xs
xsm
sm
md
lg

ศาลยึดสิทธิขั้นพื้นฐาน!เมินเหตุผลพันธมิตรขอชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ศาลแพ่งสั่งยกคำร้อง พันธมิตรฯ ระบุคำสั่งศาลไม่ได้ห้ามชุมนุม แต่ไม่ให้ใช้เสรีภาพในการชุมนุมเกินขอบเขต ยันข้ออ้างปิดถนนกันม็อบ นปก.ป่วน ไม่ใช่เหตุผลทางกฎหมาย ส่วนทนายครูราชวินิตยื่นคำร้องให้ศาลตั้งผู้บังคับคดี ศาลนัดไต่สวน ตำรวจ ผู้เกี่ยวข้อง 7 ก.ค.นี้


วันนี้(2 ก.ค.)เมื่อเวลา 14.00 น.ที่ห้องพิจารณาคดี 417 ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำสั่ง ในคดีหมายเลขดำที่ 3604/2551 ที่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง กับพวกรวม 6 คน แกนนำกลุ่มพันธมิตร จำเลยที่ 1-6 ยื่นขอไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของ นางวรรธนันท์ พรวานต้นไทร อาจารย์ โรงเรียนราชวินิต มัธยม กับพวกเป็นโจทก์ ที่ 1-10 โดยวันนี้ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายพิภพ ธงไชย แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไม่ได้เดินทางมาฟังคำสั่งแต่อย่างใด รวมถึงนายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความด้วย โดยมอบหมายให้นายนิติธร ล้ำเหลือ กรรมการสิทธิมนุษยชนสภาทนายความ เข้ารับฟังคำสั่งแทน

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า สืบเนื่องศาลมีคำสั่งให้คุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาตามคำร้องของโจทก์ทั้ง 10 โดยให้จำเลยทั้ง 6 กับพวกเปิดพื้นที่การจราจรบนถนพระราม 5 และถนนพิษณุโลก ให้โจทก์ทั้ง 10 รถยนต์ โดยสาธารณะ(รถเมล์) และประชาชนสามารถผ่านไปมาได้โดยสะดวก และห้ามมิให้จำเลยทั้ง 6 กับพวกใช้เครื่องขยายเสียงในลักษณะที่เป็นการรบกวนการเรียนการสอนของโรงเรียนราชวินิต มัธยม ในวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ระหว่างเวลา 07.30-16.30 น.ไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

จำเลยทั้ง 6 ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว โดย อ้างว่า เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ เป็นเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำได้ต่อเมื่อมีกฎหมายที่บัญญัติถึงการชุมนุมสาธารณะไว้เป็นการเฉพาะ ซึ่งนับแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ประกาศใช้บังคับ รัฐบาลยังมิได้จัดให้มีการออกกฎหมายดังกล่าวเพื่อเป็นการจำกัดเสรีภาพแห่งการชุมนุมแต่อย่างใด การที่ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวตามคำร้องของโจทก์ทั้ง 10 จึงเป็นการตีความที่คลาดเคลื่อนผิดไปจากเจตนารมณ์ที่แท้จริงของรัฐธรรมนูญ ในประเด็นนี้ศาลเห็นว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 บัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพ ของชนชาวไทยไว้หลายประการไม่ว่าจะเป็นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล สิทธิในกระบวนการยุติธรรม สิทธิในทรัพย์สิน เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน รวมถึงเสรีภาพในการชุมนุม และการสมาคม

กล่าวโดยเฉพาะเสรีภาพในการชุมนุมและสมาคม มาตรา 63 วรรคแรก บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ และปราศจากอาวุธ” และวรรคสอง บัญญัติว่า “การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณะ และเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ” คำว่า “อาศัยตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย” นั้น มิได้หมายความว่ารัฐจะต้องออกกฎหมายมารับรองในกรณีการชุมนุมสาธารณะไว้เป็นการเฉพาะเสียก่อน หากแต่มีความหมายว่าการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมดังกล่าวอาจจะกระทำได้โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่มีอยู่แล้ว หรือบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่จะมีขึ้นต่อไปภายหน้า เพราะหากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ประสงค์จะให้มีการออกกฎหมายใด หรือออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะมารองรับไว้เป็นการเฉพาะดังที่จำเลยทั้ง 6 กล่าวอ้างแล้ว ก็น่าจะบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งในมาตรา 63 นั่นเอง หรือบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งตามความในมาตรา 138 และมาตรา 303 ของรัฐธรรมฯญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 แต่ก็หาบัญญัติไว้ไม่

ทั้งคำสั่งศาลที่ให้คุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษานั้น ก็มิได้เป็นการตีความรัฐธรรมนูญ ในลักษณะที่เป็นการกระทบกระเทือนต่อสาระสำคัญ อันเป็นหลักการแห่งเสรีภาพในการชุมนุม และมิได้มีคำสั่งห้ามไม่ให้มีการชุมนุม เพราะการชุมนุมโดยสงบ และปราศจากอาวุธ เป็นเสรีภาพของชนชาวไทย ซึ่งเป็นหลักการที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 63 วรรคแรก บัญญัติรับรองไว้ ไม่ว่าศาลหรือองค์กรใดจะปฏิบัติให้เป็นการขัดหรือแย้ง ต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศมิได้ การที่ศาลมีคำสั่งให้เปิดพื้นที่การจราจรบนถนนดังกล่าว เพื่อแสดงให้เห็นว่าการชุมนุมนั้น จะต้องอยู่ในกรอบแห่งกฎหมาย และเพื่อที่จะคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่ใช้ถนนสาธารณะ ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 63 วรรคสอง บัญญัติไว้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าการชุมนุมของจำเลยทั้ง 6 กับพวก เป็นการชุมนุมสาธารณะโดยปิดพื้นที่ถนนบริเวณดังกล่าวทั้งหมด ย่อมเป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุม ที่เกินขอบเขตอันเป็นการล่วงละเมิดต่อสิทธิของบุคคลอื่น รวมทั้งโจทก์ทั้ง 10 ประชาชนและนักเรียนให้ได้รับความเดือดร้อน ไม่ได้รับความสะดวกที่จะใช้ถนนสาธารณะไม่ว่าความเดือดร้อนนั้นจะมากหรือน้อยหรือแต่เพียงบางส่วน ก็เป็นการล่วงละเมิดต่อสิทธิของบุคคลอื่นเช่นเดียวกัน การที่ศาลมีคำสั่งให้คุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา จึงเป็นไปเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ถนนสาธารณะตามที่บัญญัติไว้ใน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 63 วรรคสอง นั่นเอง

ส่วนที่จำเลยทั้ง 6 อ้างว่า เหตุที่ต้องปิดถนนเพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่ม นปก. แฝงตัวเข้ามาก่อกวนทำร้ายประชาชนที่มาร่วมชุมนุม และหากเปิดถนนให้รถยนต์ รถโดยสารประจำทางผ่านไปมา ณ บริเวณชุมนุม จะเป็นการยากต่อการรักษาความปลอดภัย ในชีวิตและทรัพย์สินของผู้มาชุมนุมได้นั้น ศาลเห็นว่า เหตุผลดังกล่าวมิได้เป็นเหตุผลทางกฎหมายที่จะยกขึ้นมาเพื่อกล่าวอ้างให้สามารถกระทำการล่วงละเมิดต่อสิทธิของประชาชนที่ใช้ถนนสาธารณะตามที่วินิจฉัยมาได้ สำหรับคำสั่งศาลที่ห้ามมิให้จำเลยทั้ง 6 ใช้เครื่องขยายเสียงนั้น ก็เป็นเพียงการห้ามมิให้ใช้เครื่องขยายเสียงในลักษณะที่เป็นการรบกวนการเรียนการสอน เฉพาะช่วงเวลาตามที่กำหนดเท่านั้น มิได้ห้ามโดยเด็ดขาดเสียทีเดียว ด้วยเหตุผลที่วินิจฉัยมาจึงไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยทั้ง 6

ภายหลังนายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความ กล่าวว่า ฝ่ายจำเลยจะยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวภายในสัปดาห์นี้ ขณะที่ฝ่ายโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งเจ้าหน้าที่บังคับคดี โดยระบุว่ากลุ่มพันธมิตรไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของศาล ซึ่งทางกลุ่มพันธมิตร จะขอเดินทางมาร่วมฟังการไต่สวนดังกล่าวที่จะมีขึ้นในวันที่ 7 ก.ค. นี้ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ช่วงเช้าวันเดียวกัน นายเมธี ใจสมุทร ทนายความของโจทก์ทั้ง 10 ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งเจ้าหน้าที่บังคับคดี โดยคำร้องมีใจความสรุปว่า จำเลยทั้ง 6 ยังไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลแต่อย่างใด เมื่อจำเลยทั้ง 6 ยังคงปิดถนนพิษณุโลก นับตั้งแต่แยกมิสกวัน ถึงแยกนางเลิ้ง ด้านที่ติดโรงเรียนราชวินิต มัธยม (ขาออก) บริเวณหน้าสำนักงาน ก.พ. บนสะพานชมัยมรุเชษฐ และต่อเนื่องถึงแยกพานิชยการบางส่วน ส่วนในด้านกลับกันจากแยกนางเลิ้ง ถึงแยกมิสกวัน จำเลยทั้ง 6 ได้เปิดถนนทั้ง 3 ช่องจราจร แต่ยังคงมีสัมภาระวางอยู่ เป็นผลให้โจทก์ทั้ง 10 และประชาชนทั่วไปไม่สามารถผ่านได้โดยสะดวก นอกจากนี้หลังเวลา 16.30 น. จำเลยทั้ง 6 ได้ทำการปิดถนพระราม 5 และถนนพิษณุโลกเช่นเดิม และเปิดถนนในเวลา 07.00 น. โจทก์ทั้ง 10 จึงจำเป็นต้องยื่นคำร้องขอให้ศาลได้โปรดมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีให้จำเลยทั้ง 6 ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ทั้งนี้โจทก์ทั้ง 10 ขอศาลได้โปรดมีคำสั่ง หรือมีหมายเรียกโดยด่วน ไปยัง พล.ต.ท.อัศวิน ขวัญเมือง ผบช.น. พล.ต.ต.ภาณุ เกิดลาภผล รอง ผบช.น.ดูแลงานจร. พล.ต.ต.สุรพล ทวนทอง รองโฆษก ตร. และนายพิเณศวร์ พัวพัฒนกุล ผอ.ขสมก. โดยศาลนัดไต่สวนในวันที่ 7 ก.ค. เวลา 13.30 น. นี้
พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เดินทางไปเบิกความ
นายพิภพ ธงชัย ไปเบิกความเช่นกัน
นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความพันธมิตรฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น