xs
xsm
sm
md
lg

ยื่นศาลรธน.ตีความพันธมิตรหวั่นกระทบสิทธิชุมนุม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - ศาลแพ่งสั่งยกคำร้องพันธมิตรฯ ระบุคำสั่งศาลไม่ได้ห้ามชุมนุม แต่ไม่ให้ใช้เสรีภาพในการชุมนุมเกินขอบเขต ทนายพันธมิตรฯ เตรียมอุทธรณ์ศาลรัฐธรรมนูญ ตีความกม.แพ่งครอบงำสิทธิการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ พร้อมไต่สวนฉุกเฉิน กรณีห้ามสนธิพูดพาดพิงทักษิณ ด้านตำรวจกระเหี้ยนกระหือรือรื้อเวที “ไชยวัฒน์” ย้ำศาลไม่ได้สั่งให้รื้อเวที จวกตร.อย่าทำตัวเหมือน “เป็ดเหลิม” แปลความเกินคำสั่งศาล

วานนี้ (2 ก.ค.) เวลา 14.00 น.ที่ห้องพิจารณาคดี 417 ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำสั่ง ในคดีหมายเลขดำที่ 3604/2551 ที่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง กับพวกรวม 6 คน แกนนำกลุ่มพันธมิตร จำเลยที่ 1-6 ยื่นขอไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของ นางวรรธนันท์ พรวานต้นไทร อาจารย์ โรงเรียนราชวินิต มัธยม กับพวกเป็นโจทก์ ที่ 1-10 โดย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายพิภพ ธงไชย แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไม่ได้เดินทางมาฟังคำสั่งศาล รวมถึงนายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความ โดยมอบหมายให้นายนิติธร ล้ำเหลือ กรรมการสิทธิมนุษยชนสภาทนายความ เข้ารับฟังคำสั่งแทน

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า สืบเนื่องศาลมีคำสั่งให้คุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาตามคำร้องของโจทก์ทั้ง 10 โดยให้จำเลยทั้ง 6 กับพวกเปิดพื้นที่การจราจรบนถนพระราม 5 และถนนพิษณุโลก ให้โจทก์ทั้ง 10 รถยนต์ โดยสาธารณะ(รถเมล์) และประชาชนสามารถผ่านไปมาได้โดยสะดวก และห้ามมิให้จำเลยทั้ง 6 กับพวกใช้เครื่องขยายเสียงในลักษณะที่เป็นการรบกวนการเรียนการสอนของโรงเรียนราชวินิต มัธยม ในวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ระหว่างเวลา 07.30-16.30 น.ไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

จำเลยทั้ง 6 ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว โดย อ้างว่า เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ เป็นเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำได้ต่อเมื่อมีกฎหมายที่บัญญัติถึงการชุมนุมสาธารณะไว้เป็นการเฉพาะ ซึ่งนับแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ประกาศใช้บังคับ รัฐบาลยังมิได้จัดให้มีการออกกฎหมายดังกล่าวเพื่อเป็นการจำกัดเสรีภาพแห่งการชุมนุมแต่อย่างใด การที่ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวตามคำร้องของโจทก์ทั้ง 10 จึงเป็นการตีความที่คลาดเคลื่อนผิดไปจากเจตนารมณ์ที่แท้จริงของรัฐธรรมนูญ ในประเด็นนี้ศาลเห็นว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 บัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพ ของชนชาวไทยไว้หลายประการไม่ว่าจะเป็นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล สิทธิในกระบวนการยุติธรรม สิทธิในทรัพย์สิน เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน รวมถึงเสรีภาพในการชุมนุม และการสมาคม

**เมินสิทธิชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ
กล่าวโดยเฉพาะเสรีภาพในการชุมนุมและสมาคม มาตรา 63 วรรคแรก บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ และปราศจากอาวุธ” และวรรคสอง บัญญัติว่า “การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณะ และเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ” คำว่า “อาศัยตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย” นั้น มิได้หมายความว่ารัฐจะต้องออกกฎหมายมารับรองในกรณีการชุมนุมสาธารณะไว้เป็นการเฉพาะเสียก่อน หากแต่มีความหมายว่าการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมดังกล่าวอาจจะกระทำได้โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่มีอยู่แล้ว หรือบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่จะมีขึ้นต่อไปภายหน้า เพราะหากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ประสงค์จะให้มีการออกกฎหมายใด หรือออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะมารองรับไว้เป็นการเฉพาะดังที่จำเลยทั้ง 6 กล่าวอ้างแล้ว ก็น่าจะบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งในมาตรา 63 นั่นเอง หรือบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งตามความในมาตรา 138 และมาตรา 303 ของรัฐธรรมฯญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 แต่ก็หาบัญญัติไว้ไม่

**อ้างคุ้มครองความสะดวกของปชช.
ทั้งคำสั่งศาลที่ให้คุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษานั้น ก็มิได้เป็นการตีความรัฐธรรมนูญ ในลักษณะที่เป็นการกระทบกระเทือนต่อสาระสำคัญ อันเป็นหลักการแห่งเสรีภาพในการชุมนุม และมิได้มีคำสั่งห้ามไม่ให้มีการชุมนุม เพราะการชุมนุมโดยสงบ และปราศจากอาวุธ เป็นเสรีภาพของชนชาวไทย ซึ่งเป็นหลักการที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 63 วรรคแรก บัญญัติรับรองไว้ ไม่ว่าศาลหรือองค์กรใดจะปฏิบัติให้เป็นการขัดหรือแย้ง ต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศมิได้ การที่ศาลมีคำสั่งให้เปิดพื้นที่การจราจรบนถนนดังกล่าว เพื่อแสดงให้เห็นว่าการชุมนุมนั้น จะต้องอยู่ในกรอบแห่งกฎหมาย และเพื่อที่จะคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่ใช้ถนนสาธารณะ ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 63 วรรคสอง บัญญัติไว้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าการชุมนุมของจำเลยทั้ง 6 กับพวก เป็นการชุมนุมสาธารณะโดยปิดพื้นที่ถนนบริเวณดังกล่าวทั้งหมด ย่อมเป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุม ที่เกินขอบเขตอันเป็นการล่วงละเมิดต่อสิทธิของบุคคลอื่น รวมทั้งโจทก์ทั้ง 10 ประชาชนและนักเรียนให้ได้รับความเดือดร้อน ไม่ได้รับความสะดวกที่จะใช้ถนนสาธารณะไม่ว่าความเดือดร้อนนั้นจะมากหรือน้อยหรือแต่เพียงบางส่วน ก็เป็นการล่วงละเมิดต่อสิทธิของบุคคลอื่นเช่นเดียวกัน การที่ศาลมีคำสั่งให้คุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา จึงเป็นไปเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ถนนสาธารณะตามที่บัญญัติไว้ใน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 63 วรรคสอง นั่นเอง

**ไม่รับฟังเหตุผลนปก.ป่วน
ส่วนที่จำเลยทั้ง 6 อ้างว่า เหตุที่ต้องปิดถนนเพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่ม นปก.แฝงตัวเข้ามาก่อกวนทำร้ายประชาชนที่มาร่วมชุมนุม และหากเปิดถนนให้รถยนต์ รถโดยสารประจำทางผ่านไปมา ณ บริเวณชุมนุม จะเป็นการยากต่อการรักษาความปลอดภัย ในชีวิตและทรัพย์สินของผู้มาชุมนุมได้นั้น ศาลเห็นว่า เหตุผลดังกล่าวมิได้เป็นเหตุผลทางกฎหมายที่จะยกขึ้นมาเพื่อกล่าวอ้างให้สามารถกระทำการล่วงละเมิดต่อสิทธิของประชาชนที่ใช้ถนนสาธารณะตามที่วินิจฉัยมาได้ สำหรับคำสั่งศาลที่ห้ามมิให้จำเลยทั้ง 6 ใช้เครื่องขยายเสียงนั้น ก็เป็นเพียงการห้ามมิให้ใช้เครื่องขยายเสียงในลักษณะที่เป็นการรบกวนการเรียนการสอน เฉพาะช่วงเวลาตามที่กำหนดเท่านั้น มิได้ห้ามโดยเด็ดขาดเสียทีเดียว ด้วยเหตุผลที่วินิจฉัยมาจึงไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยทั้ง 6

**ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาล
ภายหลังจากนั้น นายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความ กล่าวว่า ฝ่ายจำเลยจะยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวภายในสัปดาห์นี้ ขณะที่ฝ่ายโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งเจ้าหน้าที่บังคับคดี โดยระบุว่ากลุ่มพันธมิตรไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของศาล ซึ่งทางกลุ่มพันธมิตร จะขอเดินทางมาร่วมฟังการไต่สวนดังกล่าวที่จะมีขึ้นในวันที่ 7 ก.ค. นี้ด้วย

นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความพันธมิตรฯกล่าวว่า ขั้นตอนต่อไปจะคัดสำเนาคำพิพากษา เพื่อนำไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะเชื่อว่าคำวินิจฉัยไม่ตรงตามเจตนารมณ์กฎหมายรัฐธรรมนูญ แล้วอย่างนี้การใช้สิทธิชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ตามรัฐธรรมนูญ ก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะถูกกฎหมายแพ่ง ครอบงำ นอกจากนั้นจะยื่นคำอุทรณ์ขอไต่สวนฉุกเฉินกรณีที่ศาลห้ามนายสนธิกล่าวพาดพิงถึงพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

นายสนธิ ลิ้มทองกุล กล่าวบนเวทีพันธมิตรฯว่า ได้ทำหน้าที่ในฐานะสื่อมวลชนก็มีสิทธิ์วิพากษ์วิจารณ์ได้ เนื่องจากว่า คตส. ได้สรุปออกมาว่า พ.ต.ท.ทักษิณมีความผิดหลายคดีแล้ว จึงจำเป็นต้องยื่นอุทรณ์ขอไต่สวนฉุกเฉิน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ช่วงเช้าวันเดียวกัน นายเมธี ใจสมุทร ทนายความของโจทก์ทั้ง 10 ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งเจ้าหน้าที่บังคับคดี โดยคำร้องมีใจความสรุปว่า จำเลยทั้ง 6 ยังไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลแต่อย่างใด ทั้งนี้โจทก์ทั้ง 10 ขอศาลได้โปรดมีคำสั่ง หรือมีหมายเรียกโดยด่วน ไปยัง พล.ต.ท.อัศวิน ขวัญเมือง ผบช.น. พล.ต.ต.ภาณุ เกิดลาภผล รอง ผบช.น.ดูแลงานจร. พล.ต.ต.สุรพล ทวนทอง รองโฆษก ตร. และนายพิเณศวร์ พัวพัฒนกุล ผอ.ขสมก. โดยศาลนัดไต่สวนในวันที่ 7 ก.ค. เวลา 13.30 น. นี้

**อัศวินจ้องรื้อเวที
พล.ต.ท.อัศวิน ขวัญเมือง ผบช.น.เปิดเผยภายหลังประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์และวางมาตรการรักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวก ว่าหลังศาลมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องค้าน โดยยืนตามคำสั่งเดิม ตนจะสั่งการให้ รอง ผบช.น.ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ทำความเข้าใจกับแกนนำในการเปิดพื้นผิวจราจร ซึ่งส่วนนี้ต้องเปิดตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ใช่เปิดแค่ระยะเวลา 07.30 น.ถึง 16.30 น. เพราะช่วงเวลานั้นคือการห้ามใช้เครื่องขยายเสียง

เมื่อเวลา 16.15 น.วันนี้ (2 ก.ค.) นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ประธานสมัชชาประชาชนภาคอีสานฯ กล่าวถึงกรณีที่ศาลยกคำร้องว่า ระหว่างที่ศาลมีคำวินิจฉัยคุ้มครองฉุกเฉินนั้นตนอยู่ต่างจังหวัด ซึ่งชาวบ้านในต่างจังหวัดก็ยังฝากตนมาบอกว่าให้สู้จนถึงที่สุดเพื่อความถูกต้องของบ้านเมือง ตนในฐานะเป็นนักกฎหมายมีความเห็นส่วนตัวว่า น่าจะลดพื้นที่การชุมนุมลง และหันเครื่องขยายเสียงมาที่ถนนพิษณุโลกอย่างเดียว นอกจากนี้ ศาลยังไม่ได้สั่งให้รื้อถอนเวที ตำรวจจะใช้ดุลพินิจแปลความเกินศาลได้อย่างไร หน้าที่ที่ควรทำตำรวจไม่ทำ กลับทำเกินหน้าที่ อย่าทำตัวเหมือน มท.1

เวลา 18.00 น. นายนิติธร ล้ำเหลือ หนึ่งในทีมทนายความของกลุ่มพันธมิตรฯ แถลงด้านหลังเวทีชุมนุมถึงแนวทางการอุทธรณ์คำสั่งศาลแพ่งว่า พันธมิตรจะมีการยื่นอุทธรณ์ในวันศุกร์ที่ 4 ก.ค. คือนำเสนอข้อเท็จจริงในการชุมนุม ทางวิชาการและทางกฎหมาย เพื่อให้เห็นลักษณะการชุมนุมจริงๆว่าเป็นอย่างไร และหากการเปิดพื้นที่ให้คนเข้ามาก่อกวนได้จะทำให้กรอบการชุมนุมโดยสงบเป็นไปได้จริงหรือไม่ ส่วนอีกประเด็นคือการชุมนุมตามมาตรา 63 นั้นอยู่ในกรอบความสงบปราศจากอาวุธ

ส่วนประเด็นอุทธรณ์ประเด็นที่ 2 นายนิติธร กล่าวว่า การที่ฝ่ายโจทย์ขอบังคับคดีเพื่อขอเปิดพื้นผิวถนนทั้งหมดนั้น การตีความอาจจะแตกต่างกันซึ่งศาลให้เปิดพื้นผิวการจราจรและห้ามใช้เครื่องเสียงการอันเป็นการรบกวนโดยกำหนดเวลาข้างหลัง อีกทั้งที่ผ่านมาศาลระบุว่าเรายังมีสิทธิ์การชุมนุม ไม่ได้ห้ามการชุมนุม ฉะนั้นในเบื้องต้นจึงทำตามคำสั่งศาลตามที่เราเข้าใจ ส่วนที่ฝ่ายโจทย์บอกว่าต้องเปิดพื้นผิวทั้งหมดโดยระบุว่าเรายังทำผิดซ้ำอยู่ ประเด็นนี้ศาลจะนัดไต่สวนในวันที่ 7 ก.ค. เวลา 13.00 น.และจะมีการนำเสนอพยานหลักฐานต่อไป

**เสนอพิมพ์เขียวการเมืองใหม่
นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานเครือข่ายพันธมิตร กล่าวถึงแนวทางการชุมนุมว่า 5 แกนนำยังยืนยันที่จะปฏิบัติตามคำสั่งของศาล ส่วนข้อที่มีการขอบังคับคดีศาลก็จะเรียกทั้ง 2 ฝ่ายไป โดยตนจะเป็นตัวแทนพันธมิตรไปให้การต่อศาลว่าได้ปฏิบัติตามอย่างไร อย่างไรก็ตามมติของ 5 แกนนำมีมติว่าจากนี้ก็จะเป็นไปตามคำสั่งศาลคือ 07.30 น. ก็จะเปิดให้รถผ่านและ 16.30 น. ก็จะทำการเปิดเวที ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงและไม่มีการย้ายเวที อย่าขยายความเกินคำสั่งของศาล ศาลยังแนบท้ายคำสั่งว่าไม่ใช่คำสั่งสลายการชุมนุมหรือรื้อเวที

ในวันศุกร์นี้แกนนำพันธมิตรจะนำเสนอพิมพ์เขียวการเมืองใหม่ในมุมมองของพันธมิตร และการเคลื่อนไหวจากนี้ไปนั้นสัปดาห์หน้าเป็นต้นไปเริ่มจากวันจันทร์จะใช้แผนยุทธศาสตร์ดาวกระจายอีกครั้งหนึ่ง

ส่วนกรณีที่ศาลห้ามนายสนธิ ลิ้มทองกุล กล่าวบนเวทีพาดพิงถึงพ.ต.ท.ทักษิณนั้น นายสุริยะใส กล่าวว่า ไม่มีปัญหากับแกนนำคนอื่นหรือผู้ปราศัยคนอื่น ที่ยังใช้สิทธิ์วิพากษ์วิจารณ์ได้ เพราะห้ามเฉพาะนายสนธิเท่านั้น และเชื่อว่านายสนธิจะปฏิบัติตามคำสั่งศาล

ส่วนการที่พันธมิตรกระบี่ปิดล้อมโรงแรมที่มท.1 พัก นายสุริยะใส กล่าวว่า นี่ไม่ใช่คำสั่งของส่วนกลางหรือ 5 แกนนำไปสั่ง เป็นการตัดสินใจของพี่น้องพันธมิตรในต่างจังหวัดเอง ทั้งนี้หากรัฐบาลหมดความชอบธรรมจึงไม่แปลกที่จะมีคนต่อต้าน

ผู้ประสานงานพันธมิตรฯ กล่าวถึงกรณีปราสาทเขาพระวิหารว่า มีการเสนอต่อที่ประชุมยูเนสโก้วันที่ 2- 10 ให้พิจารณารับรองขึ้นทะเบียนมรดกโลกทั่วโลก 49 แห่ง ปรากฏว่าตอนนี้ได้ผ่านเกณฑ์เบื้องต้น 19 แห่งที่อาจได้เป็นมรดกโลก แต่ไม่มีปราสาทเขาพระวิหารอยู่ในนั้น ส่วนอีก 6 แห่งอยู่ในเกณฑ์ที่ยูเนสโก้ตั้งเงื่อนไขไว้ว่าต้องได้รับความเห็นชอบจากประเทศที่มีข้อพิพาท ซึ่งเป็นกรณีเดียวกับปราสาทเขาพระวิหารที่ยูเนสโก้จะไม่อนุญาตให้ขึ้นทะเบียนถ้าฝ่ายไทยยังไม่ยินยอม ดังนั้นปราสาทเขาพระวิหารยังติดอยู่ในเงื่อนไขจนกว่าจะได้คำรับรองจากประเทศไทย

***รัฐบาลได้ทีขย่มพันธมิตรฯ
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ศาลแพ่งยกคำร้องกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเพื่อขอไต่สวนฉุกเฉินให้ศาลระงับหรือแก้ไขคำสั่งเพื่อให้พันธมิตรฯ เปิดถนนพระราม 5 และถนนพิษณุโลก ตามคำร้องของครูและคณะผู้ปกครองโรงเรียนราชวินิตมัธยม และศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ว่า ในส่วนของรัฐบาลอยากจะแจ้งว่าได้มีกล้องวงจรปิดเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯตลอด โดยมีการบันทึกภาพตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งหมด 36 ตัว ซึ่งจะเห็นหมดกับการเคลื่อนไหว การเสดงออกทั้งข้างล่างและข้างบนเวที รวมถึงบริเวณโดยรอบด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น