xs
xsm
sm
md
lg

วิถีชาวพุทธ ในยุค “ข้าวยากหมากแพง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในยุคข้าวยากหมากแพง ที่เงิน 30 บาทไม่สามารถทำให้ท้องอิ่มอีกต่อไป ในยุคที่เงิน 100 บาทแลกกับน้ำมันได้ไม่ถึง 3 ลิตร หรืออะไรต่อมิอะไรที่ขยับราคาสูงขึ้น จนหลายคนต้องเผชิญกับความเครียดในการดำรงชีวิต ทางหนึ่งที่สามารถช่วยให้ผ่อนคลายได้บ้างไม่มากก็น้อยคือการหันหน้าเข้าหาธรรมะ

ยิ่งในโอกาส ‘วันวิสาขบูชา’ ด้วยแล้วก็น่าจะเป็นการเริ่มต้นที่ดีสำหรับผู้ที่เริ่มเดินออกห่างจากหลักธรรมในพระพุทธศาสนา และผู้ที่กำลังมีชีวิตที่ต้องทนอยู่กับความสับสนวุ่นวายในเมืองใหญ่ ให้กลับมาสนใจ และเข้าถึงหลักธรรม เพื่อการนำพาชีวิตให้ผ่านพ้นมรสุมอันนี้ไปได้
วันชัย บุญประชา
** หมกมุ่นกับความอยู่รอด ทำคนไทยห่างวัด
วันชัย บุญประชา ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว เปิดเผยข้อมูลจากผลการสำรวจกลุ่มคนเมืองพบว่า ครอบครัวไทยส่วนใหญ่ยังสนใจในการดำเนินชีวิตโดยใช้หลักธรรมมาปฏิบัติในครอบครัวอยู่ส่วนหนึ่ง แต่ก็พบอีกเช่นกันว่า การปฏิบัติกิจกรรมทางพุทธศาสนาร่วมกันของคนในครอบครัวนั้นกลับมีน้อยมาก โดยพบว่าแต่ละครอบครัว ทำกิจกรรมทางศาสนาเพียงเดือนละ 1 ครั้งเท่านั้น

แต่ที่น่าประหลาดใจคือ คนที่สนใจธรรมนั้นกลับไม่พึ่งพระอีกต่อไป เพราะผู้คนศรัทธาในพระลดน้อยลงมาก แต่ยังศรัทธาในหลักธรรม คำสอน จะเห็นได้ว่าหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ หลักธรรมคำสอน หนังสือธรรมในรูปแบบต่างๆ กลับขายดี เพราะผู้คนกลับเลือกที่จะเข้าถึงธรรมะด้วยวิธีการอ่าน และเรียนรู้ด้วยตัวเองมากกว่า ที่เป็นเช่นนั้นเพราะข่าวเกี่ยวกับอลัชชีที่ทำให้ความเชื่อถือในพระสงฆ์ลดลง และจากสถานการณ์ความเครียดที่เกิดขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ก็ทำให้คนมุ่งเข้าหาธรรมะโดยผ่านสื่อกลางอย่างหนังสือมากขึ้น
 
“คนในปัจจุบันนี้หมกมุ่นกับกระบวนการทุนนิยมอยู่ตลอดเวลา ทำอย่างไรที่จะหาเงินมาจุนเจือครอบครัว ทำอย่างไรที่จะอยู่อย่างสบาย การเร่งในส่วนนั้นเป็นการทำให้คนเราเกิดความเครียดขึ้น ซึ่งตอนนี้มีคนเข้าวัดฟังเทศน์อยู่บ้างแต่ส่วนน้อย คนกลับหันหน้าเข้าวัดเพราะพิธีกรรมทางศาสนา อีกทั้งยังหันหน้าเข้าวัดเพื่อสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ เช่น เข้าไปทำบุญสะเดาะเคราะห์ ถวายสังฆทานก็เพื่อหวังว่าชีวิตหลังจากนี้จะดีขึ้นมา” ผจก.เครือข่ายครอบครัว ระบุ
ชุดสังฆทานของที่ขายยากในยุคข้าวยากหมากแพง
อย่างไรก็ตาม หากจะถามว่ายุคข้าวของแพงนี้มีผลให้คนไทยเข้าวัด ทำบุญน้อยลงหรือไม่นั้น เจ้าของร้านพรเจริญ ร้านขายเครื่องสังฆภัณฑ์ ย่านประชาสงเคราะห์ ชี้ให้เห็นว่า หากเทียบยอดการขายเครื่องสังฆภัณฑ์ ชุดถวายสังฆทานต่างๆ ในช่วงระยะหลังมานี้ถือว่าขายได้น้อยลงมาก แต่ละวันจะมีคนมาซื้อเพียงแค่ 2 -3 ชุดเท่านั้น ซึ่งแต่ละคนก็เลือกที่จะซื้อในชุดเล็กที่มีเพียงร้อยกว่าบาท ทั้งนี้ ถ้าเป็นเมื่อก่อนรายได้จะดีกว่านี้มาก อาจจะเป็นผลมาจากข้าวของหลายอย่างขึ้นราคา ผู้คนจึงเลือกที่จะเก็บเงินไว้กิน ส่วนเรื่องทำบุญไว้ทีหลังมากกว่า และของที่นำมาจัดเป็นเครื่องสังฆทานก็ขึ้นราคา ทำให้ของที่จัดลงไปบางอย่างต้องลดปริมาณลง แต่ก็ยังไม่มีการปรับขึ้นราคาแต่อย่างใด

** ใช้ปัญญา ดับทุกข์ทางใจ
ด้าน พระอาจารย์ดุษฎี เมธังกุโร เจ้าอาวาสวัดทุ่งไผ่ จ.ชุมพร พระนักพัฒนาท้องถิ่น ให้คำแนะนำว่า สำหรับยุคที่เศรษฐกิจตกต่ำจะมีผลต่อการทำบุญหรือไม่นั้น มองได้ 2 แง่ คือ แง่ที่หนึ่ง คนก็มีเงินทำบุญน้อยลง ก็จะมีเงินเที่ยวน้อยลงเช่นกัน ทำให้ต้องเที่ยวในสถานที่ที่ไม่ต้องเสียเงินอย่างสวนสาธารณะ เที่ยวทำบุญตามวัด ในด้านหนึ่งนั้นเมื่อเศรษฐกิจไม่ดีก็ทำให้อบายมุขลดลง คนหันกลับมาใช้ธรรมชาติ ใช้สิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่นมากขึ้น นี่คือการมาถูกทาง แต่อีกแง่หนึ่งคือเมื่อเศรษฐกิจไม่ดี ผู้คนก็จะหันไปทางอาชญากรรม เช่นที่เป็นข่าวอย่างการถอด นอตเสาไฟฟ้า จี้ ปล้น เพราะคนเหล่านี้เคยชินกับการบริโภคมาก ใช้เงินมาก ที่ผ่านมาเงินได้ง่าย พอเงินเริ่มฝืดเคือง ไม่ยอมรับสภาพที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดอาชญากรรมขึ้น
พระอาจารย์ดุษฎี เมธังกุโร
“สรุปได้ว่าเมื่อเศรษฐกิจแย่ลงคนเลือกที่จะใช้ธรรมมะดับทุกข์ทางใจ ใช้อย่างประหยัด และคนที่มีจิตใจตกต่ำไปกว่าเดิม ไม่มาทางธรรมมะ กลับใช้อบายมุขเป็นสิ่งนำทาง ถ้าเศรษฐกิจดีขึ้นก็เช่นกัน คนที่มีธรรมมะก็จะใช้จ่ายอย่างรู้ขอบเขต แต่คนที่ไม่มีธรรมมะก็จะใช้เงินอย่างไม่รู้คุณค่า เที่ยวเตร่ เล่นพนัน ถึงอย่างไรเศรษฐกิจก็เปรียบเป็นปัจจัยส่วนน้อยที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมของคน สิ่งสำคัญอยู่ที่ปัญญา การรู้จักคิดของคน เป็นสิ่งสำคัญกว่า”

ในส่วนของคำแนะนำการทำบุญในยุคข้าวยากหมากแพงนั้น พระอาจารย์ดุษฎี แนะนำว่า วันวิสาขบูชา เป็นวันที่พระพุทธเจ้า ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ในวันเดียวกันแต่คนละปี และสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ก็เป็นคำสอนที่ชาวพุทธ หรือเกือบทุกคนนำมาใช้ในการดำเนินชีวิต ดังนั้นพระพุทธเจ้าเปรียบได้กับครูของโลก ฉะนั้นในวันสำคัญนี้เราชาวพุทธจึงควรระลึกถึงพระคุณของพระองค์ ซึ่งสามารถทำได้โดยการ หาที่ปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนา เช่นตักบาตร เวียนเทียน สวดมนต์ บริจาคทาน เพื่อเป็นการระลึกถึงพระกรุณาธิคุณของพระองค์ พยายามเจริญปัญญาให้กับตัวเอง หากทำได้อย่างที่กล่าวมานี้ก็เป็นการทำให้จิตใจเราเป็นสุข โดยที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น อีกทั้งยังเป็นการเริ่มต้นในการดำเนินชีวิตให้เป็นไปอย่างมีสติ เพื่อต่อสู้กับภาวะสังคมที่เป็นอยู่ในตอนนี้ได้ดีที่สุด
ส่วนหนึ่งของผู้คนที่ยังเลือกวัดเป็นที่พึ่งทางใจ
สุดท้ายนี้ พระอาจารย์ดุษฎี ยังฝากข้อคิดถึงการดำเนินชีวิตไว้ว่า อยากให้นำหลักเศรษฐศาสตร์ชาวพุทธอย่าง อุ, อา, กะ, สะ มาปรับใช้ คือ อุ หรือ อุฏฐานสัมปทา คือ ถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียร อา หรือ อารักขสัมปทา คือ ถึงพร้อมด้วยการรักษา ประหยัดอดออม กะ หรือ กัลยาณมิตร คือ การคบคนดี อยู่กับสื่อที่ดี ไม่ยุ่งอบายมุข และสุดท้าย สะ หรือ สมชีวิตา คือ การใช้ชีวิตที่เหมาะสมพอเพียง หากดำเนินได้ตาม 4 ส่วนที่ว่ามานี้เชื่อได้ว่าจะนำทางสู่ชีวิตที่ดีภายใต้ภาวะทางสังคม และเศรษฐกิจที่ตกต่ำได้ แต่ก็ต้องไม่ลืมที่จะดูแลหาความสุขทางด้านจิตใจ เช่นการมีสุขภาพที่ดีด้วย

กำลังโหลดความคิดเห็น