xs
xsm
sm
md
lg

ทางเอก:

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คำสอนใดขัดแย้งกับคำสอนของพระพุทธเจ้า
แม้จะเป็นคำสอนของท่านที่เราเคารพ ก็ไม่ควรเชื่อถือ


ครั้งที่ 108 บทที่ 8. ของฝาก

ถาม เราจะหาอารมณ์อื่นนอกเหนือจากอารมณ์รูปนามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในสติปัฏฐานมาเป็นอารมณ์กรรมฐาน ได้ไหมครับ เช่นการมีสติตามรู้ความว่างหรือนิพพาน เป็นต้น

ตอบ ไม่ได้หรอกพระพุทธเจ้าทรงประมวลอารมณ์รูปนามทั้งหมดที่ควรใช้เจริญวิปัสสนาไว้ให้แล้วในสติปัฏฐาน ไม่มีอารมณ์ของวิปัสสนากรรมฐานที่ตกหล่นนอกเหนือไปจากที่ทรงแสดงไว้ในสติปัฏฐาน หรอก โดยเฉพาะนิพพานนั้นเป็นสิ่งที่ปุถุชนไม่มีทางเห็นได้และไม่ใช่รูปนาม จึงนำมาใช้เจริญวิปัสสนากรรมฐานไม่ได้

อาตมาอยากจะเตือนเพื่อนทั้งหลายว่าอย่าทำตนเก่งกว่าพระพุทธเจ้าเลย หลายคน ทีเดียวชอบมาอวดทิฏฐิว่าการปฏิบัติธรรมเป็นเรื่อง 'ทางใครทางมัน' และประกาศวาทะ ว่าตนจะปฏิบัติธรรมด้วยวิธีที่คิดขึ้นเอง คุณจะทำอย่างนั้นก็ได้ แต่อย่าเรียกตนเองว่าเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าเลย เพราะสาวกของพระพุทธเจ้าต้องทำในสิ่งที่ท่านอนุญาต และต้องเว้นในสิ่งที่ท่านห้าม ไม่ใช่ทำสิ่งต่างๆ ตามใจชอบของตนเอง

ถาม การปฏิบัติมีแนวทางต่างๆตั้งมากมาย ถ้าเราทำถูกแล้วเราจะเห็นธรรมอันเดียวกันใช่ไหมครับ

ตอบใช่ เปรียบเหมือนเราจะเดินขึ้นยอดเขา ทางขึ้นมีหลายด้าน แต่ละคนก็มีทางเฉพาะที่ เหมาะกับตนเอง สะดวกบ้าง ลำบากบ้าง ขึ้นได้เร็วบ้าง ช้าบ้าง แต่เมื่อขึ้นถึงยอดเขาแล้วก็จะพบเห็นสภาวะอันเดียวกันนั่นเอง การปฏิบัติก็เหมือนกัน บางท่านปฏิบัติลำบาก ด้วยรู้ธรรมได้ช้าด้วย บางท่านปฏิบัติลำบาก แต่รู้เร็ว บางท่านปฏิบัติสบายและรู้ช้า และบางท่านปฏิบัติสบายด้วยแล้วยังรู้ธรรมได้เร็ว ด้วย แต่ถ้าปฏิบัติถูก สติ สัมมาสมาธิ ปัญญา และวิมุตติก็เป็นอันเดียวกันทั้งหมดนั่นเอง

ถาม อะไรเป็นปัจจัยให้ต้องปฏิบัติลำบากหรือสบาย และรู้เร็วหรือรู้ช้าครับ

ตอบผู้ปฏิบัติที่กิเลสมีกำลังกล้าจะปฏิบัติได้ลำบากเพราะต้องต่อสู้กับกิเลสอย่างหนัก ส่วนผู้ที่กิเลสเบาบางจะปฏิบัติได้สบายกว่า แต่คำว่าสบายก็ไม่ได้หมายความว่าแค่กินๆ นอนๆ แล้วก็บรรลุธรรม แต่หมายถึงไม่มีอุปสรรคขัดขวางการปฏิบัติรุนแรงนัก เช่นราคะโทสะไม่รุนแรง จิตใจก็สงบสบายสามารถเจริญปัญญาได้ง่าย หรือมีโมหะเบาบาง ก็เกิดความรู้ตื่นได้ง่าย หรือมีความอยากความเร่าร้อนที่จะปฏิบัติไม่รุนแรง การปฏิบัติจะค่อยเป็นค่อยไปไม่ต้องดิ้นรนกระเสือก-กระสนให้เหน็ดเหนื่อยมากนัก เป็นต้น

ส่วนผู้ที่ปฏิบัติได้ผลเร็วเกิดจากความมีอินทรีย์แก่กล้า คือเคยอบรมจิตมามากแล้ว จนมีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิและปัญญา แก่กล้า

หลวงพ่อกล่าวสรุป เอกายนมรรค แปลว่า ทางที่แม้เบื้องต้นจะมีวิธีการปฏิบัติ แตกต่างกันตามจริตนิสัยของบุคคล แต่ในเบื้องปลายก็ไปสู่พระนิพพานอันเดียวกัน

ในบ้านเมืองของเรายังมีสำนักปฏิบัติสำคัญอีกหลายแห่ง และมีแนวทางการปฏิบัติธรรมอีกหลายอย่าง รวมทั้งยังมีวิธีปฏิบัติที่เจ้าสำนักต่างๆ ถ่ายทอดไปตามประสบการณ์เฉพาะตนก็มีอีกมาก หลายอย่าง ไม่เกี่ยวอะไรเลยกับพระพุทธศาสนาก็มี หากจะกล่าวถึงทุกๆ สำนักก็คงเป็นภาระเกินกว่าที่จะมีเวลาทำได้ จึงจะขอตั้งข้อสังเกตในภาพรวมว่า พวกเราเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า เราควรศึกษา พระธรรมคำสอน ของพระพุทธเจ้าเป็นหลักไว้ คำสอนใดที่ลงกันได้กับคำสอนของพระพุทธเจ้าจึงควรเชื่อถือ คำสอนใดขัดหรือแย้งกับคำสอนของพระพุทธเจ้า แม้จะเป็นคำสอนของท่านที่เราเคารพ ก็ไม่ควรเชื่อถือ

ตัวอย่างเช่น (1) พระพุทธเจ้าทรงสอนให้รู้ทุกข์คือรู้รูปนาม ท่านใดสอนให้ทำอย่างอื่นที่เกินจากการรู้ เช่นการเพ่ง การประคอง การกำหนด และการควบคุม หรือสอนให้รู้อย่างอื่นที่เกินจากทุกข์ เช่นให้รู้ความว่าง และนิมิตต่างๆ หรือสอนให้ พยายามละทุกข์ เราก็ต้องระวังสักหน่อย (2) พระพุทธเจ้าทรงสอนว่าธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ท่านใดสอนว่าธรรมบางอย่างเป็นอัตตา เราก็ต้องระวังสักหน่อย และ (3) พระพุทธเจ้าทรงสอนว่านิพพานเป็นความสิ้นกิเลสและสิ้นขันธ์ ท่านใดสอนว่านิพพานเป็นบ้านเป็นเมือง เราก็ต้องระวังสักหน่อย เป็นต้น

กระทั่งสิ่งที่อาตมาบอกกล่าวก็ไม่ได้บอกเพื่อให้เชื่อ แต่บอกเพื่อให้นำไปพิจารณา ดู และที่บอกก็ในฐานะที่เราเป็นเพื่อนร่วมทุกข์กันเท่านั้น อาตมาเองก็เป็นเพียงสาวกปลายแถว มีความรู้ความเข้าใจ ในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเพียงส่วนน้อย ครูบาอาจารย์ที่ฉลาดรอบรู้ในภาคปริยัติหรือภาคปฏิบัติยังมีอยู่อีกมาก ขอให้พวกเราไปศึกษากับท่านต่อไป เมื่อได้ความรู้ดีๆ แล้วค่อยกลับมาบอกอาตมาบ้างก็แล้วกัน

ขอยุติแต่เพียงเท่านี้

(ติดตามอ่านได้ในสัปดาห์หน้า/วิมุตติมรรค
โดย พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช)

กำลังโหลดความคิดเห็น