ามการชุมนุมและมิได้สั่งให้รื้อเวที ดังนั้นตำรวจอย่าได้สะเออะเข้าไปเกี่ยวข้องเป็นอันขาด เพราะถึงจะกระเหี้ยนกระหือรืออย่างไรก็หาใช่เจ้าพนักงานของศาลในการบังคับคดีแต่ประการใด

ขืนเข้าไปยุ่งหรือกระเหี้ยนกระหือรือมากเกินไปก็อาจจะถูกกล่าวหาว่าเสือกไม่เข้าเรื่อง!

เหตุผลของการคุ้มครองที่สำคัญก็คือแม้กลุ่มพันธมิตรฯ จะมีเสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ แต่จะไปกระทบสิทธิของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะไม่ได้ การปิดถนนและการใช้เสียงเป็นการใช้สิทธิที่มีแต่จะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น

กลุ่มพันธมิตรฯ ได้ขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินเพื่อเพิกถอนคำสั่งคุ้มครอง ศาลทำการไต่สวนแล้วมีคำสั่งยืนตามคำสั่งเดิม คือให้คงความคุ้มครอง 2 ประการดังเดิม

แล้วถามว่าเรื่องนี้มีความสำคัญใหญ่หลวงอย่างไร? ก็ต้องตอบว่ามันเกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานและเป็นจิตวิญญาณของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นชีวิตเลือดเนื้อของประเทศชาติและประชาชน

ดังนั้นการที่กลุ่มพันธมิตรฯ จะอุทธรณ์คำสั่งของศาลต่อศาลอุทธรณ์ พร้อมกับขอทุเลาการบังคับคดี และให้ศาลอุทธรณ์เร่งพิจารณาเป็นการด่วนนั้นจึงเป็นสิทธิที่พึงกระทำ และเป็นสิ่งที่พึงอำนวยความยุติธรรมโดยมิชักช้า

เพราะความยุติธรรมที่ล่าช้านั้นก็คือความอยุติธรรมตามภาษิตกฎหมายอันมีมาแต่โบราณกาลแล้ว

ในการอุทธรณ์นี้ กลุ่มพันธมิตรฯ ควรอุทธรณ์อย่างไรบ้างจึงจะสมน้ำสมเนื้อ? และตรงกับเรื่องราวที่สุด ซึ่งประการนี้ต้องกราบขออภัยต่อคณะทนายความของกลุ่มพันธมิตรฯ อย่าได้ถือสาหาความว่าก้าวล่วงเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพนั้นเลย

ขอให้ถือเสียว่าเป็นความคิดเห็นของคนไทยคนหนึ่งที่หวงแหนเสรีภาพของปวงชน อันเป็นชีวิตจิตใจของประเทศชาติและประชาชนในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

กลุ่มพันธมิตรฯ อาจอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์เพื่อยกเลิกคำสั่งคุ้มครองของศาลแพ่งในประการดังต่อไปนี้

ประการแรก
การฟ้องคดีนี้ผู้ฟ้องมีส่วนได้เสียอะไร หรือมีข้อโต้แย้งสิทธิอะไรในทางแพ่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55

ต้องเข้าใจว่าการฟ้องคดีนี้โรงเรียนราชวินิตไม่ได้เป็นผู้ฟ้องคดี คณะครูก็ไม่เคยมีมติให้ฟ้องคดี คณะผู้ปกครองก็ไม่เคยมีมติให้ฟ้องคดี และบรรดานักเรียนก็มิได้เดือดร้อนที่จะต้องการฟ้องคดี แต่มีการกล่าวอ้างฐานะของโรงเรียน ของคณะครู ของผู้ปกครอง และนักเรียนไปฟ้องคดี

กรณีจึงเป็นเรื่องคน 10 คนเป็นโจทก์ฟ้องคดีอันเป็นการใช้สิทธิส่วนบุคคล คน 10 คนนี้ไม่ใช่ “ประชาชน” ตามความหมายแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 63 วรรคสอง

ซึ่งการใช้กฎหมายจำเป็นจะต้องจำแนกแยกแยะทั้งโดยอรรถะและโดยพยัญชนะให้ถ่องแท้ว่า “คน 10 คน” กับ “ประชาชน” นั้นเป็นคนละเรื่อง คนละความหมายกัน

และถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่าคน 10 คนไม่ใช่ประชาชนแล้ว ฝ่ายโจทก์ก็จะอาศัยรัฐธรรมนูญมาตรา 63 วรรคสองมาคุ้มครองไม่ได้

นอกจากนั้น การอาศัยมาตรา 63 วรรคสองแห่งรัฐธรรมนูญนั้นจะต้องอาศัยอำนาจที่กฎหมายบัญญัติโดยนัยแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 63 วรรคสองนั่นเอง ซึ่งบัดนี้ยังไม่มีกฎหมายที่ว่านี้ อันแสดงให้เห็นว่ารัฐไม่มีความประสงค์ที่จะลิดรอนเสรีภาพและจำกัดเสรีภาพดังกล่าว จึงนำมาตรา 63 วรรคสอง มาใช้ไม่ได้

ประการที่สอง การฟ้องคดีต่อศาลเป็นการใช้สิทธิทางศาล ซึ่งกฎหมายบังคับว่าต้องกระทำโดยสุจริต ดังภาษิตกฎหมายที่มีมาว่าทุกคนต้องมาศาลด้วยมือที่สะอาด การมาศาลด้วยมือที่สกปรกเป็นการไม่สุจริต

มีข้อเท็จจริงไม่น้อยที่เห็นปรากฏว่ากรณีเป็นเรื่องที่พรรคการเมืองพรรคหนึ่งบงการชักใยอยู่เบื้องหลัง แล้วอ้างฐานะของโรงเรียน คณะครู คณะผู้ปกครอง และเด็กนักเรียนไปฟ้องศาล

ถ้าการอุทธรณ์ข้อเท็จจริงฟังได้เช่นนี้ ก็อาจฟังได้ว่าดังที่ฝ่ายจำเลยต่อสู้ว่าเป็นการมาศาลด้วยมือที่สกปรก และไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะฟ้องคดีได้ตามกฎหมาย

ประการที่สาม
มีความเสียหายเกิดขึ้นจริงหรือไม่? ซึ่งได้อ้างมา 2 เรื่อง คือการปิดถนนทำให้ไป-กลับโรงเรียนไม่สะดวก และการใช้เสียงทำให้รบกวนการเรียนการสอน

กลุ่มพันธมิตรฯ ก็ได้อ้างพยานคือทั้งครู นักเรียนโรงเรียนราชวินิต และผู้เกี่ยวข้องเป็นพยานว่าทางไป-กลับโรงเรียนนั้นมีหลายทาง ไป-กลับทางอื่นก็ได้ ในเวลาดังกล่าวนั้นไม่มีการใช้เสียงอยู่แล้ว และครู นักเรียน และการไม่ปิดถนนจะมีเสียงรบกวนจากเสียงรถยนต์มากกว่าห้วงเวลาที่กลุ่มพันธมิตรฯ ปิดถนนเสียอีก

ถ้ากลุ่มพันธมิตรฯ เน้นย้ำให้ศาลอุทธรณ์เห็นได้ถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวอย่างชัดเจนแล้ว ก็เป็นอันไม่มีเหตุอันใดที่จะขอคุ้มครองชั่วคราวได้เลย

ประการที่สี่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายและเป็นเรื่องใหญ่เกี่ยวกับชีวิตเลือดเนื้อของประเทศชาติและประชาชนโดยตรง คือเรื่องเสรีภาพ

ศาลแพ่งได้ยอมรับเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ จึงมิได้สั่งห้ามการชุมนุมของประชาชน และมิได้สั่งให้รื้อเวทีแต่อย่างใด และศาลถึงกับต้องอธิบายเพิ่มเติมว่าศาลไม่ได้ห้ามการชุมนุมและไม่ได้สั่งให้รื้อเวที ทำให้ตำรวจที่กระเหี้ยนกระหือรือคิดยืมมือศาลรื้อเวทีต้องชะงักไป!

แม้ว่าเรื่องเสรีภาพในการชุมนุมได้รับการยอมรับก็จริง แต่ศาลเห็นว่าศาลต้องให้ความคุ้มครองความสะดวกแก่ประชาชนที่จะต้องใช้ที่สาธารณะ

กลุ่มพันธมิตรฯ จึงมีสิทธิที่จะอุทธรณ์โดยตรงในประการนี้ว่าคน 10 คนที่ไปฟ้องคดีไม่ใช่ประชาชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 63 วรรคสอง จึงไม่อาจขอความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้ และการจะขอความคุ้มครองดังกล่าวนั้นจะต้องกระทำโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่มีขึ้นเพื่อ “การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง” แห่งรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าว ซึ่งยังไม่มีกฎหมายที่ว่านี้

ประการที่ห้า ที่ว่าการปิดถนนและการใช้เสียงในห้วงเวลาดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิ์ที่มีแต่จะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 421 จึงเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมายนั้น

ในประการนี้เห็นว่าสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน ต่อรัฐ ไม่ใช่เรื่องสิทธิระหว่างบุคคลกับบุคคล อันเป็นเรื่องของเอกชนหรือปัจเจกชน

แม้ว่าสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญจะใช้คำว่าสิทธิเช่นเดียวกับถ้อยคำในประมวลกฎหมายแพ่งมาตรา 421 แต่เป็นสิทธิคนละอย่าง

สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องระหว่างบุคคลหรือประชาชนในทางการเมืองกับรัฐ

สิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งเป็นเรื่องระหว่างบุคคลกับบุคคลในทางแพ่ง


สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญจึงใหญ่และสำคัญกว่าสิทธิในทางแพ่งหากขัดหรือแย้งกัน และบุคคลโดยเฉพาะคน 10 คนย่อมไม่ใช่รัฐ ย่อมไม่อาจขอจำกัดหรือลิดรอนเสรีภาพของประชาชนได้

อันการตีความกฎหมายทั้งหลายย่อมต้องตีความในทางที่ใช้บังคับได้ การตีความในทางใช้บังคับไม่ได้ก็ดี ในทางที่ไร้ผลก็ดี กระทำมิได้

เพราะเหตุนี้หากจะตีความว่าสิทธิในทางแพ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งมาตรา 421 ใหญ่ สำคัญ หรือลบล้างสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของประชาชนแล้ว บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญว่าด้วยเสรีภาพในการชุมนุมก็จะถูกลบล้างไปจนหมดสิ้น

เพราะความเป็นสามัญของการชุมนุมก็ย่อมมีการใช้เสียง ย่อมมีการปิดกั้นทางสัญจรในที่หรือถนนสาธารณะ เพราะในโลกนี้ไม่มีใครจัดชุมนุมในที่อันรโหฐานเพราะที่เช่นนั้นไม่ใช่ที่แสดงออกซึ่งเจตนารมณ์ของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย

ศาลปกครองและศาลอาญาเคยพิจารณาวินิจฉัยกรณีทำนองนี้มาบ้างแล้ว เช่น การปิดสะพานที่จังหวัดภูเก็ต การปิดถนนในกรุงเทพฯ แล้วถูกสลายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งต้องเน้นว่าเป็นตัวแทนของรัฐยังกระทำไม่ได้เลย กระทำแล้วก็ต้องรับผิดและต้องชดใช้ค่าเสียหาย สำมะหาอะไรกับบุคคล 10 คนซึ่งไม่ใช่รัฐ จะไปขอจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้อย่างไร

ดังนั้นเพื่อธำรงไว้ซึ่งจิตวิญญาณแห่งระบอบประชาธิปไตย จึงต้องพิทักษ์รักษาสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้ดำรงคงอยู่ตลอดไป

ประการที่หก
การชุมนุมของประชาชนไม่ใช่เป็นการกระทำละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งมาตรา 420

บทบัญญัติมาตราดังกล่าวนั้นเป็นเรื่องของการละเมิดสิทธิในทางแพ่ง เป็นเรื่องที่บุคคลกระทำต่อบุคคล ไม่ใช่เรื่องที่บุคคลกระทำต่อรัฐ

การชุมนุมของประชาชนเป็นการกระทำทางการเมืองต่อรัฐ ไม่ใช่การโต้แย้งสิทธิของบุคคลในทางแพ่ง จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติว่าด้วยละเมิดแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทั้งการกระทำนั้นก็ไม่ผิดกฎหมายเพราะมีรัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ และไม่มีบทบัญญัติตามกฎหมายที่ออกตามรัฐธรรมนูญเพื่อการจำกัดเสรีภาพดังกล่าวนี้

ระบอบประชาธิปไตยต้องมีเสรีภาพของปวงชนควบคู่กัน หากเสรีภาพมีอยู่เฉพาะในตัวหนังสือแต่ปฏิบัติไม่ได้เพราะเหตุที่ยกเอาสิทธิส่วนบุคคลมาลบล้างได้แล้ว ก็เท่ากับชีวิตและจิตวิญญาณของประชาธิปไตยถูกลบล้างไปด้วยนั่นเอง.
กำลังโหลดความคิดเห็น