xs
xsm
sm
md
lg

จากต้นสายถึงปลายทาง (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ก่อนที่จะกล่าวถึงสัมมาสมาธิต่อไปนั้น ผู้เขียนขอแทรกกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างสติ สัมมาสมาธิ กับการเจริญวิปัสสนา เพื่อให้เกิดวิปัสสนาปัญญาอันเป็นตัวสัมมาทิฏฐิสักเล็กน้อย เพราะธรรมเหล่านี้มีความเกี่ยวพันกัน เกิดขึ้นมาทำงานร่วมกัน ถ้าเห็นภาพความ สัมพันธ์ระหว่างธรรมเหล่านี้ก็จะช่วยให้เข้าใจสภาวะของธรรมเหล่านี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น คือในหลักคำสอนทางพระอภิธรรมมีอยู่ว่า การเจริญวิปัสสนาต้องรู้อารมณ์ปรมัตถ์ ซึ่งเป็นคำสอนที่ถูกต้องแล้ว แต่ผู้เขียนก็มีข้อสังเกตส่วนตัวว่า แม้การเจริญวิปัสสนาจะต้องรู้อารมณ์ปรมัตถ์ก็จริง แต่การรู้อารมณ์ปรมัตถ์ไม่จำเป็นต้องเป็นการเจริญวิปัสสนาเสมอไป ต้องมีวิธีรู้อารมณ์ปรมัตถ์ที่ถูกต้องด้วย จึงจะเป็นการเจริญวิปัสสนาที่แท้จริง มิฉะนั้นแล้วอาจจะเป็นเพียงการหลงเพ่งอารมณ์ปรมัตถ์ก็ได้ ซึ่งวิธีรู้อารมณ์ปรมัตถ์ที่ถูกต้องจำเป็นต้องมีทั้งสติที่ถูกต้องหรือสัมมาสติ สมาธิที่ถูกต้องหรือสัมมาสมาธิ และปัญญาที่ถูกต้องหรือสัมมาทิฏฐิ กล่าวคือ
สัมมาสติ คือ ความระลึกชอบ ต้องเกิดขึ้นเองโดยผู้ปฏิบัติไม่ได้จงใจทำให้เกิดขึ้นด้วยอำนาจของตัณหาและทิฏฐิ คำว่า “เกิดขึ้นเอง” นี้ไม่ได้หมายความว่าอยู่ๆ สติก็เกิดขึ้นเองได้ แต่หมายความว่า สติเกิดขึ้นเพราะมีเหตุให้เกิดขึ้น ไม่ใช่เกิดตามใจของผู้ปฏิบัติ ดังที่จะได้กล่าวต่อไปในข้อ ๔.๗
สัมมาสมาธิ คือ ความตั้งมั่นของจิต จะต้องเกิดร่วมกับจิตในฝ่ายกุศลเท่านั้น จิตที่มีสัมมาสมาธิจึงต้องมีคุณสมบัติของ จิตในฝ่ายกุศลครบถ้วน คือมีความเบา ความอ่อนความไม่ถูกนิวรณ์ครอบงำ ความคล่องแคล่ว และความซื่อตรงในการรู้อารมณ์ เป็นต้น และจิตจะต้องไม่หลงคลาดเคลื่อนไปสู่อารมณ์บัญญัติ และไม่ไหลไปจมแช่อยู่กับอารมณ์ทางทวารทั้ง ๖ ด้วยแรงผลักดันของตัณหาและทิฏฐิ สัมมาสมาธินี่แหละจะเป็นเครื่องสร้างความสมดุลทางจิตใจ คือเมื่อ สติระลึกรู้อารมณ์นั้น สติจะจับเข้ากับอารมณ์ ถ้าขาดสัมมาสมาธิ จิตจะถลำเข้า ไปจมแช่อยู่กับอารมณ์ กลายเป็นการเพ่ง อารมณ์หรืออารัมมณูปนิชฌานอันเป็น การทำสมถกรรมฐาน แต่ถ้ามีสัมมาสมาธิ จิตจะสักว่ารู้อารมณ์เหมือนคนที่ดูละครอยู่นอกเวที โดยไม่กระโจนเข้าไปจับและจมแช่อยู่กับอารมณ์ จึงจะเปิดทางให้ปัญญาเข้าใจลักษณะความเป็นจริงของ รูปนาม หรือทำวิปัสสนาได้
ส่วนสัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นชอบอันเป็นเรื่องของปัญญาหรือสัมปชัญญะ จะมีลักษณะไม่หลง แต่รู้และเข้าใจสภาวธรรมตรงตามความเป็นจริง
ตัวอย่างเช่น ผู้ปฏิบัติอาจจะเห็นความ โกรธเกิดขึ้นในจิต แล้วเพ่งจ้องใส่ความโกรธนั้น ทำอย่างนี้ความโกรธอาจจะไม่ดับไป แต่อาจจะตั้งอยู่ต่อหน้าต่อตาดังเดิม หรืออาจจะหดตัวไหลลึกเข้าไปภายใน ซึ่งผู้ปฏิบัติมักจะหลงตามดูลึกเข้าไป อีก ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะผู้ปฏิบัติขาดทั้งสติ และสัมมาสมาธิ ถ้าสติที่แท้จริงเกิดขึ้น กิเลสจะต้องดับทันที เพราะสติกับกิเลสเกิดร่วมกันไม่ได้ และในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของกิเลสที่เพิ่งดับไปนั้น จิตจะ
ต้องมีสัมมาสมาธิคือมีความตั้งมั่น เป็นอิสระ ไม่หลงไปกับความคิดหรืออารมณ์ จึงจะเกิดมีปัญญารู้ลักษณะของจิตที่มีโทสะที่เพิ่งดับไปนั้น ว่าเคยมี แล้วไม่มี เป็นต้น
ถ้าเราเข้าใจลักษณะการทำงานร่วมกันของสัมมาสติ สัมมาสมาธิ และสัมปชัญญะหรือปัญญาดีแล้ว จะทราบชัดว่าสัมมาสติทำหน้าที่ระลึกได้ว่ามีสภาวธรรม อันใดอันหนึ่งปรากฏขึ้นทางกายหรือ ทางใจ ระหว่างนั้นจิตจะต้องมีสัมมาสมาธิคือต้องตั้งมั่นไม่หลงถลำไปรวมหรือจมแช่อยู่กับอารมณ์ที่สติไปสักว่าระลึกรู้เข้า เป็นการรู้อารมณ์อย่างเป็นตัวของตัวเอง ไม่หลงไปกับการรู้ แล้วปัญญาจึงจะเกิดขึ้นได้ คือเกิดความเข้าใจความเป็นจริงหรือลักษณะอันเป็นไตรลักษณ์ของอารมณ์รูปนามที่สติไประลึกรู้เข้า หากสติ ไประลึกรู้อารมณ์แล้ว จิตขาดสัมมาสมาธิ จิตจะถลำเข้าไปเพ่งจ้องอารมณ์ หรือตาม รู้อารมณ์ไปจนลืมตัว อย่างนี้ปัญญาก็เกิดขึ้นไม่ได้ แม้จะรู้สึกเหมือนกับว่าเห็น ความเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ได้ แต่ก็เป็นการเห็นอย่างคนที่ตกน้ำแล้วเห็นสิ่งของที่ลอยอยู่ในน้ำ ไม่ใช่คนที่ยืนอยู่บนบกแล้วเห็นสิ่งของลอยอยู่ในน้ำ การรู้สองลักษณะนี้คล้ายกันสำหรับผู้ที่ไม่เคยศึกษาเรื่องจิตสิกขาจนจิตเกิดความตั้งมั่นมีสัมมาสมาธิจริงๆ แต่ต่างกันมากสำหรับคนที่เคยศึกษาเรื่องจิตจนรู้จักลักษณะของจิตที่ตั้งมั่นรู้อารมณ์ อย่างไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอารมณ์ ซึ่งแตกต่างเป็นอย่างมากกับจิตที่กระโจนเข้าไปมีส่วนได้เสียกับอารมณ์

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 89 เม.ย. 51 โดย พระปราโมทย์ ปาโมชฺโช)
กำลังโหลดความคิดเห็น