xs
xsm
sm
md
lg

เปิดคำร้องพันธมิตรฯ แฉพรรคพลังประชาชนเสี้ยมฟ้องศาล!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

เปิดคำร้องพันธมิตรฯ ขอศาลยกเลิกคุ้มครองชั่วคราวให้กับครูและคณะผู้ปกครองโรงเรียนราชวินิตมัธยม ที่ร้องให้เปิดถนน ระบุพรรคพลังประชาชนอยู่เบื้องหลัง และต้องการให้มีการสลายการชุมนุม

วันนี้ (1 ก.ค.) เวลา 10.00 น.ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายพิภพ ธงไชย แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พร้อมด้วยนายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความแกนนำพันธมิตรฯ และนายนิติธร ล้ำเหลือ กรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งเพื่อขอไต่สวนฉุกเฉินให้ศาลระงับหรือแก้ไขคำสั่งเพื่อให้พันธมิตรฯ เปิดถนนพระราม 5 และถนนพิษณุโลก ตามคำร้องของครูและคณะผู้ปกครองโรงเรียนราชวินิตมัธยม และศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเมื่อวานที่ผ่านมา

คำร้องเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวระบุว่า หลังจากที่ศาลมีคำสั่งให้จำเลยทั้ง 6 เปิดการจราจรบนถนพระราม 5 และถนพิษณุโลก เพื่อให้ประชาชนสามารถผ่านไปมาได้อย่างสะดวก และห้ามมิให้จำเลยใช้เครื่องขยายเสียงในช่วงวันจันทร์-วันศุกร์ ระหว่างเวลา 07.30-16.30 น.ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าคดีจะถึงที่สุด หรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น โดยให้คำสั่งมีผลทันที จำเลยทั้ง 6 รับทราบคำสั่งศาลแล้วเห็นว่า คำสั่งดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ในมาตรา 63 บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ มาตรา 27 บัญญัติว่า สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้โดยชัดเจนโดยปริยายหรือโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมได้รับความคุ้มครองและผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐโดยตรงและตรากฎหมาย การใช้บังคับและกฎหมาย และการตีความกฎหมายทั้งปวง และมาตรา 29 การจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้และเท่าที่จำเป็น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้ จำเลยทั้ง 6 จึงมีความประสงค์ขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าว

การใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธนั้น มิได้เป็นการกระทำที่จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้ความเสียหาย ถึงแก่ชีวิต แก่ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี จึงไม่ใช่เป็นการละเมิดแต่เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ อันเป็นกฎหมายมหาชน ซึ่งเรื่องนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 11/2549 เมื่อวันที่ 23 พ.ค.2551 วางบรรทัดฐานไว้แล้ว โดยโจทก์ทั้ง 10 ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต คดีนี้เป็นการกระทำของพรรคพลังประชาชนที่ต้องการสลายการชุมนุมของจำเลยกับพวก จึงได้มอบหมายให้นายศุภชัย ใจสมุทร อดีตผู้สมัคร ส.ส. และปัจจุบันเป็นรองโฆษกพรรคพลังประชาชน ทั้งนี้ พรรคพลังประชาชนได้เชิดให้โจทก์ทั้ง 10 มาเป็นผู้เสียหายในการฟ้องคดี โดยให้นายเมธี ใจสมุทร น้องชายของนายศุภชัย เป็นทนายความฟ้องคดี การสลายการชุมนุม เป็นวัตถุประสงค์ของพรรคพลังประชาชนการฟ้องคดีนี้ถือว่า พวกโจทก์มาศาลโดยมือที่ไม่สะอาด มิได้เสียหายจริงตามที่ฟ้อง

คำร้องระบุด้วยว่า พวกจำเลยเป็นแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มีวัตถุประสงค์ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 70 บัญญัติว่า บุคคลมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การรวมตัวครั้งนี้เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกันของประชาชนชาวไทย ธำรงไว้ซึ่งเอกราชและความมั่นคงของชาติ การทำนุบำรุงรักษาศาสนา เทิดทูนพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข และเป็นมิ่งขวัญของชาติ ทั้งนี้การที่พวกจำเลยออกมาชุมนุมเป็นเพราะพรรคพลังประชาชนซึ่งเป็นพรรคเสียงข้างมากมีความประสงค์จะแก้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 วรรค 2 มาตรา 309 และบทเฉพาะกาล ซึ่งการแก้ไขดังกล่าวนำไปสู่การถกเถียงของประชาชนทั่วไปว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ เนื่องด้วยวิธีการนำเสนอแก้ไข ไม่ต้องการให้ผ่านการลงประชามติ ทั้งยังเป็นการแก้ไขเพื่อให้มีผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรม หน่วยงานหรือองค์การตรวจสอบที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ ทั้งยังเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อยังให้เกิดประโยชน์แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และหนีการถูกยุบพรรคพลังประชาชน พรรคมัชฌิมาธิปไตย พรรคชาติไทย จึงเป็นการแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์ของพวกตนโดยเฉพาะ ผิดจากหลักเกณฑ์ในการตรากฎหมาย เพราะการออกกฎหมายเพื่อประโยชน์ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นสิ่งที่กระทำไม่ได้ ซึ่งจำเลยได้แถลงเตือนไปยังรัฐบาลว่าไม่ให้แก้รัฐธรรมนูญ แต่ยังคงดึงดันที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ อันเป็นเหตุผลที่จำเลยต้องระดมมวลชนเข้าคัดค้าน อันเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ การชุมนุมของจำเลยทั้ง 6 จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของปวงชนชาวไทย ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 70 และ 71

โดยการชุมนุมได้เริ่มตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค.51 เป็นต้นมา โดยครั้งแรกชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และเคลื่อนขบวนมาปักหลักพักค้างที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ และได้ยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกความคิดที่จะแก้รัฐธรรมนูญแต่รัฐบาลก็ไม่ยอม กลับกระทำการต่างๆ ยั่วยุ อาทิ เข้าแทรกแซงในกระบวนการยุติธรรม โดยย้ายอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) การปลด ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งกำลังสอบสวนในคดีที่เกี่ยวพันกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในส่วนของต่างประเทศ ได้ย้ายอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และได้แต่งตั้ง นายกฤต ไกรจิติ ขึ้นเป็นอธิบดีแทน เพื่อให้มีการทำแถลงการณ์ร่วมระหว่างไทยกับกัมพูชา ทำให้ไทยเสียดินแดนประสาทพระวิหาร จนต้องยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง และทำการไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีรการคุ้มครองชั่วคราว ก่อนมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 984/2551

ท้ายคำร้องระบุว่า การชุมนุมครั้งนี้ได้สร้างคุณูปการแก่ประเทศชาติหลายประการ อาทิ ประวิงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยสามารถประหยัดงบประมาณในการทำประชาพิจารณ์ ได้ถึง 2,400 ล้านบาท เรื่องการที่รัฐบาลยอมให้เปิดสภาให้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เรื่องปราสาทพระวิหาร เรื่องการดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ของนายจักรภพ เพ็ญแข อดีต รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และอื่นๆ ซึ่งการชุมนุมรวมระยะเวลา 37 วัน กระทำโดยสงบไม่มีการเสียเลือดเสียเนื้อของประชาชนแต่อย่างใด ระหว่างการชุมนุมของจำเลยมีกลุ่มของประชาชนที่ไม่เห็นด้วย ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาล นามกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) พยายามเข้ามาทำร้ายร่างกายของประชาชนที่ชุมนุมเรื่อยมา จึงมีความจำเป็นที่จำเลยจะต้องปิดกั้นถนบางส่วน เพื่อไม่ให้คนร้ายแฝงตัวเข้ามาในกลุ่มผู้ชุมนุมได้ แต่การปิดถนและการใช้เครื่องขยายเสียงก็ทำตามความจำเป็นเฉพาะในตอนกลางวันที่มีผู้ชุมนุมน้อย เครื่องเสียงบริเวณโรงเรียนราชวินิต มัธยม และโรงเรียนอื่นๆ ก็ปิดหมด ผู้ฟ้องคดีอาจขาดความสะดวกสบายไปบ้าง แต่สามารถใช้เส้นทางอื่นมาที่โรงเรียนได้ ผู้ฟ้องคดีจึงมิได้มีความเสียหายตามฟ้อง ในทางกลับกัน จำเลยทั้ง 6 ได้ปฏิบัติตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลแล้ว การชุมนุมของจำเลยทั้ง 6 จะกระทำไม่ได้เลย หากปล่อยให้รถเมล์ วิ่งผ่านที่ชุมนุม ก็อาจเป็นการเปิดช่องให้กลุ่ม นปก.แฝงตัวเข้ามาทำร้ายก็ผู้ชุมนุมได้ อันเป็นการยากที่จะรักษาความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของผู้ชุมนุม ส่วนการใช้เครื่องเสียงนั้น ปัจจุบันพวกจำเลยไม่ได้เปิดเครื่องเสียงที่โรงเรียนราชวินิต มัธยม ในเวลากลางวันแล้ว ด้วยเหตุผลดังกล่าวจำเลยขอให้ศาลได้โปรดยกเลิกคำสั่งตามคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวของโจทก์ทั้ง 10 หรือกำหนดมาตรการอื่น เพื่อไม่ให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญด้วย

ฝ่ายจำเลยนำพยานเข้าสืบจำนวน 5 ปาก ประกอบด้วย ผู้ปกครอง 3 คน นางจินตนา กิจธิคุณ อายุ 51 ปี อาชีพทนายความ นายภูมิภักดิ์ พึ่งอุดม อายุ 42 ปี ทำธุรกิจส่วนตัว นายจิรเชษฐ์ พึ่งอุดม อายุ 16 ปี นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนราชวินิต ด.ช.กันตธัช กิจธิคุณ อายุ 14 ปี นักเรียนชั้น ม.3 ซึ่งเคยขึ้นปราศรัยบนเวทีพันธมิตรฯ และนางพรศรี รัตตานนท์ อายุ 50 แม่บ้าน เบิกความในทำนองเดียวกันว่า การชุมนุมไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเส้นทางที่จะมาส่งบุตร เพราะจะมาส่งที่สนามม้านางเลิ้ง โดยปกติโรงเรียนห้ามผู้ปกครองนำรถไปจอดในโรงเรียนอยู่แล้ว รวมทั้งครูด้วย ส่วนใหญ่จะจอดไว้ที่สนามม้า เพราะในโรงเรียนมีพื้นที่ให้เฉพาะรถโรงเรียนจอดเท่านั้น การมาส่งลูกที่โรงเรียนสามารถมาได้หลายเส้นทาง ส่วนเรื่องเสียงไม่รบกวน เพราะลำโพงหันไปทางทำเนียบรัฐบาล เวลาที่เรียนในห้องเรียนจะได้ยินเสียงเพียงแผ่วเบา จับใจความไม่ได้ว่าพูดอะไรบ้าง โดยหากไม่มีการชุมนุม จะมีเสียงดังจากรถที่วิ่งผ่านไปมามากกว่า

ภายหลังเบิกความช่วงเช้าเสร็จ ศาลนัดไต่สวน พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และนายพิภพ ธงไชย อีกครั้งในเวลา 13.30 น.
พันธมิตรฯเปิดถนนพิษณุโลก ตามคำสั่งศาล




กำลังโหลดความคิดเห็น