xs
xsm
sm
md
lg

วิมุตติมรรค:

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อกุศลเจตสิกที่เกิดร่วมกับอกุศลจิตทุกดวง
ที่น่าจะทำความรู้จักให้ดีก็คือ โมหะ
อันมีลักษณะเป็นการไม่รู้ความจริงของอารมณ์
หากจิตหลงจากอารมณ์รูปนามไปสู่อารมณ์บัญญัติ
หรือเรื่องราวที่คิดแล้ว ก็จัดว่าหลงทั้งสิ้น


ครั้งที่ 05.
ลักษณะของจิตที่เป็นอกุศล
4.4 ลักษณะของจิตที่เป็นอกุศล
จิตอกุศลต้องประกอบด้วยความชั่วหรือองค์ธรรมฝ่ายชั่วหรืออกุศลเจตสิกซึ่งมีอยู่ 14 อย่าง/ดวง จำแนกออกได้เป็น 5 ประเภทคือ

4.4.1 กลุ่มโมหะ สามารถเกิดร่วมกับอกุศลจิตได้ทั้ง 12 ดวง จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สัพพากุสลสาธารณเจตสิก มีทั้งหมด 4 อย่างหรือ 4 ดวง ได้แก่ (1) โมหะ คือความหลงหรือธรรมชาติที่ปิดบังความจริงของอารมณ์ ทำให้จิตไม่สามารถรู้อารมณ์ได้ตรงตามความเป็นจริง (2) อหิริกะ คือธรรมชาติที่ไม่ละอายต่อการทำผิดทางกายวาจาใจ (3) อโนตตัปปะ คือธรรมชาติที่ไม่กลัวเกรงต่อผลของบาป และ (4) อุทธัจจะ คือความฟุ้งซ่านหรือธรรมชาติที่จับอารมณ์ไม่มั่น อนึ่งการที่เจตสิกกลุ่มโมหะนี้มี 4 ดวงจึงมีชื่อเรียกกลุ่มว่า โมจตุกกเจตสิก

4.4.2 กลุ่มโลภะ สามารถเกิดร่วมกับอกุศลจิตประเภทโลภมูลจิตได้ทั้ง 8 ดวง ธรรมฝ่ายชั่วกลุ่มนี้มี 3 อย่างหรือ 3 ดวงได้แก่ (1) โลภะ คือความอยากได้ยินดีติดใจ ในอารมณ์ต่างๆ ทั้งรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธัมมารมณ์ (2) ทิฏฐิ คือธรรมชาติที่เห็นผิด และ (3) มานะ คือความอวดดื้อถือตัว อนึ่ง การที่เจตสิกกลุ่มโลภะนี้มี 4 ดวงจึงมีชื่อเรียกกลุ่มว่า โลติกเจตสิก

4.4.3 กลุ่มโทสะ
สามารถเกิดร่วมกับโทสมูลจิต 2 ดวง มี 4 อย่าง/ดวง ได้แก่ (1) โทสะ คือธรรมชาติที่ประทุษร้ายหรือความโกรธ (2) อิสสา คือธรรมชาติที่ไม่พอใจในคุณสมบัติหรือคุณความดีของผู้อื่นหรือความอิจฉา (3) มัจฉริยะ คือธรรมชาติที่หวงแหนในสมบัติ และคุณความดีของตนหรือความตระหนี่ และ (4) กุกกุจจะ คือธรรมชาติที่รำคาญใจในความชั่วที่ได้ทำแล้วและรำคาญใจหรือร้อนใจที่ยังไม่ได้ทำความดี อนึ่งการที่เจตสิกกลุ่มโทสะนี้มี 4 อย่าง จึงมีชื่อเรียกกลุ่มว่า โทจตุกกเจตสิก

4.4.4 กลุ่มถีนมิทธะ
เป็นเจตสิกที่ประกอบหรือเกิดร่วมกับจิตฝ่ายอกุศล 5 ดวงที่เป็นสสังขาริกหรือจิตเกิดขึ้นได้ด้วยการมีสิ่งกระตุ้นชักชวนโน้มนำให้เกิดขึ้น (ประกอบด้วยโลภมูลจิต 4 ดวงกับโทสมูลจิต 1 ดวง ซึ่งรายละเอียดจะไม่กล่าวในที่นี้ เพราะจะทำให้บทความนี้ซับซ้อนเกินไปจนยากสำหรับนักปฏิบัติที่ไม่เคยศึกษาพระอภิธรรม) เจตสิกกลุ่มนี้มี 2 อย่าง/ดวงได้แก่ (1) ถีนะ คือธรรมชาติที่ทำจิตให้หดหู่ท้อถอยหรือความท้อแท้ และ (2) มิทธะ คือธรรมชาติที่ทำให้จิตซึมเซาหรือความเกียจคร้านที่จะรู้อารมณ์ อนึ่งการที่เจตสิกกลุ่มนี้มี 2 ดวงจึงมีชื่อเรียกกลุ่มว่า ถีทุกเจตสิก

4.4.5 วิจิกิจฉา
คือความลังเลสงสัยในอารมณ์ เป็นเจตสิกที่เกิดร่วมกับโมหมูลจิตที่ประกอบด้วยวิจิกิจฉาเท่านั้น ความสงสัยในที่นี้หมายถึงความลังเลสงสัยที่เป็นอกุศล คือความสงสัยในคุณของพระรัตนตรัย ความสงสัยในขันธ์ อายตนะ ธาตุ ทั้งที่เป็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคต และความสงสัยในปฏิจจสมุปบาท ส่วนความสงสัยอื่น เช่น ความสงสัยทางวิชาการหรือสงสัยในชื่อถนน เป็นต้น ไม่จัดเป็นวิจิกิจฉาที่เป็นอกุศล แต่จัดเป็นวิจิกิจฉาเทียมหรือปฏิรูปกวิจิกิจฉา

หากจิตของผู้ปฏิบัติประกอบด้วยเจตสิกเหล่านี้เพียงตัวใดตัวหนึ่ง ก็จัดเป็นอกุศลจิตแล้ว และอกุศลเจตสิกที่เกิดร่วมกับอกุศลจิตทุกดวงที่น่าจะทำความรู้จักให้ดีก็คือ โมหะ อันมีลักษณะเป็นการไม่รู้ความจริงของอารมณ์ โดยเฉพาะผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้น หากจิตหลงจากอารมณ์รูปนามไปสู่อารมณ์บัญญัติหรือเรื่องราวที่คิดแล้ว ก็จัดว่าหลงทั้งสิ้น พวกเราจึงควรทำความรู้จักกับ การหลงคิด ให้ดี เพราะเป็นศัตรูที่เกิดบ่อยที่สุดสำหรับ ผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐาน จริงอยู่การหลงคิดอาจจะนำไปสู่การคิดถึงเรื่องราวที่เป็นกุศลก็ได้ แต่กุศลนั้นจะเป็นเพียงโลกียกุศล หรืออย่างดีที่สุดก็เป็นเพียงการเจริญสมถกรรมฐาน ไม่ใช่การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งต้องมีสติระลึกรู้อารมณ์รูปนามตามความเป็นจริง คำว่า 'รู้รูปนามตามความเป็นจริง' นี่แหละคืออโมหะหรือปัญญา

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า/ข้อสรุป)
กำลังโหลดความคิดเห็น