xs
xsm
sm
md
lg

พรหมวิหารสี่ข้อ เมตตาและกรุณาเจโตวิมุตติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การปฏิบัติอบรมจิตวิธีหนึ่งก็คือ ปฏิบัติอบรมด้วย “โพชฌงค์” ที่แปลว่า “องค์ของความรู้” คือองคคุณ หรือองคสมบัติของความรู้ ก็ได้แก่การอบรมสติสัมโพชฌงค์ องค์แห่งความรู้พร้อม คือสติ ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ องค์แห่งความรู้พร้อมคือธรรมวิจัย ความเลือกเฟ้นธรรม วิริยสัมโพชฌงค์ องค์แห่งความรู้พร้อมคือวิริยะ ความเพียร ปีติสัมโพชฌงค์ องค์แห่งความรู้พร้อม คือปีติ ความอิ่มใจ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ องค์แห่งความรู้พร้อมคือความสงบกายสงบจิต สมาธิสัมโพชฌงค์ องค์แห่งความรู้พร้อมคือสมาธิ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ องค์แห่งความรู้พร้อมคืออุเบกขา ความเข้าไปเพ่งหรือความเพ่งเข้ามาที่จิตอันเป็นสมาธิ และวิธีปฏิบัติโพชฌงค์นี้ พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงรวมไว้ในหมวดธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานสูตรก็มี แต่โดยทั่วไปทรงแยกไว้โดยเอกเทศต่างหากมิได้รวมเข้าในสติปัฏฐานทั้งสี่ และแสดงต่อขึ้นไปจากสติปัฏฐานสี่ในทางปฏิบัติอันส่องแสดง ว่าเป็นวิธีปฏิบัติทำสติและปัญญาควบคู่กันไป อันพึงใช้ได้ในการปฏิบัติอบรมกรรมฐานทุกข้อ

เจโตวิมุตติ

พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้อบรมโพชฌงค์ทั้งเจ็ดข้อนี้ ประกอบไปด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อันเป็นพรหมวิหารธรรมเป็นเครื่องอยู่ของ พรหมคือผู้ประเสริฐหรือผู้ใหญ่ เป็นอัปปมัญญา เมื่อแผ่ไปในสรรพสัตว์ทุกถ้วนหน้า ไม่มีประมาณ ก็เป็นอันว่าแม้การปฏิบัติอบรมพรหมวิหารทั้งสี่ หรืออัปปมัญญาทั้งสี่ข้อ ก็เป็นอันปฏิบัติโพชฌงค์ทั้งเจ็ดประการนั้นด้วย และการอบรมพรหมวิหาร ทั้งสี่ หรืออัปปมัญญาทั้งสี่นี้ชื่อว่า เป็นการปฏิบัติเจโตวิมุตติคือความพ้นแห่งใจ เพราะว่าใจนี้ยังประกอบด้วยพยาบาท ราคะสิเน่หาบ้าง ประกอบด้วยวิเหสา ความเบียดเบียนคือความคิดเบียด เบียนและโทมนัสต่างๆบ้าง ยังประกอบด้วยอรติ ความไม่ยินดีด้วยหรือความริษยา และโสมนัสต่างๆด้วย ยังประกอบด้วยราคะ ปฏิฆะ คือความ ติดใจยินดี หรือว่าความกระทบกระทั่ง ไม่พอใจ และความที่เฉยเมยด้วยความไม่เอาใจใส่ ด้วยความไม่รู้บ้าง ใจสามัญย่อมยังข้องเกี่ยวอยู่ด้วยกิเลสเครื่องเศร้าหมองเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง ก็เพราะว่ายังมีสังโยชน์คือความผูก

ในเมื่อตากับรูปประจวบกัน ก็ยังมีความผูกตากับรูปนั้นไว้ที่จิต เมื่อหูกับเสียงประจวบกัน ก็ยังมีความผูกหูกับเสียงนั้นไว้ที่จิต เมื่อจมูกกับกลิ่นประจวบกัน ก็ยังมีความผูกจมูกกับกลิ่นนั้นไว้ที่จิต เมื่อลิ้นกับรสประจวบกันก็ยังมีความผูกลิ้นกับรสไว้ที่จิต เมื่อกายและสิ่งที่กายถูกต้องประจวบกัน ก็ ยังมีความผูกกายและสิ่งที่กายถูกต้องนั้นไว้ที่จิต เมื่อมโนคือใจเองกับธรรมคือเรื่องราวของรูป เสียงเป็นต้นเหล่านั้นประจวบกัน ก็ยังมีความผูกมโนกับธรรมนั้นไว้ที่จิต จิตจึงถูกสิ่งที่ผูกไว้นี้ดึงไป เหมือนกับเกวียนที่ถูกโคทั้งคู่ที่เทียมเกวียนมีเชือก ผูกไว้ที่เกวียนกับโค เมื่อโคเดินไปก็ดึงเอาเกวียนไป ฉันใดก็ดี จิตก็ถูกสิ่งที่ผูกนี้ดึงไปด้วยอำนาจของความยินดีบ้าง ด้วยอำนาจของความยินร้ายบ้าง ทั้งนี้ ก็เพราะมีสังโยชน์คือความผูกดังกล่าว จิตจึงถูกผูกไว้ด้วยสิ่งที่ผูกเหล่านี้ จิตก็วิ่งไปคือคิดไปในสิ่งที่ผูกเหล่านี้ ยินดีในส่วนที่ชอบ ยินร้ายในส่วนที่ไม่ชอบ ก็ปรากฏเป็นพยาบาท ราคะสิเน่หา เป็นต้นดังกล่าวแล้ว

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 86 ม.ค. 51 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
กำลังโหลดความคิดเห็น