xs
xsm
sm
md
lg

พรหมวิหารสี่ข้อ เมตตาและกรุณาเจโตวิมุตติ (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การแผ่กรุณา

“...ส่วนในข้อกรุณานั้น ก็คือแผ่จิตออกไปด้วยกรุณา ในสัตว์บุคคลทั้งหลายผู้มีความทุกข์ คิดสงสารช่วยให้พ้นทุกข์ ปรารถนาให้พ้นทุกข์นั้นๆ และวิธีการแผ่ออกไป นั้นก็เช่นเดียวกับเมตตา เมื่อหัดแผ่ออกไปโดยเจาะจงโดยลำดับจนถึงไม่มีประมาณ ก็แผ่ขยายเขตออกไปจนถึงมีอากาศที่ไม่มีที่สุดเป็นอย่างยิ่ง”


เมื่อพิจารณาดูแล้วก็จะพึงเห็นได้ว่า เมื่อยังเป็นสัตว์บุคคลหรือเป็นวัตถุสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นสังขารก็จะต้องมีทุกข์ทั้งนั้น มีทุกข์เพราะถูกเบียดเบียนจากกันและกันบ้าง มีทุกข์เพราะทุกข์ที่เป็นธรรมชาติธรรมดาบ้าง ทุกข์ที่เป็นธรรมชาติธรรมดานั้นก็คือความแก่ เจ็บ ตาย ซึ่งเมื่อเกิดมาแล้วก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย และแม้ว่าจะเป็นสังขารที่ไม่มีใจครองทั้งหลายก็จะต้องมีความที่ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป และต้องแตกสลายในที่สุด รวมความว่าเมื่อมีเกิดก็ต้องมีแตกมีดับ ซึ่งเป็นทุกข์ที่เป็นธรรมชาติธรรมดา

ฉะนั้น จึงต้องเจริญอบรมกรุณากันเรื่อยไป เพราะมองไปที่ไหน ก็จะต้องพบทุกข์ทั้งนั้น ต้องคิดช่วยให้พ้นทุกข์ทั้งนั้น จนกว่าจะกำหนดจิตให้ไม่มีอะไรทั้งหมด ให้ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีบ้านเรือน ไม่มีต้นไม้ภูเขา ไม่มีแม่น้ำ ไม่มีแผ่นดิน เป็นอากาศคือช่องว่างที่ว่างไปทั้งหมด เป็นอากาศ คือความว่างหรือช่องว่างที่ไม่มีที่สุด เมื่อเป็นดังนี้แหละจึงจะหมดเขตของกรุณา เพราะฉะนั้นจึงได้มีพระพุทธสุภาษิต ตรัสไว้ว่า “ในการเจริญภาวนานั้นที่เป็นอัปปมัญญาก็จะต้องถึงอากาศไม่มีที่สุด คือความว่างหรือช่องว่างไม่มีที่สุดเป็นอย่างยิ่ง”

การแผ่มุทิตา


คราวนี้มาถึงข้อที่สามคือ มุทิตา หัดแผ่จิตออกไปด้วย มุทิตาคือความยินดีเบิกบานในความสุขความเจริญ ความสำเร็จของผู้อื่น ปราศจากอรติคือความไม่ยินดีด้วยหรือความริษยา กับทั้งระงับความโสมนัสคือความพลอยยินดี ที่เป็นตัวความโสมนัสอันทำให้จิตใจพลอยกระหยิ่มอยากจะได้อย่างเขาบ้างอันเป็นกิเลส ดั่งนี้เป็นมุทิตา หัดแผ่จิตออกไปด้วยมุทิตา ดั่งนี้ โดยเจาะจงและโดยไม่เจาะจง จนถึงเป็นอัปปมัญญาคือไม่มีประมาณ และแม้ในข้อนี้ก็เช่นเดียวกัน เมื่อแผ่ออกไปพบสัตว์ บุคคล พบสิ่งทั้งหลาย ที่มีความสุขความเจริญ หรือที่ดำรงอยู่เจริญอยู่ ก็ย่อมจะเจริญมุทิตากันได้เรื่อยไป จนถึงแม้กำหนดจิตว่า เป็นช่องว่างไม่มีที่สุด คืออากาศไม่มีที่สุด ก็ย่อมเจริญมุทิตา อยู่ในอากาศนั้นได้ จนกระทั่งกลับเข้ามากำหนดวิญญาณ คือความรู้ที่ไม่มีที่สุดอันเป็นไปอยู่ในอากาศที่ไม่มีที่สุดนั้น อากาศที่ไม่มีที่สุดนั้นเป็นภายนอก ส่วนวิญญาณที่ไม่มีที่ สุดนั้นเป็นภายใน ย่อมมีอยู่เป็นคู่กัน อากาศคือความว่างที่ไม่มีที่สุด วิญญาณคือความรู้ในอากาศที่ไม่มีที่สุดนั้น วิญญาณคือความรู้ดังกล่าวนี้ก็เป็น อนนฺต วิญฺญาณํ คือเป็นความรู้ที่ไม่มีที่สุด อากาศไม่มีที่สุดเพียงใด ความรู้ที่กำหนดอากาศนั้นก็ไม่มีที่สุดเพียงนั้นเป็นคู่กันดั่งนี้ และเมื่อมาถึงวิญญาณคือความรู้ที่ไม่มีที่สุด ก็เป็นอันว่าสิ้นขอบเขตของมุทิตา จึงได้มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ว่า “การอบรมมุทิตานั้นมีวิญญาณ คือความรู้ที่ไม่มีที่สุดอย่างยิ่ง” ดังนี้

การอบรมอุเบกขา

คราวนี้มาถึงข้ออุเบกขา คือหัดแผ่จิตออกไปด้วยอุเบกขา คือความที่มีจิตมัธยัสถ์เป็นกลาง โดยพิจารณาว่า สัตว์ทั้งหลายทุกถ้วนหน้าต่างมีกรรมเป็นของของตน เป็นทายาทรับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย จักกระทำกรรมอันใดไว้ ดีหรือชั่วก็จักเป็นทายาทรับผลของกรรมนั้น ดั่งนี้ จึงกำหนดแน่ลงไปในกรรมและผลของกรรมดั่งนี้ ในสัตว์ทั้งหลายทุกถ้วนหน้าไม่ว่าจะเป็นที่รักหรือไม่เป็นที่รักหรือเป็นกลางๆ เพ่งจิตกลับเข้ามากำหนดปลงลงไปในกรรม วางลงไปในกรรม เมื่อวางลงไปในกรรมได้ดั่งนี้ ก็ย่อมจะวางราคะคือความชอบ ปฏิฆะคือความชังลงได้ และก็จะวางความรู้สึกเฉยเมย หรือวางเฉยด้วยความไม่ รู้เสียได้ด้วย เพราะความกำหนดจิตพิจารณาลงไปดั่งนี้ทำให้เกิดความรู้ในกรรม ใครๆจะได้สุขได้ทุกข์อะไรก็ปลง ลงไปว่าเป็นกรรม เป็นผลของกรรม และการที่จะหัดทำอุเบกขาดั่งนี้ก็หัดแผ่ไปโดยเจาะจงและโดยไม่เจาะจงดังกล่าวนั้น จนเป็นอัปปมัญญา ไม่มีประมาณ และความเป็นอัปปมัญญาของข้อนี้ย่อมขึ้นไปถึงความกำหนดจิตว่า อากาศไม่มีที่สุดคือช่องว่างไม่มีที่สุด วิญญาณคือความรู้ไม่มีที่สุด และจนถึงความกำหนดจิตว่า ในอากาศคือในช่องว่างอันไม่มีที่สุด และในความรู้ที่แผ่ไปในช่องว่างอันไม่มีที่สุดนั้นก็ไม่มีที่สุดเช่นเดียวกัน ในอากาศอันไม่มีที่สุดและในความรู้อันไม่มีที่สุดนั้น ย่อมไม่มีอะไรแม้สักนิดหนึ่งน้อยหนึ่ง เพราะว่าเมื่อเป็นช่องว่างอันไม่มีที่สุดจริงก็ต้องไม่มีอะไรแม้แต่น้อยหนึ่งนิดหนึ่ง ถ้ายังมีอะไรแม้แต่น้อยหนึ่งนิดหนึ่งก็ไม่เป็นความว่าง ไม่เป็นช่องว่างอย่างแท้จริง จะเป็นความว่างเป็นช่องว่างอย่างแท้จริง ไม่มีอะไรแม้แต่น้อยหนึ่งนิดหนึ่ง และในความรู้ที่กำหนดนั้นก็ต้องไม่มีอะไรแม้แต่น้อยหนึ่งนิดหนึ่ง เมื่อถึงขั้นนี้ก็เป็นอันว่าสิ้นขอบเขตของอุเบกขา จึงได้มีพระพุทธสุภาษิตตรัสไว้ว่า “การอบรมอุเบกขานั้นมีข้อที่ว่าน้อยหนึ่งนิดหนึ่งก็ไม่มีเป็นอย่างยิ่ง” ดั่งนี้

แม้การอบรมมุทิตา อุเบกขา ดังกล่าวมานี้ ก็เป็นการปฏิบัติทางโพชฌงค์ทั้งเจ็ดดังกล่าวนั้นเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นการปฏิบัติโพชฌงค์จึงเป็นสิ่งที่ใช้ได้ในการอบรมกรรมฐานทั้งปวง

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 89 เม.ย. 51 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
กำลังโหลดความคิดเห็น