xs
xsm
sm
md
lg

วิมุตติมรรค:

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การรู้ทุกข์จนละสมุทัยและแจ้งนิโรธนี้แหละคือการเจริญมรรค
ผู้ใดเข้าใจอริยสัจจ์ ผู้นั้นจะพ้นทุกข์อย่างแท้จริง


ครั้งที่ 01
คุยกันก่อน

1. คุยกันก่อน

บทความเรื่องนี้เขียนขึ้น เพื่อเล่าให้เพื่อนๆ ทราบถึงวิมุตติมรรคหรือเส้นทางแห่ง ความหลุดพ้น ซึ่งเรียบง่าย รื่นรมย์ และเป็น ทางนำให้ประจักษ์ถึงนิพพานซึ่งอยู่ต่อหน้าต่อตานี้เอง เส้นทางสายนี้มีผู้พยายามแสวงหากันมามากมายแต่ไม่พบ จนกระทั่งพระพุทธเจ้าทรงค้นพบ และพวกเราจะพบเส้นทางสายนี้ตามพระพุทธเจ้าได้โดยง่าย หากได้ศึกษาบทเรียน 3 บทที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ ซึ่งเมื่อดำเนินตามเพียงไม่นาน เราจะรู้สึกได้ว่านิพพานอยู่ไม่ไกลเกินหวัง

แต่ก่อนที่จะกล่าวถึงวิมุตติมรรค ผู้เขียนขอเชิญชวนเพื่อนผู้สนใจธรรม ให้เปลี่ยนความรู้สึกของตนเองจากการเป็น 'นักปฏิบัติ' ไปเป็น 'นักศึกษา' เสียก่อน เพราะคำว่า 'ปฏิบัติ' เป็นสิ่งที่หลอกหลอนพวกเราให้รู้สึกว่า เราจะต้องทำอะไรบางสิ่งบางอย่างที่เหนือธรรมดา เพื่อให้ได้มาซึ่งบางสิ่งบางอย่างที่เหนือธรรมดา ในขณะที่คำว่า 'ศึกษา' บอกให้เราทราบว่า สิ่งที่เราจะต้องทำคือการเรียนรู้ความจริง และสิ่งที่ได้มาก็คือองค์ความรู้ ทั้งนี้การเรียนรู้ความจริงในทางพระพุทธศาสนาก็คือการเรียนรู้ความจริงของสิ่งที่เรียกว่า 'ตัวเรา' อันได้แก่ รูปนาม/กายใจนี้เอง สำหรับวิธีเรียนรู้ความจริงก็ได้แก่การเจริญไตรสิกขาหรือการเรียนรู้ บทเรียน 3 บท อันได้แก่ ศีล จิต และปัญญา จนเกิดองค์ความรู้คือความรู้แจ้งอริยสัจจ์อันเป็นเนื้อแท้ของพระพุทธศาสนา ซึ่งประกอบด้วยการ รู้ทุกข์ คือรู้แจ่มแจ้งในความจริงของรูปนาม/กายใจ ว่ามีลักษณะเป็นไตรลักษณ์คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ ตัวเรา เมื่อรู้ทุกข์แจ่มแจ้งแล้วก็เป็นอันละสมุทัย หรือตัณหาอันได้แก่ความอยากที่จะให้ 'ตัวเรา' มีความสุขและพ้นทุกข์ แล้วประจักษ์แจ้งนิโรธหรือนิพพานในฉับพลัน การรู้ทุกข์จนละสมุทัยและแจ้งนิโรธนี้แหละคือการเจริญมรรค

พึงทราบไว้เลยว่า ผู้ใดเข้าใจอริยสัจจ์ ผู้นั้นจะพ้นทุกข์อย่างแท้จริง

2. ว่าด้วยบทเรียนทั้ง 3


ความรู้แจ้งอริยสัจจ์หรือวิชชาหรือสัมมาทิฐิ ได้มาด้วยการศึกษาบทเรียนสำคัญ 3 บทหรือไตรสิกขา ประกอบด้วยศีลสิกขา จิตสิกขา และปัญญาสิกขา ซึ่งโดยทั่วไปมักจะพูดกันติดปากว่าเป็นการศึกษาเรื่องศีล สมาธิ และปัญญา แต่ถ้าจะพูดให้ถูกก็น่าจะกล่าวว่าเป็นการศึกษาเรื่องศีล จิต และปัญญา

ศีลสิกขา เป็นไปเพื่อให้จิตอยู่ในสภาพ เป็นปกติ ไม่ถูกกิเลสชั่วหยาบครอบงำ พร้อมที่จะเรียนรู้จิตในขั้นต่อไป

จิตสิกขา เป็นไปเพื่อให้จิตพร้อมที่จะเจริญปัญญาในขั้นการเรียนรู้อริยสัจจ์ ซึ่งจิต จะต้องเป็นมหากุศลจิต ประกอบด้วยความสามารถที่จะหยั่งรู้ความจริงของสภาวธรรม และเกิดขึ้นเองเพราะจิตรู้จักและจดจำสภาวธรรม (รูปนาม/กายใจ) ได้แม่นยำ จิตชนิดนี้จะปราศจากนิวรณ์อันเป็นกิเลสชั้นกลาง มีความตั้งมั่น อ่อนเบา คล่องแคล่ว และซื่อตรงในการรู้อารมณ์ตามความเป็นจริง

ปัญญาสิกขา เป็นไปเพื่อให้จิตเกิดความรู้แจ้งในอริยสัจจ์ อันเป็นเครื่องละกิเลสชั้นละเอียด คือสังโยชน์รวมทั้งอวิชชา ซึ่งจิตจะรู้แจ้งอริยสัจจ์ได้ก็ด้วยการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน อันเป็นกระบวนการเรียนรู้ความเป็นจริงของทุกข์หรือรูปนาม/กายใจ จนจิตทำลายความยึดถือรูปนามลงได้แล้ว จิตจึงจะเข้าถึงความบริสุทธิ์หลุดพ้นจากอาสวกิเลสและกองทุกข์ทั้งปวงได้อย่างถาวร อันเป็นจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา

มีข้อน่าสังเกตว่า (1) บทเรียนทั้ง 3 นี้เป็นเรื่องของการให้การเรียนรู้กับจิตทั้งสิ้น คือ 2 บทเรียนแรกเป็นการเตรียมความพร้อมของจิตเพื่อการเจริญปัญญา และบทเรียนสุดท้ายเป็นการให้การเรียนรู้กับจิตเพื่อให้เกิดปัญญาและหลุดพ้นจากกองทุกข์กองกิเลสในที่สุด (2) บทเรียนทั้ง 3 เป็นเครื่องยับยั้ง ข่ม และประหารกิเลสอย่างหยาบ กลาง และละเอียดไปตามลำดับ และ (3) บทเรียนทั้ง 3 นี้แม้จะแตกต่างกัน แต่หัวใจของการเรียนกลับเป็นสิ่งเดียวกัน คือถ้ามีสติเนืองๆ จิตจึงจะเรียนรู้และสอบผ่านบทเรียนทั้ง 3 นี้ได้ แต่หากขาดสติเสียอย่างเดียว จิตจะสอบผ่านบทเรียนเหล่านี้ไม่ได้เลย

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า/ศีลสิกขา)
กำลังโหลดความคิดเห็น