xs
xsm
sm
md
lg

ปัญญาที่ยิ่งใหญ่ สร้างชาติให้ยิ่งใหญ่ ต้องไล่ เลิกระบอบเผด็จการทุกรูปแบบ

เผยแพร่:   โดย: ป.เพชรอริยะ

ก่อนอื่นขอชี้แจ้งให้ทราบโดยทั่วกันว่า สถาบันศึกษาธรรมาธิปไตยแห่งชาติ และขบวนการธรรมาธิปไตยแห่งชาติ (ของแท้) มีการเคลื่อนไหวทางปัญญาเท่านั้น จะไม่มีการเคลื่อนไหวในลักษณะม็อบ (Mob) อาจจะมีกลุ่มบุคคล บางเหล่าแอบอ้างใช้ชื่อ กลุ่มธรรมาธิปไตย ซึ่งก็ได้ทราบว่าพวกเขาไม่มีคุณสมบัติ และยังห่างไกลที่จะเข้าถึงแนวทางธรรมาธิปไตยได้

ฝ่ายหนึ่งคิดแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ตนและพวกพ้อง ทำลายประโยชน์ชาติ ยิ่งทำให้เป็นระบอบเผด็จการระบบรัฐสภาให้หนักยิ่งขึ้นไปอีก เป็นการซ้ำเติมความชั่วให้กับประเทศชาติ

ฝ่ายหนึ่งแนวทางที่ถูกต้องคือ เสนอ ผลักดัน ให้มีการสถาปนาหลักการปกครองโดยธรรม และพิทักษ์รักษาหลักการโดยธรรมนั่นไว้ อย่าไปพิทักษ์รัฐธรรมนูญมิจฉาทิฐิให้ยืนยงยาวนานออกไปอีก เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ นี่เป็นวาทะเพชรของเรา

พวกเราควรรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์อย่างมีปัญญา ปัญญาที่ยิ่งใหญ่ย่อมมาจากพระพุทธเจ้า คำสอนของพระองค์ สอนให้เห็นความถูกต้อง หรือสัมมาทิฐิ (Right view) เกิดขึ้นได้จากการวิปัสสนากรรมฐาน เป็นกระบวนการที่จะทำให้เรามีความเห็นอย่างถูกต้องเป็นจริง เป็นความจริงที่ปราศจากความคิดของผู้ปฏิบัติ จะได้ร่วมกันพิจารณาความสัมพันธ์ที่มีลักษณะปฐมภูมิ กับ ทุติยภูมิ หรืออะไรเป็นองค์เอกภาพ อะไรเป็นด้านความแตกต่างหลากหลาย, อะไรมาก่อน อะไรมาหลัง, อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผล จะขอนำท่านเข้าสู่ปัญญาอันยิ่งใหญ่ ดังนี้

เอกภาพหรือสามัคคีธรรม เป็นความสัมพันธ์ระหว่างด้านเอกภาพ กับ ด้านความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งพิจารณาได้อย่างลึกซึ้ง ไม่ยากเลยจากความสัมพันธ์ในลักษณะต่างๆ ดังนี้

1. สัมพันธภาพระหว่างสภาวะนิพพาน กับ ขันธ์ 5 ได้แก่ รูป ได้ธาตุ 4 มีธาตุดิน, น้ำ, ลม, ไฟ มีลักษณะแตกต่างหลากหลาย ส่วนนาม 4 ได้แก่ เวทนา สัญญา, สังขาร, วิญญาณ และจิตตสังขารที่ปรุงแต่งเป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง เช่น กลัว โลภ โกรธ หลง มีลักษณะแตกต่างหลากหลาย และขันธ์ 5 ตกอยู่ในกฎไตรลักษณ์ (ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่เป็นตัวตน) แปรปรวนอยู่ตลอดเวลา (เกิดขึ้นในเบื้องต้น แปรปรวนในท่ามกลาง และดับไปในที่สุด) รู้แจ้งตามความเป็นจริง ละอุปาทาน หรือละความยึดมั่นถือมั่นในสังขารทั้งปวง ย่อมอิสระหลุดพ้นจากสังขารทั้งปวงบรรลุสู่ธรรมสันติ หรือธรรมาธิปไตย เป็นเหตุให้เห็นความสัมพันธภาพของกฎธรรมชาติทั้งองค์รวม

สภาวะนิพพานเป็นสภาวะที่พ้นจากกฎไตรลักษณ์ ความสัมพันธภาพระหว่าง นิพพาน กับ ขันธ์ 5 หรือ อสังขตธรรม (ธรรมที่ไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง) กับ สังขตธรรม (ธรรมที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง) แสดงให้เห็นว่าสภาวะนิพพานเป็นด้านเอกภาพ ส่วนขันธ์ 5 มีลักษณะแตกต่างหลากหลาย

2. สัมพันธภาพของกฎธรรมชาติระหว่างสภาวะอสังขตธรรม (นิพพาน) กับสภาวะสังขตธรรม (ได้แก่สิ่งไม่มีชีวิตและสิ่งมีชีวิต, พืช, สัตว์อันแตกต่างหลากหลาย) จะพบว่าอสังขตธรรมเป็นด้านปฐมภูมิและเป็นองค์เอกภาพ ส่วนสังขตธรรมเป็นด้านทุติยภูมิ และมีลักษณะแตกต่างหลากหลาย เป็นปัจจัยให้ธรรมทั้งปวงดำรงอยู่อย่างดุลยภาพ

3. สัมพันธภาพระหว่างพระนิพพาน กับ คำสอน 84,000 พระธรรมขันธ์ พระพุทธเจ้า ตรัสรู้โดยชอบด้วยพระองค์เอง เข้าถึงพระนิพพานก่อนแล้วจึงบัญญัติคำสอน แสดงให้เห็นว่าพระนิพพานเป็นด้านปฐมภูมิและเป็นองค์เอกภาพ ส่วนคำสอนเป็นด้านทุติยภูมิและเป็นด้านแตกต่างหลากหลาย เป็นปัจจัยให้คำสอนของพระพุทธเจ้าดำรงอยู่ได้มากกว่า 2,500 กว่าปีแล้ว

4. สัมพันธภาพระหว่างดวงอาทิตย์ กับ ดาวเคราะห์ จะพบว่า ดวงอาทิตย์เป็นด้านเอกภาพ ส่วนดาวเคราะห์เป็นด้านแตกต่างหลากหลาย เป็นปัจจัยให้ดำรงอยู่ ตั้งอยู่อย่างดุลยภาพมายาวนาน

5. สัมพันธภาพระหว่างพระรัตนตรัย กับ พุทธศาสนิกชน ถ้าเป็นสัมมาทิฐิจะพบว่า พระรัตนตรัยเป็นด้านเอกภาพ ส่วนพุทธศาสนิกชนเป็นด้านแตกต่างหลากหลาย ดำรงอยู่อย่างดุลยภาพ

6. สัมพันธภาพระหว่างประเทศชาติ กับ ประชาชน ถ้าเป็นสัมมาทิฐิจะพบว่า ประเทศชาติเป็นด้านเอกภาพ ส่วนประชาชนเป็นด้านแตกต่างหลากหลาย

7. สัมพันธภาพระหว่างพระมหากษัตริย์ กับ พสกนิกร ถ้าเป็นสัมมาทิฐิจะพบว่าพระมหากษัตริย์เป็นด้านเอกภาพ ส่วนพสกนิกรเป็นด้านแตกต่างหลากหลาย

8. สัมพันธภาพระหว่างหลักการปกครอง (Principle of Government) กับ วิธีการปกครอง (Methods of Government) ถ้าเป็นสัมมาทิฐิจะพบว่าหลักการฯ เป็นด้านปฐมภูมิและเป็นด้านเอกภาพ ส่วนวิธีการฯ เป็นด้านทุติยภูมิและเป็นด้านแตกต่างหลากหลาย

9. สัมพันธภาพของระบอบการเมือง (Regime) ถ้าเป็นสัมมาทิฐิจะพบว่าองค์ประกอบของระบอบการเมือง คือ (1) หลักการปกครอง (ระบอบ) เป็นด้านปฐมภูมิหรือเป็นด้านเอกภาพ (2) วิธีการปกครอง ได้แก่หมวดและมาตราต่างๆ เป็นด้านทุติยภูมิและเป็นด้านแตกต่างหลากหลาย ประกอบกันขึ้นเป็นรัฐธรรมนูญสัมมาทิฐิ (รัฐธรรมนูญ 18 ฉบับ 76 ปี ไม่เคยมีหลักการปกครองเลย)

มีข้อสังเกตว่าการจัดสัมพันธภาพในมิติที่ 1 - 9 ด้านปฐมภูมิเป็นด้านเอกภาพ หรือองค์เอกภาพ ส่วนด้านทุติยภูมิมีลักษณะแตกต่างหลากหลาย และจะต้องขึ้นตรงต่อด้านปฐมภูมิเสมอไป และเมื่อพิจารณาทั้งองค์รวมความสัมพันธ์ดังกล่าวจะมีลักษณะพระธรรมจักร ช่างเป็นสิ่งมหัศจรรย์ยิ่งนัก ดุจเดียวกับระบบสุริยจักรวาล

อีกนัยหนึ่ง จะพบว่า ด้านเอกภาพจะแผ่กระจายโอบอุ้มด้านความแตกต่างหลากหลายหรือส่วนที่สัมพันธ์เกี่ยวพันกันทั้งหมด ส่วนด้านแตกต่างหลากหลาย ต่างก็มุ่งตรงหรือขึ้นต่อองค์เอกภาพ เราพบได้ว่าสภาวะที่มีลักษณะแผ่กระจ่าย โอบอุ้ม กับสภาวะรวมศูนย์ที่องค์เอกภาพ นี่คือเหตุปัจจัยให้ธรรมทั้งปวง ดำรงอยู่ได้อย่างดุลยภาพ ดูง่ายๆ อันเห็นเหตุใกล้ จากความรักเมตตาของพ่อแม่แผ่โอบอุ้มบุตร และบุตรขึ้นตรงต่อพ่อแม่ ย่อมเป็นปัจจัยให้ครอบครัวนั้นมั่นคง ก้าวหน้าไม่ล้มเหลว หรือครู กับ ศิษย์, เจ้าของบริษัท กับ พนักงาน ฯลฯ ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน ก็จะมีแต่ความเจริญ ก้าวหน้า นี่คือปัญญาอันยิ่งใหญ่ ดูภาพประกอบเพื่อความเข้าใจได้อย่างง่ายๆ ดังนี้

สัมพันธภาพในมิติต่างๆ จะเห็นได้ว่า ถ้าเราดำเนินการใดๆ ให้ถูกต้องโดยธรรม ก็จะก่อให้เกิดการดำรงอยู่อย่างดุลยภาพ ก้าวหน้า มั่นคงยั่งยืน เช่น เดียวกับกฎธรรมชาติที่ดำรงอยู่อย่างดุลยภาพมายาวนานเป็นหลายล้านล้านปีมาแล้ว นั่นเอง

จากปัญญาอันยิ่งดังกล่าวนี้ ย้อนกลับมาพิจารณาการจัดความสัมพันธ์รัฐธรรมนูญไทยทั้งอดีตและปัจจุบันรวม 18 ฉบับ ในช่วงเวลา 76 ปี ซึ้งได้ล้มเหลวมาแล้วอย่างซ้ำซาก และพบว่าไม่เคยมีหลักการปกครองเลย หรือไม่มีด้านเอกภาพ มีแต่ด้านวิธีการปกครองได้แก่หมวด กับ มาตราต่างๆ อันเป็นด้านความแตกต่างหลากหลาย รัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับจึงเป็นมิจฉาทิฐิ เป็นการกระทำที่สืบทอดความเป็นมิจฉาทิฐิมาอย่างยาวนานเกินที่จะกล่าวแล้ว ท่านจะต้องเข้าใจว่า การแก้ไขที่ปลายเหตุนอกจากจะเสี่ยงภัยและเสียเวลาแล้ว จะก่อผลให้เกิดความหายนะอย่างไม่รู้จบสิ้น

ในระบอบเผด็จการทุกรูปแบบ จะทำให้ประชาชนขัดแย้งแตกความสามัคคี และหลายฝ่ายต่างเรียกร้องให้ชนในชาติสามัคคีธรรม จะเกิดขึ้นได้จะต้องมาจากฐานที่ถูกต้องเป็นธรรม ด้วยปัจจัยของระบอบการเมืองโดยธรรม สาระสำคัญคือหลักการปกครองธรรมาธิปไตย 9 จะเป็นเหตุปัจจัยให้ประชาชน มีเอกภาพในการอยู่ร่วมกันในสังคมทุกระดับชั้น อันเกิดจากเหตุปัจจัยที่ถูกต้อง เมื่อนำมาประยุกต์ใช้อย่างถูกต้องโดยธรรม ก็จะเป็นไปตามกฎอิทัปปัจยตาฝ่ายกุศล, ฝ่ายบวก, ฝ่ายพัฒนา, ฝ่ายเจริญก้าวหน้า และมั่นคงอย่างยั่งยืน อันเป็นรากฐาน แก่นแท้ของชาติไทยเรา คือ

(1)หลักธรรมาธิปไตย ย่อมเป็นปัจจัยอันมั่นคงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และปวงชน

(2) หลักพระมหากษัตริย์ ย่อมเป็นปัจจัยต่ออำนาจอธิปไตยของปวงชน

(3) หลักอำนาจอธิปไตยของปวงชน ย่อมเป็นปัจจัยให้ปวงชนมีเสรีภาพบริบูรณ์

(4) หลักเสรีภาพบริบูรณ์ ย่อมเป็นปัจจัยให้ปวงชนมีความเสมอภาคทางโอกาส

(5)หลักเสมอภาคทางโอกาส ย่อมเป็นปัจจัยให้ปวงชนมีภราดรภาพ

(6) หลักภราดรภาพ ย่อมเป็นปัจจัยให้ปวงชนมีเอกภาพหรือรู้รักสามัคคีธรรม

(7) หลักเอกภาพหรือรู้รักสามัคคีธรรม ย่อมเป็นปัจจัยให้ปวงชนมีดุลยภาพ

(8) หลักดุลยภาพ จะเป็นปัจจัยให้ปวงชนมีหลักนิติธรรม

(9)หลักนิติธรรม ก็คือหลักการปกครองธรรมาธิปไตยทั้ง 9 นี้จะเป็นปัจจัยให้กฎหมายรัฐธรรมนูญมีความถูกต้องเป็นธรรมเป็นสัมมาทิฐิ

ดังนี้แล้ว รัฐธรรมนูญสัมมาทิฐิย่อมเป็นปัจจัยต่อรูปการปกครอง (Form of Government) คือระบบรัฐสภา (Parliamentary System) ให้มีประสิทธิภาพ และจะเป็นปัจจัยอิงอาศัยเป็นผลดีให้ระบบเศรษฐกิจพอเพียง ได้เบ่งบานทั่วทั้งเมืองไทยและสากลโลก และในที่สุดจะเป็นปัจจัยให้ปวงชนได้รับความยุติธรรม ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมั่งคั่งอย่างยั่งยืนสืบไป

(เราคือกัลยาณมิตรแท้ของท่าน ถ้าคุณสนธิ ลิ้มทองกุล นำไปคิดพิจารณา พูด และทำอย่างนี้ ท่านจะเป็นมหาอุบาสก และ ได้ชื่อว่าเป็นพสกนิกร ผู้ทดแทนคุณแผ่นดิน และเป็นผู้จงรักภักดีที่ยิ่งใหญ่ของชาติอย่างแท้จริง) Email: ที่ถูกต้องคือ p_ariya_@hotmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น